กสม. ยื่น 12 ข้อ ติงพ.ร.บ. ชุมนุมฯ ย้ำต้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้ชุมนุม

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเผยแพร่เอกสารความเห็น ติงหลายข้อไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เผยแพร่ ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....  โดยมีข้อเสนอ 12 ประการ ย้ำหลักการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าหลายข้อที่อยู่ในข้อเสนอแนะของ กสม. นี้ได้ถูกปรับแก้ และตัดออกไปแล้ว โดยร่างฯ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีข้อกฎหมายบางข้อที่ถูกท้วงติง เช่น การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ หรือบทบัญญัติบางมาตราไม่อาจปฏิบัติได้ เช่น ผู้จัดการชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาในการชุมนุม

โดยเอกสารระบุว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... นั้น เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภา (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในการนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 จึงมีความเห็นและมติต่อร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
                              1. ชื่อร่างพระราชบัญญัติควรเปลี่ยนเป็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของกฎหมาย
                              2. คำนิยาม ต้องมีความชัดเจนและผู้จัดการชุมนุมไม่ควรครอบคลุมถึงผู้เชิญชวนหรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม
                              3. การกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานไม่สอดคล้องกับหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี
                             4. การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมและสถานที่ซึ่งการชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน โดยรัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดเพิ่มเติมในภายหลังได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกินสมควรและให้ดุลพินิจแก่รัฐมนตรีมากเกินไป ผลของบทบัญญัติทำให้ไม่มีพื้นที่ในการชุมนุม
                              5. การกำหนดเวลาห้ามชุมนุมหรือเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมไม่เหมาะสม
                              6. การกำหนดให้   ผู้ชุมนุมจะต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง กรณีที่แจ้งไม่ทันต้องมีหนังสือขอผ่อนผัน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งให้แก้ไขหรือห้ามการชุมนุม ไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ
                              7. กรณีที่ผู้ชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุม หรือไม่ได้รับการผ่อนผันหรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่แจ้งโดยไม่แจ้งขอขยายระยะเวลา เจ้าพนักงานออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้นั้น ไม่เหมาะสม เพราะคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุมต้องเป็นกรณีที่การชุมนุมนั้นกระทบต่อความมั่นคงของชาติ  ความปลอดภัย         การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างร้ายแรงเท่านั้น มิใช่เพราะเหตุไม่ได้แจ้งการชุมนุม
                             8. การกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับ ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินได้ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญฯ การใช้กำลังหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนควรกำหนดกรอบและขั้นตอน โดยคำนึงถึงหลักการได้สัดส่วนและพอควรแก่เหตุ ไม่ให้ใช้อาวุธปืนโดยเด็ดขาด และต้องฝึกอบรมเรื่องนี้โดยเฉพาะ
                              9. กรณียกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยไม่สมควรบัญญัติไว้
                              10. กรณีเขตอำนาจศาลไม่ควรบัญญัติให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลใดศาลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ควรบัญญัติให้ข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลตามลักษณะแห่งคดีนั้นๆ
                              11. กรณีบทกำหนดโทษควรใช้โทษทางปกครอง ไม่ใช่โทษอาญา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเขียนบทกำหนดโทษไว้
                              12. บทบัญญัติบางมาตราไม่อาจปฏิบัติได้ เช่น ผู้จัดการชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาในการชุมนุม
                              คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ยังเห็นด้วยว่ารัฐควรมีกลไกรองรับการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อนที่การชุมนุมจะขยายตัว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดสถานที่ในการชุมนุมสาธารณะ ไม่ควรบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงควบคู่กับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ทั้งนี้ การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้รัฐไม่ควรแปลความ  จนทำให้การชุมนุมสาธารณะไม่อาจทำได้จริง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญฯ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2549 และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง   ที่ประเทศไทยเป็นภาคีที่ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยัง   สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท