Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การถอดถอนจากตำแหน่งและบาดแผลในใจของสังคมไทย

ปรากฏการณ์ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเสียงข้างมาก 190ต่อ18 เสียง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ที่เชื่อว่ามีการปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการจำนำข้าวจนนำไปสู่การทุจริต-เสียหายอย่างร้ายแรง แม้จะมีเสียงแซ่ซ้องต่อความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ซึ่งล้วนล้มเหลวมาตลอดภายใต้ระบอบประชาธิปไตย) หรือกระทั่งยืนยันว่าเป็นการถอดถอนอดีตนายกฯคนแรกของไทยออกจากตำแหน่งเป็นผลสำเร็จแต่สำหรับนักกฎหมายที่ถือธรรมเป็นใหญ่กลับล้วนสลดใจต่อความอธรรมผิดธรรมชาติอย่างยิ่งของการใช้การตีความกฎหมายเบื้องหลังการอ้างอำนาจถอดถอนของสภานิติบัญญัติซึ่งมีที่มาจากอำนาจรัฐประหาร [1]

แม้แถลงการณ์ภายหลังของอดีตนายกฯซึ่งถูกถอดถอนที่ว่า“วันนี้ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้วพร้อมกับหลักนิติธรรม” [2] อาจฟังดูเป็นโวหารแก้ตัวทางการเมืองที่ไม่มีน้ำหนักในสายตายิ้มเย้ยของผู้ชนะ  แต่เมื่อได้รับการขานรับเชิงตรรกะจากตัวแทนหนึ่งในโลกตะวันตกที่ตั้งข้อสังเกตว่าขั้นตอน/กระบวนการถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งกระทำโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร  ทำให้ประชาคมโลกเกิดความรู้สึกว่าขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง(พร้อมๆกับการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ)  [3] ทั้งฝ่ายรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่างเผยความหวั่นไหวไม่พอใจอย่างมาก โดยโต้แย้งกลับว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ทำให้คนไทยหลายคนเกิดบาดแผลในใจ [4] พร้อมๆกับการยืนยันว่ากระบวนการถอดถอนของสนช.เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและยึดตามหลักนิติธรรม [5]

เป็นไปได้ที่คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งชื่นชอบอำนาจที่มาจากการรัฐประหารอาจเกิดบาดแผลในใจดังว่า   แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยว่ามีคนไทยใจรักธรรมอีกจำนวนมากที่เกิดบาดแผลในใจเช่นกันจากความคับข้องขุ่นเคืองต่อการใช้อำนาจถอดถอนอันไม่เป็นธรรม   ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้โดยสิ้นเชิงตามข้ออ้างเรื่องหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมข้างต้น

 

อาเพศแห่งกฎหมายในการใช้อำนาจถอดถอน

การปฏิเสธข้ออ้างทางนิติศาสตร์ดังกล่าวสืบเนื่องจากบทวิพากษ์สำคัญหลายๆประการที่เปิดเผยความผิดปกติทางกฎหมาย/การให้เหตุผลทางกฎหมายที่ถึงขั้นอาเพศหลายๆประการนับเนื่องจาก :

1. การไร้ฐานทางกฎหมายอันชัดเจนใดๆที่บัญญัติให้อำนาจถอดถอนในรัฐธรรมนูญ 2557 ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหาร  และไม่มีบทบัญญัติใดๆในรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำหนดให้บทบัญญัติในหมวด12(การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ครอบคลุมถึงการถอดถอนจากตำแหน่ง)ของรัฐธรรมนูญ2550ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้  กรณีจึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการสืบเนื่องของบทบัญญัติในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ 2550ซึ่งมีมาตรา2ของรัฐธรรมนูญ2557กำหนดชัดเจนให้คงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

2.การกล่าวอ้างอย่างผิดๆในลักษณะกุสร้างอำนาจถอดถอนโดยอ้างอิงเพียงการดำรงอยู่ของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พศ.2542 ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายลูกบทที่ไม่อาจใช้ได้โดยลำพังเมื่อปราศจากการยึดโยงกับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในกฎหมายแม่บทคือรัฐธรรมนูญ2550ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว

3.การกล่าวอ้างอำนาจถอดถอนอย่างบิดเบือนไม่ต้องตรงกับเจตนารมณ์กฎหมาย จากการที่ฝ่ายสนับสนุนการถอดถอนอ้างอิง ม.5ของรัฐธรรมนูญ 2557เรื่องประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข    ทั้งที่ไม่ใช่กรณีกฎหมายมีช่องว่างไร้ทางออกจนทำให้เกิดความจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาประเพณีการปกครองฯมาเป็นหลักในการตีความรัฐธรรมนูญ   ข้อสำคัญ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ใช่เป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในความหมายของสิ่งที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ดังเพิ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550

4.การกล่าวอ้างอำนาจรัฐธรรมนูญถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์  ย่อมมีนัยเป็นการสร้างบรรทัดฐานกฎหมายทั่วไปให้สนช.โดยลำพังมีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน(พลเอกประยุทธ์ฯ)ได้โดยปริยาย   อันเป็นสิ่งขัดแย้งกับบทบัญญัติในม.19 วรรค 3ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำหนดให้การพ้นจากตำแหน่งนายกฯต้องยึดโยงกับอำนาจ/การใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  การตีความกฎหมายเพื่อสร้างอำนาจถอดถอนโดยมิชอบจึงเป็นความผิดพลาดในแง่ผลลัพธ์ที่สร้างความขัดแย้งในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญเอง

5.สืบแต่บรรทัดฐานแห่งกฎหมายอันถูกต้องและความยุติธรรม  ล้วนต้องมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริง  มิใช่ความเท็จหรือจินตนาการอันว่างเปล่า    ความจริงที่ประจักษ์ชัดในตัวเองคือณเวลาที่มีการใช้อำนาจถอดถอน   ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆในตัวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ให้ถือเป็นองค์ประกอบทางกฎหมายที่จะถูกถอดถอนได้โดยสนช.  เนื่องจากอดีตนายกฯพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านานแล้วในหลายลักษณะนับตั้งแต่  1.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนฯเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556(ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.180(2),ม.181) , 2.มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557(7 พฤษภาคม 2557)ซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า เมื่อผู้ถูกร้อง(นส.ยิ่งลักษณ์)ได้ทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ(กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีโดยมิชอบ)เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ  ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ม.181ได้อีกต่อไป [6] และ 3.การพ้นจากตำแหน่งที่ประจักษ์ชัดจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีประกาศคสช.ฉบับที่ 5/2557(22พฤษภาคม 2557)ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้แล้วการถอดถอนจากตำแหน่งทั้งๆที่โดยสภาพข้อเท็จจริงไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆปรากฏอยู่โดยสิ้นเชิง ย่อมเป็นการใช้อำนาจตีความกฎหมายอย่างบิดเบือนในลักษณะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยการขยายความถึงการถอดถอน “อดีต”ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย   ในเมื่อกฎหมายแท้จริง(ทั้งรัฐธรรมนูญ 2550ที่ถูกยกเลิกและพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542)ไม่มีการบัญญัติเรื่องการถอดถอน “อดีต”ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด สิ่งที่สนช.ได้กระทำไปจึงเป็นการถอดถอนที่ขัดแย้งกับกฎหมายและความเป็นจริง เป็นเพียงการถอดถอนบนจินตนาการทางการเมืองอันแปดเปื้อนอคติ   หาใช่การถอดถอนจากตำแหน่งอันชอบด้วยกฎหมายใดๆไม่   และหากเราเผลอผสมโรงกับจินตนาการอันผิดเพี้ยนนี้  ยังอาจนำไปสู่จินตนาการอันเหลือเชื่อได้ต่อว่า   ก่อนการลงมติถอดถอนอดีตนายกฯในวันที่ 23 มกราคม 2558  ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึงสองคนในเวลาเดียวกัน คืออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่กำลังรอการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง  และนายกฯประยุทธ์ ที่ยังไม่ถูกถอดถอน.....สังคมไทยพร้อมเสียสติและขานรับกับจินตนาการอันวิปลาสได้ถึงเพียงนี้หรือ

 

การถอดถอนผู้พ้นจากตำแหน่งในอเมริกา

ความผิดพลาดสำคัญในการถอดถอนเช่นกล่าว  ยังอาจยืนยันความชัดเจนมากขึ้นเมื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับแบบอย่างการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประพฤติมิชอบในอเมริกาที่เป็นชาติต้นแบบสำคัญทางกฎหมาย-การเมืองในเรื่องนี้   ความจริงที่ปรากฏคือความเคร่งครัดของวุฒิสภาอเมริกาในการใช้อำนาจถอดถอน(Impeachment)ที่กระทำเฉพาะต่อบุคคลที่“อยู่ในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่พลเรือนของรัฐ(Civil Officer)เท่านั้น วุฒิสภาอเมริกาไม่เคยถอดถอนบุคคลที่ลาออก/พ้นจากตำแหน่งก่อนหน้าการใช้อำนาจวินิจฉัยถอดถอน   โดยปกติทั่วไปวุฒิสภาอเมริกาจะยุติกระบวนการพิจารณาถอดถอนเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นๆยอมลาออกจากตำแหน่ง ดังตัวอย่างการยุติการถอดถอนภายหลังการลาออกจากตำแหน่งของ  Mark H.Delahay (อดีตผู้พิพากษา)ในปีคศ.1873, George W.English(อดีตผู้พิพากษา)ในปีคศ.1926 หรือ Samuel B.Kent (อดีตผู้พิพากษา)ในปี คศ,2009 [7]

แม้ว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหน้า ในปีคศ.1876 เคยมีตัวอย่างที่คล้ายเป็นข้อยกเว้นในกรณีดำเนินมาตรการถอดถอนต่อ William Belknap (อดีตวีรบุรุษในสังคมกลางเมืองอเมริกาและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม(Secretary of War)ในยุคสมัยประธานาธิบดี Ulysses Grant)ทั้งที่ Belknap ลาออกจากตำแหน่ง(เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนในชั้นสภาผู้แทน)  แต่ท้ายสุดวุฒิสภาก็ไม่สามารถมีมติ(เกิน2ใน3)ถอดถอนได้สำเร็จ  เนื่องจากวุฒิสมาชิกจำนวนมากเชื่อมั่นว่าวุฒิสภาไม่มีอำนาจพิจารณา(No Jurisdiction)ถอดถอนบุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปแล้ว [8] บทเรียนจากกรณีดังกล่าวทำให้หลายปีต่อมา วุฒิสภาอเมริกาจึงชี้ขาดว่าเป็นเรื่องอ่อนเหตุผลในการเสียเวลาและพลังงานในการถอดถอนเจ้าหน้าที่ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว [9] บรรทัดฐานการปรับใช้มาตรการถอดถอนของอเมริกาจึงยึดถือเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของการถอดถอนที่มุ่งปลดตำแหน่งและอำนาจเป็นการเฉพาะของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หาใช่ต่ออดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้าแล้วไม่

 

การทำลายหลักนิติธรรมภายใต้อำนาจที่อิงแอบกับการรัฐประหาร

ดังนี้แล้วการถอดถอนอดีตนายกฯของไทยที่ไร้ตำแหน่งใดๆให้ถอดถอนอันเป็นผลจากตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ-คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการรัฐประหาร  หาใช่เป็นผลจากการลาออกจากตำแหน่งโดยตัวเอง(ดังกรณีตัวอย่างของอเมริกา)ซึ่งยังอาจมีข้อกังขาเรื่องการหลบเลี่ยงผลร้ายทางกฎหมาย-การเมืองต่างๆอันเนื่องจากการถูกถอดถอน   ที่สุดแล้วจึงเป็นประหนึ่งละครการเมืองแนวอำนาจนิยมที่เพียงอาศัยข้ออ้างทางกฎหมายเป็นฉากประกอบ(Rule by Law) เพื่อกลบเกลื่อนการใช้อำนาจตามอำเภอใจที่หวังผลต่อการตัดสิทธิทางการเมือง5ปีของอดีตนายกฯเท่านั้น

กระบวนการใช้อำนาจทางกฎหมายดังกล่าวโดยเนื้อแท้จึงไม่มีส่วนใดที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานแห่งหลักนิติธรรม(Rule of Law)ที่โดยหลักการพื้นฐานจักปฏิเสธการใช้อำนาจใดๆที่ไม่มีกฎหมายอันชัดเจนแน่นอนใดๆรองรับ  ปฏิเสธการตีความกฎหมายอย่างบิดเบือน/ขยายความที่สร้างความสับสนคลุมเครือหรือสร้างความขัดแย้งกันเองภายในตัวกฎหมาย ปฏิเสธการใช้กฎหมายอย่างมีอคติ ไม่สุจริต  ปฏิเสธกฎหมายหรือการใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน/สิทธิพื้นฐานของมนุษย์โดยมิชอบ รวมทั้งปฏิเสธการใช้อำนาจชี้ขาดทางกฎหมายที่กระทำโดยกลุ่มบุคคลที่เป็นปรปักษ์ซึ่งมีที่มาจากอำนาจรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลอดีตนายกฯที่ถูกถอดถอน [10]

เช่นนี้แล้วคำกล่าวอ้างการใช้อำนาจถอดถอนอดีตนายกฯว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมย่อมขัดแย้งกับความเป็นจริง แต่กลับสอดคล้องกับข้อวิจารณ์ของสื่อตะวันตกที่มองการถอดถอนนี้ว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายอันเหลวไหลไร้สาระไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง(Farce) [11]

 

ด้านมืดของหลักนิติธรรม

จะอย่างไรก็ตาม บางทีแล้วตลกร้ายทางกฎหมายอันไร้สาระนี้   อาจเป็นข้อพิสูจน์(ในระดับหนึ่ง)ต่อบทวิพากษ์ความจริงเรื่องการแอบอิงอำนาจชอบธรรมแห่งกฎหมาย   ที่ปรากฏให้เห็นมากมายในสังคมจำนวนมากที่มักเชิดชูบูชาหลักนิติธรรมประหนึ่งเป็นศาสนาแบบฆราวาสสากล(Universal Secular Religion)แต่กลับดีแต่พูด(Lip Service)หรือเป็นเรื่องใช้กฎหมายบังหน้าอำนาจฉ้อฉล(Rule by Law)เป็นส่วนใหญ่ในความเป็นจริง  สภาพการณ์ที่คล้ายเป็นด้านมืดของของหลักนิติธรรมดังกล่าว  ในเชิงวิชาการย่อมชวนให้คิดทบทวนต่อบทวิพากษ์หลักนิติธรรมจากนักนิติศาสตร์แนววิพากษ์/ฝ่ายซ้ายสุดที่มักปรามาสหลักนิติธรรมว่าเป็นมายาภาพของทฤษฏีกฎหมายเสรีนิยมหรือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแนวคิดงมงายบูชากฎหมาย(Legal Fetishism) ขณะที่ในความเป็นจริงกฎหมายคือการเมือง/เครื่องมือทางการเมือง   ไม่มีหลักนิติธรรมในอุดมคติอันบริสุทธิ์  หากมีแต่การปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจอันฉ้อฉล หรือปกครองด้วยอำนาจตัวบุคคล(Rule by Person)ซึ่งแยกไม่ออกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ,ความขัดแย้งทางชนชั้นและการกดขี่อันไม่เป็นธรรมต่างๆ [12]

ไม่ว่าบทวิพากษ์ดังกล่าวจะดูเป็นความคิดสุดโต่งหรือเป็นสัจธรรมสัมพัทธ์  น่าสังเกตว่าในหลายๆกรณีแม้นักนิติศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยมยังจำต้องเห็นคล้อยด้วยในระดับหนึ่ง  หาไม่แล้วคงไม่ยอมรับว่าหลักนิติธรรมอาจกลายเป็นสิ่งไร้สาระอันเนื่องมาจากการบิดเบือนทางอุดมการณ์ความคิด(Ideological Abuse)และการกล่าวอ้างที่ล้นเกินทั่วไป(Over –use)ดังบางข้อพิพาท อาทิในคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดอเมริกาในคดี Bush  v Gore ซึ่งชี้ขาดผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2000  คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างหยิบยกประเด็นเรื่องหลักนิติธรรมขึ้นต่อสู้ด้วยกันทั้งสิ้นจนทำให้เกิดความรู้สึกฝังใจว่าการอ้างอิงถ้อยคำที่ดูยิ่งใหญ่มหัศจรรย์นี้เอาเข้าจริงกลับไม่ต่างอะไรจากเสียงโห่ร้องแสดงความดีอกดีใจเมื่อได้รับสิ่งที่ต้องการเท่านั้น   หรือไม่ต่างจากคำว่าสิ่งที่ดี(Good)ซึ่งทุกฝ่ายล้วนกล่าวอ้างถึงแต่กลับมีความเชื่อมั่นแตกต่างกันว่ามันคืออะไรกันแน่ [13]

ความจริงที่ปรากฏอย่างน้อยในกรณีถอดถอนอดีตนายกฯสตรีคนแรกของไทยจึงดูเหมือนขานรับบทวิพากษ์ข้างต้นอยู่มาก และแม้นักคิดฝ่ายก้าวหน้าบางคนอย่าง E.P. Thompsonที่คงเชื่อมั่นว่าหลักนิติธรรมโดยตัวเองมิใช่มายาคติ แต่เป็นคุณความดีอันไร้ข้อแม้หนึ่งของมนุษย์(An Unqualified Human Good)ซึ่งจำเป็นต่อการจำกัดขัดขวางอำนาจโดยพลการทั้งหลายในสังคม  แต่กระนั้น Thompsonก็ยอมรับเช่นกันต่อความเป็นจริงที่ในหลายๆกรณี การตีความกฎหมายต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองซึ่งรับใช้/ตอบสนองต่ออคติทางชนชั้น(Class Bias) ทำให้ความหมายแห่งความยุติธรรมกลายเป็นเรื่องมายาหลอกลวง(Humbug) และหลักนิติธรรมกลายเป็นตัวสร้างปัญหาวุ่นวาย(Nuisance)ซึ่งอาจถูกควบคุมบงการได้ตามใจชอบ(Manipulated)พร้อมการบิดผันให้เป็นไปตามแนวทางเท่าที่ชนชั้นนำสามารถจะกระทำ [14]

น่าสังเกตเพิ่มเติมว่า ใช่หรือไม่ที่ความสั่นคลอนอย่างมากของหลักนิติธรรมซึ่งสะท้อนภาวะที่การเมืองมีบทบาทครอบงำเหนือกฎหมายเข้มข้น จักปรากฏชัดเจนในช่วงขณะของสังคมที่ตกอยู่ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งของการช่วงชิงอำนาจรัฐสูงสุดหรือช่วงที่เกิดวิกฤติความสั่นคลอนแห่งการครองอำนาจนำ/ความเป็นเจ้า(Hegemonic Crisis)ในรัฐ(ดังปรากฏเช่นกันในสังคมไทยปัจจุบัน)จนทำให้เกิดสภาพรัฐที่ไม่ปกติ(Exceptional State)ซึ่งระบอบประชาธิปไตยถูกขัดขวางไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ [15] ในแง่มุมความคิดนี้ปรากฏการณ์ของการใช้อำนาจทางกฎหมายที่ขัดแย้งกับหลักนิติธรรมย่อมกลายเป็นสิ่งปกติสามัญในสายตาของทฤษฏีกฎหมายแนววิพากษ์ทั้งหลาย ซึ่งอาจไม่ศรัทธาเชื่อมั่นต่อการปรากฏจริงของหลักนิติธรรม(เสมอไป) รวมทั้งไม่เชื่อมั่นต่อสภาวะที่กฎหมายโดยตัวเองจะมีความชัดเจนแน่นอนจนสามารถกำหนดผลตัดสินได้อย่างถูกต้องเด็ดขาด(Legal Determinacy)ราวกับเป็นอิสระ/แยกขาดได้จากลักษณะอัตวิสัยในตัวบุคคล ,อุดมการณ์ หรือการต่อสู้ทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง  แต่ในขณะเดียวกันการยอมรับต่อสภาพที่คล้ายปกติของหลักนิติธรรมที่ล้มเหลวเป็นระยะๆ   คงมิได้หมายถึงการจำนนยอมรับต่อสภาพความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจทางกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน  หากแท้จริงแล้วสำหรับนักปฏิรูปกฎหมายที่ก้าวหน้ากลับต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมคติของหลักนิติธรรมที่ยืนอยู่คนละฟากกับอำนาจตามอำเภอใจ  พร้อมๆกับการเพ่งความใส่ใจจริงจังต่อประเด็นทางการเมือง  อำนาจหรือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลว/อ่อนแอของหลักนิติธรรมมากกว่า

 

การปกป้องเคียงคู่การวิพากษ์ต่อหลักนิติธรรม  บนจุดหมายแห่งการเมืองที่ดีที่สุด

เบื้องหน้าสภาวะที่กฎหมาย(อย่างน้อยบางส่วน)กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง พอๆกับการแอบอ้างบิดเบือนหลักนิติธรรมในสังคมไทยขณะนี้   ไม่ว่าเราจะมองเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือถาวรซึ่งลึกๆประหนึ่งสะท้อนความย้อนแย้ง(Paradox)ของกฎหมายที่มีทั้งด้านที่เป็นธรรมและอธรรมอยู่ในตัวเอง [16] การวิพากษ์ตีแผ่การเมืองอำนาจนิยมอันล้าหลัง/อนุรักษ์นิยมที่อยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจถอดถอนอย่างไร้ความเป็นธรรมในสังคมไทย   ย่อมเป็นภารกิจอันสำคัญหนึ่งทางปัญญา พอๆกับความจำเป็นในการเปิดเผยด้านมืดของบรรดาผู้คนที่กล่าวอ้างความเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่กลับใช้วิธีการอันมิชอบจากการแอบอ้างกฎหมายหรือหลักนิติธรรมเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม   เรากล้าปฏิเสธหรือไม่ว่า ทันทีที่บุคคลตัดสินใจว่าเขาสามารถใช้วิธีการทุกรูปแบบในการต่อสู้ปราบปรามความชั่วร้าย   พวกเขาย่อมไม่มีอะไรผิดแผกไปจากความชั่วร้ายที่ตนมุ่งมั่นจะทำลายล้าง [17] และผลร้ายอันจะเกิดตามมาย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน [18]

ไม่ว่าความสำเร็จในการปรับใช้หลักนิติธรรมแท้จริงจะเป็นเรื่องยากลำบากกระทั่งอาจกลายเป็นมายาคติในบางความคิด บางสถานการณ์  ท้ายสุดแล้วสังคมอารยะที่มีขันติธรรมปัญญาเป็นสรณะและต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงราวกลียุคจากการสั่งสมความคับแค้นไม่เป็นธรรม  ล้วนต้องยึดถือเคร่งครัดในวิถีทางแก้ไขปัญหาโดยอาศัยหลักนิติธรรมที่จริงแท้  มุ่งสู่การเป็นนิติธรรมรัฐ(Rule of Law State) พร้อมๆกับท่าทีเชิงวิพากษ์และไม่วางใจเสมอไปต่อกฎหมายซึ่งบ่อยครั้งแยกไม่ออกจากการเมือง อุดมการณ์และการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำ(Hegemony)ในสังคม  อาจไม่ต่างนักจากการมีหัวใจที่ศรัทธาใฝ่ฝันในหลักนิติธรรม แต่มีสมองที่ไม่เคยวางใจเสมอต่อหลักนิติธรรมพร้อมกัน

สิ่งสำคัญท้ายสุด หากเราเชื่อมั่นถึงความจำเป็นที่กฎหมาย-การใช้กฎหมายต้องตอบสนองต่อการเมืองที่ดีกว่าหรือการเมืองที่ดีที่สุด(Best Politics) ใช่หรือไม่ที่กฎหมาย-การตีความกฎหมายอันชอบธรรมจำต้องมีจุดหมายอันแน่วแน่ในการส่งเสริม/ปกป้องระบบประชาธิปไตย  หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือของประชาชนทุกกลุ่มและความยุติธรรมทางสังคม(Social Justice) หาใช่การเมืองแบบที่เน้นความเป็นใหญ่ของอภิชน/ชนชั้นนำที่มักอ้างคุณธรรมความดีเป็นฉากหน้า แต่ลึกๆกลับไม่ยอมรับความเสมอภาคแท้จริงของมนุษย์/ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกัน   และไม่เกี่ยงวิธีการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามโดยพร้อมฉ้อโกงการได้มาซึ่งอำนาจรัฐทั้งในรูปของทหารภิวัตน์/รัฐประหาร ,ตุลาการภิวัตน์/ตุลาการรัฐประหาร(Judicial Coup),ประชาภิวัฒน์ที่ล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557    หรือกระทั่งสภานิติบัญญัติภิวัตน์ที่ใช้อำนาจถอดถอนบุคคลโดยมิชอบทั้งในกรณีอดีตฯนายกฯและกรณีอดีตสว.-สส.ที่อยู่ในกระบวนการถอดถอนเช่นกันจากข้อกล่าวหา”แก้ไขรัฐธรรมนูญ”(เรื่องที่มาสว.)โดยมิชอบขณะที่สนช.ต่างหลับตาสนิทต่อการ”ล้มล้างรัฐธรรมนูญ”โดยมิชอบที่กระทำโดยกลุ่มอำนาจที่แต่งตั้งตนขึ้นมา  ทั้งหมดล้วนเหยียบย่ำหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงตลอดช่วงเกือบหนึ่งทศวรรษผ่านมา   อันก่อวิกฤติอาเพศทางกฎหมายและการเมืองครั้งใหญ่หลวงในสังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

....วิกฤติการณ์จักเกิดขึ้นแน่นอน  

ในยามเมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายและสิ่งใหม่ยังไม่สามารถถือกำเนิดขึ้น    

ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้

ความวิปริตผิดเพี้ยนอันร้ายแรงมากมายจักสำแดงออกให้พบเห็น

......Antonio Gramsci

 

        

อ้างอิง
1.มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พศ.2557 ซึ่งเกิดจากอำนาจรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ถวายคำแนะนำ

2.นสพ.มติชน  เสาร์ 24มกราคม 2558
 
3.ปาฐกถาของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มกราคม 2558 ,นสพ.มติชน อังคารที่ 27 มกราคม 2558  หน้า14

 
10.นัยแห่งหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมดังกล่าว    สรุปอนุมานจากแกนความคิดของหลักนิติธรรมที่เน้นการปกครองภายใต้กฎหมายอันชอบธรรม  ใช้กฎหมายเป็นเหตุผลของอำนาจเคร่งครัด  มีการปรับใช้กฎหมายอย่างซื่อสัตย์(Faithful)และเป็นกลางซึ่งสอดคล้องต้องตรงตามความหมาย/เนื้อหาของกฎหมายนั้นๆ   เพื่อบรรลุจุดหมายพื้นฐานของหลักนิติธรรมในการจำกัดควบคุมอำนาจทางกฎหมาย-การเมืองของผู้ปกครอง/ประชาชนให้เป็นไปตามสิ่งที่กฎหมายยอมรับหรือให้อำนาจเท่านั้น  ดังนั้นหลักนิติธรรมจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เกินเลยไปกว่าที่กฎหมายกำหนด  ไม่ใช่การตีความกฎหมายตามใจชอบโดยอาศัยความชื่นชอบส่วนตัว ,ดูอาทิ Andrew Altman , Arguing About Law : An Introduction to Legal Philosophy ,Wadsworth Publishing Company, 1996 ,pp.5-7 ; Richard Bellamy (Ed), The Rule of Law and the Separation of Power , Ashgate, Burlington ,2005 ,p.112 ; Colleen Murphy , “Lon Fuller and the Moral Value of The Rule of Law”,Law and Philosophy , (2005), 24 ,p.241 สมควรเน้นย้ำว่าหนึ่งในหลักการพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรม(ข้อ 8)ในคำอธิบายของ  Lon Fuller คือความจำเป็นที่ต้องมีความสอดคล้องกลมกลืนระหว่างกฎเกณฑ์ที่ประกาศใช้ กับการบังคับใช้กฎเกณฑ์นั้นในความเป็นจริง หรือความสอดคล้องระหว่างการกระทำของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและตัวบทกฎหมายที่ประกาศใช้  หลักการพื้นฐานนี้ได้รับการยืนยันเห็นพ้องจากนักนิติศาสตร์ชั้นนำของโลกตะวันตกหลายๆคน อาทิ Joseph Raz , John Finnis รวมทั้ง Tom Bingham ที่ตอกย้ำเช่นกันว่า  ภายใต้หลักนิติธรรม รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับต้องใช้อำนาจที่ตนมีอยู่อย่างสุจริต(Good Faith),เที่ยงธรรมสมตามวัตถุประสงค์แห่งอำนาจที่ตนได้รับ โดยปราศจากการใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลที่เกิดเลยกว่า กรอบจำกัดของอำนาจดังกล่าว ในขณะที่กฎหมายก็จำต้องให้การปกป้องคุ้มครองอย่างเพียงพอต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน อันรวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการตัดสินวินิจฉัยความผิดอย่างเที่ยงธรรม(Right to a Fair Trial) , Tom Bingham ,The Rule of Law ,Penguin Books ,2010 ,p.60 ,66  ประเด็นสำคัญ Bingham ยังเห็นพ้องด้วยกับบทสรุป(ของ J.D.Heydon)ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย(จากการตีความ)เพียงเล็กน้อยให้เป็นไปตามแนวทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือการปรับกฎหมายให้เข้ากับความคิดและการปฏิบัติสมัยใหม่  ถือเป็นคนละเรื่องกับการมุ่งสร้างกฎหมาย(ขึ้นมาใหม่จากการตีความ)ในลักษณะเปลี่ยนแปลงหรือสุ่มเสี่ยงอย่างรุนแรง เนื่องจากมันทำให้เกิดลักษณะความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้(Uncertain and unpredictable)(ในตัวกฎหมาย)ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับหลักนิติธรรม (pp.45-6)
11. Editorial , “Thailand’s generals have failed :it is time that democracy in spite of its problem , is restored” ,The Guardian , Thursday,19 February2015  บทบรรณาธิการดังกล่าววิพากษ์ต่อความเหลวไหลไม่เป็นธรรมในกรณีนี้ ในแง่ที่เป็นการถอดถอนโดยสภาฯที่ไม่มีอำนาจถอดถอนแท้จริง  อีกทั้งไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายได้ว่าวิธีการถอดถอนผู้นำจากตำแหน่ง  สามารถปรับใช้ได้กับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้อย่างไร  แต่นี่กลับคือส่วนหนึ่งของความอ่อนเขลาเบาปัญญาทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Illiteracy)ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ปกติทั่วไปในประเทศไทยไปแล้ว
18. ดูเปรียบเทียบหลักคิดเชิงพุทธที่ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์คิดถึงเรื่องคนที่ปรารถนาความเจริญโดยวิธีที่ไม่สมควรได้ประสพความพินาศใหญ่หลวง จึงกล่าวว่า ผู้ใดปรารถนาประโยชน์โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนเหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพราหมณ์แล้วพากันถึงความพินาศหมดสิ้นฉะนั้น   , พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกายชาดก  ภาค1 ,8 เวทัพพชาดก  ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net