Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ร้องไทยทำตามสัญญา อํานวยความยุติธรรม “อย่างถึงที่สุด” แก่คดีการบังคับบุคคลให้สูญหายของทนายสมชาย

12 มี.ค. 2558 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ออกแถลงการณ์ในกรณีการครบรอบ 11 ปี การบังคับบุคคลให้สูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร เรียกร้องให้ประเทศไทยต้องดําเนินการตามคํามั่นที่ได้ให้ไว้ว่าจะอํานวยความยุติธรรมให้แก่คดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายไปเป็นเวลา 11 ปีในวันนี้

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลระบุด้วยว่า ในคําแถลงหลายฉบับนับตั้งแต่นายสมชาย นีละไพจิตรถูกลักพาตัวไปจากถนนสายหนึ่งกลางเมืองกรุงเทพมหานคร รัฐบาลไทยได้ให้คํามั่นที่จะคลี่คลายคดีนี้มาตลอด โดยในที่ประชุมสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ให้คํามั่นว่า “จะดําเนินการจนถึงที่สุดและจะทําทุกวิถีทางในการที่จะนําความยุติธรรมมาสู่คดีของนายสมชาย” และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ประเทศไทยได้ให้การรับรองต่อคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติที่ติดตามการบังคับใช้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่กรุงเจนีวาว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษกําลังดําเนินการสอบสวนคดีของนายสมชาย นีละไพจิตรต่อไปโดยปราศจากการแทรกแซง

“แม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึง 11 ปีแล้วเจ้าหน้าที่รัฐของไทยก็ยังไม่ดําเนินการสอบสวนคดีนี้ได้อย่างครอบคลุมหรือใช้พยานหลักฐานจากทุกแหล่งเท่าที่จะเป็นไปได้” นายแซม ซารีฟี ผู้อํานวยการส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าวและว่า “สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือความรับผิดชอบอย่างแท้จริงและความมุ่งมั่นของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการที่จะระบุตัวผู้กระทําความผิดและนําเขาเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้”

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ประเทศไทยลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยในระหว่างที่รอการให้สัตยาบัน ประเทศไทยก็ย่อมต้องระงับการกระทําใดๆ ที่อาจเป็นการขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งได้กําหนดหน้าที่ให้รัฐภาคีต้องกําหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทําความผิดทางอาญา ต้องดําเนินการสอบสวนคดีอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นกลาง และต้องปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวของบุคคลซึ่งถูกบังคับให้สูญหายในฐานะที่เป็นเหยื่อตามสิทธิที่พวกเขาพึงมีด้วย

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงกําลังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งได้กําหนดนิยามและกําหนดให้การทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นคดีอาญาในประเทศไทย

“กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะต้องรับประกันได้ว่าจะไม่มีอายุความในคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย”

นายแซม ซารีฟีกล่าวเสริมว่า “ชะตากรรมของนายสมชายและสถานที่อยู่ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย และครอบครัวของเขาก็ยังเรียกร้องหาความจริงและความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด”

ทั้งนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลได้ออกรายงาน “สิบปีอันไร้ซึ่งความจริง: สมชาย นีละไพจิตร และการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย” ซึ่งเป็นนําเสนอถึงความไม่ตรงไปตรงมาของความเป็นมาทางกฎหมายของคดีดังกล่าว เพื่อเป็นการระลึกถึงการครบรอบ 10 ปีของการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตรด้วย

โดยรายงานฉบับนี้ได้กล่าวเน้นย้ำถึงปัญหาที่สําคัญหลายประการ เช่น การใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่ดี, ความล้มเหลวในการติดตามและพัฒนาเบาะแสคดี, ความไม่เหมาะสมในการตีความหมายกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น คือ การขาดเจตจํานงทางการเมืองในการคลี่คลายคดีที่ยังคงมีนัยสําคัญเรื่องวัฒนธรรมในการปล่อยให้ผู้กระทําความผิดลอยนวลของประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net