Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มักมีคนจำนวนมากเชื่อว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในอเมริกาและในโลก ความเชื่อเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นมายาคติหรือความเชื่อผิดๆ เพราะตามความจริงแล้วประธานาธิบดีมีอำนาจจำกัดและไม่สามารถทำหรือสั่งอะไรได้ตามอำเภอใจเหมือนกับกษัตริย์ในเทพนิยายเสมอไปเพราะเขาต้องรับมือจากการได้รับแรงกดดันหรืออิทธิพลจากกลุ่มทางการเมืองหลายกลุ่ม แม้ตามการปกครองแบบประธานาธิบดีนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหารซึ่งเปี่ยมด้วยบารมีอย่างท่วมท้นทั้งในและนอกประเทศ แต่ระบบการเมืองอเมริกันนั้นถูกออกแบบมาเพื่อตรงกันข้ามกับการปกครองแบบกษัตริย์นิยมของอังกฤษคือมีวัตถุประสงค์ไม่ให้ผู้ใดมีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาดเช่นให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ มีการตรวจสอบและคานอำนาจกันเอง (Check and Balance) รวมไปถึงการยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลักตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism)

คนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจการเมืองของสหรัฐฯ มักคิดว่าถ้าได้ประธานาธิบดีเป็นคนดี ทุกอย่างทั้งในและนอกประเทศก็จะดีตาม ซึ่งผู้ลงแข่งขันสมัครประธานาธิบดีมักอาศัยความเข้าใจเช่นนี้ในการสร้างภาพเพื่อดึงคะแนนเสียงให้กับตัวเองในช่วงหาเสียงดังเช่นคำขวัญที่ว่า “เปลี่ยน” (change) หรือคำสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในอเมริกาของบารัก โอบามา แต่ในอีกหลายปีต่อมา นอกจากขีดจำกัดดังกล่าวแล้ว โอบามายังจัดได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ความสามารถปานกลางและขาดความเด็ดขาดจึงทำให้คะแนนความนิยมของเขาตกต่ำอย่างมากเพราะผู้ที่ศรัทธาเขาตั้งแต่ต้นอาจไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนมากที่มองว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจอะไรเลยและเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอิทธิพลทั้งหลาย ในบทความนี้จึงต้องการแสดงให้เห็นว่าภาพที่จริงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง และประธานาธิบดียังมีความพยายามในการสร้างอำนาจให้กับตัวเอง อนึ่งบทความจะเน้นไปที่นโยบายการต่างประเทศและการทหารเป็นหลัก
 


การมองอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเกินจริง

สำหรับชาวโลกจำนวนมากแล้ว การมองอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเกินจริงอาจเกิดจากการอนุมานแบบง่ายๆ เพราะสหรัฐฯ ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ จึงต้องมีอำนาจสูงสุดเช่นกัน หรือ สาเหตุอื่นก็ได้แก่การนำเอาการเมืองของตัวเอง (ที่มักเป็นเผด็จการอย่างเช่นไทย) มาทับกับภาพของการเมืองอเมริกา และปัจจัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดคือการนำเสนอและการผลิตซ้ำภาพของประธานาธิบดีตาม  "ลัทธิบูชาบุคคล"  หรือ "ทฤษฎีมหาบุรุษ" ที่สังคมประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบอเมริกาเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ผ่านสื่ออันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าสำนักข่าวซึ่งเน้นไปที่ตัวประธานาธิบดีเป็นหลัก รวมไปถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้นำเสนอภาพของประธานาธิบดีในเชิงที่ยิ่งใหญ่หรือมีอำนาจเกินกว่าเหตุ ด้วยภาพยนตร์เหล่านั้นมักเป็นภาพยนตร์แนวต่อสู้ อิงวิทยาศาสตร์ผสมแฟนตาซี ทำรายได้สูงๆ   มากกว่าภาพยนตร์หลายเรื่องที่นำเสนอฉากความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภาและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  ซึ่งใกล้เคียงกับภาพที่แท้จริงของการเมืองแบบอเมริกันแต่เข้าสู่สายตาของชาวโลกน้อยกว่ามากเพราะเป็นภาพยนตร์แบบชีวิต รักโรแมนติกหรือสืบสวนสอบสวน

สาเหตุที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดนำเสนอภาพของประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่หรือเป็นผู้บัญชาการทหารหรือจอมทัพ (Commander-in-chief) ซึ่งไม่สอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงของประธานาธิบดีเท่าไรนักก็เพราะผู้สร้างต้องการตอบสนองกระบวนทัศน์ของคนอเมริกันจำนวนมากที่ยังคงยกย่องความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเหนือประเทศต่างๆ ในโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นการเชิดชูประชาธิปไตยโดยเฉพาะมิติทางอำนาจของพลเรือนเหนือกองทัพ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีภาพยนตร์ที่นำเสนอความยิ่งใหญ่ของนายทหารระดับสูงอย่างเช่นนายพล 5  ดาวหรือคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐอเมริกา (Joint chief of staff) เท่ากับ วีรกรรมของนายทหารระดับล่าง ๆ อันจะเป็นการยกย่องจิตวิญญาณของทหารมากกว่าความหวังในลาภยศสรรเสริญของผู้นำกองทัพ ดังเช่นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่กองทัพ (โดยเฉพาะนาวิกโยธิน) ต้องต่อสู้กับเหล่ามนุษย์ต่างดาวผู้ชั่วร้าย 

อนึ่งเป็นเรื่องน่าสังเกตว่าคนในวงการฮอลลีวูดจำนวนมากมักสนับสนุนพรรคเดโมแครตและมีแนวคิดเสรีนิยมจึงมักนำเสนอภาพของประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในด้านบวกและพรรครีพับลิกันในด้านลบ ดังเช่นเรื่อง The Butler (2013) ซึ่งสร้างมาจากชีวิตจริงของคนใช้ผิวดำในทำเนียบขาวได้นำเสนอภาพของจอห์น เอฟ   เคนนาดี (เดโมแครต) ในด้านดีเช่นเป็นคนอ่อนโยน เข้าใจหัวอกคนสีผิว   ภาพของริชาร์ด นิกสัน   (ริพับลิกัน) ในด้านลบเช่นนักการเมืองเห็นแก่ตัวและขี้โกง ภาพของโรนัลด์ เรแกน (ริพับลิกัน) ในด้านลบเช่นใช้สิทธิยับยั้งรัฐสภาไม่ให้ทำการคว่ำบาตรประเทศแอฟริกาใต้ที่มีนโยบายเหยียดสีผิว แต่เขาก็ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นพวกเหยียดสีผิว  และในที่สุดภาพยนตร์ก็เชิดชูโอบามา ประธานาธิบดีสีผิวคนแรกของสหรัฐฯ (ซึ่งตัวเอกที่เกษียณแล้วได้ไปเข้าพบตอนจบของเรื่อง)  ดังนั้นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมักจะมาจากพรรคเดโมแครต ดังเช่นเรื่อง ID 4  ภาพยนตร์มนุษย์ต่างดาวบุกโลกที่ประธานาธิบดีมีบุคลิกของบิล คลินตันของเดโมแครต (แต่ก็แอบขโมยภาพของนักบินผู้เก่งกาจจากบุชผู้พ่อ)


ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับกลุ่มการเมืองภายในประเทศ

ตามความเป็นจริงแล้วแล้วอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีจำกัด กลุ่มการเมืองกลุ่มแรกที่ประธานาธิบดีต้องรับมือคือรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่สำคัญเช่นการออกกฎหมายและการอนุมัติงบประมาณที่ประธานาธิบดีร้องขอ  สำหรับการเมืองอเมริกันนั้นกฎหมายไม่ได้ออกมาอย่างง่ายดายเหมือนกับหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา กฎหมายจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากเสียงของทั้ง 2 สภาคือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ใน 3  (Supermajority)  ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่ประธานาธิบดีมีความขัดแย้งกับสภาซึ่งมักประกอบด้วยเสียงส่วนใหญ่คือสมาชิกจากพรรคตรงกันข้ามกับพรรคที่ประธานาธิบดีสังกัดอยู่จนทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางอำนาจ กฎหมายฉบับสำคัญที่รัฐบาลพยายามผลักดันไม่สามารถออกมาได้จนกระทั้งในบางปีรวมไปถึงการอนุมัติงบประมาณของประเทศจนทำให้รัฐบาลบาลกลางต้องปิดทำการชั่วคราว (สหรัฐ ฯ มีระบบพรรคการเมืองแบบ 2 พรรคใหญ่คือเดโมแครตและริพับลิกัน กระนั้นก็มีพรรคอื่นซึ่งมีขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล)  ล่าสุดโอบามาทำงานได้ไม่เป็นที่พึงพอใจของคนอเมริกันนัก จึงทำให้คนอเมริกันเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากพรรคริพับลิกันเข้าไปเป็นจำนวนมากจึงทำให้พรรคริพับลิกันมีเสียงของสมาชิกใน 2 สภามากกว่าเดโมแครต อันจะยิ่งทำให้โอบามาต้องพยายามหนักยิ่งขึ้นในการผลักดันกฎหมายของตนและพรรคเดโมแครตให้เกิดความสำเร็จ  (แน่นอนว่าจะส่งผลถึงคะแนนเสียงของผู้สมัครลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตในอีก 2 ปีข้างหน้าซึ่งก็น่าจะเป็นฮิลลารี คลินตัน) 

แม้ว่าประธานาธิบดีมีบทบาทสำคัญต่อตัวกฎหมายคือเป็นผู้ลงนามเพื่อให้กฎหมายที่ผ่านสภามานั้นสมบูรณ์  ประธานาธิบดียังสามารถส่งกฎหมายกลับคืนเพื่อให้สภาพิจารณาใหม่ หรือแสดงความต้องการยับยั้งกฎหมาย (veto) ฉบับนั้น  แต่ถ้าทั้ง 2 สภายังคงยืนยันกฎหมายฉบับเดิม กฎหมายก็จะถูกนำออกมาใช้ได้แม้ว่าจะไม่มีลายมือชื่อของประธานาธิบดีก็ตาม  (อนึ่งประธานาธิบดีสามารถการคัดค้านแบบอื่นเช่นไม่ลงนามในกฎหมายภายใน 10 วันเพื่อให้กฎหมายผ่านไปโดยไม่มีลายมือชื่อของตัวเอง แต่ถ้าการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงที่การประชุมสภาถูกเลื่อนออกไปกฎหมายนั้นจะตกไป ดังที่เรียกว่า pocket veto)  เช่นเดียวกับการที่ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งรัฐมนตรี  ประธานศาลสูง เอกอัครราชทูต ฯลฯ ได้สำเร็จนั้นจะต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อนอันสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างถ่วงดุลอำนาจกันอย่างมาก นอกจากนี้ประธานาธิบดีมีอำนาจเพียง 2 อย่างซึ่งไม่ต้องขอการอนุมัติจากรัฐสภาคือการการออกคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive order) และการประกาศวันสำคัญที่อุทิศให้กับบุคคลซึ่งมีความสำคัญหรือสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอเมริกันแต่อำนาจทั้ง 2 อย่างนี้ก็ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญอีก

ประธานาธิบดียังพบกับขีดจำกัดทางอำนาจอื่นเช่นรัฐบาลระดับมลรัฐซึ่งมีรัฐบาลและรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง ผู้นำรัฐบาลระดับมลรัฐคือผู้ว่าการรัฐซึ่งอาจจะมีนโยบายการบริหารงานที่แตกต่างจากประธานาธิบดีก็ได้แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกันก็ตามเพราะความอิสระของแต่ละมลรัฐ ส่วนสภาของมลรัฐก็มีอิสระในการออกกฎหมายเอง  ดังนั้นในแต่ละรัฐจะมีกฎหมายหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน (และดูแปลกๆ เพราะเป็นกฎหมายเก่าที่อายุกว่าร้อยหรือ 2 ร้อยปีมาแล้ว)  โดยที่รัฐบาลกลางเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้แต่กฎหมายของมลรัฐจะต้องไม่อาจขัดแย้งกับกฎหมายของรัฐบาลกลางและตัวรัฐธรรมนูญ สำหรับรัฐบาลกลางก็มีอำนาจที่สงวนไว้ไม่กี่อย่างเช่นการผลิตธนบัตร การทหารและการแต่งตัวเอกอัครราชทูต ทั้งนี้ยังไม่นับฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะศาลสูง (Supreme court) ซึ่งนอกจากที่กรุงวอชิงตันดีซีแล้วมีประจำอยู่ทุกมลรัฐ ก็ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านนำกฎหมายหรือคำสั่งของฝ่ายบริหารจากรัฐบาลกลางไปให้ศาลสูงตีความว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งส่งผลให้กฎหมายต่างๆ หรือนโยบายที่ฝ่ายบริหารผลักดันต้องยุติหรือว่าชะลอไปดังเช่นคำสั่งของฝ่ายบริหารในการให้สิทธิแก่ผู้อพยพผิดกฎหมายในยุคของโอบามาหรือในกรณีกฎหมายการประกันสุขภาพที่ผลักดันโดยโอบามาจนประสบความสำเร็จ แต่มลรัฐหลายแห่งโดยเฉพาะที่ผู้ว่าการรัฐที่สังกัดพรรคริพับลิกันปฏิเสธจะปฏิบัติตามเพราะยึดตามศาลสูงที่ตีความว่าการที่รัฐบาลกลางบังคับให้มลรัฐขยายโครงการทางสุขภาพเช่นนี้เป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ  อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีก็มีอำนาจในการถ่วงดุลกับฝ่ายตุลาการจากอำนาจในการให้อภัยโทษ (Pardon) ลดโทษลงบางส่วน (Commute) หรือแก่ผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือทางอาญา  เพียงแค่ในศตวรรษที่ 20 มีการให้อภัยโทษหรือลดโทษของประธานาธิบดีแก่บุคคลต่างๆ ถึง 20,000 ครั้ง แต่ประธานาธิบดีต้องยอมรับความเสี่ยงทางการเมืองและความน่าเชื่อถือทางสังคมจากการใช้สิทธิครั้งนี้ดังเช่นเจอรัล ฟอร์ด ให้อภัยโทษแก่นิกสันก่อนที่ขบวนการถอดถอนจากคดีวอเตอร์เกตจะสิ้นสุดอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟอร์ดต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแก่จิมมี คาร์เตอร์

นอกจากนี้ประธานาธิบดียังต้องรับมือกับกลุ่มข้าราชการที่ทำงานให้กับรัฐบาลกลางซึ่งตามหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดี แต่ก็ยังก่อปัญหาให้กับประธานาธิบดีเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะคนเหล่านั้นมีความรู้เฉพาะด้านและประสบการณ์มากกว่าจึงกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งที่ทรงอิทธิพล ตัวอย่างที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ได้แก่สำนักสอบสวนกลางหรือ FBI ซึ่งขึ้นตรงกับประธานาธิบดี แต่ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกคือเจย์ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1935 –1972) ได้ทำให้สำนักสอบสวนกลางเหมือนกับแก๊งค์มาเฟียเพราะได้ก่อกวนคู่ปรปักษ์ทางการเมืองไม่ว่านักการเมืองหรือนักกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงการเก็บข้อมูลลับต่อบรรดาคนดังและผู้นำทางการเมืองด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย (แต่มักมีข้ออ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงเช่นต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์)  ยังกล่าวกันว่าฮูเวอร์ ได้เก็บความลับของประธานาธิบดีหลายคนในยุคหลังสงครามโลกจึงไม่มีประธานาธิบดีคนใดกล้าแทรกแซงการทำงานหรือปลดเขาออกจำตำแหน่งจนเขาเสียชีวิตไปเอง  หรืออย่างในปัจจุบันได้แก่กระทรวงกลาโหมซึ่งมีที่ทำงานคือเพนตากอนเป็นกระทรวงซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดกระทรวงหนึ่งด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลคือประมาณร้อยละ 4.8 ของมวลผลิตภัณฑ์ของทั้งประเทศได้ก่อปัญหาให้กับโอบามาซึ่งมีแผนจะตัดงบประมาณครั้งใหญ่แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าไรนัก กระนั้นเหตุการณ์ไม่สงบของตะวันออกกลางและการแผ่อิทธิพลของจีนในเอเชียหนือได้ทำให้โอบามาต้องหันมาเพิ่มงบประมาณในปีนี้

ประธานาธิบดียังต้องกับแรงกดดันคือกลุ่มผลประโยชน์ (Interest group) หรือกลุ่มตัวแทนของประชาชน ที่มีความต้องการให้รัฐปฏิบัติตามความต้องการของตนในประเด็นใดประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นการสร้างทางลัดในการต่อรองทางอำนาจกับรัฐบาลนอกเหนือจากการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์นี้ไม่ได้เป็นตอบสนองนายทุนหรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเสมอไปดังที่อาจารย์สุลักษณ์เข้าใจเพราะกลุ่มผลประโยชน์ไม่ได้มีเพียงกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น หากยังมีอีกมากที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมเช่นกลุ่มเพื่อสิทธิของชนสีผิว สิทธิสตรี สิทธิพวกรักร่วมเพศ การรักษาสิ่งแวดล้อม สิทธิสัตว์ ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้จะมีนักวิ่งเต้น (Lobbyist) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อทั้งตัวประธานาธิบดี  พรรคการเมือง และรัฐสภาผ่านเงินบริจาค  การช่วยรณรงค์หาเสียงหรือการหาข้อมูลสำคัญให้ กลุ่มผลประโยชน์นี้ยังร่วมมือกับรัฐสภาและระบบราชการในการมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง ดังที่เรียกว่าสามเหลี่ยมเหล็กกล้าหรือ Iron Triangle 

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่าประธานาธิบดียังต้องรับมือกับชุดบริหารของเขาเองเช่นรองประธานาธิบดี  รัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษา ตัวอย่างเช่นรองประธานาธิบดีซึ่งโดยปกติไม่มีอำนาจเท่าไรนักแต่ในรัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช  นายดิก เชนีย์ถือได้ว่าเป็นรองประธานาธิบดีที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์  ในด้านรัฐมนตรีนั้นได้แก่นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศยังเบียดบังภาพลักษณ์ของโอบามาในเวทีต่างประเทศและวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ส่วนคณะที่ปรึกษาซึ่งมีตัวอย่างคือเฮนรี คิสซิงเจอร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในยุคของริชาร์ด นิกสันนั้นมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศสูงมากรวมไปถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อน (เช่นเป็นมิตรผสมกับการกับคู่แข่ง)  กับตัวนิกสันเอง คิสซิงเจอร์ยังเบียดบังบารมีของนิกสันโดยการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 

ท้ายนี้เรายังไม่สามารถปฏิเสธปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อตัวประธานาธิบดีเอง เช่นสื่อมวลชนซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐและมักสามารถทั้งทำให้ฝ่ายบริหารสะดุดหรือหยุดชะงักจากพลังในการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีและอิทธิพลในการชี้นำทัศนคติของมวลชน หรือแม้แต่การตีแผ่โครงการอันไม่เปิดเผยต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งทำให้ทำเนียบขาวต้องระมัดระวังในการเก็บความลับจำนวนมากให้พ้นจากสื่ออย่างเช่นกรณีนักข่าวของสำนักพิมพ์วอชิงตันโพส 2 คนได้ทำการขุดคุ้ยคดีอื้อฉาววอเตอร์เกต (Watergate) อันเป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันต้องลาออกในปี 1974 ก่อนที่รัฐสภาจะเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งหรือ Impeachment  (ซึ่งก็เป็นขีดจำกัดทางอำนาจของประธานาธิบดีอีกอย่างหนึ่งแม้ประธานาธิบดีแม้ว่าจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปีโดยไม่ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนกับนายกรัฐมนตรี)

ในทางกลับกันประธานาธิบดีก็ต้องทำตนให้โปร่งใสและเปิดกว้างในเรื่องข่าวสารข้อมูลเพื่อความสะดวกของสื่อมวลชนในการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นการทำงานของรัฐบาล เช่นตัวประธานาธิบดีต้องเป็นกันเองและได้รับความนิยมจากนักข่าว (ไม่ใช้คำหยาบคายและขู่ว่าจะชกหน้าหรือเอาโปเดียมทุ่มใส่) อันจะส่งผลถึงคะแนนความนิยม (approval rating) ของตัวประธานาธิบดีรวมไปถึงคะแนนเสียงที่จะมีให้กับสมาชิกของพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีผู้นั้นสังกัดอยู่ กระนั้นก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีจึงมักจะนำเสนอภาพของประธานาธิบดีในด้านลบอย่างต่อเนื่องดังเช่นสำนักข่าวฟอกซ์นิวส์ซึ่งมีอุดมการณ์ไปทางขวาและมักโจมตีโอบามา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้เกิดสื่อทางเลือกใหม่ซึ่งอาจมีพลังเสียยิ่งกว่านั้นคือสื่อทางโลกออนไลน์หรือ Social media เช่นอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์อันจะมีพลังสำหรับมุมมองและความนิยมของประชาชนต่อประธานาธิบดีอย่างมาก เพราะความแพร่หลายของสื่อเช่นนี้แล้ว ด้วยการยึดถือเสรีภาพของการแสดงออกทางการเมือง รัฐก็ไม่อาจออกกฎหมายแบบมาตรา 112 ในการห้ามไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอหรือล้อเลียนตัวประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ (ยกเว้นจะเกี่ยวกับความมั่นคงเช่นการคุกคามหรือขู่ฆ่าประธานาธิบดี) หากพิจารณาในเว็บไซต์หรือบล็อคแล้ว บุชนั้นมีภาพแห่งความชั่วร้ายไม่ต่างจากฮิตเลอร์ หรือโอบามามีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เหมือนสตาลินหรือเลนิน
 

อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระดับโลก

การที่ชาวโลกมองว่าสหรัฐฯ นั้นยิ่งใหญ่คับโลกหรือต้องการครองโลกตามความทะเยอทะยานของจักรวรรดินิยม (ซึ่งทำให้ใครหลายหันหันมาสนับสนุนจีนและรัสเซียโดยหารู้ไม่ว่าทั้ง 2 ชาติก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกับสหรัฐฯ เพียงแต่ยังไม่พบกับโอกาส) ความเชื่อเช่นนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯ เป็น superpower หรือมีอำนาจมากที่สุดในโลกและมีงบประมาณทางทหารสูงที่สุดในโลก  ดังนั้นประธานาธิบดีน่าจะสั่งเป็นสั่งตายกับใครในประเทศไหนก็ได้  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สหรัฐฯ ไม่อาจจะทำสงครามกับใครได้อย่างอำเภอใจเพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าแม้ประเทศที่มีกำลังทางทหารด้อยกว่าตนมากก็ไม่ได้ว่าจะแพ้สหรัฐฯ เสมอไป (ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงประเทศที่มีอำนาจไม่ห่างกันมากอย่างเช่นจีนและรัสเซีย)  แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีอาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากเคียงคู่ไปกับรัสเซียแต่ก็ไม่ได้นำไปใช้กับประเทศใดได้นับตั้งแต่กับญี่ปุ่นเมื่อสมัยสงครามโลกไม่ว่าเพราะกฎหมายระหว่างประเทศหรือผลกระทบที่ตามมาจะย้อนกลับมาสู่สหรัฐฯ อย่างใหญ่หลวงนักโดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์นี้  และที่สำคัญที่สุดก็จะกระทบถึงคะแนนความนิยมของตัวประธานาธิบดีจากประชาชนอเมริกันเองซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านสงครามหรือการไปแทรกแซงประเทศอื่น ยกเว้นว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ทำให้สาธารณชนคล้อยตามดังเช่นเครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรดปี 2001 อันนำไปสู่การบุกอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้สหรัฐฯ มีอำนาจและบทบาทในการเมืองโลกอย่างจำกัด สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศทั้งหลายแม้แต่ประเทศซีกโลกตะวันตกอย่างเช่นยุโรปตะวันตกไม่ได้เป็นแบบสั่งซ้ายหันขวาหัน แม้แต่อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่น  ลักษณะของความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้เป็นแค่การใช้อำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจกดดัน แต่ยังรวมไปถึงการทูตเช่นการเกี้ยวพาราสี (เหมือนจีบผู้หญิง) การต่อรอง การชิงไหวชิงพริบในรูปแบบต่างๆ อันอาจได้ผลไปสู่ความขัดแย้งหรือแม้แต่ความล้มเหลวด้วยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำของรัฐบาลในแต่ละยุคอีกด้วยเพราะผู้นำเหล่านั้นในระบอบประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงคะแนนความนิยมและคะแนนเสียงของประชาชนซึ่งก็มีทัศนคติต่อสหรัฐฯ ในระดับที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่สงครามเวียดนาม ประเทศซึ่งมักถูกมองโดยชาวโลกว่าในสังกัดของสหรัฐฯอย่างเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตกล้วนแต่ปฏิเสธที่จะส่งทหารเข้าไปร่วมรบเช่นเดียวกับช่วงสงครามอิรักในปี 2003 ที่สหรัฐอเมริกาในยุคของบุชแม้จะได้รับการสนับสนุนจากโทนี แบลร์ของอังกฤษ (จนแบลร์ถูกล้อเลียนว่าเป็นสุนัขพูเดิลของบุช) แต่ก็มีความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในยุคของญัก ชีรักและเยอรมันในยุคของแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์อย่างรุนแรง ยิ่งในปัจจุบันการออกมาแฉโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนอดีตเจ้าหน้าที่ของซีไอเอว่าทางการสหรัฐฯ ได้จารกรรมความลับจากบรรดาผู้นำของประเทศซึ่งเป็นมิตรกับตนย่อมทำให้เกิดผลทางด้านลบในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น

ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่ากับประเทศในซีกอื่นๆ ของโลกไม่ว่าตะวันออกกลางดังเช่นซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ การ์ตา  เอเชียใต้ดังเช่นอินเดียและโดยเฉพาะปากีสถาน เอเชียแปซิฟิก (ซึ่งสหรัฐฯ พยายามเพิ่มอิทธิพลแข่งกับจีน) ทั้งนี้ไม่นับประเทศที่อยู่นอกวงโคจรอำนาจของสหรัฐฯดังเช่นในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา  สหรัฐฯ  จะดำเนินความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนด้วยต่อประเทศเหล่านั้น (หรือจะเรียกว่ากะล่อนก็สุดแล้วแต่) อันกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศและการทหารของตัวประธานาธิบดีด้วย อันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากสำหรับคนที่คิดว่าสหรัฐฯ เป็นตำรวจโลกซึ่งจะทำอะไรก็ได้ ยิ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ กำลังถูกจีนเข้ามาเบียดขับอยู่ด้วย หรือในกรณีของไทยนั้นถือได้ว่าเป็นกรณีที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนซึ่งเราจะนำไปถกเถียงกันต่อไปในบทความหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอลและอำนาจของประธานาธิบดี

ในทางกลับกันกลับมีคนเชื่อตามทฤษฎีสมคบคิดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจอะไรเลย    อันอยู่ตรงกันข้ามสุดโต่งกับความเชื่อแรกที่ว่าประธานาธิบดีมีอำนาจมากที่สุดในโลก มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่ามีนักธุรกิจชาวยิว หรือสมาคมลับมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ  (บางคนถึงกลับบอกว่ายิวครองอเมริกา)  เป็นที่น่าสังเกตว่าทฤษฎีเช่นนี้มักเป็นการพูดหรือสืบต่อกันลอยๆ ผ่านสื่อแบบประชานิยมเช่น ภาพยนตร์  นวนิยาย การเสวนาในเว็บไซต์ ฯลฯ   ยังหาข้อพิสูจน์ออกเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนนัก ตามความจริงกลุ่มอิทธิพลของอิสราเอลต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ใกล้เคียงกับทฤษฎีนี้ที่สุดได้แก่กลุ่มผลประโยชน์ที่เพื่อประโยชน์ของอิสราเอล อันมีชื่อเป็นทางทางการว่า American Israel Public Affairs Committee หรือ AIPAC  ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลหรือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สูงมาก กระนั้นก็มีหลายครั้งที่สหรัฐฯ ไม่ได้เอาใจอิสราเอล ดังกรณีคลองสุเอซในปี 1956 ที่อิสราเอลวางแผนทางทหารกับอังกฤษและฝรั่งเศสในการเข้ายึดคลองสุเอซคืนจากอียิปต์และหวังว่าสหรัฐฯ  จะให้การสนับสนุน รัฐบาลของไอเซนฮาวร์ร่วมกับสหภาพ     โซเวียต กลับทำตรงกันข้ามคือบีบให้ทั้ง 3 ประเทศถอนกำลังออกไป จึงทำให้คลองสุเอซอยู่กับอียิปต์เหมือนเดิม หรือในปี 2012 ตอนที่มิตต์ ลอมนีย์ลงสมัครแข่งขันประธานาธิบดีกับโอบามา ลอมนีย์ให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างมากเพื่อเอาใจคนอเมริกันเชื้อสายยิวในขณะที่โอบามาได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่ต่อต้านอิสราเอลมากที่สุดในประวัติศาสตร์และมีความสัมพันธ์ไม่ดีกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอลคือเบนจามิน เนทันยาฮู แต่โอบามากลับชนะการแข่งขันเป็นสมัยที่ 2  (อันสะท้อนให้เห็นว่าคนอเมริกันเชื้อสายยิวอาจไม่ได้ผูกพันกับอิสราเอลหรือเห็นด้วยกับนโยบายของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์เสมอไป) และยังแต่งตั้งทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่ถูกว่าเป็นพวกต่อต้านยิวอีกด้วย ปัจจุบันสหรัฐฯ ก็แสดงตนเป็นกลางคือกดดันให้อิสราเอลถอนการลงหลักปักฐานออกไปจากเขตปาเลสไตน์ แต่ก็พยายามวิ่งเต้นและกดดันไม่ให้สหประชาชาติรับรองความเป็นรัฐให้กับปาเลสไตน์ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯ จึงกลายเป็นที่เกลียดชังของทั้ง  2 ฝ่าย  นอกจากนี้สหรัฐฯ ก็ไม่ยอมส่งกองทัพโจมตีซีเรียและอิหร่านตามคำขอของอิสราเอล  (ในทางกลับกันโอบามายังพยายามติดต่อพูดคุยกับประธานาธิบดีอิหร่านอีกด้วย)  ล่าสุดเมื่อตอนต้นเดือนมีนาคม ปีนี้นายเนทันยาฮูได้เดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อกล่าวคำปราศรัยที่รัฐสภาตามคำเชิญของรัฐสภาซึ่งพรรคริพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ เพื่อเป็นกลยุทธทางเมืองในการกดดันโอบามา ซึ่งได้การเมินเฉยจากโอบามาและรัฐบาลรวมไปถึงสมาชิกของพรรคเดโมแครตอีกเป็นจำนวนมาก อันสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผลประโยชน์ที่วิ่งเต้นผลเพื่อประโยชน์ของอิสราเอลนั้นไม่ได้มีอำนาจไม่จำกัดและยังต้องต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังเป็นความเข้าใจผิดด้วยที่ว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญแก่อิสราเอลเพียงประเทศเดียวในตะวันออกกลาง  สหรัฐฯ ยินดีช่วยเหลือทุกประเทศที่ตอบสนองประโยชน์ตัวเองและความมั่นคงในตะวันออกกลาง สหรัฐฯ พร้อมจะเป็นมิตรกับหลายประเทศซึ่งแม้ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามแต่ก็จัดตัวเองว่าเป็นรัฐฆราวาส (secular state)  เช่นอียิปต์ยุคหลัง กามัล อัลนัสเซอร์ที่สหรัฐฯ ต้องการหว่านล้อมให้เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และเป็นหลักความมั่นคงในตะวันออกกลาง รวมไปตุรกี (หากนับว่าอยู่ในตะวันออกกลาง) ซึ่งมีรูปแบบการปกครองค่อนไปทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก หรือแม้แต่รัฐที่จัดว่าตัวเองเคร่งศาสนาดังเช่นซาอุดิอาระเบียและกาตาร์แต่ก็ถ้าประสานผลประโยชน์กับสหรัฐฯ ได้ก็ถือว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ

 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับกลุ่มทุนสามานย์

นอกจากยิวและสมาคมลับแล้ว นักทฤษฎีสมคบคิดหลายคนยังเชื่อว่าประธานาธิบดีเป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มทุนสามานย์  ทฤษฎีนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสื่อในเมืองไทยซึ่งเกลียดชังทักษิณและยังรับเอาทฤษฎีจากฝ่ายซ้ายเช่นนอม ชอมสกีมาใช้ในการวิเคราะห์ บางสื่อถึงกลับบอกว่าทักษิณเป็นเด็กดีของประธานาธิบดีและประธานาธิบดีเป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มทุนสามานย์ ดังนั้นทักษิณจึงเป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มทุนสามานย์ (ในรายการนั้น ผู้เขียนสังเกตว่า พอผู้ดำเนินรายการถามว่ากลุ่มทุนนั้นเป็นใครบ้าง เจ้าของทฤษฎีกลับตอบแบบไม่เต็มเสียงและเลี่ยงไปพูดประเด็นอื่นแทน)   เป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มักมีนโยบายเอาใจบริษัทขนาดใหญ่หรือ บริษัทข้ามชาติ จนทำให้ฝ่ายต่อต้านเห็นว่าคนพวกนี้สามารถสั่งประธานาธิบดีแบบซ้ายหันขวาหันได้ (คนพวกนี้มักจะลืมวิเคราะห์พลเอกประยุทธ์ซึ่งก็มีลักษณะเช่นนี้ไม่ผิดเพี้ยน)  ดังเช่นอาจารย์สุลักษณ์  ศิวลักษณ์ในบทความ จดหมายรักถึงเผด็จการ แม้ว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาตินั้นก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผลประโยชน์ที่มีกลุ่มนักวิ่งเต้นที่ทรงพลังมากและทุนทรัพย์สูงมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าอิทธิพลของกลุ่มเหล่านี้เป็นเพียง "ระดับสูง" แต่ไม่ใช่ "ทั้งหมด" เพราะประธานาธิบดีจะต้องคำนึงถึงเรื่องอื่นด้วยเช่นอุดมการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ (เช่นเน้นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่หรือเน้นผลประโยชน์ของชนรากหญ้าอเมริกันด้วย)  ทัศนคติของประชาชน ที่ปรึกษาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง และสถานการณ์ทางการเมืองโลกที่เกิดขึ้น และปัจจัยอื่นอีกร้อยแปด ฯลฯ 

ตัวอย่างได้แก่กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มทุนที่มักตกเป็นจำเลยมากที่สุดก็คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธหรือ Military  Industrial Complex  หากเราลองศึกษาดูนโยบายการทหารและการต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังเช่นในกรณีสงครามเวียดนาม หากใช้ทฤษฎีสมคบคิดแบบ โอลิเวอร์ สโตน ก็จะบอกว่าเพราะเคนนาดีไม่ต้องการขยายอิทธิพลทางทหารไปมากกว่านี้ก็เลยถูกกลุ่มนี้ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น   ซีไอเอ เอฟบีไอ กองทัพ  ฯลฯ ในการลอบสังหาร และเชิดลินดอน บี จอห์นสันซึ่งก็ถือกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในแผนครั้งนี้ขึ้นมา แต่ตามความจริงแล้วไม่มีการรับประกันว่าเคนนาดีนั้นจะไม่ขยายอิทธิพลทางทหารในอนาคต หากเขาไม่ถูกลอบสังหาร เพราะกระบวนทัศน์แห่งภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์หรือทฤษฎีโดมิโนนั้นมีอิทธิพลในทำเนียบขาวนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 (ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคมืดหรือยุคที่คนอเมริกันหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์อย่างมาก)  ผสมกับความไร้ประสิทธิภาพและความฉ้อฉลของรัฐบาลเวียดนามใต้ในยุคของ    โง ดินห์ เดียม (ซึ่งเคนนาดีมีส่วนรู้เห็นในการให้ซีไอเอหนุนให้ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเดียม แต่อาจไม่ได้คาดคิดว่าเดียมและน้องจะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม  ข้อมูลส่วนนี้ในภาพยนตร์ของโอลิเวอร์ สโตนไม่ได้กล่าวถึง)  รวมไปถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลยุคหลังเดียม จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จอห์นสันต้องส่งกำลังทหารไปเข้าในเวียดนามใต้ในปี 1965 แม้ว่าจอห์นสันจะมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธ (ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเขาอย่างแน่นอน) แต่ถ้าเคนนาดีจะยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือว่าเป็นคนอื่นขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ ก็อาจจะเข้าร่วมในสงครามเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรือในยุคของริชาร์ด นิกสัน (1968-1974) นั้น  แม้เขาจะสัญญาต่อประชาชนในช่วงหาเสียงว่าจะพากองทัพสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม แต่เขากลับขยายขอบเขตสงครามไปในลาวและกัมพูชา สำหรับคนที่มองว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มทุนก็มองว่าการกระทำของนิกสันเกิดจากการบงการจากวงการอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว หากเราคำนึงถึงเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากเวียดนามใต้เพื่อปล่อยให้เวียดนามเหนือเข้ายึดอย่างง่ายดาย นิกสันและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างเช่นเฮนรี คิสซิงเจอร์คาดคิดว่าจะทำให้สหรัฐฯ เสียหน้าเพราะสงครามเวียดนามได้ทำให้สหรัฐ ฯสิ้นเปลืองงบประมาณและชีวิตของกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก อันจะส่งผลร้ายต่อดุลทางอำนาจที่สหรัฐฯ มีไปทั่วโลก เช่นเดียวกับก็จะเป็นตัวทำลายคะแนนความนิยมและคะแนนเสียงที่มีคนอเมริกันมีต่อตัวนิกสันและพรรคริพับลิกันอย่างมาก นิกสันจึงหาทางออกบนนโยบาย “การออกจากเวียดนามอย่างมีเกียรติ” หรือ Honorable exit  ดังนั้นนิกสันจึงต้องทำให้กองกำลังเวียดกงที่ช่วยเหลือเวียดนามเหนือชะงักงันจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักลงในช่องทางลำเลียงของพวกเวียดกงในลาวและกัมพูชาอันจะเป็นการเสริมสร้างความความปลอดภัยแก่เวียดนามใต้  รวมไปถึงการทิ้งระเบิดอย่างหนักที่เวียดนามเหนือเพื่อจะบังคับให้เวียดนามเหนือยอมเจรจายุติการโจมตีเวียดนามเหนือภายใต้สัญญาที่ชื่อ Paris Peace Accords ในปี 1973 ก่อนที่สหรัฐฯจะถอนฐานทัพออกไป และการที่นิกสันสามารถสร้างนโยบายอันยิ่งใหญ่เช่นการไปเชื่อมความสัมพันธ์กับจีนในปี 1972  และความสำเร็จของเขาในการเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์กับสหภาพโซเวียตในปีเดียวกันนั้น อันเป็นการลดความตึงเครียดระหว่าง 2 มหาอำนาจจนถึงปี 1979 ก็ไม่อาจเป็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับทฤษฎีที่ว่าประธานาธิบดีเป็นหุ่นเชิดให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธ

นอกจากนี้ในยุคของโรนัลด์ เรแกน ไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธนั้นสนับสนุนให้ เรแกนเป็นประธานาธิบดีชนิดที่ว่าเหมือนกับส่งเป็นตัวแทน (เหมือนกับที่สุลักษณ์ได้อ้างไว้ในบทความจดหมายรักถึงเผด็จการ) อาจจะจริงที่ว่ามีการสนับสนุน แต่เราก็ต้องดูว่าเป็นการสนับสนุนของกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธแตกต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ หรือไม่ กระนั้นสาเหตุที่งบประมาณของสหรัฐฯ จะสูงมากในยุคของเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะเรแกนเป็นนักต้านคอมมิวนิสต์และต้องการเน้นนโยบายต่างประเทศกับการทหารในเชิงรุกกับสหภาพโซเวียต แต่แล้วในหลายปีต่อมา เรแกนสามารถเปลี่ยนนโยบายจากนโยบายแบบเหยี่ยวในการทำสงครามมาเป็นการเจรจาการลดอาวุธนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียตร่วมกับกอร์บาชอฟได้สำเร็จเพราะเขาได้รับอิทธิพลจากการประท้วงอาวุธนิวเคลียร์ของชาวอเมริกัน (ซึ่งเป็นสิ่งที่สุลักษณ์ไม่ได้กล่าวถึง) เช่นเดียวกับแผนสตาร์วอร์ของเขาซึ่งเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อขู่สหภาพโซเวียตเพราะกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์สามารถวิ่งเต้นรัฐบาล
โดยพิสูจน์ได้ว่าโครงการนี้สร้างผลเสียมากกว่าผลดี

เช่นเดียวกับบารัก โอบามา หากเขาเป็นไปอย่างที่ทฤษฎีสมคบคิดบอกว่าเป็นหุ่นเชิดให้วงการอุตสาหกรรมอาวุธ สหรัฐฯ คงทำสงครามกับซีเรียและอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูของอิสราเอลไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเหตุใด   โอบามาจึงเสนอให้ตัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะไม่สำเร็จนักเพราะอาศัยการร่วมมือจากรัฐสภา (ก็น่าสนใจว่ามีความพยายามในบรรดาสมาชิกของสภาหลายคนในการทำให้กระทรวงกลาโหมนั้นสามารถถูกตรวจสอบงบประมาณได้โปร่งใสกว่าเดิม) แต่ก็แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งดำเนินนโยบายต่างๆ อันตั้งอยู่การคิดอย่างมีเหตุผล ความโลภ หรือความโง่ขลาหรืออะไรก็แล้วแต่  อุปนิสัยประการหนึ่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนคือรักในเกียรติของตนและต้องการเอาชนะอุปสรรคหรือขีดจำกัดที่อยู่รอบตัวเอง


ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกองทัพ

ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกองทัพ (Civilian-military relations) ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอำนาจของประธานาธิบดีอีกเช่นกัน  จากบทความของสุลักษณ์คือจดหมายรักถึงเผด็จการ สุลักษณ์ได้อ้างว่า “แม่ทัพนายกอง” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการบริหารรัฐกิจนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าเขาน่าจะหมายถึงบรรดานายพลในกองทัพ อันสะท้อนให้เห็นว่าสุลักษณ์อาจนำเอาบริบททางการเมืองไทยมาสวมทับกับการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังบทความของผู้เขียน “รู้แล้วว่าเหตุใดจำนวนนายพลไทยจึงมีมากกว่านายพลอเมริกัน” สะท้อนให้เห็นว่านายพลทั้งหลายไม่มีอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกับไทยหรือประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นเผด็จการทั้งหลาย ค่านิยมของการเป็นมืออาชีพของกองทัพอเมริกันนั้นเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจเช่นเดียวกับบทบาทของพลเรือนที่มีอยู่เหนือกองทัพ กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าความสัมพันธ์ระหว่างบรรดา “แม่ทัพนายกอง” กับประธานาธิบดีอเมริกันหาได้ราบรื่นอย่างที่เข้าใจกันเสมอไป อันเป็นธรรมชาติของทุกประเทศไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตย (คงมีบางประเทศที่ยกเว้นเช่นไทยเพราะทหารปกครองประเทศเสียเอง)  เพราะบรรดานายพลทั้งหลายนั้นเป็นทหารอาชีพซึ่งมีความรู้ความสามารถอย่างเต็มเปี่ยม ในขณะที่ประธานาธิบดีนั้นเป็นพลเรือนย่อมไม่อาจเทียบเท่าได้  (สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมีเพียง ดีดี ไอเซนฮาวร์ที่เคยเป็นนายทหารอาชีพมาก่อน)  ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญหรือวิกฤตขึ้นมาจึงมีความเป็นไปได้สำหรับความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีและนายพลดังเช่นกรณีสงครามเกาหลีที่ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนได้ปลดนายพลดักกลัส แม็คอาเธอร์ออกจากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพของสหประชาชาติในเกาหลีใต้เพราะทัศนคติไม่ตรงกันที่ว่าแม็คอาร์เธอร์ต้องใช้การอาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์กับจีนและเกาหลีเหนือ ในขณะที่   ทรูแมนไม่ต้องการขยายวงของสงครามไปมากกว่านี้  กระนั้นประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันเพราะแต่แม็คอาเธอร์ได้ปฏิเสธในภายหลังว่าเขาต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์พร้อมกับชี้ว่าเป็นข้อกล่าวหาของทรูแมน  หากแม็คอาร์เธอร์พูดถูก สาเหตุสำคัญที่น่าจะทำให้ทรูแมนปลดแม็คอาร์เธอร์ก็ได้แก่การแสดงตัวท้าทายเขาต่ออำนาจของประธานาธิบดี  มีเรื่องเล่าว่าเมื่อทรูแมนได้พบกับแม็คอาร์เธอร์ ฝ่ายหลังได้จับมือกับฝ่ายแรกแทนที่จะแสดงการเคารพแบบทหารอันสะท้อนว่าแม็คอาร์เธอร์ไม่ได้เคารพในตัวประธานาธิบดีเลย

หรือในยุคของบิล คลินตันและจอร์จ ดับเบิลยู บุชนั้นมีภาพของผู้ไม่เจนจัดในสงครามเพราะคลินตันมีประวัติของการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนามอันจะเป็นตัวซ้ำเติมให้ความสัมพันธ์ระหว่างคลินตันกับกองทัพถือว่าย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์นอกเหนือจากนโยบายต่างๆ ของเขาที่ขัดแย้งกับกองทัพ ในขณะที่บุชถูกกล่าวหาว่าใช้เส้นสายของบิดาในฐานะวุฒิสมาชิกของรัฐเท็กซัสไปเป็นสมาชิกของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ด้านการป้องกันทางอากาศและยังไม่ยอมมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเดือนๆ   ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ Transformers (2008)  ที่เป็นภาพยนตร์เชิดชูลัทธิกองทัพนิยมและน่าจะสะท้อนมุมมองของทหารได้ในระดับหนึ่งยังล้อเลียนบุชโดยให้ประธานาธิบดีดูขาดความเก่งกาจ และไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักของที่ล้มเหลวย่อมทำให้กองทัพนั้นหันมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของบุช กรณีอันโด่งดังได้แก่ขบถนายพล (Generals revolt) ในปี 2006 ที่บรรดานายพลที่เกษียณอายุราชการไปแล้วได้วิจารณ์และเรียกร้องให้นายโดนัลด์ รัมส์เฟลด์รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมลาออกจากตำแหน่ง  ส่วนโอบามานั้นก็ยังถูกโจมตีว่าขาดความเป็นผู้นำทางทหารและนโยบายทางทหารสับสนและไม่ประสบความสำเร็จนัก(ดังกรณีในตะวันออกกลาง) ดังเช่นในปี 2010      นายพลสแตนลีย์ แม็คไครส์ทัลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการของไอเอสเอเอฟหรือกองทหารนานาชาติที่นำโดยองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารโรลิ่งสโตนในเชิงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อมาเขาจึงถูกโอบามาไล่ออก

โดยภาพรวมแล้วแม้ว่ากองทัพอเมริกันจะมีปัญหาและเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลพลเรือนแต่กองทัพไม่เคยก้าวล่วงไปถึงการแทรกแซงทางการเมืองนอกจากจะมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องการทหารเสียมากกว่า กองทัพจึงไม่สามารถมีอำนาจเหนือประธานาธิบดีหรือสามารถกดดันประธานาธิบดีมากจนเกินไปหรือแม้แต่การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศเสียเองผ่านการทำรัฐประหารเหมือนกับประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ ดังนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงยังคงเป็นจอมทัพอยู่ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือเชิงปฏิบัติ


การเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดี

ด้วยความต้องการเอาชนะขีดจำกัดที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ต้องการจะถูกเรียกว่าเป็นประธานาธิบดีเป็ดง่อย (Lamb duck president) จึงมุ่งเพิ่มหรือแสวงหาอำนาจให้กับตัวเองได้หลายรูปแบบเช่นจากการสร้างบารมีให้กับตัวเองโดยใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ตั้งแต่ก่อนเป็นประธานาธิบดีเช่น บุคลิก หน้าตา วงศ์ตระกูล ภรรยา ครอบครัวหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงผ่านการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ (โดยมีคำว่า First นำหน้าเช่น First Lady หรือสุภาพสตรีหมายเลข 1 อันหมายถึงภรรยาของประธานาธิบดี) แม้แต่ภาพยนตร์ซึ่งผู้เขียนคิดว่าทำเนียบขาวนั้นได้เข้าไปมีอิทธิพลในวงการฮอลลีวูดไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวแทนจากพรรคเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีเพราะอุดมการณ์ค่อนข้างมีความสอดคล้องกัน  นอกจากนี้ทีมงานของประธานาธิบดียังใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในการดึงดูดความสนใจของคนยุคใหม่เช่นการมีเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ของตัวประธานาธิบดีเอง ถึงแม้ปัจจัยแรกนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของประธานาธิบดีโดยตรงแต่ก็สามารถมีอิทธิพลเหนืออารมณ์ความรู้สึกของคนอเมริกันโดยเฉพาะเพศหญิงโดยประธานาธิบดีที่ทำสำเร็จมาแล้วได้แก่เคนนาดี เรแกนและคลินตัน   นอกจากนี้ประธานาธิบดีต้องส่งอิทธิพลให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ได้เข้าไปในสภาทั้ง 2 สภาคือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ได้จนเป็นเสียงข้างมากเพื่อความสะดวกในการออกกฎหมาย การอนุมัติงบประมาณหรือมอบอำนาจพิเศษให้กับตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวประธานาธิบดีเองว่าจะทำให้คนอเมริกันเกิดความศรัทธาเสียก่อน ดังเช่นโอบามามีส่วนให้ให้พรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาเป็นเวลา 2 ปีนับแต่เขาดำรงตำแหน่ง 

ประธานาธิบดีเองยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกพรรคเพื่อที่ว่าจะไม่มีคนแปรพักตร์หรือก่อขบถไปเข้าลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตรงกันข้ามในการออกกฎหมายฉบับต่างๆ  ถึงแม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะไม่ได้เปลี่ยนมือง่ายๆ เหมือนกับการเมืองแบบรัฐสภาอย่างเช่นอังกฤษหรือออสเตรเลีย แต่รัฐสภาซึ่งไม่เป็นมิตรกับประธานาธิบดีจะสร้างปัญหาให้กับภาวะความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น  นอกจากนี้ภาพพจน์ของประธานาธิบดีอันจะส่งผลถึงการเมืองระดับมลรัฐเช่นผู้ว่าการรัฐในพรรคที่ประธานาธิบดีได้รับความนิยมอย่างสูงอาจอาศัยภาพของประธานาธิบดีในการสร้างคะแนนเสียงให้กับตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันผู้ว่าการรัฐก็อาจจะเอาตัวออกห่างจากประธานาธิบดีที่คะแนนความนิยมตกต่ำเพื่อเอาตัวรอด ในด้านตุลาการประธานาธิบดียังสามารถแต่งตั้งตุลาการศาลสูงซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกับพรรคของตนได้อันจะทำให้มีการตีความกฎหมายที่ตนและพรรคของตนพยายามผลักดันในด้านเป็นคุณให้ (ดังที่รูสเวลต์เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว) กระนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องรับประกันว่าจะสำเร็จเสมอไปเพราะประธานาธิบดีไม่สามารถสั่งปลดตุลาการที่ตัวเองแต่งตั้งได้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังต้องสามารถสร้างดุลทางอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งก็แย่งกันในการเข้ามาอิทธิพลเหนือรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อให้อำนาจของประธานาธิบดีมีความศักดิ์สิทธิ์ในสายตาของคนอเมริกันดังเช่นโอบามาได้ใช้สิทธิยับยั้งกฏหมายเกี่ยวกับท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน เอ็กซ์แอลถึงแม้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ทางพลังงานจะทำการวิ่งเต้นอย่างมากจนกฎหมายผ่านทั้ง 2 สภาก็ตาม  การกระทำของโอบามาเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

นอกจากนี้ประธานาธิบดี (โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครต) มักจะสร้างโครงการขนาดใหญ่เพื่อมวลชนทั่วประเทศ อาจจะทำให้รัฐบาลท้องถิ่นคือมลรัฐต้องพึ่งพิงงบประมาณของรัฐบาลกลางมาก ดังนั้นประธานาธิบดีจึงสามารถมีอิทธิพลเข้าครอบงำผู้ว่าการรัฐได้แก่  แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ซึ่งออกนโยบาย นิวดีลในช่วงปี 1933-1938 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งพบกับความหายนะจากวิกฤตเศรษฐกิจนั้น นอกจากจะทำให้สหรัฐฯ จะมีเศรษฐกิจดีขึ้นจากการสร้างโครงการจำนวนมากเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนและการเพิ่มจำนวนงานแก่คนอเมริกันของรัฐบาลกลางแล้ว ยังทำให้รูสเวลต์เป็นประธานาธิบดีที่ทรงอำนาจและได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศ จนมีคนมองว่าเขาเป็นเผด็จการและยังเป็นเรื่องน่าสนใจว่าหากเขาไม่ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 4 ในปี 1945 เขาจะสามารถเป็นประธานาธิบดีต่อไปได้อีกกี่สมัย (วาระของประธานาธิบดีถูกจำกัดเหลือเพียง 2 สมัยตั้งแต่ปี 1951)

สุดท้ายประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถสร้างอำนาจให้กับตนผ่านสงครามในฐานะเป็นจอมทัพ   ตามมติเกี่ยวกับอำนาจในเรื่องสงคราม (War Powers Resolution) ในปี 1973 ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีสามารถสั่งกองทัพให้มีปฏิบัติการทางทหารได้ภายใน 60 วันก่อนที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อการทำสงคราม (และยังขยายต่อได้อีก 30 วันหากจำเป็น)  ดังนั้นประธานาธิบดีทุกคนจึงพยายามหาช่องทางในการหาสาเหตุอันเหมาะสมเพื่อสร้างอำนาจและชื่อเสียงไม่ว่าในระดับประเทศหรือระดับโลกให้กับตัวเองเช่นการปฏิบัติการทางทหารอย่างมีขีดจำกัดในพื้นที่ต่างๆ เช่นบิล คลินตันสั่งกองทัพสหรัฐฯ ร่วมกับองค์การนาโตในการโจมตียูโกสลาเวียในปี 1999 (บ้างก็ว่าเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องอื้อฉาวทางเพศระหว่างเขากับเด็กฝึกงานที่ทำเนียบขาว)  หรือยิ่งไปกว่านั้นการที่รัฐสภาประกาศสงครามไม่ว่าจะเป็นทางการหรืออยู่ในชื่ออื่นจากกรณีพิเศษเช่นการพบกับภัยคุกคามต่อประเทศจะเป็นการอนุมัติให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเหนือระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามไม่ว่าบรรดานายพลหรือข้าราชการในกระทรวงกลาโหมมากกว่าเดิม เช่นประธานาธิบดีมีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการทำสงครามโดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาก่อน   นอกจากนี้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการทำสงครามหรือไม่ก็ตาม ประธานาธิบดีสามารถรับมือกับนายพลในกองทัพได้โดยการสร้างชุดที่ปรึกษาด้านความมั่นคงที่เป็นพลเรือนแต่มีความรู้ความสามารถในด้านการทำสงครามหรือการแก้ไขวิกฤตที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศ ตัวอย่างเช่นคณะกรรมาธิการของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ EXCOMM ของจอห์น เอฟ เคนนาดีซึ่งช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์คิวบาในปี 1962 แต่เป็นเรื่องทีประธานาธิบดีต้องตระหนักให้ดีว่าเขาจะต้องคงความเป็นผู้นำของกลุ่มเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา 

นอกจากนี้สงครามยังทำให้ประธานาธิบดีสร้างชื่อเสียงและบารมีจนสามารถข่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สื่อมวลชนหรือประชาชนจนต้องคล้อยตามนโยบายของประธานาธิบดี ดังเช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ทำให้รัฐสภาอนุมัติให้บุชมีอำนาจจากการเห็นชอบแก่ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของบิน ลาเดนผู้ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในครั้งนี้ อนึ่งบุชยังใช้โอกาสนี้ในการผลักดันรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิหรือ PATRIOT Act ในการสร้างอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้ายเช่น การดักฟังโทรศัพท์ การเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นอีเมล์ เว็บไซต์ต่างๆ  ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลซึ่งจะเพิ่มอำนาจทางฝ่ายบริหารเหนือสังคมอเมริกันอีก  รวมไปถึงการก่อตั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ในปี 2002 เพื่อตอบรับภัยที่จะเกิดในประเทศไม่ว่าจากการก่อการร้ายหรือภัยจากธรรมชาติอันเป็นการเพิ่มตำแหน่งของข้าราชการกว่าสองแสนตำแหน่งซึ่งก็เป็นการเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง 

สำหรับการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ ในปี 2003  (โปรดสังเกตว่าผู้เขียนไม่ได้ใช้คำว่าสงคราม เพราะรัฐสภาไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับประเทศใดเลยนับตั้งแต่ปี 1942)  ซึ่งก็มีข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลอเมริกันมากมายและหนึ่งในนั้นของฝ่ายซ้ายที่น่าเชื่อถือก็คือการเข้าไปครอบครองแหล่งผลิตน้ำมันและแรงผลักดันจากอุดมการณ์นวอนุรักษ์นิยมในการส่งออกประชาธิปไตย (ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากวงการอุตสาหกรรมอาวุธ) แต่สาเหตุอื่นที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือความพยายามของบุชในการเป็นประธานาธิบดีที่เก่งกาจในสายตาของคนอเมริกันและชาวโลกเพราะทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจมากและสามารถจัดระเบียบโลกใหม่ผ่านวาทกรรมสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ได้ยิ่งใหญ่กว่าบุชผู้พ่อเมื่อบัญชาการให้สหรัฐฯ บุกรุกอิรักครั้งแรกในปี 1991  แต่ผลที่ได้กลับล้มเหลวอันกลายเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งนอกไปจากการก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008  บุชจึงกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนความนิยมที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่งภายหลังการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2009 

ตัวอย่างล่าสุดได้แก่โอบามาซึ่งมีโนบายการต่างประเทศและการทหารค่อนข้างสับสน แม้ว่าในช่วงต้นของตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะพยายามทำสัญญาที่เคยให้ไว้คือการสิ้นสุดสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักรวมไปถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในสมัยรัฐบาลบุชซึ่งไม่ได้รับความนิยมจากสาธารณชน แต่ด้วยความต้องการของโอบามาในการสร้างผลงานเพื่อเรียกคะแนนความนิยมอันเป็นการตอบรับกับเหตุการณ์ต่างประเทศไม่ว่าสงครามกลางเมืองและความวุ่นวายในอิรักและลิเบีย ซีเรียอันเป็นผลให้เกิดกลุ่มผู้ก่อการร้ายไอเอส (ซึ่งเราก็ไม่สามารถปฏิเสธแรงกดดันจากกลุ่มอื่นเช่นขีดจำกัดดังที่กล่าวไว้ข้างบนไม่ว่าอิทธิพลจากที่ปรึกษาความมั่นคง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ) ทำให้โอบามาต้องดำเนินนโยบายสงครามต่อไปดังเช่นเรียกว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายภาค 2.0 (War on Terror 2.0)  เช่นโอบามาส่งกองกำลังจำนวนหลายหมื่นคนเข้าไปในอัฟกานิสถานในปี 2009 นอกจากนี้เขายังอนุมัติให้เครื่องบินไร้คนขับโจมตีผู้ก่อการร้ายในปากีสถานอันยังผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบันและในปี 2015 นี้   โอบามายังได้เรียกร้องให้รัฐสภาอนุมัติอำนาจพิเศษให้กับเขาในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายไอเอสเป็นเวลา 3 ปี

และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้นโยบายทั้งการต่างประเทศและการทหารสำเร็จอันนำไปสู่อำนาจ ประธานาธิบดีจึงจำต้องข้ามเส้นแห่งความผิดชอบชั่วดีไปสู่การอนุมัติให้รัฐบาลมีปฏิบัติการลับ (covert operation) ในต่างประเทศอันจะเป็นการปลดเปลื้องตัวประธานาธิบดีออกจากขีดจำกัดทุกอย่างรอบตัวไม่ว่าหลักทางจริยธรรม กฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนซึ่งสหรัฐฯมักใช้เป็นการกดดันประเทศอื่น  รัฐสภาและฝ่ายค้าน สื่อมวลชน รวมไปถึงคนอเมริกันซึ่งต่อต้านตน ปฏิบัติการเช่นนี้เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นิยมกระทำนับตั้งแต่ปฏิบัติการณ์ลับของทั้งไอเซนฮาวร์และเคนนาดีในการนำเอาชาวคิวบาพลัดถิ่นมาฝึกเพื่อโค่นล้มฟีเดลคาสโตรในปี 1961 ดังที่เรียกว่า Bay of pigs ปฏิบัติการณ์ที่อนุมัติโดยริชาร์ด นิกสันอันมีชื่อว่าปฏิบัติการเมนู (Operation Menu) และปฏิบัติการณ์ฟรีดอม ดีล (Freedom deal) ในการทิ้งระเบิดเหนือลาวและกัมพูชา ระหว่างปี 1969-1973 ซึ่งเป็นปฏิบัติการลับที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพราะลาวและกัมพูชาไม่ได้เป็นคู่กรณีเหมือนกับเวียดนามเหนือ ปฏิบัติการณ์นี้ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐสภาไม่ได้รับรู้ก่อน หรือแม้แต่คุกลับที่ดำเนินการโดยซีไอเอในการทรมาณนักโทษเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้ายในช่วงรัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช แม้ปฏิบัติการณ์เหล่านั้นโดยมากจะมีการตัดความรับผิดชอบทางกฎหมายไม่ให้ถึงตัวประธานาธิบดี แต่การเปิดเผยของสื่อมวลชนในภายหลังได้ทำให้คนอเมริกันและชาวโลกเสื่อมความศรัทธาต่อตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมไปถึงตัวสหรัฐฯ เองอย่างมาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net