Skip to main content
sharethis

ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมายาวนานอย่างพม่าและมีการสั่งห้ามต่อต้านรัฐบาล แต่การเคลื่อนไหวเชิงต่อต้านยังคงมีอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นลักษณะการต่อต้านทางวัฒนธรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและเชื้อชวนให้คนเข้าร่วมได้ง่าย นาดีน บล็อช นักกิจกรรมสายสันติวิธีสรุปบทเรียน 4 ข้อที่ได้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวเหล่านี้

ภาพประกอบจากเพจ Support Panzagar: End Hate Speech with Flower Speech


12 มี.ค. 2558 นาดีน บล็อช นักกิจกรรมสายสันติวิธีเขียนบทความในเว็บไซต์ Waging Non-Violence ถึงบทเรียน 4 ข้อในการกำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการและการเรียกร้องด้านต่างๆ ในพม่า ที่มีการปกครองแบบเผด็จการทหารมาเป็นเวลานาน

บล็อชเล่าว่าเธอเคยจัดอบรมประชุมเชิงปฏิบัติการในกรุงย่างกุ้งเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ซึ่งในทีแรกเธอคิดว่าการดำเนินกิจกรรมภายใต้รัฐบาลเผด็จการคงไม่ควรหวังเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมมากนัก แต่สิ่งที่เธอพบเจอกลับตรงกันข้าม คือหลังจากที่เหล่านักกิจกรรมถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง ลักษณะการต่อต้านของพวกเขาจะผลิบานออกมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น มีลักษณะวิพากษ์แรงขึ้น มีความเป็น "ใต้ดิน" มากขึ้น และยังแพร่กระจายเร็วมากขึ้นด้วย

หลังจาก 49 ปีที่รัฐบาลทหารพม่าปกครองประเทศด้วยความโหดเหี้ยมก็เริ่มมีการพยายามปฏิรูปเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาโดยการเปลี่ยนรัฐบาลกึ่งพลเรือน ทำให้ผู้คนเริ่มมีความหวังแต่ก็ยังระแวดระวัง เพราะแม้ว่าจะมีประกาศวันเลือกตั้งและลดการเซนเซอร์สื่อโดยรัฐบาลลงจนทำให้ผู้คนเริ่มใช้สิทธิ์พลเมืองในการเรียกร้องประเด้นต่างๆ แต่รัฐบาลทหารก็ยังคงใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทางการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีการทุบตีนักศึกษา พระสงค์ และนักข่าวที่อยู่ในที่ชุมนุม

บล็อชระบุในบทความว่าการปราบปรามกลุ่มนักศึกษายิ่งทำให้นักศึกษาในส่วนอื่นที่ก่อนหน้านี้หวาดกลัวการปราบปรามแสดงออกมากขึ้นซึ่งเป็นการแผ่ขยายการประท้วงโดยที่พวกเขายังคงยืนหยัดในสันติวิธี ก่อนหน้านี้พวกเขาเสนอข้อเรียกร้อง 11 ประการในด้านประเด็นการศึกษาโดยที่ฝ่ายรัฐบาลยอมรับว่าจะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่กลุ่มนักศึกษาก้ยังคงเคลื่อนไหวต่อไปเพราะกลัวว่ารัฐบาลจะผิดคำสัญญา

บล็อชระบุว่าตั้งแต่ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นักศึกษาต่างพากันคิดยุทธวิธีใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการถูกปราบปรามไปด้วยทำให้เกิดสิ่งที่เธอมองว่าเป็น "การเคลือ่นไหวต่อต้านเชิงวัฒนธรรม" ที่กล้าหาญและสร้างสรรค์ในพม่า ทำให้บล็อชสรุปบทเรียนการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมของพวกเขาออกเป็น 4 ข้อดังนี้


ข้อที่ 1 คือการยึดกุมพื้นที่ความชอบธรรมในเชิงจริยธรรม

ในกรณีของนักศึกษาของพม่าหมายถึงความร่วมมือกับกลุ่มพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้นำทางศีลธรรมและจริยธรรมในพม่า และก่อนหน้านี้พระสงฆ์ในพม่ายังเป้นผู้ชี้แนะแนวทางทางการเมืองมาก่อนด้วย เช่นกรณี "การปฏิวัติากาสาวพัสตร์" (Saffron Revolution) ที่มีกลุ่มพระสงฆ์ออกมานำประท้วงรัฐบาลทหารในปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการที่พระสงฆ์ในพม่ามีความยึดโยงกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า

บล็อชระบุอีกว่าพระสงฆ์ในพม่าเคยวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าว่าเป็นผู้ละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้านอกจากนี้ยังมีการสวดมนตร์เพื่อแสดงความเห็นใจประชาชนที่ทุกข์ร้อนจนทำให้รัฐบาลใช้กำลังกับพระสงฆ์อย่างโหดร้าย นอกจากนี้พระสงฆ์ในพม่ายังแสดงออกร่วมกันด้วยการ "คว่ำบาตร" เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการไม่ยอมรับบิณฑบาตรจากทหารและสมาชิกครอบครัวของทหาร ถือเป็นการแสดงออกว่าผู้มีอำนาจทางการในพม่าไม่สามารถแสดงออกในเชิงการทำบุญทางศาสนาได้ ซึ่งก็ได้ผลในแง่การท้าทายทางการเมืองและทางจริยธรรมต่อรัฐบาลเผด็จการ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บล็อชเสนอว่าวิธีการ "คว่ำบาตร" ของพระสงฆ์ในพม่าได้ผล เพราะในพม่าซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ทั้งรัฐบาลทหารและฝ่ายประชาชนต่างพยายามอาศัยพิธีกรรมทางศาสนาในการสื่อสารหรือแสดงออกเชิงอำนาจ


ข้อที่ 2 คือ การใช้อคติของฝ่ายตรงข้ามให้เป็นประโยชน์

บล็อชระบุว่าถ้าหากพวกผู้นำทหารเชื่อว่าการจับต้องชุดชั้นในของผู้หญิงจะทำให้ "อำนาจ" ของพวกเขาเสื่อม พวกเขาก็สร้างจุดอ่อนให้ตัวเองไปแล้ว ในปี 2550 เคยมีกลุ่มคณะกรรมการล้านนารณรงค์เพื่อพม่า (Lanna Action for Burma Committee) เคยจัดการรณรงค์ "กางเกงในเพื่อสันติภาพ" โดยให้ผู้หญิงทั่วโลกส่งชุดชั้นในหรือกางเกงในของตัวเองให้กับเหล่าผู้นำทหารในพม่าผ่านทางสถานทูต มีคนร่วมการรณรงค์โดยส่งชุดชั้นในและกางเกงในรวมหลายร้อยชิ้นไปตามสถานทูตหลายแห่งถือเป็นการเยาะเย้ยผู้นำเผด็จการอย่างมีนัยสำคัญ

บล็อชมองว่าการณรงค์ส่งชุดชั้นในและกางเกงในเป็นการแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างมีอารมณ์ขัน และเป็นการใช้อคติเรื่องเพศสภาพของเผด็จการทหารให้ย้อนไปทำร้ายตัวพวกเขาเอง เป็นการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงน้อยกว่าและสะดวกกว่าในช่วงที่มีกฎหมายสั่งห้ามชุมนุม

นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกทางวัฒนธรรมล้อเลียนอีกอย่างในพม่าคือการนำผู้นำเผด็จการไปใส่เป็นปลอกคอหมาข้างถนน ซึ่งการเอาคนไปเกี่ยวโยงกับหมาข้างถนนในพม่าถือเป็นการดูถูกที่เจ็บแสบมาก การล้อเลียนนี้ทำให้ผู้นำเผด็จการโกรธมากถึงขั้นสั่งให้ไล่จับหมาข้างถนนที่ถูกติดภาพผู้นำที่หนีรอดเก่งมากจนทำให้ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์หัวเราะได้


ข้อที่ 3 คือ การต่อสู้กับวาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ด้วยภาษาดอกไม้ (Flower Speech)

หลายคนหวังว่าการเปลี่ยนผ่านเป้นประชาธิปไตยจะช่วยลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาในพม่าลงได้ แต่ความขัดแย้งก็ดีขึ้นไม่มากในกรณีของประชากรชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และประชากรชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อย โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัฐยะไข่ (Rakhine)

และเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแล้วก็พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มสุดโต่งแสดงออกเชิง 'เฮทสปีช' โดยการการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ และเรียกร้องความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธสายสุดโต่งที่ปลุกปั่นความเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงยาจนทำให้เกิดการนำม็อบก่อจลาจลจนมีผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นรัฐบาลพม่าก็ปิดหน้าเว็บเพจดังกล่าวเพื่อหวังว่าจะจำกัดความรุนแรง แต่นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยก็รู้สึกกังวลกับทั้งการใช้ความรุนแรงทางเชื้อชาติและการเซนเซอร์ของรัฐบาล

ในเดือน เม.ย. 2557 บล็อกเกอร์หัวหน้าองค์กรพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศผู้เคยถูกจำคุก 4 ปี โทษฐานเขียนวิจารณ์รัฐบาลเริ่มรณรงค์ต่อต้านเฮทสปีชด้วย 'ฟลาเวอร์สปีช' หรือ 'ภาษาดอกไม้' โดยการให้คนโพสต์รูปตัวเองที่มีดอกประดู่สีเหลืองอยู่ที่ปาก ซึ่งดอกประดู่เป็นดอกไม้ประจำชาติของพม่ามีความหมายถึงความเข้มแข็งและความซื่อสัตย์ นอกจากให้โพสต์รูปบนอินเทอร์เน็ตแล้วยังมีการณรงค์ผ่านสติกเกอร์ โปสเตอร์ เสื้อยืด กำไลข้อมือ และบทเพลง เพื่อเป็นการต่อสู้กับ "การใช้วาจาอันตราย" และลดความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์ โดยให้คนยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในพม่า โดยบล็อกเกอร์รายนี้บอกว่าพวกเขาควรระวังคำพูดแต่ไม่ใช่เงียบ

บล็อชระบุว่ามีบทเรียนที่ดีมากเกี่ยวกับโครงการ #FlowerSpeech ที่แพร่ขยายไปยังที่อื่นได้นอกจากพม่า และมีกิจกรรมหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการใช้คำพูดอย่างรับผิดชอบ เป้นโครงการที่คนสามารถเข้าร่วมได้ง่ายทั้งจากโลกอินเทอร์เน็ตและโลกภายนอก ทั้งนี้การระวังไม่ให้คำพูดกลายเป็นเฮทสปีชยังสอดคล้องกับคำสอนของศาสนาพุทธเรื่องการประพฤติชอบทางวาจาหรือ 'วจีกรรม' ด้วย

จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บล็อชชี้ให้เห็นในโครงการณรงค์นี้คือการเลือกใช้ดอกประดู่ซึ่งมีคนคุ้นเคยกับมันในทางวัฒนธรรม ทำให้คนเข้าใจถึงความหมายได้โดยทันทีที่เห็น ซึ่งดอกประดู่ยังมีความคุ้นเคยไม่เพียงแค่สำหรับชาวพม่า แต่สำหรับประชาชนภาคส่วนอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ขณะที่รูปภาพที่ใช้รณรงค์มีการสวมใส่ชุดพื้นเมืองชาวพม่าซึ่งถือเป็นการเข้าถึงในระดับท้องถิ่น

บล็อชระบุในบทความว่าผู้รณรงค์โครงการสามารถรณรงค์โดยไม่กลายเป็นการชวนทะเลาะได้ จะทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น การตอบโต้เฮทสปีชมีความสำคัญตรงที่เฮทสปีชอาจจะส่งเสริมความรุนแรงหรือทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติได้ โครงการ #FlowerSpeech จึงเป็นการบอกให้ผู้คนทั่วไปที่ต่อต้านความเกลียดชังรู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว


ข้อที่ 4 คือ การหัวเราะเย้ยหยันใส่ผู้ใช้อำนาจ

ในพม่ามีกลุ่มนักแสดงตลกเช่น "คณะสามพี่น้องตลกหนวด" และคณะตลกอื่นๆ ที่ช่วยสร้างเสียงหัวเราะแก่ประชาชนเพื่อหลีกหนีจากปัญหาความยากแค้นและการถูกบีบบังคับด้วยอำนาจได้ชั่วคราว ซึ่งนอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว เหล่าตลกยังเป็นผู้สื่อสารกับประชาคมโลกและเป็นตัวล้อเลียนเสียดสีรัฐบาลเผด็จการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง

บล็อชระบุว่า คณะพี่น้องมีหนวดจะแสดงสิ่งที่เรียกว่า 'อะเญะปอย' (a-nyeint pwe) ซึ่งเป็นการแสดงรวมหลายอย่างตามประเพณีของพม่า ทั้งการแสดงตลกโปกฮา การฟ้อนรำของผู้หญิง การแสดงดนตรีที่เปิดจากการอัดเสียง และการล้อเลียนเสียดสีการเมือง คณะตลกนี้ถูกรัฐบาลสั่งจำคุกและใช้แรงงานหนักเป็นเวลา 7 ปี ในปี 2539 หลังจากพวกเขาไปแสดงให้อองซานซูจี ในตอนที่พวกเขาถูกปล่อยตัวก่อนกำหนดทางการให้ทำสัญญาว่าจะไม่แสดงในที่สาธารณะหรือต่อหน้าคนดูชาวพม่าอีก หลังจากนั้นคณะพี่น้องมีหนวดก็เปิดการแสดงแต่ที่บ้านของพวกเขาในภาคมัณฑะเลย์ แต่มีผู้เข้าชมเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น เพราะการสั่งห้ามไม่ให้ชาวพม่าเข้าชมยังมีผลอยู่

แม้ว่า ปาร์ ปาร์ เลย์ (Par Par Lay) หนึ่งในพี่น้องสมาชิกคณะตลกนี้จะเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เขาก็เคยเป็นผู้รณรงค์ "โครงการไม่กลัว" โดยการที่เขาเดินทางทั่วประเทศพม่าเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนเลิกกลัวการเมือง ขณะที่พี่น้องที่เหลืออีก 2 คน ยังคงเล่นตลกต่อไป

"มีอะไรให้เรียนรู้จากกลุ่มแบบนี้ที่มีความอุตสาหะมาเป็นเวลายาวนาน ใช้ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาเพื่อทำให้คนในประเทศรู้สึกดีขึ้นและสร้างการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติ และพูดความจริงเพื่อทำให้ทุกคืนที่พวกเขาแสดงรายสัปดาห์มีพลัง" บล็อชระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

4 potent lessons in creative cultural activism from Myanmar, Nadine Bloch, Waging Nonviolence, 11-03-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net