Skip to main content
sharethis

ประชาสังคมจากรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง นำโดยหลาน ปธน.คนแรกสหภาพพม่า ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้าง "เขื่อนเมืองโต๋น" หรือเขื่อนท่าซางเดิมในแม่น้ำสาละวิน ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ 10% ผลิตใช้เอง เหลือ 90% ป้อนไทย-จีน ด้านบริษัททำวิจัย EIA/SIA เตรียมประชุมสัญจร 16 ครั้ง และรับปากว่าทุกความเห็นจากชุมชนจะอยู่ในรายงาน

คลิปจากการประชุมหารือสาธารณะโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น) หรือเขื่อนเมืองโต๋น ที่หอประชุมโรงแรมตองจี เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน โดยในช่วงท้ายการประชุม ประชาสังคมในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยงได้ยื่นหนังสือต่อบริษัท SMEC ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุม เพื่อแสดงความคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว

การประชุมหารือสาธารณะโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น) หรือเขื่อนเมืองโต๋น หรือเขื่อนท่าซางเดิม ที่หอประชุมโรงแรมตองจี เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558

เจ้าเฮมาแต้ก หลานของเจ้าส่วยแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า ในนามประธานองค์กรเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งรัฐฉาน (Shan State Women Development Organisation) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้แทนบริษัท และผู้แทน กฟผ. และผู้แทนบริษัทจีน ให้ยุติการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน

หลังการประชุมหารือสาธารณะโครงการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นเสร็จสิ้น ประชาสังคมในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน

 

15 มี.ค. 2558 - ในการจัดประชุมหารือสาธารณะโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำสาละวินตอนบน (เขื่อนเมืองโต๋น) หรือเขื่อนท่าซางเดิม เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ที่หอประชุมโรงแรมตองจี เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน กลุ่มประชาสังคมในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ได้แสดงยื่นหนังสือต่อบริษัท SMEC ซึ่งเป็นผู้จัดหารือสาธารณะ และผู้ทำวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) เพื่อแสดงความคัดค้านโครงการการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับชุมชน

ทั้งนี้ มีกำหนดให้บริษัท SMEC จัดการประชุมหารือสาธารณะกรณีก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น 16 ครั้ง และภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ให้ยื่นรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบทางสังคม (SIA) แผนโยกย้ายครัวเรือนและแผนพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ ให้กับกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกิจการป่าไม้ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรก่อสร้างเขื่อนหรือไม่

ด้านนายบะถั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของ SMEC เป็นผู้นำเสนอเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น และวิธีศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม (EIA/SIA) กล่าวในที่ประชุมว่า บทบาทของ SMEC จะเป็นการศึกษาผลกระทบ จะไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

ทีมวิจัย SMEC รับรองว่าทุกเสียงค้าน-หนุนจะอยู่ในรายงาน

ในช่วงถาม-ตอบ มีชาวบ้านหลายกลุ่มลุกขึ้นถามข้อมูลจากผู้จัดงานเนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อน โดยตัวแทนผู้จัดงานกล่าวรับรองในที่ประชุมว่า การแสดงความเห็นและข้อเสนอจากชุมชนจะถูกบรรจุในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA)

"เรามีคณะทำงานในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ เราจะทำงานกับชุมชน ประชาชนทุกคนจะมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่เกิดขึ้น" นายไมเคิล โฮลิกส์ หัวหน้าคณะศึกษาของ SMEC กล่าวรับรองต่อที่ประชุม

 

หลาน ปธน.พม่าคนแรก "เฮมาแต้ก" นำประชาสังคมรัฐฉาน-รัฐกะเหรี่ยงค้านสร้างเขื่อน

ด้านเจ้าเฮมาแต้ก หลานของเจ้าส่วยแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า ในนามประธานองค์กรเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งรัฐฉาน (Shan State Women Development Organisation) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้แทนบริษัท และผู้แทน กฟผ. และผู้แทนบริษัทจีน ให้ยุติการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน

"โครงการดังกล่าว และการโยกย้ายประชาชน จะทำให้เด็กและผู้หญิงในรัฐฉานได้รับผลกระทบ พวกท่านจะมีหลักประกันอย่างไรที่จะสร้างความปลอดภัย และสิ่งที่ดิฉันจะร้องขอก็คือ กรุณาไตร่ตรองอีกครั้งเรื่องเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เราพิจารณเรื่องนี้อย่างผู้เฝ้าระวัง เราไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบใดๆ กับแม่น้ำ" ประธานองค์กรเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งรัฐฉาน กล่าวก่อนยื่นหนังสือร้องเรียน

ส่วน นายเอพริว จุจุ ชาวดะนุ จากเมืองตองจี จากกลุ่ม "Land In Our Hands" ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านกังวล โดยประการแรกคือ ชาวบ้านไม่ไว้ใจรัฐบาล และประการสองมีความไม่แน่ใจในกลไกที่จะใช้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และประการที่สาม เรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการหารือสาธารณะ

"ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าหากมีโครงการขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ดังนั้นในวันนี้จึงมีผู้แทนจากชุมชนต่างๆ เข้าร่วมฟังการประชุม" เอพริว จุุจุ กล่าว

เอพริว จุจุ ระบุด้วยว่า ทั้งประเทศพม่ายังต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2,000 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่โครงการนี้โครงการเดียวจะผลิตพลังงานไฟฟ้ามากถึง 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินความต้องการของประเทศ

"ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอก็คือ ไม่ใช่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม เราต้องการทางเลือกอื่น ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างครอบคลุม แต่ชาวบ้านก็ผลิตไฟฟ้าได้เอง อย่างเช่น โรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับชุมชน ซึ่งถ้ามีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กรวมกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือเมนกริด เพราะพวกเขาสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง" เขาระบุด้วยว่า องค์กรชุมชนในพม่าเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสำหรับชุมชนมานับ 2 ทศวรรษ ชุมชนจึงสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้

โดย เอพริว จุจุ ยังเรียกร้องไปยังชุมชนในรัฐฉานว่าอย่ารับรองโครงการดังกล่าว หากรัฐบาลไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าหลังจากมีโครงการแล้วผ่านไป 50 ปี จะเกิดอะไรขึ้น และการจ่ายค่าชดเชยไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา และเขื่อนก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องไฟฟ้า

 

หารือสาธารณะหลังรัฐบาลปัดฝุ่นเขื่อนอีกครั้ง - ขณะที่ในพื้นที่มีผู้พบวิศวกรจีน-พม่าอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง

สำหรับการจัดหารือสาธารณะนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลพม่าแจ้งต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557 ว่าจะก่อสร้างโครงการดังกล่าว ขณะที่โครงการดังกล่าวสมัยที่ยังใช้ชื่อว่าโครงการเขื่อนท่าซาง ทำพิธีเปิดการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2550 และจากรายงานของกลุ่ม "สาละวินวอทช์" ระบุว่าในการสำรวจของนักสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน เมื่อเดือนมีนาคมปี 2556 พบว่า มีวิศวกรและแรงงาน ทั้งชาวจีนและชาวพม่าเริ่มทำงานในพื้นที่สร้างเขื่อน

จากข้อมูลจากเอกสารการนำเสนอของบริษัท SMEC ผู้จัดประชุมหารือสาธารณะ ซึ่งเป็นบริษัทจากออสเตรเลีย ระบุว่าเขื่อนเมืองโต๋นดังกล่าว หากผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) จะใช้เวลาประมาณ 14 ปีในการก่อสร้าง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90% จะถูกส่งให้ไทยและจีน และอีก 10% จะใช้ในประเทศ

โดยผู้ก่อสร้างเขื่อนได้แก่ บริษัทไชน่าทรีจอร์จคอร์เปอเรชั่น, ไชน่าเซาท์เทิร์น พาวเวอร์ กริด แอนด์ พาวอร์ คอนสตรัคชัน ออฟ ไชน่า รวมทั้ง บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล และ เมียนมา อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป ออฟ เอนเทรอเพรอเนอ (IGE)

ทั้งนี้ในเอกสารนำเสนอของ SMEC ระบุว่าจะมีการโยกย้ายประชาชน 12,000 คนหากมีการสร้างเขื่อน โดยจำนวนที่แน่นอนจะระบุอีกครั้งหลังทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับจุดสร้างเขื่อนเมืองโต๋น อยู่ที่บ้านท่าศาลา เมืองโต๋น โดยอยู่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนท่าซางเดิมประมาณ 10 กม. โดยเขื่อนแห่งใหม่นี้จะกักเก็บน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินและเป็นแหล่งจับปลาสำคัญของรัฐฉาน

และหากเขื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป๋างเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมสองฝั่งของเมืองกุ๋นฮิง ชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐฉานที่อยู่ระหว่างเส้นทาง ตองจี - กุ๋นฮิง - เชียงตุง

 

เครือข่ายแม่น้ำพม่าเรียกร้องให้ยุติทุกโครงการเขื่อนในสาละวิน จนกว่าจะแก้ไขปัญหาชายแดน

ทั้งนี้ในรายงานของ ทรานส์บอร์เดอร์นิวส์ ได้รายงานความเห็นของ นายโซโด่ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยระบุว่า โครงการสร้างเขื่อนอยู่ในเขตเมืองโต๋น ในพื้นที่รัฐฉาน แต่การประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการนี้ กลับถูกจัดขึ้นในเมืองตองจีแทน ทำให้นำมาซึ่งคำถามความจริงใจของผู้จัดประชุมในครั้งนี้ และโครงการเขื่อนใดๆ บนแม่น้ำสาละวินไม่มีความโปร่งใส และแทบจะไม่นำมาซึ่งผลประโยชน์ใดๆ ต่อชาวบ้านท้องถิ่น ดังนั้น เราจึงขอคัดค้านทุกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ที่สำคัญคือโครงการใดๆ บนแม่น้ำสาละวินต้องหยุดไว้ จนกว่าการลงนามหยุดยิงที่แท้จริงจะเกิดขึ้น และได้ข้อตกลงทางการเมืองนำไปสู่ข้อยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

“เราขอเรียกร้องให้หยุดทุกโครงการบนแม่น้ำสาละวินโดยทันที เพราะไม่มีการป้องกันที่เพียงพอ ทั้งการป้องกันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือเขื่อนแตก โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินจะเป็นภัยในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรมประเพณี มาตรฐานการครองชีพ การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพของชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงสตรีและเด็ก ดังนั้นเราจึงของคัดค้านแผนโครงการบนแม่น้ำสาละวิน และเราขอคัดค้านการโครงการใด ๆ บนแม่น้ำสาละวินที่จะเป็นอันตรายต่อความสงบสุขใน พื้นที่ และทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น” นายโซโด่ กล่าว

 

ภาษาพม่า: อุปสรรคใหญ่ของการหารือสาธารณะ

ทั้งนี้รายงานของเมียนมาไทม์ระบุว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ซึ่งมีผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาพม่า จึงทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่มีการอภิปรายในการจัดหารือสาธารณะ

โดยยินยินหม่อง ชาวปะโอ จากเมืองสีเส่ง กล่าวว่า "ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เข้าใจคำศัพท์เทคนิคเหล่านั้น" ขณะที่ผู้เข้าร่วมคนอื่นซึ่งไม่ได้พูดภาษาพม่า ทำได้แค่ตามการนำเสนอจากโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ที่ฉายขึ้นจอเท่านั้น

ขณะที่หัวหน้าคณะศึกษาของ SMEC ไมเคิล โฮลิกส์ กล่าวว่า พวกเขาจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวสำหรับการจัดประชุมหารือสาธารณะในอนาคต "เราทราบดีว่า จะมีอุปสรรคด้านภาษา เราจำเป็นต้องสร้างการสื่อสารที่ดีกว่านี้ ในการจัดประชุมหารือสาธารณะครั้งต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net