Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เพราะชีวิตแรงงานในระบบ คือ ชีวิตที่มีความเสี่ยงกับสภาพการจ้างงานที่ดูราวกับว่า “มั่นคง แน่นอน” มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับ แต่ใครจะรู้บ้างว่า “แรงงานในระบบ” คือ ชีวิตบนเส้นด้ายที่สายป่านสั้นและความไม่มั่นคงก็อยู่รายรอบ ถ้าใครสักคนหนึ่งหาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่ส่งผลให้นายจ้างรู้สึกว่า “พวกเขาและเธอ” ไม่ได้มาทำงานและรับค่าจ้างเพียงเท่านั้น ชะตากรรมที่จะหลุดจากรั้วโรงงานก็จะติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
           
4 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลแรงงานแห่งหนึ่งได้มีคำพิพากษา กรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ที่ตัดสินให้บริษัทแห่งนี้ต้องรับลูกจ้าง (กรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน) กลับเข้าทำงานและให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างนี้ เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โดยคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้นนี้ ได้ตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งของ ครส. ฉบับนี้
             
คำถามสำคัญ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่บริษัทได้ทำผิดตามกฎหมายจริง แต่ทำไมศาลยังซ้ำเติมลูกจ้างอีกคำรบหนึ่ง
           
แม้จะได้ยินคำร่ำลือของการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มาพร้อมกับการเลิกจ้างผู้ก่อการและกรรมการสหภาพแรงงานในพื้นที่กลุ่มย่านอุตสาหกรรมอื่นๆสม่ำเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ “พวกเขาและเธอท้อถอย” เพราะคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว
           
หลายปีที่ผ่านมาคนงานที่นี่ต้องเผชิญกับสภาพการจ้างที่ย่ำแย่มิใช่น้อย วันดีคืนดีนายจ้างก็บอกว่าขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจากรายเดือนมาเป็นรายวัน , มีการย้ายโรงงานบางแผนกไปอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, มีการตัดสวัสดิการต่างๆนานา มีกระทั่งหากพบชิ้นงานเสีย ลูกจ้างจะต้องทำการชดใช้เงิน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งได้สร้างความยากลำบากในการทำงานให้กับคนงานอย่างมาก
           
ที่นี่ไม่ใช่บริษัทห้องแถวกิ๊กก๊อก แต่เป็นบริษัทด้านสิ่งทอขนาดกลางที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2541 ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
 
ที่ใดมีความอยุติธรรม ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ นี้ย่อมคือสัจธรรม
 
ตุลาคม 2556 คนงานตัดสินใจยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานกับนายจ้าง โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ที่บัญญัติไว้ว่า “การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ”
 
มหกรรมเชือดไก่ให้ลิงดูก็เกิดขึ้นตามมาโดยทันที
 
  • บริษัทสั่งพักงานลูกจ้างที่เป็นผู้แทนเจรจารวม 5 คน โดยอ้างว่าทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
  • บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 10 คน โดยอ้างว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ยอมเซ็นสัญญาฉบับใหม่เพื่อรับสภาพเงื่อนไขใหม่ในการจ้างงาน
  • มีการลดตำแหน่งและโยกย้ายหน้าที่การงานของตัวแทนเจรจา
 
อย่างไรก็ตามคนงานก็ไม่ยอมจำนน พฤศจิกายน 2556 คนงานบริษัทแห่งนี้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้สำเร็จ
 
แต่นั้นเองความหวาดหวั่นมาเยี่ยมเยือนหัวใจ พอๆกับความท้าทายถึงอนาคตข้างหน้าว่าสหภาพแรงงานแห่งนี้จะอยู่รอดและคงมั่นปานใด ในเมื่อ ณ พื้นที่แห่งนี้ ดูราวกับเป็นเขตปลอดสหภาพแรงงานอย่างถาวรมาหลายปีดีดัก และสหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ก็เพิ่งจะเป็นแห่งที่ 5 ของจังหวัดนี้เช่นเดียวกัน
 
3 ธันวาคม 2556 ในที่สุดหลังจากผ่านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานมาร่วม 7 ครั้ง สหภาพแรงงานกับบริษัทก็ได้ข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับสมบูรณ์
 
ผ่านไปแค่ 1 เดือน คำสั่งสายฟ้าฟาดมาเยือนประธานสหภาพแรงงาน, รองประธาน และกรรมการอีก 2 คน ทันที
 
6-7 มกราคม 2557 บริษัทได้เลิกจ้างคนกลุ่มนี้โดยแจ้งเลิกจ้างทางวาจา อีกทั้งในวันเดียวกันบริษัทก็ได้โอนเงินค่าชดเชย 3 เดือน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้างแต่ละคน
 
ท่ามกลางความมึนงง สับสน ไม่ทันตั้งตัว
 
วันรุ่งขึ้น 8 มกราคม 2557 ลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้จึงได้ตัดสินใจไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)  ว่าถูกบริษัทเลิกจ้าง ขณะที่ข้อตกลงสภาพการจ้างเพิ่งมีผลบังคับใช้ กล่าวได้ว่านายจ้างได้ทำความผิดตามมาตรา 121 และ 123 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518
 
สาระสำคัญโดยสรุปของ 2 มาตรา นี้ คือ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน และในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือคำชี้ขาด มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่ทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดตามระเบียบและข้อบังคับต่างๆตามที่กำหนดไว้
 
ดังนั้นลูกจ้างจึงขอให้ ครส. มีคำสั่งให้บริษัทแห่งนี้รับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน
 
ขณะเดียวกัน 5 กุมภาพันธ์ 2557 ลูกจ้างทั้ง 4 คน ที่ถูกเลิกจ้างก็ได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (ที่เรียกกันว่า เขียน คร. 7) เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจากการทำงาน (คือระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 - วันที่ 7 มกราคม 2557) เนื่องจากที่ผ่านมานั้น นายจ้างได้จ่ายเพียงแค่ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงเท่านั้น แต่ค่าจ้างค้างจ่ายนายจ้างยังไม่ได้จ่าย ดังนั้นลูกจ้างจึงไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่ในประเด็นนี้เพิ่มเติม
 
28 มีนาคม 2557 พนักงานตรวจแรงงานก็ได้มีคำสั่งให้บริษัทแห่งนี้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่กรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนที่ถูกเลิกจ้าง
 
ใครเล่าจะรู้บ้างว่า............การรับค่าชดเชย รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าผ่านบัญชีธนาคารมาแล้ว และไปร้องเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย จะกลายเป็น “หนามแหลมบาดชีวิตของลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้” ในเวลาต่อมาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อจากนี้
 
เมษายน 2557 ครส. มีคำสั่งให้บริษัทต้องรับลูกจ้าง 4 คนนี้กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน เนื่องจากบริษัทได้เลิกจ้างลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและลูกจ้างไม่มีความผิด
 
บริษัทอุทธรณ์คำสั่ง ครส. โดยไปฟ้องศาลแรงงานโดยบริษัทเป็นโจทก์ และ ครส. เป็นจำเลย โดยระบุว่าเหตุผลที่บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้นั้น ไม่ใช่เพราะเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง แต่เป็นเพราะบริษัทปรับลดขนาดองค์กร อีกทั้งบริษัทก็ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปแล้วอย่างครบถ้วน ถูกต้องกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ลูกจ้างจะมาร้องต่อ ครส. เรื่องการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงขอให้ศาลแรงงานมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง ครส.ฉบับนี้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ธันวาคม 2557 ศาลแรงงานนัดสืบพยาน มีการไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัท กับ ครส. ทั้งนี้ในวันดังกล่าวบริษัทแจ้งต่อศาลว่า “การรับลูกจ้างทั้ง 4 คน กลับเข้าทำงานเป็นเรื่องยากที่บริษัทจะรับข้อเสนอดังกล่าว และลูกจ้างทั้ง 4 ได้รับเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้ว” ในส่วนทนายจำเลย คือ ครส. ก็แถลงเช่นเดียวกันว่า “ลูกจ้างทั้งสี่ได้รับเงินค่าชดเชยและสินจ้างการบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้วจริง
 
วันนั้นศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อลูกจ้างทั้ง 4 คนได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่คู่ความแถลงรับกัน จึงไม่ต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยอีกต่อไป นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์2558 เลย
 
4 กุมภาพันธ์ 2558 ณ บัลลังก์พิจารณา ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 225/2557 ทีละบรรทัดๆ จนมาถึงวรรคท้ายช่วงสำคัญ
 
  • ศาลแรงงานพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมได้ 2 ช่องทาง คือ (1) การยื่นคำร้องต่อ ครส. เพื่อให้มีคำสั่งรับกลับเข้าทำงาน หรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือทั้ง 2 อย่าง นี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 124 กับ (2) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ระบุว่า ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 123 และ 124 ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมและลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด
  • แม้ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ช่องทาง คือ ครส. และพนักงานตรวจแรงงาน แต่เมื่อมีคำสั่งออกมาแล้ว ลูกจ้างจะใช้สิทธิ 2 ทางไม่ได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน
  • ดังนั้นในกรณีนี้แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่นายจ้างก็ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายไปแล้วในวันที่เลิกจ้าง ถือได้ว่าลูกจ้างได้รับประโยชน์ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไปแล้ว ซึ่งย่อมหมายความว่า ลูกจ้างสละสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ตามแนวทางของ ครส.
  • ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม คำสั่งของครส. ถือได้ว่า คำสั่งครส.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งครส. ฉบับนี้
 
แค่การหางานทำใหม่และทำมาหาเลี้ยงชีพแต่ละวันๆ ให้รอดก็ยากพอแล้ว เมื่อมานั่งอ่านคำพิพากษาแต่ละบรรทัดๆ ที่เป็นภาษากฎหมาย อ้างอิงมาตราต่างๆ กฎหมายฉบับต่างๆ ก็ยิ่งความมึนงงให้กับลูกจ้างมากขึ้นไปอีกว่า “แล้วตนเองควรทำอย่างไร ภายใต้ชะตาชีวิตแบบนี้”
 
ใครบางคนพยายามอธิบายด้วยภาษาง่ายๆให้ฟังว่า
 
คำพิพากษาศาลแรงงานฉบับนี้ ได้เดินตามบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3808/2547 ทุกประการ กล่าวคือ คำพิพากษาฉบับที่ 3808/2547 นี้ ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า
 
  • แม้บทบัญญัติของ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน
  • ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม และการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
  • ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
  • ลูกจ้างถูกบริษัทเลิกจ้างจึงยื่นคำร้องทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงาน
  • เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างพร้อมดอกเบี้ย และลูกจ้างได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วนแล้ว อันเป็นการเลือกถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว
  • ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างสละสิทธิ์ไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในส่วนให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน
  • ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับบริษัทตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก
 
ใครอีกคนก็อธิบายด้วยภาษาที่ง่ายขึ้นไปอีกว่า
 
เพราะบริษัทต้องรู้ช่องว่างของกฎหมายแน่นอน บริษัทจึงเลือกกำจัดลูกจ้างในฐานะ “สหภาพแรงงานผู้หัวแข็ง” ด้วยการโอนเงินผ่านระบบบัญชีธนาคารแทน เพื่อทำให้ลูกจ้างที่ไม่รู้ช่องทางทางกฎหมายต้องรับสภาพการเลิกจ้างไปโดยปริยาย นี้ไม่นับว่าบริษัทก็ยังมีหลักฐานอีกว่า พนักงานตรวจแรงงานก็มีคำสั่งให้บริษัทต้องจ่ายเงินค้างจ่ายจากการทำงานให้ลูกจ้างอีก เหล่านี้เป็นหลักฐานรูปธรรมทั้งสิ้นที่ส่งผลให้การเลิกจ้างดังกล่าวถูกกฎหมายและชอบธรรม
 
ประสิทธิ์ ประสพสุข รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) และมงคล ยางงาม นักจัดตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) ผู้คร่ำหวอดและคุ้นชินกับประเด็นการเลิกจ้างนักสหภาพแรงงาน อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
 
“ในเมื่อถ้าลูกจ้างรู้แล้วว่าตนเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันดับแรกต้องไปแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาเอาผิดกับนายจ้าง นำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับนั้นไปบันทึกไว้เป็นหลักฐานก่อน และให้ถอนเงินนั้นออกมาเป็นหลักฐานว่า เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะลูกจ้างไม่ได้อยากถูกเลิกจ้าง แต่นายจ้างกลับมัดมือชกโอนเข้าบัญชีมาเอง เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ยอมรับการเลิกจ้างด้วยวิธีบังคับขืนใจให้สมยอมแบบนี้
 
หลังจากนั้นให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องต่อ ครส. เพื่อให้ ครส.มีคำสั่งให้นายจ้างต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างครั้งนี้เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน
 
ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากอีกว่าในกรณีแบบนี้ว่า ครส. ก็จะตัดสินให้ลูกจ้างชนะ และนายจ้างก็จะอุทธรณ์คำสั่งโดยไปฟ้องศาลแรงงานจนถึงขั้นศาลฎีกา
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงสอนให้ลูกจ้างต้องละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการก้าวเดิน นายจ้างมีที่ปรึกษากฎหมายทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ จากนี้ไปเมื่อโดนเคสแบบนี้ต้องทำหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างส่งถึงบริษัทสำเนาเรียนสวัสดิการและคุ้มครองฯไว้เป็นหลักฐาน แจ้งความเรื่องมีเงินไม่ชอบโอนเข้าบัญชีเรา แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างละเมิดพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 31 และ ร้องครส. ตามมาตรา 121 -123 ต้องปิดช่องว่างทางกฎหมายให้หมด”
 
บนเส้นทางนักต่อสู้ ย่อมมีความหมาย ขอให้เพียงได้ลุกขึ้นสู้ ย่างก้าวแห่งการต่อสู้จักมีความหมาย นักรบย่อมมีบาดแผลและร่องรอยความเจ็บปวดข่นแค้นเสมอมา
 
ปี 2553 ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 8802/2553 โดยวางบรรทัดฐานไว้ว่า “ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจากการเลิกจ้าง กับ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นคนละเรื่องกัน” กล่าวได้ว่าบนเส้นทางที่ดูเหมือนจะตีบตัน ลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลแรงงานกรณีให้นายจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้เช่นเดียวกัน
 
กล่าวคือ
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ค่าชดเชยตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง
  • ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า
  • “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้าง ลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้างระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา”
  • บทบัญญัติดังกล่าวให้การคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หากลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน ขอให้ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง
  • หากคำขอดังกล่าวศาลไม่อาจพิจารณาบังคับให้ได้ ศาลจะสั่งให้นายจ้างซึ่งเป็นจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแทน หรือหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะกลับเข้าไปทำงานก็อาจจะขอให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายก็ได้
  • ดังนั้นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับค่าชดเชยจึงเป็นคนละเรื่องกัน แม้จะเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติต่างหากจากกัน
  • เมื่อศาลแรงงานวินิจฉัยว่า บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้บริษัทจะนำเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปวางต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างรับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว
  • ศาลแรงงานก็พิพากษาให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกได้
  • ศาลแรงงานพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้น
  • ศาลฎีกายกฟ้องประเด็นนี้ที่บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
 
พรนารายณ์  ทุยยะค่าย หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ปิดท้ายการสนทนาด้วยบทสรุป และสะท้อนถึงชีวิตแรงงานในระบบในประเทศไทย ที่โหดร้ายทารุณมิใช่น้อยว่า
 
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนถึงความยากลำบากของคนงานที่ต้องต่อสู้กับระบบทุนและส่วนอื่นๆที่ทำให้ทุนได้รับชัยชนะเหนือลูกจ้าง แต่ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ นายจ้างก็กระทำสิ่งต่างๆได้ และลูกจ้างก็ต้องไปต่อสู้เอง
 
ที่ผ่านมาได้แนะนำลูกจ้างเสมอมาว่า กระบวนการทางศาลขอให้เป็นช่องทางสุดท้าย มีหลายครั้งที่ลูกจ้างพอไปถึงศาลจำชื่อตนเองไม่ได้ก็มี หรือเคยเข้าไปในฐานะทนายความก็เคยถูกศาลให้ออกนอกห้องมาแล้ว หรือหลายกรณีมีการไกล่เกลี่ย กดดันให้ลูกจ้างต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม
 
บางครั้งกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือให้ลูกจ้างต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น แม้กฎหมายเขียนไว้ว่าให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่าย ลูกจ้างไปฟ้องศาลเอง บางครั้งก็ฟ้องแค่เรื่องเรียกค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น โดยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ก็ตกหล่นเรื่องนี้ไปก็มี หรือไกล่เกลี่ยก็เพียงแค่เรื่องรับค่าชดเชย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ลูกจ้างก็ต้องได้รับด้วย
 
อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดๆที่ระบุว่า เมื่อนายจ้างรับคนงานกลับเข้าไปทำงานแล้วภายหลังข้อพิพาทแรงงานเป็นที่สิ้นสุด จะต้องคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิม สถานะเดิม คือ มาอย่างไร ไปอย่างนั้น ไม่ใช่มาอย่างไร เวลากลับไป ให้ไปนั่งในเต็นท์ นี้คือการผิดหลักการอย่างยิ่ง
 
กฎหมายคุ้มครองแรงงานดูเหมือนว่าจะคุ้มครองลูกจ้างได้จริง ถ้อยคำสวยหรู แต่เนื้อแท้ วิธีปฏิบัติกลับไม่สามารถใช้ได้จริง พึ่งศาลก็ล่าช้า กลายเป็นความอยุติธรรม  ต่อสู้มานานจะได้รับความเยียวยาอย่างไร หรือบางทีศาลเองก็มองว่าแก้วมันร้าวกลับไปทำงานไม่ได้อยู่แล้ว มองว่าเข้าไปก็ลำบาก ถ้านายจ้างยืนยันไม่รับเข้าไปทำงาน ก็เข้าลำบาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงลูกจ้างก็ยังไม่ได้ลองกลับเข้าไปทำงานเลย
 
แล้วสุดท้ายชีวิตลูกจ้างจะอยู่อย่างไร เพราะเกิดปัญหาครั้งใดก็ผลักไปคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) ผลักไปศาลแรงงาน นี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาการจ้างงานในประเทศอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด”
 
 
 
หมายเหตุผู้เขียน: ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณประสิทธิ์ ประสพสุข , คุณมงคล ยางงาม และคุณวิทยากร บุญเรือง สำหรับการแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ต่อการขบคิดประเด็นต่างๆเพิ่มเติมมิใช่น้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net