วัดใจ! กสท. ถือหุ้นข้ามช่องข่าวเกินกว่ากฎการประมูลได้หรือไม่

จับตาที่ประชุม กสท. วันนี้ ชี้ขาด SLC ถือหุ้นข้ามช่องข่าวเกินร้อยละ 10 ผิดหรือไม่ สุภิญญาชี้ มติวันนี้เป็นบรรทัดฐาน หากทำได้ กระทบการแข่งขัน และผลประโยชน์ผู้บริโภค

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 16 มี.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 10/2558 มีวาระการประชุมชวนจับตา ได้แก่ การตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ซึ่งตนเองได้เห็นชอบตามที่สำนักงานได้เสนอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC  เป็นผู้มีอำนาจควบคุมช่องข่าวสปริงนิวส์ ได้เข้าซื้อหุ้นของ บ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ช่องข่าวเนชั่น ในสัดส่วนที่ถือว่าเข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่เดียวกันเกินสัดส่วนตามที่ประกาศกำหนดไว้ก่อนการประมูล

“การประชุม กสท. จันทร์นี้มีความสำคัญกับอนาคตการกำกับดูแลดิจิตอลทีวี การพิจารณาเรื่องการเข้าถือหุ้นของ SLC ใน NMG  จะเป็นบรรทัดฐานการกำกับดูแลต่อไป ถ้ากรณี SLC ทำได้ นั่นหมายความว่า ต่อไปการซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ข้ามช่องกันในกลุ่มช่อง HD และกลุ่มช่องข่าวสาร จะสามารถทำได้โดยไร้กติกากำกับดูแล จะเป็นความเสี่ยงมาก หากเสียงข้างมากลงมติออกมาว่า การซื้อหุ้นในลักษณะนี้ไม่ผิด และให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องแก้ไข นั่นก็จะกระทบอุตสาหกรรม กระทบการแข่งขัน การครอบงำ และผลประโยชน์ของคนดู” สุภิญญา กรรมการ กสท. กล่าว

ส่วนวาระเรื่องโครงข่ายดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน นางสาวสุภิญญาเห็นว่า กสท. ควรต้องตัดสินใจเด็ดขาดได้แล้วว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งวางโครงข่ายได้ตามเงื่อนไขใบอนุญาตได้เลย เพราะฉะนั้นควรมีมาตรการทางปกครองตามที่เสนอให้ปรับ มิเช่นนั้น อาจเกิดความได้เปรียบกว่า อสมท. โดยหลังจาก อสมท. โดนคำสั่งทางปกครองแล้วสามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้มากขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นหน่วยงานราชการแล้วจะได้รับสิทธิมากกว่า สุดท้ายหากกรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถทำได้จริงๆ อาจต้องพิจารณาการพักใช้ หรือเพิกถอน และให้ผู้ที่มีศักยภาพทำดีกว่า เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงข่ายดิจิตอลทีวี

นอกจากนี้ มีวาระการให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตามที่ช่อง 7 ได้ยื่นฟ้อง กสท. 3 คน กรณี การออกอากาศคู่ขนานทีวีดิจิตอล ช่อง 3 ทั้งนี้ ตน พร้อมทั้ง ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ มีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช. ทั้งในแง่มุมกฎหมาย และประโยชน์สาธารณะ อย่างที่ทุกคนเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า ภายหลังการแก้ปัญหาเรื่องนี้ยุติลง อุตสาหกรรมโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านและเดินหน้าไปได้ ทั้งเกิดการแข่งขันที่เข้มข้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโทรทัศน์ในรอบหลายทศวรรษ ประชาชนมีช่องทางในการรับชมที่หลากหลายมากขึ้น

วาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องร้องเรียนของ บ. โมชั่น พิคเจอร์ แอสโซซิเอชั่น (ประเทศไทย) หรือ MPA กรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในช่องเคเบิลท้องถิ่น ที่เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน จะมีการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้ทางกฎหมาย  วาระรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการจัดจ้างผู้ผลิตและจัดการดำเนินการประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล วาระรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรฐานทางเทคนิค มส. 4002 – 2555 ของเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วาระการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในฯ และ วาระความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ต่อผู้ใช้บริการ กรณีเรื่องร้องเรียนการรับชมรายการผ่านกล่อง GMM  Z ติดตามผลการประชุมทั้งหมดในวันจันทร์นี้...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท