จิปาถะว่าด้วยปัจเจกภาพ มวลชน ถ้อยคำ และ ขั่นว่ามันย่านเฮาขึ้นมา…

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปกติเวลาจะต้องไปพูดอะไรในเวทีไหน ดิฉันมักต้องออกตัวกับผู้ฟังเสียก่อนว่า ดิฉันจะขอใช้วิธีอ่านบันทึกที่ร่างมาแทนการพูดสด ที่ผ่านมาดิฉันมักให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะดิฉันเป็นคนปฏิภาณไม่ดี ความยับยั้งชั่งใจก็ไม่ค่อยมี จึงราวกับว่าต้องมีร่างบทพูดนั้นเป็นตัวช่วยกำกับให้ ว่าอย่าได้พูดอะไรทะเล่อทะล่านอกร่องนอกรอยมากเกินไปนัก
           
แต่มาระยะหลังนี้ ดิฉันเห็นจะต้องยอมรับว่า อันที่จริง ตรงกันข้าม ดิฉันคิดว่า ที่ดิฉันเลือกจะเขียนเป็นร่างมาก่อน เพราะดิฉันพบว่าเวลาถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของตัวเองผ่านการเขียน ดิฉันมีแนวโน้มที่จะกล้าเปิดเผยความคิดความรู้สึกของตัวเองได้มากกว่าการพูดสดๆ กันต่อหน้า เพราะเวลาลงมือเขียน ดิฉันรู้สึกเหมือนเป็นการคุยกับตัวเองคนเดียวลำพัง ไม่มีสีหน้าแววตาของใครมาให้เราต้องกังวล หรือเกรงใจ หรือกระดากเขินอาย ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า ในกรณีของดิฉัน การเลือกพูดผ่านการเขียน ในระดับหนึ่งจึงช่วยให้การแสดงความคิดความรู้สึกนั้น “เป็นธรรมชาติ” กว่า ในความหมายที่ว่า ยังดิบกว่า ยังไม่ทันปรุงจนสุก ยังไม่ทันต้องยับยั้งชั่งใจ หรือคิดหน้าคิดหลังมากเกินไป
           
ดิฉันไม่แน่ใจว่าในกรณีของวันนี้ จะเป็นเหตุผลอย่างแรก หรืออย่างหลัง แต่เมื่อคำนึงถึงว่าเรากำลังสนทนากันภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ดิฉันภาวนาว่าให้มันเป็นเหตุผลอย่างแรก ปฏิภาณไม่ดีน่ะใช่อยู่แล้ว แต่ที่เขียนมานี้ อย่างไรเสียก็ได้พยายามยับยั้งชั่งใจ ได้พยายามคิดหน้าคิดหลังเข้าไว้มาโสดหนึ่งแล้ว (… ใช่ไหมนะ?)
           
การออกตัวอีกเรื่องหนึ่งในวันนี้คือ สิ่งที่ดิฉันจะพูดนี้ แม้จะพูดภายใต้หัวข้อที่ประกอบด้วยถ้อยคำอันฟังดูสากลและอลังการยิ่งอย่าง “อำนาจ” และ “วรรณกรรม” แต่ดิฉันก็ยังอยากขอยืมวลีหนึ่งของลาว คำหอม หรือคุณลุงคำสิงห์ ศรีนอก มาใช้ เป็นวลีที่ดิฉันประทับใจ เมื่อลาว คำหอม นำมาใช้นิยามถึงหนังสือ ฟ้าบ่กั้น นั่นคือ “วรรณกรรมแห่งฤดูกาล”  ลาว คำหอม บอกว่า “ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดหนังสือเล่มนี้เข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆเล่มนี้ก็คงมีฐานะเป็นได้เพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’  ฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมากของประเทศไทย” 
           
ดิฉันยกคำพูดของลาว คำหอม มาเพื่อจะออกตัวว่า การพูดในวันนี้ของดิฉัน จะเป็นการเพียงแค่การพูดถึงปัญหาว่าด้วย “อำนาจ วงเล็บ จุดจุดจุด วรรณกรรม ในฤดูกาลแห่งรัฐประหารและศาลทหาร”  มิได้เป็นอะไรที่สากลพ้นไปกว่านั้น ฤดูกาลแบบนี้เป็น “สากล” กับเขาไปไม่ได้หรอกค่ะ ในทุกความหมายของคำว่าสากลกันเลยทีเดียว
           
และถ้าให้เฉพาะเจาะจงในทางฤดูกาลยิ่งไปกว่านั้น ก็คือมันเป็นห้วงวันเวลาที่ในพระนครเพิ่งมีราษฎรกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “พลเมืองโต้กลับ” ได้พยายามกระทำการรณรงค์เพื่อแสดงออกถึงสิทธิและอำนาจในการ วงเล็บ จุดจุดจุด อยู่เสียอีกด้วย ฉะนั้นอย่าคาดหวังคำตอบสากลใดจากดิฉัน นี่เป็นเรื่องเฉพาะฤดูกาลล้วนๆ
           
ดิฉันบังเอิญพอจะรู้จักกันอยู่บ้างกับบางคนในหมู่พลเมืองโต้กลับกลุ่มนั้น ในโอกาสไม่บ่อยนักที่ได้ร่วมสนทนากัน บางจังหวะเราพาดพิงกันไปถึงศิลปะวรรณกรรมที่แต่ละคนเสพ บางคนชอบดูหนังฝรั่งเศส บางคนตื่นเต้นกับหนังสารคดีที่ให้แรงบันดาลใจ บางคนสนใจศึกษาศิลปะวรรณกรรมจีน บางคนเชื่อมั่นในศิลปะภาพยนตร์และการละคร
           
และบางคน ถึงกับระบุตัวอย่างแรงบันดาลใจของเขาว่า คือนามปากกา “ศรีบูรพา”, คือเรื่องสั้น “ไพร่ฟ้า” และคือตัวละครชื่อ “สาย สีมา”  เขาถึงกับรู้สึกว่าการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม หรือต่อสู้กับอำนาจเผด็จการนั้น มิใช่เป็นเพียงการดำเนินรอยตามงานวรรณกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจ แต่คือการดำเนินชีวิตเยี่ยงตัวงานวรรณกรรมที่เขากำลังเขียนขึ้นใหม่ ตามแรงบันดาลใจจากงานวรรณกรรมเหล่านั้นนั่นเอง การกระทำและคำพูดที่เขาเลือกใช้ ถือเป็นเสมือนหนึ่งตัวงานวรรณกรรมที่เขาในฐานะผู้เขียนกำลังสร้างขึ้นพร้อมกันไป และจะต้องคงความสง่างามและศักดิ์ศรีให้ได้ในระดับเดียวกับที่ตัวงานวรรณกรรมต้นแบบนั้นได้สร้างไว้
           
ครั้งหนึ่งเขายกตัวอย่างกับดิฉันว่า

“พี่นึกดูนะ ถ้าผมต้องถูกศาลตัดสินขังคุก ผมจะบอกศาลว่า ‘ถ้าท่านแน่ใจว่าท่านพิพากษาอย่างเป็นธรรมเสียแล้วก็ทำไป เพราะมือข้างเดียวกันกับที่เซ็นคำสั่งพิพากษาจำคุกผมนั้น มันก็จะเป็นมือข้างเดียวกันกับที่ท่านใช้ลูบหัวลูกน้อยที่ยังบริสุทธิ์ของท่าน ในยามที่ท่านกลับถึงบ้านนั่นแหละ’ ... เป็นไงครับพี่ เหมือนนิยายไหม”

ดิฉันขำในความบ้านิยายอย่างตรงไปตรงมาของเขา พอๆกับที่ต้องรีบชิงเตือนว่า “เธอก็เตรียมใจไว้ด้วยแล้วกัน ว่าผู้พิพากษานั่นเขาก็อาจจะนึกว่าตัวเองกำลังเป็นพระเอกในนิยายของตัวเองเหมือนกัน ประมาณผู้พิพากษาในพระปรมาภิไธย กำราบกบฏจัญไรหนักแผ่นดิน อะไรประมาณนี้” 
           
ดิฉันยกตัวอย่างพลเมืองกลุ่มนี้ขึ้นมา เพราะนี่เป็นตัวอย่างกรณีล่าสุดของปัจเจกบุคคลที่ต่างคนต่างมาจากต่าง
ภูมิหลัง แต่ทว่าต่างก็มีบางสิ่งร่วมกันในแง่ของแรงบันดาลใจในทางอุดมการณ์ ให้ลุกขึ้นมากระทำการบางอย่างในฤดูกาลของรัฐประหารและศาลทหาร โดยที่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้คงไม่ใช่ทั้งหมดนั้น ก็มาจากการเสพงานศิลปะและการอ่านวรรณกรรม  บางชิ้นก็ซ้ำซ้อนกัน บางชิ้นก็ไม่ แตกต่างกันไปตามรสนิยม และไม่ว่าจะถูกมองว่า romantic หรือ realistic หรือว่าอาจจะเป็น romantically realistic หรือ realistically romantic อย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันล้วนอยู่บนฐานของการเป็น idealist ไปแล้ว
           
แล้วประชาชนกลุ่มอื่นๆอีกจำนวนมากที่เคยออกมาต่อสู้บนท้องถนนหรือในพื้นที่อื่นๆของประเทศนี้ล่ะ พวกเขาออกมาด้วยแรงบันดาลใจที่ส่วนหนึ่งนั้นคือศิลปะและวรรณกรรมหรือไม่ ดิฉันก็ไม่แน่ใจ คงใช่อยู่บ้างเหมือนกันในปี 2516 ที่มาขับไล่เผด็จการทหาร, ปี 2519 ที่มาขับไล่เผด็จการทหารอีกที, ปี 2535 ที่มาขับไล่เผด็จการทหารอีกรอบแล้วเรียกร้องนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง
           
ส่วนตั้งแต่ปี 2549 ที่มาต่อต้านรัฐประหารอีกครั้ง, ปี 2553 ที่เรียกร้องการเลือกตั้งอีกรอบ โดยที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่ใคร่จะเข้าข่ายปัญญาชนสักเท่าไหร่และถูกฆ่าตายไปอย่างโหดเหี้ยมและดูดายนั้น ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะได้เคยอ่านงานของศรีบูรพามาก่อนหรือไม่ หรืออันที่จริงกระทั่งหนังสืออย่าง ตาดูดาว เท้าติดดิน จะเป็นแรงบันดาลใจของพวกเขาหรือเปล่า ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจ
           
คุณ “ศรีดาวเรือง” นักเขียนสตรีคนสำคัญ เคยให้สัมภาษณ์ถึงพฤติกรรมการอ่านของคนแถวบ้านเกิดของเธอว่า

“คนบ้านนอก เวลาอ่านหนังสือ เขาไม่จำชื่อคนแต่งกันหรอก อย่างอ่านหนังสือนี่นะ คำนำเขาก็ไม่อ่าน เปิดมาอ่านเรื่องเลย และอ่านหนังสือแล้วก็ทิ้ง ไม่มีเก็บ ไม่มีถนอม อย่างบางทีอ่านๆอยู่ ลูกกวนก็เอาหนังสือนั่นแหละฟาดลูก อ่านยังไม่ทันจบเล่มเลย หนังสือขาดแล้ว”

ดิฉันว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่เตือนสติไว้ว่า วรรณกรรมมิใช่ของสูงส่งอะไร และนักเขียนก็ไม่ใช่เทวดา
           
แต่มันต้องมีถ้อยคำอะไรซักอย่างสิน่า ที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหว ถ้อยคำอย่างที่ไม่ว่ามันจะอยู่ในนวนิยาย ในบทความหนังสือพิมพ์ ในคำปราศรัย ในเวทีอภิปราย มันก็เป็นภาษาอย่างเดียวกันกับที่พวกเขาเข้าใจได้ในความหมายแบบของพวกเขา เพราะปฏิเสธได้หรือว่าหัวจิตหัวใจของคนที่กล้าต่อสู้ยืนหยัดกับอำนาจทั้งที่อ่านหนังสือไม่ได้หรืออ่านวรรณกรรมไม่ถูกเล่มนั้น ก็สามารถเข้าถึงได้ซึ่งสิ่งเดียวกันกับที่ศรีบูรพาเรียกว่า “มนุษยภาพ”
           
ดิฉันนึกถึงคำพูดของนักเขียนคนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือคุณมาลัย ชูพินิจ ที่เคยกล่าวไว้ในระหว่างการอภิปรายว่าด้วย “หน้าที่และความรับผิดชอบของนักประพันธ์” เมื่อปี พ.ศ. 2493 ว่า

“สำหรับตัวผมเองนั้น เมื่อผมมีเรื่องจะเขียนแล้วผมก็เขียน ไม่ได้นึกถึงอะไรทั้งนั้น ผมซื่อสัตย์ต่อคนคนเดียวเท่านั้นคือตัวของผม และรับผิดชอบต่อตัวของผมเอง แล้วผมก็เขียนไปตามนั้น ด้านประชาชน ผมไม่ได้นึกถึงเลย เช่นว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่ได้เก็บเอามาคิด ผมเขียนเพื่อความพอใจของผมคนเดียว” 

คำพูดที่ว่านี้ตีความได้หลายนัย แต่ที่แน่ๆคือเป็นคำพูดที่ยืนยันถึงปัจเจกภาพของตน คำว่า “ความพอใจของประชาชน” ในที่นี้ ไม่ว่าจะมองในทางซ้ายว่าหมายถึงการเขียนเพื่อรับใช้ทางอุดมการณ์ หรือมองในทางการตลาดว่าหมายถึงการเขียนเพื่อความนิยมอันแพร่หลาย ก็ล้วนมิใช่สิ่งที่คุณมาลัยนำมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างงาน ที่เขามองว่าเป็นแต่เพียงการตอบโจทย์ความพอใจเล็กๆของตัวเขา เพียงแต่ว่า เมื่อโดยเนื้อแท้ในความเป็นปัจเจกนั้น คุณมาลัยรู้สึกรู้สมต่อเรื่องใด ก็เขียนออกมาอย่างสัตย์ซื่อที่สุดจากภายใน แล้วหากประชาชนสัมผัสได้ถึงพลังอันเกิดจากปัจเจกภาพนั้น ปัจเจกภาพหลายๆปัจเจกภาพก็จะสามารถหลอมรวมถึงกัน ไม่ต่างจากที่ลาว คำหอม บอกว่าเขาเพียงแต่เขียนวรรณกรรมแห่งฤดูกาลของความยากไร้และคับแค้นเท่านั้น และนั่นก็คือปัจเจกภาพของนายคำสิงห์ ศรีนอก
           
ปัจเจกภาพอย่างนี้นี่แหละ ที่มาแตะมือกันได้กับปัจเจกภาพของคนที่ไม่ว่าจะอ่านหรือไม่อ่านนวนิยาย ลองนึกดูว่าหากพูดชื่อหนังสือ “ฟ้าบ่กั้น” ให้ประชาชนที่อ่านหนังสือไม่คล่องสักคนใน พ.ศ. นี้ฟัง ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีมานี้ ในท่ามกลางความคับแค้นอันคุกรุ่นอยู่ในประเทศนี้ ต่อให้เขาจะลงเอยด้วยการเอาหนังสือเล่มนั้นไปฟาดลูกอยู่ดี แต่นั่นก็คงหลังจากที่คำคำนี้ก็ได้เข้าไปกระทบความรู้สึกบางอย่างที่ตัวเขาเองลำพังเท่านั้น ก็ได้เข้าใจ และใครจะรู้ มันก็อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเขาไปในที่สุดเหมือนกันก็ได้
           
และปัจเจกภาพเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าหลายๆคน ก็กลายเป็น “มวลชน” จะเป็นมวลชนปัญญาชนบ้างไม่ปัญญาชนบ้างอย่างไร จะนำไปสู่หรือไม่นำไปสู่ “กำเนิดมวลชนปฏิวัติ” ตามสำนวนฝ่ายซ้ายหรือไม่ แต่ปัจเจกภาพอันแตกต่างหลากหลายในความเป็นมวลชนนี่แหละ คือสิ่งที่เผด็จการเข้าใจไม่ได้ และหวาดกลัวหวาดหวั่นอกสั่นขวัญหาย
           
มันก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะคะ คือต่อให้ดิฉันเชื่อในปัจเจกภาพของปัจเจกบุคคลทุกคนก่อนเข้าเป็นทหารหรือแม้เมื่อเป็นทหารแล้ว แต่โดยระบบของทหารที่ไม่อนุญาตให้ท่านคิด ไม่อนุญาตให้ใช้วิจารณญาณ สั่งอย่างไรต้องได้อย่างนั้น เมื่ออยู่ไปนานๆ แล้ววันดีคืนร้าย ก็ไม่รู้จักอยู่แต่ในกรมกองของท่าน ออกมาเพ่นพ่านสั่งการ ท่านก็คงเหงื่อกาฬแตกพลั่กแข้งขาสั่นเข่าอ่อนจะเป็นลมเสียให้ได้ทุกครั้งที่เห็นปัจเจกภาพเกินห้าคนรวมตัวกันทำอะไร ก็นั่นล่ะค่ะ เราจะไปคาดหวังความเข้าใจต่อความเป็นปัจเจก ความเป็นเสรีชน ความหลากหลายแตกต่าง จากคนที่ชอบออกมาโฆษณาความดีของตัวเองทางทีวีพร้อมกันทีเดียวหมดทุกช่อง แล้วบอกคนดูว่าถ้าไม่พอใจที่จะเห็นเขาในช่องนี้ก็ให้ไปดูช่องนั้นแทนก็แล้วกัน ได้อย่างไร
           
การกดกักความหลากหลายของปัจเจกภาพที่อาจสัมผัสถึงกันได้ผ่านถ้อยคำภาษา ไม่ว่าจะในรูปแบบรรณกรรมหรือในรูปแบบอื่นใด จึงกลายเป็นภารกิจที่เผด็จการทั้งหลายมุ่งมั่นกำราบให้ได้ ด้วยความมั่นใจในความสามารถในการวินิจฉัย ราวกับมีราชบัณฑิตด้านภาษาไทยอยู่เคียงข้างเสมอมา
           
ในการบรรยายครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1937 เวอร์จิเนีย วูลฟ์ นักเขียนชาวอังกฤษ เคยพูดถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะกดกักความหมายของถ้อยคำไว้ ตอนหนึ่งว่า

“ถ้อยคำทั้งหลายล้วนท้นไปด้วยเสียงก้องสะท้อน, ความทรงจำ, ความเกี่ยวพันเชื่อมโยง มันตะลอนมาทั่วตลอดแล้วตามริมฝีปากของผู้คน ไม่ว่าในบ้านเรือน บนท้องถนน ตามทุ่งทิว จนเนิ่นนานหลายศตวรรษ และนั่นคือความยากอย่างสำคัญประการหนึ่งสำหรับการเขียนในทุกวันนี้ นั่นคือ ถ้อยคำทั้งหลายล้วนบรรจุไว้ด้วยความหมายอื่นๆ ความทรงจำอื่นๆ”

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ตั้งคำถามว่าแล้วเราจะนำถ้อยคำอันเก่าแก่เหล่านั้นมาจัดแจงใหม่อย่างไรให้มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ให้มันสามารถสร้างสรรค์ความงามและบอกเล่าถึงสัจจะได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย วูล์ฟบอกว่า

“ก็ ณ ขณะนี้ที่เรามีครูบาอาจารย์อย่างน้อยนับร้อย ที่กำลังสอนบรรยายว่าด้วยวรรณกรรมของยุคอดีต มีอีกอย่างน้อยนับพันนักวิจารณ์ ที่กำลังวิจารณ์วรรณกรรมของยุคปัจจุบัน และมีคนหนุ่มคนสาวอีกนับเป็นร้อยๆที่กำลังสอบผ่านชั้นยอดในวิชาวรรณคดีอังกฤษ แต่ถึงอย่างนั้น เราเขียนได้ดีขึ้นแล้วหรือ เราอ่านได้ดีขึ้นกว่าในครั้งที่เราเขียนและอ่านกันเมื่อสี่ร้อยปีที่แล้วตอนที่เรายังไม่เคยฟังการบรรยาย ไม่เคยถูกวิจารณ์ ไม่เคยถูกสอน อย่างนั้นหรือ? แล้วเราจะโทษใครล่ะ? ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ของเรา นักวิจารณ์ของเรา นักเขียนของเราหรอก แต่คือคำนั่นแหละ ต้องโทษไปที่ถ้อยคำ มันเป็นสิ่งที่พยศที่สุด เสรีที่สุด ไร้ความรับผิดชอบที่สุด สั่งสอนไม่ได้ที่สุดแล้วในบรรดาสรรพสิ่ง แน่นอนว่าคุณสามารถจะจับมันมาแล้วจำแนกแยกแยะมัน และจัดเรียงมันตามลำดับตัวอักษรในพจนานุกรมได้ แต่ถ้อยคำมิใช่มีชีวิตอยู่ในพจนานุกรมทั้งหลาย มันมีชีวิตอยู่ในหัว ถ้าคุณต้องการข้อพิสูจน์ ก็ลองนึกดูเถิดว่า ในห้วงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆนั้น บ่อยครั้งเพียงใดที่เราต้องการถ้อยคำแค่ไหน ก็ไม่อาจสรรหามาได้ ทั้งที่ก็มีพจนานุกรมอยู่นั่นไง รอให้บริการถ้อยคำราวครึ่งล้านตามลำดับตัวอักษรไว้เสร็จสรรพ แต่เรานำมันมาใช้ได้หรือไม่? มิได้ เพราะถ้อยคำมิใช่มีชีวิตอยู่ในพจนานุกรมทั้งหลาย มันมีชีวิตอยู่ในหัว (No, because words do not live in dictionaries, they live in the mind.)”

ดิฉันเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาตอกย้ำให้ตัวเองสะทกสะท้อนใจเล่นๆ ในฐานะคนที่โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างจะหมกมุ่นกับเรื่องถ้อยคำ ว่าอะไรแบบนี้ที่เขาพูดกันตั้งแต่เมื่อเกือบแปดสิบปีที่แล้วตอนที่ประเทศไทยของเรานี้เพิ่งมีประชาธิปไตย ก็คงยังฟังเข้าใจยากอยู่ดีสำหรับสังคมคาบคัมภีร์วรรณศิลป์ฉันทลักษณ์ภาษาไทยมาตรฐานราชสำนักและราชบัณฑิตยสถาน ที่ราวกับมีนายทหารใหญ่แห่งกองทัพอยู่เคียงข้างตลอดมาเหมือนกัน กระบวนการจับให้มั่นคั้นให้ตายในทางความหมายจึงดำเนินไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจ การตีความมีไว้เพื่อให้ตีความไปในทางเดียวทางนั้นที่สอดคล้องกันกับเจตนาลงโทษทัณฑ์
           
เรียนเพื่อทราบ, ตอนนี้คำว่า “เทวดา” ถ้าใส่ในบทกวีอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า อย่าได้คิดว่าจะมีสิทธิใช้ในความหมายใดได้นอกจากความหมายที่จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ;  คำว่า “บอด” หรือ “บอดใบ้” ก็ทำให้ประชาชนคนทำมาหากินธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเขียนบทกวีคนหนึ่งถูกคุมขังไม่ให้ประกัน และต้องขึ้นมันทั้งศาลทหารศาลยุติธรรมอยู่ทุกวันนี้; ส่วนคำว่า “ฟ้า” ไม่ว่าจะในความหมายของพื้นที่ที่อยู่บนหัวเรา หรือหมายถึงสี ก็ขอให้ระมัดระวังให้จงดีในการใช้
           
มีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมายที่สะท้อนถึงปัญหาการกดกักความหมายของถ้อยคำ อันเนื่องมาจากฐานของความหวั่นหวาดและขลาดเขลาของผู้มีอำนาจ ที่ยิ่งยิ่งใหญ่ก็ยิ่งหวั่นไหว และไม่ต้องพูดถึงการปล่อยเสรีให้แก่การตีความที่หลากหลาย อันเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของการอ่านวรรณกรรมหรือการเสพศิลปะที่สากลทั่วไปเขาทำกัน ถ้าไม่เชื่อดิฉัน ลองไปถามคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข, คุณสิรภพ, คุณกอล์ฟ, คุณแบงก์ และใครๆทั้งหลายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตอนนี้, ถ้าคุณโชคดีได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมนะคะ
           
อำนาจที่กดกักกระทั่งถ้อยคำ และกักขังผู้คนอันเนื่องมาจากถ้อยคำ สำมะหาอะไรที่เราจะคาดหวังให้เขาเข้าใจความหมายของปัจเจกภาพอันหลากหลายในความเป็นมวลชน และในที่นี้ดิฉันหมายถึงทุกฝักฝ่าย ประชาชนผู้ถือตนว่ามีการศึกษาสูงจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเป่านกหวีดและสนับสนุนรัฐประหาร ก็ใช่จะฟังแต่เพลง “ความฝันอันสูงสุด” หรือ “เราสู้” เท่านั้นก็หาไม่ พวกเขาก็ร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”, บรรเลงเพลง “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” ได้ พอๆกับที่เขาก็อ่านงานของศรีบูรพา, จิตร ภูมิศักดิ์, นายผี พร้อมๆกับซาบซึ้งใน สี่แผ่นดิน กันต่อไป และดังที่อาจารย์ชูศักดิ์ได้เคยเขียนถึงไว้ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น มาแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งรอบด้วยซ้ำไป นี่เป็นปัญหาอีกขั้นของความยอกย้อนในการ “อ่าน” ที่ควรต้องมีการสังคายนาถกเถียงกันต่อไป ซึ่งดิฉันจะไม่พูดถึงในที่นี้และขอแนะนำให้ไปอ่านได้ในหนังสือของอาจารย์ชูศักดิ์ ที่ชื่อ อ่านใหม่
               
แต่ที่แน่ๆ ไม่เคยมีใครถูกจับติดคุกเพราะอ่าน ฟ้าบ่กั้น แล้วไปตีความในทางที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามและอาฆาตมาดร้ายสถาบันราษฎร และดิฉันก็ไม่ได้อยากให้เราต้องไปกดกักประชาชนด้วยกันอย่างนั้น แต่ให้เราถกเถียงกันอย่างศิวิไลซ์ อย่างปัจเจกภาพที่เคารพต่อปัจเจกภาพที่มีทั้งความเป็นหนึ่งเดียวและหลากหลายอยู่ในตัว หรือจะแค่ในสองขั้วสามขั้วอุดมการณ์ก็ไม่เห็นจะเป็นไร สังคมอื่นๆเขาก็ทำกันได้ เดโมแครตกับรีพับบลิกันก็ฟาดฟันกันไป อังกฤษก็มีทั้งฝ่ายนิยมเจ้าไม่นิยมเจ้า ต่างฝ่ายต่างรณรงค์ไป ไม่ต้องล่าแม่มด ไม่ต้องไล่ใครออกจากบ้าน ไม่ต้องไล่คนสอนหนังสือออกจากมหาวิทยาลัย เห็นต่างกันแทบเป็นแทบตายก็ถกเถียงอภิปราย รณรงค์โฆษณา เขียนนิยาย เขียนบทความอะไรก็ว่ากันไป ถึงเวลาก็ชี้ขาดความต่างของแต่ละฝ่ายหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้ง ถ้ายังยืนยันว่าจะเรียกการปกครองของประเทศว่าประชาธิปไตย
           
ดิฉันจะขอปิดท้ายการพูดนี้ด้วยการยกบทสนทนาจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน ชายคาเรื่องสั้นลำดับที่ 5 สุสานของความสุข มาอ่านให้ฟัง ดิฉันเลือกท่อนนี้มาเพราะดิฉันคิดว่า โดยไม่ได้เกี่ยวอะไรโดยตรงกับสิ่งที่ดิฉันพูด และโดยไม่ได้ตั้งใจ ดิฉันรู้สึกว่าบทสนทนานี้ให้ภาพและสีสันรสชาติแทนสิ่งที่ดิฉันอยากพูดถึงได้น่าสนใจ ชื่อเรื่องสั้นว่า “กลาย” ของคุณเตชภณ แสงวงศ์ ฉากที่ยกมานี้เป็นบทสนทนาในระหว่างการก๊งเหล้าของหนุ่มชาวเหนือกับหนุ่มชาวอีสาน ดิฉันขออนุญาตอ่านแบบตัดตอนสักหน่อย และขออภัยล่วงหน้าสำหรับสำเนียงเหน่อกรุงเทพฯของดิฉันด้วย

ชายคนแรก    “อ้ายๆ คำว่าขาว บ้านอ้ายมีแอ็ดเวิ๊บมาขยายอยู่บ้อ”

ชายคนที่สอง  “อีหยังคือแอ็ดเวิ๊บ”

ชายคนแรก   “อั่น...มันกะคือคำมาขยายคำว่า ‘ขาว’ ให้เฮาเห็นภาพชัดขึ้น ให้มันมีสีมีสันขึ้น คือจั่งภาษาไทยมีคำว่า จั๊วะมาขยายคำว่า ขาว ขาวจั๊วะ ส่วนภาษาอีสานมีคำว่า ‘จู๊นพู๊น’ ขาวจู๊นพู๊น อีนางอะนั่นขาขาวจู๊นพู๊น ส่วนสีอื่นกะมีคือกัน คือสีดำกะว่า ดำคึกมึก ดำขื่อหลื่อ แดงกะ แดงจื่งคื่ง แดงจ่ายหว่าย เหลืองกะเหลืองเอ้อเฮ่อ เหลืองอุ๊ยฮุย”

ชายคนที่สอง   “มีๆ บ้านอ้ายฮ้อง ‘ขาวโจ๊ะโพะ’ ส่วนสีดำกะฮ้องดำคึหลึ แดงกะแดงเจิ่งเคิ่ง เหลืองกะเหลืองอิ่งสิ่ง”

ชายคนแรก     “อือ แอ๊ดเวิ๊บขยายสีมันกะคือๆกันตั๊วนิ

                          [....]

ชายคนที่สอง   “แล้วคำขยายคำว่ายานละมีไหม”

ชายคนแรก     “มีตั่วนอ บ้านผมเอิ้นยานโต่งเหล่ง ยานเต๊ะเซ๊ะกะเอิ้น ... ผมเคยเถียงกันกับอีนางอั่นหนึ่ง เรื่องคำว่ายานนี่หละ เพิ่นบอกว่ายานเป็นเวิ๊บ หำยานโต่งเหล่ง แต่ผมว่าบ่แม่น เพิ่นบอกว่า เป็นหยังสิบ่แม่น หำเป็นนาว ยานเป็นเวิ๊บ โต่งเหล่งเป็นแอ๊ดเวิ๊บ ผมกะเลยเถียงเพิ่นว่า บ่แหม่นจั่งส้าน หำเป็นนาวอยู่ แต่ยานเป็นแอ๊ดเจ๊กที๊บ หละกะโต่งเหล่งเป็นแอ๊ดเวิ๊บ เพิ่นว่าสิเป็นได้จั๋งได๋ ยานมันเป็นเวิ๊บ หละโต่งเหล่งเป็นแอ๊ดเวิ๊บมาขยายยาน หำมันแสดงอาการยาน มีแอ๊ดเวิ๊บโต่งเหล่งมาขยาย ผมกะว่าบ่แหม๊นบ่แหม่น โต่งเหล่งเป็นแอ๊ดเวิ๊บมาขยายแอ๊ดเจ๊กที๊บยาน หละแอ๊ดเจ๊กที๊บเฟรสหนิไปขยายนาวหำอีกเทื่อนึ่ง เว้าง่ายๆว่าเพิ่นเอานาวขึ้นหน้าเอาแอ๊ดเวิ๊บไปไว้ทางหลัง แต่ผมว่านาวมันต้องอยู่ทางหลัง แอ๊ดเวิ๊บอยู่ทางหน้า เพิ่นกะเถียงผมว่าบ่แหม๊นบ่แหม่น กะเลยผิดกันจ้อย แต่ว่ายามเว้าบัดนิ เขาคือว่าหำยาน นมยาน เหนียงยาน ส้านนะ ขั่นว่าแบบอีนางอะนั่น ยานกะเป็นเวิ๊บ ขั่นแบบผมว่ามันกะเป็นแอ๊ดเจ๊กที๊บ ลึมันสิเป็นได้เทิงสอง? ขั่นว่าขาขาวจู๋นพู๋น ขากะเป็นนาว หละคำว่าขาวมันสิแสดงอาการได้จั๋งได๋ จู๋นพู๋นมันต้องเป็นแอ๊ดเวิ๊บขยายแอ๊ดเจ๊กที๊บขาวก่อน จั่งไปขยายนาวขา เพราะว่าคำว่าขาว มันเป็นได้เทิงนาวเทิงแฮ๊ดเจ๊กที๊บได๋ ขั่นแบบอีนางนั่นว่าขาวมันกะเป็นเวิ๊บติสัน ขาขาวจู๊นพู๊น ขามันสิไปแสดงอาการขาวได่จั่งด้าย แดงคือกัน เลือดแดงจื่งคื่ง เลือดมันสิไปแสดงอาการแดงได้จั๋งได๋ เหลืองอีก ขี่เหลืองเอ้อเฮ่อ ขี่มันสิไปแสดงอาการเหลืองได่จั๋งได๋ ลึจั่งได๋วะ?”

ชายคนที่สอง   “จั๊ก บ่ฮู้นำเจ้า จั๊กอีหยัง แอ๊ดเวิ๊บแอ็ดเจ๊กที๊บ พวกเฮียนหลายกะจั่งสิหละ เฮียนหลายคึดหลาย อ้ายย่านอีหลี”

ชายคนแรก     “ย่านหยัง?”

ชายคนที่สอง   “ย่านแม่เจ้าจับล่ามโซ่ไว่ในห้อง บ่ได้ไปไสมาไสเด้”
 

อะไรที่ซับซ้อนหลากหลายของการไม่ยอมถูกแช่แข็ง  ไม่ยอมถูกกดกัก ที่เราอาจเรียกอย่างอุปมาว่าเป็นภาษาหรือเฉดสีที่หลากหลาย ซึ่งดิฉันขอยืมฉากสนทนานี้มาใช้เป็นบทสรุปแทนเช่นนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในวรรณกรรม หรืออยู่ในสเตตัสสามบรรทัดในเฟซบุ๊กอะไรที่ไหน บอกตามตรงว่า ดิฉันไม่แน่ใจ ว่าไอ้พวกหัวเขียวๆตอมขี้เหลืองๆที่อยู่ในเรื่องสั้นชื่อ “สวรรยา” ของลาว คำหอม จะมีวันเข้าใจได้ไหม

และขั่นว่ามันย่านเฮาขึ้นมา พ่อมันก็จับเฮาล่ามโซ่ไว้ในห้อง บ่ได้ไปไสมาไสเด้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท