'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'คนขี่เสือ2558

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“ถ้าแก้ไม่ได้ ไม่มีความสงบ ก็ไม่ต้องมีเลือกตั้ง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ข่าวสด,10 มีนาคม 2558

 

สิ้นเสียงคำรามลั่นของผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินไทยในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมชิ้นเอกของอินเดียเรื่องหนึ่งที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า 60 ปี มาแล้ว (2497) แต่ก็ยังโด่งดังไปทั่วโลก จวบจนปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วหลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคภาษาไทยก็มีผู้แปลถึงสองสำนวนคือ ทวีป วรดิลก และ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งก็อ่านได้อรรถรสไปคนละแบบ

วรรณกรรมเรื่องที่ว่านี้ก็คือ "He Who Rides a Tiger" หรือ "คนขี่เสือ" ของ Bhabani Bhattacharya นั่นเอง โดยวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ 2 พ่อลูก คือ กาโลผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก และจันทรเลขาลูกสาวซึ่งอยู่ในชนชั้น "กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทร สองพ่อลูกได้ต่อสู้กับปัญหาของความอดอยาก และการกดขี่ทางวรรณะ โดยปลอมแปลงวรรณะของตนเองจากวรรณะศูทรเป็นวรรณะพราหมณ์

เขาทั้งสองได้สร้างปาฏิหาริย์โดยการเอาหินมาแกะสลักเป็นพระศิวะ โดยทำให้กลวงแล้วเอาไปเผาไฟเพื่อให้ดูเก่า จากนั้นก็เอากระป๋องเปล่าที่มีขนาดและรูปร่างพอดีกันฝังลงไปในหลุมแล้วเท "ถั่วจนา" ซึ่งเป็นถั่วชนิดหนึ่งที่งอกเร็วเป็นพิเศษ ใส่ลงไปข้างใน แล้วเอาหินรูปพระศิวะวางลงบนกองถั่ว เว้นช่องระหว่างหินไว้เพื่อให้ถั่วงอกขึ้นมาโดยเอาดินร่วนใส่ข้างบน เมื่อรดน้ำลงไปถั่วก็งอกพร้อม ๆ กัน ถั่วที่งอกก็จะดันดินให้หินรูปจำลองพระศิวะโผล่ขึ้นมาทีละเล็กละน้อย ๆ ผู้คนพากันหลงเชื่อว่าเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสู่สองพ่อลูก

แต่สองพ่อลูกก็ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ระทมเพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดความจริงที่ปกปิดเอาไว้จะถูกเปิดเผยออกมา จึงเสมือนหนึ่งการขึ้นหลังเสือ จะลงก็ลงไม่ได้ เพราะจะถูกเสือกัด แต่ในที่สุดเขาก็ "ฆ่าเสือ" เสียให้ตายก่อนที่ตนเองจะถูกเสือกัด โดยการประกาศว่าแท้จริงแล้วตนเองไม่ใช่"พราหมณ์" พร้อมทั้งประกาศเยาะเย้ยต่อพวกที่หลงบูชาหรือเลื่อมใสพิธีกรรมจอมปลอมที่ตนเองได้สร้างขึ้นมา

จากวรรณกรรมชิ้นนี้เอง “คนขี่เสือ”ก็เลยเป็นที่มาของสำนวนที่หมายถึงคนที่อยู่กับอำนาจแล้วลงจากหลังเสือไม่ได้ ลงมาก็จะถูกเสือกัด ขี่ต่อไปก็ทุกข์ทรมาน นอกเสียจากว่าจะฆ่าเสือให้ตายเสียก่อนนอกจากนั้น"คนขี่เสือ" ยังให้ข้อคิดที่ว่า สองพ่อลูกนี้แต่เดิมเคยอยู่ใต้อำนาจผู้อื่น แต่เมื่อปลอมตัวขึ้นมาหรือว่ามีอำนาจขึ้นมาก็มีแต่คนมาสยบยอม

จากเรื่องราวของ "คนขี่เสือ" นี้ เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้านเมืองของไทยเราในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวผู้นำหรือพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ผมเข้าใจว่าขณะนี้คงเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความทุกข์ที่สุดในโลก เพราะเปรียบเสมือนหนึ่งสองพ่อลูก "กาโล" และ "จันทรเลขา" ที่ขี่หลังเสืออยู่ จะลงก็ลงไม่ได้เพราะจะถูกเสือขบกัดเอา ไม่ว่าจะเป็นการตาม "เช็คบิล" ของฝ่ายที่สูญเสียอำนาจหรือจากประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน ดังเช่นการที่ รสช.พยายามสืบทอดอำนาจจนเกิดกรณีพฤษภา 35 หรือการถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในทั้งในศาลไทยที่หากจะมีในอนาคต เช่น ในตุรกีหรือในเกาหลีใต้ที่ปฏิเสธการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารหรือในศาลอาญาระหว่างประเทศที่ถึงแม้ว่าจะมีการนิรโทษกรรมจากกฎหมายภายในประเทศก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากความรับผิดไปได้

แต่ครั้นจะฝืนอยู่ต่อก็ลำบาก เพราะไหนจะต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน ศึกนอกก็คือแรงบีบจากต่างประเทศทั้งจากรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศ ส่วนศึกในก็คือฝ่ายต่อต้านทั้งใต้ดินบนดินที่มีออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนล้อเลียนของนักศึกษาหรือประชาชน หรือการวางระเบิดทั้งที่สยามพารากอนและศาลอาญา ซึ่งก็มีทั้งที่จับได้และจับไม่ได้

จริงอยู่ฐานอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าฝ่ายต่อต้านทุกด้าน แต่เสียงคัดค้านทั้งในที่ลับและที่แจ้งก็มีจำนวนมากเช่นกัน  ถึงแม้ว่าเสียงคัดค้านจะดูเงียบเสียงด้วยเหตุแห่งการประกาศใช้กฎอัยการศึกและถูกจับไปปรับทัศนคติกันเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่การที่ผู้นำประเทศมีคนคัดค้านเป็นจำนวนมากเช่นนี้ก็มิใช่เป็นประเด็นเล็กน้อยที่จะถูกมองข้ามไปได้

เสียงคัดค้านที่ว่านี้นับวันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายพลังงาน ไม่ว่านโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการไล่รื้อถอนทำลายทรัพย์สินคนจนตามคำสั่ง คสช. ไม่ว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับที่พิลึกพิลั่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีธรรมกาย ฯลฯ และที่น่ากลัวที่สุดก็คือฟางเส้นสุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขให้ดี ซึ่งก็คือ “ปัญหาเศรษฐกิจ” นั่นเอง

อย่างไรก็ตามการขี่เสือของพล.อ.ประยุทธ์และคณะก็มิใช่ว่าจะไม่มีทางลงเสียเลยทีเดียว เพราะทางลงที่ดีที่สุดของพล.อ.ประยุทธ์และคณะก็คือ “การเลือกตั้ง” นั่นเอง แต่น่าเสียดายที่พล.อ.ประยุทธ์ได้โยนโอกาสนั้นทิ้งไปเสียแล้วด้วยคำพูดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งแม้ว่าจะมีการออกมาแก้ตัวโดยทีมงานในโอกาสต่อมาก็ตาม แต่ความน่าเชื่อถือนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว

คิดแล้วก็น่าเห็นใจพล.อ.ประยุทธ์ที่หลงเข้าใจไปว่า “การบริหารบ้านเมืองนั้นไม่ยาก”จนต้องประสบกับภาวะที่ทุกข์หนักอยู่ในขณะนี้ แต่ที่น่าเห็นใจและน่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือสยามประเทศของเรานั่นเองที่ต้องอยู่ภายใต้การนำของผู้ที่ได้โยนโอกาสในการลงจากหลังเสือทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

 

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท