‘กฎหมายชารีอะห์’ จากระบบคุณค่าของชุมชนสู่รากฐานสันติภาพในอาเจะห์

ถอดคำบรรยาย Prof.Dr.Yusny Saby จากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอาเจะห์ อินโดนีเซีย เรื่องอิสลามกับการสร้างสันติภาพและกฎหมายชารีอะห์ ยกตัวอย่างการทำงานสันติภาพในอาเจะห์โดยใช้หลักคิดอิสลาม เผยความพยายามสร้างสันติภาพในอาเจะห์ และการนำชารีอะห์มาประยุกต์ใช้ของท้องถิ่นเอง ชี้ชารีอะห์จะสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้นได้

Professor Dr.Yusny Saby จาก Universitas Islam Negeri (UIN) อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นวิทยากรบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหัวข้อ Islam and Peace Building และ Islamic Syari‘ah in Aceh จัดโดยวิทยาลัยประชาชน (People's College) ในการอบรมหลักสูตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน ครั้งที่ 7 เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 ที่ห้องประชุมศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การบรรยายครั้งนี้ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู ในส่วนภาคภาษาอังกฤษมีการแปลเป็นไทยโดย ฟารีดา ปันจอร์ นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

หากต้องการสันติภาพก็จงสร้างสันติภาพ

Prof Dr.Yusny กล่าวว่า การทำให้เกิดความเสียหายใดๆ ไม่ว่าจะบนพื้นดิน ในทะเล หรือที่ใดก็ตาม ล้วนเกิดจากตัวมนุษย์เองที่อาจไม่รู้ หรือจากความโง่เขลาของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรที่จะโทษใคร ต้องโทษที่ตัวของเราเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังในสิ่งที่เราจะกระทำการใดก็ตามแต่ และมนุษย์ควรเปลี่ยนในทันทีเมื่อรู้แล้วว่าสิ่งไหนไม่ดี

Prof Dr.Yusny ยกตัวอย่างการทำงานสันติภาพในอาเจะห์โดยใช้หลักคิดอิสลามว่า หากเราต้องการสันติภาพเราก็จงสร้างสันติภาพ และหากไม่ต้องการสันติภาพก็จงทำสงครามกันต่อไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสันติภาพหรือสงครามล้วนเกิดขึ้นจากน้ำมือของเราเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังในสิ่งที่เรากำลังจะกระทำ

“พระผู้เป็นเจ้าส่งอิสลามลงมาเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ผู้นำของพวกเขาจะกระทำในสิ่งที่ผิดก็ตาม ซึ่งผู้นำจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจและคำสั่งต่างๆ และการทำญิฮาดที่ถูกต้องจะต้องมีการเตือนผู้นำด้วย ไม่ว่าผู้นำคนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งสูงส่งเพียงใดก็ตาม เพราะผู้นำก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อาจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ในฐานะมุสลิมจะต้องทำหน้าที่ตักเตือนผู้นำเหล่านั้นโดยใช้แนวทางหรือวิธีการที่สันติ ไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยอาวุธใดๆ ก็ตาม”

 

ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพในอาเจะห์

ในการบรรยายครั้งนี้ Prof Dr.Yusny ได้อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของอาเจะห์กับการเข้ามาของอิสลาม ไปจนกระทั่งถึงความสัมพันธ์กับพื้นที่ต่างๆ ในโลก เป็นการเกริ่นนำก่อนจะอธิบายเรื่องความขัดแย้งที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่

“อาเจะห์ได้เผชิญกับความขัดแย้งมาในหลายยุคสมัยกับหลากหลายตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองท้องถิ่นในอดีต ความขัดแย้งกับโปรตุเกสในช่วงที่เริ่มล่าอาณานิคม ต่อมาเมื่ออาเจะห์ถูกยึดครองโดยชาวดัตช์ก็มีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ด้วย

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีความขัดแย้งต่อการยึดครองของญี่ปุ่น เมื่ออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในพื้นที่ก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคมภายใน นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งในปี 1953 ที่นำโดยอุลามาอฺ(นักปราชญทางศาสนาอิสลาม) และในปี 1976 เริ่มเป็นความขัดแย้งทางการเมือง”

Prof Dr.Yusny กล่าวต่อไปว่า ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพในอาเจะห์นั้น มีเหตุมาจากการที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และโอกาส อีกทั้งอาจจะสูญเสียแม้กระทั่งความหวัง อีกปัจจัยเสริมก็อาจเป็นผลกระทบจากสึนามิที่ส่งผลกระทบมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้จากที่เป็นพื้นที่ปิดต้องก้าวสู่การเป็นพื้นที่เปิด

“สังคมต้องการสันติภาพ เพราะเมื่อไปถามชาวบ้านว่าต้องการเอกราชหรือไม่? ชาวบ้านจะตอบว่าไม่รู้ แต่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และคิดเพียงแค่ว่าลูกๆ จะกินอะไร จะเรียนที่ไหนมากกว่า”

Prof Dr.Yusny กล่าวอีกว่า การใช้อาวุธหรือความรุนแรงไม่เคยแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่ปัญหาจะแก้ไขได้ก็ด้วยการประชุม การพูดคุย และการปรึกษาหารือ

 

ชารีอะห์ในอาเจะห์มาจากการประยุกต์ของท้องถิ่นเอง

Prof Dr.Yusny กล่าวถึงกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ว่า ก่อนหน้ามีความพยายามจำนวนมากที่จะนำไปสู่สันติภาพ มีการเข้ามาช่วยเหลือจากต่างชาติและตัวกลางภายในเอง ซึ่งข้อดีของกระบวนการเหล่านี้คือ อย่างน้อยก็ได้มีการสื่อสารกับรัฐบาลกลาง

“หลังจากมีข้อตกลงแล้ว เนื่องจากประวัติศาสตร์ของอาเจะห์ได้ถูกก่อร่างด้วยอิสลาม ฉะนั้นคุณค่าในแบบอิสลามจึงได้ใช้ในประเพณีท้องถิ่นเอง การแปรเปลี่ยนไปสู่การประยุกต์ใช้ชารีอะห์จึงเกิดขึ้นโดยปราศจากความตึงเครียด”

“ชารีอะห์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์นี้ไม่ได้มาจากระดับบนเช่น กษัตริย์ หรืออำนาจทหารที่เข้ามาเพื่อนำเสนออิสลาม หากแต่มาจากการประยุกต์ใช้ของท้องถิ่นเอง”

Prof Dr.Yusny ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับชารีอะห์ว่า การใช้ชารีอะห์นั้นมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งแน่นอนว่าหากใช้ชารีอะห์เพื่อเป็นแนวทางสู่สันติภาพและเป็นคุณค่าทางจริยธรรม ย่อมเป็นเรื่องที่ดีที่เห็นได้ค่อนข้างชัด แต่หากใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผสมทางการเมือง เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของพรรคการเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอิทธิพล ความเป็นที่นิยม หรือใช้บนฐานของการตีความที่แคบ ก็เป็นเรื่องที่ยังคงต้องตั้งคำถาม

 

ด้วยชารีอะห์จะสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้น

Prof Dr.Yusny ย้ำว่า การใช้ชารีอะห์ที่ถูกต้องจะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยชารีอะห์จะสามารถสร้างโลกที่ดีขึ้น และที่สำคัญ ด้วยชารีอะห์จะสามารถเติมเต็มภารกิจของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด(การสรรเสริญจงมีแด่ท่าน)ได้

การที่ชารีอะห์จะสามารถทำงานให้เกิดผลได้นั้นจะต้องมีการสอนศาสนาที่ถูกต้องในประเด็นนี้ คุณค่าหลักของอิสลามจะต้องเป็นแก่นหลักของหลักสูตรการเรียนการสอนศาสนา ตลอดจนหลักสูตรการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมิติของชีวิตที่มีความสันติ การทำงานหนัก ความซื่อสัตย์ การเคารพตัวเองและผู้อื่น การปกครองที่ดี การตามระบบ ความเอาใจใส่ มิตรภาพและความเป็นพี่น้อง ความสะอาด การตรงต่อเวลา การให้ครอบครัวเป็นฐานสำคัญของชุมชนที่ดีขึ้น เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้วยังจำเป็นต้องมีผู้สอนที่ดี ร่วมกับการจัดการสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดี และให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม “...แล้วคุณถึงจะได้ชารีอะห์”

Prof Dr.Yusny ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า เราจะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จัดการให้เหมาะสม และจะต้องเริ่มประยุกต์ใช้ “หากไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะเมื่อไหร่ หากไม่ใช่พวกเรา แล้วจะเป็นใคร...ฉะนั้น เริ่มด้วย บิสมิลลาฮิรเราะหฺมานนิรรอฮีม (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา) และหากคุณเริ่มแล้วก็ไปต่อเรื่อยๆ อย่าได้ถอยกลับ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท