Skip to main content
sharethis

บิตคอยน์ คือค่าเงินแบบดิจิตอลที่เป็นข้อถกเถียงในหลายประเทศถึงเรื่องความชอบธรรมในการใช้แลกเปลี่ยนผ่านอินเทอร์เน็ตและหลายประเทศรวมถึงไทยยังสั่งห้ามใช้ ขณะที่อังกฤษเริ่มวางแผนออกกฎควบคุมซึ่งสำหรับผู้สนับสนุนเงินตราดิจิตอลหมายความว่า 'บิตคอยน์' กำลังได้รับการยอมรับมากชึ้น


21 มี.ค. 2558 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่าทางการอังกฤษประกาศจะมีการวางกฎควบคุมการเงินแบบดิจิตอลเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินดิจิตอลที่ชื่อ 'บิตคอยน์' (Bitcoin)

อังกฤษเป็นประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในการเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินแบบดิจิตอล และจัดเป็นแหล่งเทคโนโลยีทางการเงินที่สำคัญของยุโรป

ทางการอังกฤษได้เผยแพร่รายงานระบุว่าการวางกฎใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและป้องกันไม่ให้มีการใช้สกุลเงินดิจิตอลในทางอาชญากรรม โดยพวกเขาเสนอกฎเพื่อป้องกันการฟอกเงินโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนในระบบดิจิตอล

ถึงแม้ว่ากฎควบคุมการเงินดิจิตอลนี้ยังต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาอังกฤษ แต่ผู้สนับสนุนการเงินแบบดิจิตอลก็มองว่าการวางกฎนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณเห็นชอบต่อการแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินดิจิตอลจากรัฐบาลอังกฤษ

ทอม โรบินสัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 'เอลลิปติก' ซึ่งเป็นบริษัทคุ้มครองความปลอดภัยบิตคอยน์แห่งแรกของโลกและสมาชิกคณะกรรมการบอร์ดสมาคมการเงินดิจิตอลอังกฤษกล่าวว่า การวางกฎควบคุมโดยรัฐบาลอังกฤษถือเป็นการตรวจสอบที่ทำให้การแลกเปลี่ยนแบบดิจิตอลมีความชอบธรรม โรบินสันกล่าวอีกว่าสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษเสนอจะมีความสมดุลกว่าระบบในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐนิวยอร์ก

บิตคอยน์เป็นค่าเงินดิจิตอลสกุลใหม่ที่มีเป้าหมายนำมาใช้จ่ายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสามารถกระทำการแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องมีคนกลาง มีหลายประเทศอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ประเทศว่าการใช้บิตคอยน์ผิดกฎหมาย ขณะที่อีกหลายประเทศเช่น บราซิล สิงคโปร์ และฮ่องกง ยอมรับการใช้ค่าเงินนี้

ทางด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เคยระบุว่า บิตคอยน์เป็น "หน่วยเงินเสมือนจริง" (virtual currency) ที่แยกส่วนจากศูนย์กลางและไม่ได้รับการรับรองจากธนาคารกลางหรือรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าของแฮกเกอร์ และเป็นการเปิดโอกาสให้กับอาชญากรในการใช้ฉ้อโกง จารกรรม เปิดตลาดมืดหรือฟอกเงินได้ เช่นที่เคยมีกรณีแฮกเกอร์ขโมยเงินบิตคอยน์ของลูกค้าบริษัท เอ็มทีก็อก ราว 650 ล้านดอลลาร์ จนทำให้บริษัทต้องปิดกิจการ

นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ ยังมีความพยายามทั้งในการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมการใช้บิตคอยน์ เช่นในรัฐนิวยอร์กมีการพยายามเสนอการลงทะเบียนอนุญาตใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า 'บิตไลเซนส์' (BitLicense)

อย่างไรก็ตามผู้สนับสนุนบิตคอยน์มองว่าเทคโนโลยีนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง มีบรรษัทบางแห่งพิจารณาในเรื่องการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ธนาคารกลางของอังกฤษยังเริ่มตั้งคำถามว่าทางธนาคารกลางควรเป็นผู้ออกเงินตราแบบดิจิตอลเองหรือไม่

รัฐบาลอังกฤษยังเผยแพร่รายงานจากสำนักงานวิทยาศาสตร์ในเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า "ระบบการเงินดิจิตอลอย่างบิตคอยน์มีศักยภาพในการมาแทนเงินตราแบบเดิม และยิ่งไปกว่านั้นควรจะมีการระบบจากธนาคารกลางและระบบควบคุมจัดการ"

นอกจากนี้กระทรวงการคลังของอังกฤษยังประกาศว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีการเงินดิจิตอล และใช้งบประมาณเพิ่มเติม 10 ล้านปอนด์ (ราว 480 ล้านบาท) ลงไปตรงจุดนี้ รวมถึงจะทำงานร่วมกับสถาบันมาตรฐานอังกฤษเพื่อพัฒนามาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการใช้บิตคอยน์

 

เรียบเรียงจาก

Britain's going to start regulating digital currencies. Here's why that's great news for bitcoin, Globalpost, 18-03-2015

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Bitcoin
http://en.wikipedia.org/wiki/Legality_of_bitcoin_by_country

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net