Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประเด็นเรื่องพืชผักผลไม้อินทรีย์ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสินค้าอินทรีย์เป็นสินค้าที่ถือว่ากำลังมาแรง (Intrend) สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ อาจจะด้วยความที่ผู้บริโภคหันมาเห็นความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น หรือผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น หรือการตลาดของสินค้าอินทรีย์ขยายมากขึ้น หรือจะด้วยเหตุผลเท็จจริงอะไรก็ตาม  แต่ ณ วันนี้คงปฏิเสธได้ยากว่าสินค้าอินทรีย์ได้เข้ามามีบทบาทกับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ มากขึ้นเรื่อยๆจริงๆ

แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอาจไม่เคยรู้เลยก็คือว่า กว่าอาหารเหล่านี้จะเดินทางจากมือผู้ผลิตมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นั้น มีรายละเอียดและความซับซ้อนอย่างไร เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การบรรจุหีบห่อ เป็นต้น ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนต้องการรายละเอียดในการจัดการ และแต่ละขั้นตอนที่กล่าวมาก็มีรายละเอียดแยกย่อยไปอีก สำหรับผู้บริโภคที่เคยมีข้อมูลมาบ้างแล้วอาจไม่มีคำถามในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ด้วยถือว่าเป็นที่เข้าใจกันดี แต่เชื่อว่าสำหรับผู้บริโภคอีกจำนวนมากอาจมีคำถามในใจ หรืออดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าทำไมสินค้าแบบอินทรีย์ต้องใส่ใจในรายละเอียดมากมายขนาดนั้น แถมราคายังแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันแต่ไม่ใช่อินทรีย์ ที่เห็นได้ตามท้องตลาดทั่วไป 

สิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เสมอก็คือ ผู้ผลิตจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้สินค้าอินทรีย์ขายได้ในราคาไม่สูงมาก ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่จนแล้วจนรอดเนื่องจากสินค้าอินทรีย์มีขั้นตอน รายละเอียดของการบริหารจัดการที่ค่อนข้างมากตามที่ได้พูดไป การตั้งราคาของสินค้าแต่ละชนิดจึงต้องมีการบวกเพิ่มค่าบริหารจัดการเข้าไปเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนแบบไม่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อต้องการให้เกิดความคุ้มทุนราคาสินค้าก็มักจะสูงขึ้นไปด้วย เมื่อราคาสินค้าสูงผู้บริโภคที่มีความสามารถในการเข้าถึงจึงมีไม่มาก เมื่อผู้บริโภคมีไม่มากตลาดสินค้าอินทรีย์ย่อมไม่เติบโต เมื่อตลาดไม่เติบโตสินค้าอินทรีย์ก็ขายได้ยากขึ้น เมื่อตลาดอินทรีย์ถึงทางตัน ผู้ผลิตแบบอินทรีย์ก็จะลดลงเพราะขยายตลาดไม่ได้ เมื่อตลาดอินทรีย์ไม่ขยาย ผู้บริโภคก็เข้าถึงสินค้าอินทรีย์ได้ยากขึ้น คิดไปคิดมากลายเป็นปัญหางูกินหาง แต่โดยสรุปก็คือ ประเด็นเรื่องความคุ้มทุนนั้น เป็นประเด็นปัญหาที่แก้ไขได้ค่อนข้างยากมากจนถึงทุกวันนี้

ณ วันนี้ปัญหาหลักๆ ที่ผู้ผลิตรายย่อยประสบอยู่อย่างหนักหน่วงก็คือ

1.ปัญหาด้านการขนส่ง  หรือการส่งสินค้าอินทรีย์ตรงถึงมือผู้บริโภคนั้น ค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากต้นทุนสูง

2.ปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกกลุ่ม มีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตที่ต้องการ ทำให้กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มต้องขอกู้เงินจากสถาบันเงินกู้หลายแหล่ง และต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างสูง

3.การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของภาครัฐยังไม่ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

3 ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นตั้งต้นของงานประชุมสัมมนาเรื่อง “เกษตรกรไทย: นโยบายความร่วมมือสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ห้องประชุม 30410 กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา จัดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย) กับกระทรวงพาณิชย์ เป้าหมายหลักของงาน คือการสร้างความร่วมมือเพื่อหาช่องทางให้กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายหรือมาตรการในการหนุนเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต 9 พื้นที่นำร่อง คือ 1.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดยโสธร 2.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดสุรินทร์ 3.สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ 4.เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ 5.วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม 6.วิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน จังหวัดสุพรรณบุรี 7.กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 8.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดสงขลา และ 9.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดพัทลุง

หลังจากใช้เวลา 1 วันเต็มๆ ในการประชุมหารือ เวทีประชุมจบลงด้วยการยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์รายย่อยโดยมีตัวแทนคือ นายอุบล อยู่หว้า เป็นผู้ยื่นหนังสือให้กับ นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

โดยสรุปก็คือฝ่ายกระทรวงพาณิชย์รับหลักการและข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกร และพร้อมที่จะดำเนินงานสนับสนุนเรื่องการตลาด การขนส่ง ตลอดจนเรื่องอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตามข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกร 7 ประเด็นหลักคือ 1.สนับสนุนเงินกองทุนสำหรับเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกกลุ่ม รวมถึงกองทุนในการพัฒนาศักยภาพการการผลิตของสมาชิกกลุ่ม 2.ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างมีส่วนร่วม 3.สนับสนุนระบบการตลาดที่สร้างความเข้าใจ ความเป็นธรรม ทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร และตลาดส่งออก 4.ให้กระทรวงพาณิชย์หาแนวทางในการสนับสนุนค่าขนส่งของภาคเกษตรกรรายย่อย 5.สนับสนุนการสื่อสาร รณรงค์โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และเห็นคุณค่าของการผลิตระบบอินทรีย์ทั้งในระดับพื้นที่และสาธารณะเพื่อสร้างสำนึกการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรม 6.ส่งเสริม สนับสนุนการแปรรูปและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตรให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในด้านความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ 7.ให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งกลไก คณะทำงานร่วมในการประสานงานเพื่อดำเนินการตามแนวทางที่เสนอข้างต้น

ถือว่าไม่ง่ายสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ แต่คงไม่ยากเกินไปถ้าฝ่ายรัฐมีความจริงใจ และมีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน ถือเป็นข้อท้าทายที่ต้องรอดูกันต่อไปว่า “ณ วันนี้ ประเด็นเรื่องตลาดอินทรีย์  รัฐใจถึงแค่ไหน”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net