เศรษฐกิจไม่ฟื้น เก็บภาษีเดือนก.พ.ต่ำกว่าเป้า2หมื่นล้าน ‘ประยุทธ์’ แนะปชช.ใช้เงินขับเคลื่อน

พาณิชย์เผยส่งออก57ติดลบเพราะเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ปธ.สหพัฒน์ติง รบ.แก้เศรษฐกิจไม่ตรงจุด ชี้ 9 เดือนที่เหลือไร้วี่แววฟื้น SMEs ครวญเข้าระบบภาษีตามนโยบาย"บิ๊กตู่" กระทบหนัก คลังเผยเดินหน้าภาษีที่ดิน-บ้าน ชี้หากไม่ทำการคลังไทยไปไม่รอด ศูนย์วิจัยกสิกรคาดสหรัฐฯ เตรียมทวงแชมป์ตลาดส่งออกอันดับ 1 ไทย

 

ทีดีอาร์ไอชี้รัฐเก็บภาษีได้ลดลงสะท้อนการชะลอตัวของการบริโภค แนะเก็บภาษีน้ำอัดลมเพิ่ม

21 มี.ค.2558 นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลปรับลดการจัดเก็บรายได้ลงจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ลดลงนั้น สะท้อนว่ามีการชะลอตัวของการบริโภค เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้คนมีรายได้ลดลง จากการส่งออกที่ชะลอตัวและปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง ทิศทางดังกล่าวเป็นไปตามที่ทางทีดีอาร์ไอคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดด้วยการช่วยชะลอการใช้หนี้สินของเกษตรกร มาตรการการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการเร่งรัดเบิกใช้งบประมาณ

ส่วนการจัดหารายได้เพิ่มเติมของภาครัฐอาจดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลได้บ้าง แต่ไม่ควรมาก ควรนำมาใช้กับนโยบายลงไปถึงมือประชาชนได้ตรงจุด หรืออาจจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่ควรทำด้วยความระมัดระวัง เช่น ภาษีน้ำอัดลม และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรขึ้นภาษีแวตเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

(มติชนออนไลน์, 21 มี.ค.58)

‘ประยุทธ์’ แนะปชช.ใช้เงินเพื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อน

20 มี.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขฯ ว่า ถ้ารัฐทำคนเดียวไปไม่ไหว เพราะ รัฐได้กำหนดนโยบายไปแล้ว แต่การปฏิบัติเป็นของท่านท่านก็ตอบแทนรัฐในเรื่องของผลกำไร เรื่องภาษีเหล่านี้ก็เอื้อประโยชน์ต่อกัน ให้เขามั่นใจในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลดีกับประเทศทั้งหมดในเรื่องของการหมุนเวียน ถ้าต่างปะเทศมาใช้เงินก็จะมีรายได้เรื่องสถานการบริการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นทั้งในชุมชน ในท้องถิ่นไปด้วย สินค้าเกษตรต่าง ๆ ก็ไปเป็นอาหารการกินก็คือการหมุนเวียนขับเคลื่อนอย่าไปหยุด ทุกอย่างหยุดไม่ได้ประเทศไทยหยุดไม่ได้ ไม่ต้องระมัดระวังถ้ามีเงินก็ใช้ มีมากใช้มากมีน้อยใช้น้อย ถ้าทุกคนตื่นตระหนกกันหมดเหมือนที่สื่อบางสื่อพูดไปนี่นั้นก็น่าเป็นห่วงไปหมด เราต้องพูดในลักษณะเป็นข้อเท็จจริงบ้าง

แน่นอนมีการชะลอตัวทั้งโลก แล้วเราก็ยังไม่ค่อยพร้อมตรงนี้ ต้องยอมรับตรงนี้ก่อนถ้ารับตรงกันนี้ได้ เราถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ปัญหาทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ เราเข้ามาเพียง 8 เดือน เป็นรัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากขนาดนั้น ต้องหยุดปัญหา ต้องแก้ไขปัญหา ต้องเดินหน้าไปด้วย แล้วก็สร้างอนาคตไปด้วย โครงสร้างปฏิรูป หนักนะงาน แต่เราก็จะทำจะเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐ วันนี้ก็เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 46% มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยได้ลงนามสัญญาไปแล้วเป็นมูลค่าวงเงินกว่า 2.8 แสนล้านบาท อย่าบอกว่ายังไม่ออก ออกแล้วออกไปแล้วก็ทำสัญญาแล้ว เพราะฉะนั้น ขั้นตอนต่อไปก็ไม่ต้องการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ก็ไปติดตามกันมา อย่าบ่นว่าออกช้า เร่งทุกรัฐบาลในปีที่ผ่านมาก็ออกช้ากว่านี้ แต่วันนี้เราเร่งเต็มที่ ลดขั้นตอนลดเวลา มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน อะไรต่าง ๆ เข้ามาทั้งหมด

(เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 20 มี.ค.58)

พบสต๊อกพุ่งหวั่นปาล์มล้นตลาด

20 มี.ค.2558 มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม และเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เพื่อป้องกันปัญหาผลปาล์มสดล้นตลาดหลังผลผลิตเริ่มออกตลาดมากขึ้น ประเมินว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มเป็น 1.5 แสนตันในเดือนมีนาคมนี้ เป็น 2.3 แสนตันในเดือนเมษายน จึงต้องออกมาตรการดึงปริมาณปาล์มออกจากตลาด ที่ประชุมมีมติให้ขอกระทรวงพลังงานปรับสูตรการผลิตไบโอดีเซลจากบี 3 เป็นบี 7 เหมือนเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ช่วยลดปริมาณลง 70,000 ตัน และขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำไปผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงขอความร่วมมือภาคเอกชน ทั้งโรงสกัด โรงกลั่น รับซื้อปาล์มสดจากเกษตรกรในราคาเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สำหรับเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มเกิน 17% "เร็วๆ นี้ผมจะลงพื้นที่เพาะปลูกและรับซื้อปาล์มที่จังหวัดกระบี่ที่สามารถดูแลการรับซื้อผลปาล์มในราคา 5 บาทต่อ กก. จึงอาจใช้ที่กระบี่เป็นต้นแบบผลักดันให้พื้นที่อื่นรับซื้อผลปาล์มตามเป้าหมายที่ กก.ละ 5 บาท

(มติชนออนไลน์, 21 มี.ค.58)

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดสหรัฐฯ เตรียมทวงแชมป์ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย

20 มี.ค.2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ สหรัฐฯ เตรียมทวงแชมป์ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปี 2558  แซงจีนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หากพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย พบว่า มีเพียงการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ที่ฉายความโดดเด่นขึ้นมา และน่าจะสามารถกลับมาครองแชมป์ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยได้ในปี 2558 นี้ จากสัญญาณบวกของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในสหรัฐฯ ได้ทยอยฟื้นกลับมาตั้งแต่กลางปี 2557 หนุนการส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจนกระทั่งแซงหน้าตลาดจีนได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2557 และแซงหน้าจีนได้เป็นอันดับ 1 อีกครั้งในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งทิศทางการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ยังมีโอกาสจะเร่งตัวชัดเจนมากขึ้นในครึ่งปีหลัง

นับจากนี้ไป การเติบโตของกำลังซื้อในสหรัฐฯ เป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้สินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการแบรนด์คนไทยที่ได้อานิสงส์อยู่ในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตรและอาหาร เคหะสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มไลฟ์สไตล์ ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมก็มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไทยที่ทำตลาดสหรัฐฯ มานานอย่างคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ กระนั้นก็ดี สินค้าจีนและเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยก็ได้อานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกำลังฉวยพื้นที่ตลาดของสินค้าไทยมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ สดใส เดินเกมรุกขยายตลาดให้มากขึ้น ต่อยอดจากสินค้าไทยที่มีพื้นที่ตลาดในสหรัฐฯ บ้างแล้ว เร่งผลักดันสินค้ากลุ่มใหม่ของไทยให้เป็นเครื่องช่วยหนุนการเติบโตของการส่งออกไปสหรัฐฯ ในระยะยาว ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือปรับกลยุทธ์ส่งสินค้าไปจับตลาดให้เท่าทันกับพฤติกรรมการบริโภค อาทิ สินค้าเครื่องใช้เพื่อความสะดวกสบายและความบันเทิง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อุปกรณ์แต่งบ้าน  ของตกแต่งสำหรับงานเทศกาลรื่นเริง และสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดเป้าหมาย โดยการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2558 น่าจะขยายตัวร้อยละ 5 (กรอบประมาณการขยายตัวร้อยละ 3-7) มีมูลค่าการส่งออกราว 25,100 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการมูลค่าการส่งออกที่ 24,600-25,500 ล้านดอลลาร์ฯ) ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 4.1 ในปี 2557 ที่มีมูลค่าการส่งออก 23,892 ล้านดอลลาร์ฯ

(ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 20 มี.ค.58)

พาณิชย์เผยส่งออก57ติดลบเพราะเศรษฐกิจโลกมีปัญหา

19 มี.ค.2558 นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกในปี 2557 พบการส่งออก ติดลบเพราะ เศรษฐกิจโลก มีปัญหา โดย สินค้าส่งออกลำดับต้นๆ รวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและสินค้าเกษตร ซึ่งแนวโน้มราคาลดลง ทำให้มูลค่าส่งออก ลดลง ยางพาราติดลบ 40.6 % น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ ก็ลดลง ขณะตลาดสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ ไทยส่งออกเพิ่มได้ 6% ส่วนออสเตรเลีย ก็ขยายตัวดี เพราะได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่วนญี่ปุ่น มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว แต่คนยังชะลอการใช้จ่าย รวมกับค่าเงินเยนอ่อนทำให้ส่งออกไทย ได้รับผลกระทบ ส่วนตลาดยุโรป กำลังฟื้นตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะ ส่วนตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น. ขณะที่ตลาดแอฟริกาชะลอตัว จากปัญหาการเมือง เเละโรคระบาด โดยยังไม่ยืนยันว่าตัวเลขส่งออกจะขยายตัวถึง 4%

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ยอดส่งออกไทยลดลง รวมถึงการที่ ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือ จีเอสพีของยุโรป เพราะไทยมีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการรู้ก่อน จึงเปลี่ยนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเเทนนอกจากนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชน สิ่งเเวดล้อม กลายเป็นสิ่งกีดกันการส่งออก มีความเข้มงวดมากขึ้น

รวมถึงทุกประเทศก็ผลักดันให้ทุกประเทศใช้สินค้าของตน ทั้งนี้แม้ไทยจะบอกว่าเป็นครัวโลก แต่ก็ยังมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเช่น ปลาทู เป็นต้น จึงจะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทย มีทั้งปัจจัยบวก และลบ จึงต้องพึ่งพาตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ส่วนตลาดระดับกลาง เช่น จีน อินเดีย ก็มีการเปิดการค้าขายกับเมืองใหม่ๆ ขณะที่ตลาดอาเซียน ถือว่ามีการขยายตัวสูงมาก โดยการค้าชายแดน ขยายตัวเดือนมกราคม 2% กว่า 8.4 หมื่นล้าน ในปี 2558 น่าจะขยายตัวมากขึ้น ส่วนการดูแลราคาสินค้า เกษตร ก็มีการตั้งวอร์รูมดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการจัดสายตรวจออกตรวจวันละ 10 ชุด หากมีเรื่องร้องเรียนก็พร้อมเข้าแก้ปัญหาทันที หากร้านไหนไม่ติดป้าย หรือขายสินค้าราคาแพงเกินไป ก็อาจถูกปรับได้ตามมาตราการของกฏหมาย

(มติชนออนไลน์, 19 มี.ค.58)

เก็บภาษี เดือนก.พ.ต่ำกว่าเป้า 2 หมื่นล้าน สะท้อนเศรษฐกิจไม่ฟื้น

19 มี.ค.2558 รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เผยว่า การเก็บภาษีของรัฐบาลเดือนก.พ. ซึ่งเป็นเดือนที่ 5 ของปีงบประมาณ 2558 ในภาพรวมยังเก็บได้ต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก โดยเฉพาะกรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าถึง 2 หมื่นล้านบาท หรือ 14.7% เนื่องจากการเก็บภาษีต่ำกว่าทุกตัว ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต่ำกว่าเป้า 3,000 ล้านบาท หรือ 11% ภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้า 2,800 ล้านบาท หรือ 12% ภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าเป้า 9,300 ล้านบาท หรือ 15%

นอกจากนี้ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าเป้า 3,300 ล้านบาท หรือ 33% ภาษีธุรกิจเฉพาะต่ำกว่าเป้า 750 ล้านบาท หรือ 17% และอากรแสตมป์ต่ำกว่าเป้า 27 ล้านบาท หรือ 3% ซึ่งการเก็บภาษีของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคการลงทุนยังชะลอตัว

ในส่วนของการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต สูงกว่าเป้า 3,700 ล้านบาท จากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเกินเป้า 5,000 ล้านบาท แต่การเก็บภาษีรถยนต์ยังต่ำกว่าเป้า 2,900 ล้านบาท หรือ 33% ภาษีเครื่องดื่มต่ำกว่าเป้า และภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้ายังต่ำกว่าเป้าเล็กน้อยตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ด้านกรมศุลกากรเก็บภาษีต่ำกว่า 500 ล้านบาท หรือ 5% เนื่องจากการนำเข้าชะลอตัวมาก และการลดภาษีนำเข้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า การเก็บภาษีของรัฐบาลในรอบ 5 เดือน ในภาพรวมยังต่ำกว่าเป้า 3.3 หมื่นล้านบาท โดยกรมสรรพากรต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้า 5,000 ล้านบาท และกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้า 2,500 ล้านบาท

กระทรวงการคลังประเมินว่า การเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2558 จะต่ำกว่าเป้าไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากประเมินว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่จะมีภาษีจากกรมสรรพสามิตเข้ามาชดเชยทำให้ภาพรวมของการเก็บภาษีดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งกระทรวงการคลังได้เร่งให้ทุกกรมเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี แต่มีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวกกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้การเก็บภาษีของรัฐบาลยังมีปัญหา

(ข่าวสดออนไลน์, 19 มี.ค.58)

ปธ.สหพัฒน์ติง รบ.แก้เศรษฐกิจไม่ตรงจุด ชี้ 9 เดือนที่เหลือไร้วี่แววฟื้น

18 มี.ค.2558 นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ของปีนี้ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากรัฐบาล แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านมาเกือบ 1 ไตรมาสแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง และ ภาคส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจหลักสร้างรายได้ให้กับประเทศยังติดลบ ต่อเนื่อง

"ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักของไทย เริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการอย่างด่วน คือต้องแก้ไขค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อผลักดันภาคการส่งออกของไทยให้พลิกฟื้นขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้เงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยมาก"

ทั้งนี้ เมื่อภาพรวมธุรกิจส่งออกของประเทศอยู่ในภาวะไม่ดี เครือสหพัฒน์ขณะนี้ต้องหันมาเน้นการทำตลาดในประเทศก่อน ขณะเดียวกันแผนลงทุนหรือร่วมทุนของบริษัทยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปลายปีนี้จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เครือสหพัฒน์กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจญี่ปุ่น 2-3 ราย และคาดว่าจะมีการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตามเมื่อ 26 มิ.ย.ปี่ที่แล้ว นายบุยสิทธิ์ ได้ออกมาสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจของคสช. โดยระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกลับมามีความหวังได้อีกครั้ง ภายหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมาตรการที่จะเกิดขึ้นอีกหลังจากนี้ อยากให้ คสช. เร่งการขับเคลื่อนโดยเร็ว โดยเพราะการส่งออก เพราะขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ทุกประเทศต้องการค้าขายกับประเทศไทย ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันให้การส่งออกมีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยโรดแม็ปของ คสช. สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ได้ดีอยู่แล้ว โดยให้คะแนน 9.9 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 เพราะได้ทำให้ความกังวลต่อเศรษฐกิจคลี่คลายลงไป

(มติชนออนไลน์, 19 มี.ค.58 ; ไทยรัฐออนไลน์, 26 มิ.ย.57)

SMEs ครวญเข้าระบบภาษีตามนโยบาย"บิ๊กตู่" กระทบหนัก

18 มี.ค.2558 นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอทีเอสเอ็มอี) เปิดเผยว่า นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีลงทะเบียนกับภาครัฐ เพื่อเข้าระบบ จากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีรวมทั่วประเทศ 2.7 ล้านราย แต่เข้าระบบจริงหลักแสนรายเท่านั้น

ล่าสุด สมาคมได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มผู้ผลิตน้ำสมุนไพรและเกษตรแปรรูป ว่า หลังจากเข้าระบบอย่างเป็นทางการกับหน่วยงานรัฐแล้ว กลับโดนเรียกเก็บภาษีคิดเป็นวงเงินมากกว่าครึ่งของยอดขาย ทำให้เกิดความกังวล และหวั่นเกรงว่าหากต้องรับภาระทางภาษีสูงดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้

(มติชนออนไลน์, 18 มี.ค.58)

คลังเผยเดินหน้าภาษีที่ดิน-บ้าน ชี้หากไม่ทำการคลังไทยไปไม่รอด

16 มี.ค. 2558 นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันจะเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการปฏิรูปภาษีอื่น ๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนรายละเอียดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยคณะกรรมการปฏิรูปภาษีที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการจะร่วมกันพิจารณา จากนั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะนำร่างกฎหมายฉบับเต็มส่งให้นักวิชาการร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้ชะลอการพิจารณาร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงชะลอโครงสร้างการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลัง นั้น นายสมหมาย ระบุว่า คิดว่า นายกรัฐมนตรีคงพูดไปอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมด แต่ให้ชะลอเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ตนยืนยันจะเดินหน้าต่อ ทั้งภาษีที่ดินฯ และการปฏิรูปภาษีทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้จะยังไม่จบ และหากจะจบก็ต่อเมื่อตนออกจากตำแหน่ง

พร้อมย้ำว่า ถ้ากระทรวงการคลัง ไม่ผลักดันให้เกิดการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ในอนาคตภาระทางการคลังจะไปไม่รอด เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินนโยบายแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง สร้างภาระหรี้เกิดขึ้นจำนวนมากจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านมา

(มติชนออนไลน์, 17 มี.ค.58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท