สมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียนมุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อสันติภาพ

สมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียนลงพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมสัมมนานาชาติด้านการศึกษา เผยอนาคตมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาเพื่อสันติภาพ แนะรวมจุดเด่นของแต่ละประเทศมาประยุกต์ใช้ ส่วนแนวโน้มการสอนภาษามลายูในกัมพูชาขยายตัวรองรับอาเซียน กศน.เน้นโครงการภาษาพาสันติสุข

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิส หิเล ประธานสมาพันธ์ส่งเสริมและพัฒนาสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สพ.สต.) ในฐานะประธานสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียน เปิดเผยว่า สมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียน (AMCA : Association of Muslim Community in ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยความร่วมมือกันของชุมชนมุสลิมในอาเซียน เน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษาและวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งเพื่อร่วมกันพัฒนาให้เกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาค

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิส เปิดเผยต่อไปว่า ทุกปีสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียนมีการจัดสัมมนานานาชาติเรื่องการจัดการศึกษาในอาเซียนซึ่งประเทศไปเป็นเจ้าภาพ โดยจัดไปแล้วที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยใช้หัวข้อว่า การจัดการศึกษาแบบโมเดิร์นในอาเซียน มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน เป็นการจัดร่วมกันระหว่างสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียน และ สพ.สต.

จากนั้นทางสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลาได้นำ ดร.ลาติฟี เลขาธิการสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียน และคณะวิทยากรจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ลงพื้นที่ทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลา ประกอบด้วยที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา โรงเรียนลูกมานุฮากีม ศาลาดูดวงจันทร์ สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)จังหวัดยะลาและสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา

สำหรับการศึกษาดูงานที่สำนักงาน กศน.ยะลา มีนายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ กศน.ยะลาให้การต้อนรับ โดยร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของไทย เปรียบเทียบกับของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งการศึกษาสายสามัญและสายศาสนา
 

ดร.โมฮามัดเซน บินมูซา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มูซา-อาซียะห์ ในประเทศกัมพูชา กล่าวว่า หลังจากได้ฟังข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในประเทศต่างๆในอาเซียน พอจะเห็นจุดเด่นของแต่ละประเทศคือ การจัดการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์จะมุ่งไปสู่เรื่องการสร้างสันติภาพ ส่วนการจัดการศึกษาของประเทศไทยมุ่งไปสู่การประกอบอาชีพ ส่วนของประเทศอินโดนีเซียจะมุ่งทำให้คนมีคุณธรรมจริยธรรม จะทำอย่างไรที่จะให้การศึกษาของทุกประเทศในอาเซียนสามารถที่จะรวมทั้ง 3 เรื่องนี้ไว้ด้วยกันได้ นั่นคือ การสร้างสันติภาพ การมีอาชีพและการมีคุณธรรมจริยธรรม

นายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ กศน.ยะลา ยังได้กล่าวถึงโครงการต่างๆของ กรมกศน. กระทวงศึกษาธิการ ที่เน้นเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงว่า มีโครงการที่แตกต่างจากการจัดการศึกษานอกระบบของจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ โครงการภาษาพาสันติสุข ซึ่งเน้นการส่งเสริมภาษามลายู ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ กิจกรรมเกี่ยวดับผู้สูงอายุ เยาวชน สตรี กิจกรรมส่งเสริมอาชีพและกิจกรรมกีฬาเยาวชน

สำหรับสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียนมีสำนักงานเลขาธิการอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันเลขาธิการก็เป็นชาวอินโดนีเซียเช่นกัน ส่วนตำแหน่งประธานนั้นจะสลับกันประเทศละ 1 ปี โดยประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเรื่องการจัดการศึกษาในอาเซียนก็จะเป็นประธานสมาคมชุมชนมุสลิมอาเซียนไปด้วย

ดร.โมฮามัดเซน ให้สัมภาษณ์หลังการดูงานที่สำนักงานกศน.ยะลาว่า การใช้ภาษามลายูในประเทศกัมพูชากำลังขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีคนในอาเซียนที่ใช้ภาษามลายูเข้าไปลงทุนทำการค้าการขายในประเทศกัมพูชามากขึ้น แม้การเรียนการสอนภาษามลายูในกัมพูชายังมีน้อยอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มที่สถาบันการศึกษาต่างๆจะเปิดสอนภาษามลายูเพิ่มขึ้น

ดร.โมฮามัดเซน เปิดเผยด้วยว่า สำหรับโรงเรียนของตนได้ก่อตั้งมาเมื่อปี 2012 เป็นโรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของรัฐบาลควบคู่กับการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งสอนด้วยภาษามลายูเนื่องจากใช้หลักสูตรของประเทศมาเลเซีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท