รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 6

 

มะนิลา - ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา สหภาพผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์(NUPJ) ได้ทำหน้าที่รณรงค์เรื่องเสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพสื่ออย่างแข็งขัน ในประเทศที่ถูกจัดว่าอันตรายอันดับสามของโลกสำหรับผู้สื่อข่าว

นับจากการก่อตั้งของสหภาพฯ มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 28 ปี และมีสมาชิกกว่า 1,500 คนจาก 64 จังหวัดทั่วประเทศ ก็ถึงเวลาแล้วที่สหภาพฯ จะต้องเปลี่ยนแปลง

“เราเป็นพวกที่รักเสรีภาพมาก” เลขาธิการสหภาพฯ รูเพิร์ท มังกิลิตกล่าวเขาดูไม่ได้ดูแก่ไปกว่าอายุขององค์กรมากเท่าไหร่นัก “สถานการณ์ทางการเมืองหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้เราปกป้องเสรีภาพอย่างยิ่ง แต่เราต้องยอมรับว่าเรายุ่งอยู่กับการสู้เพื่อเสรีภาพเกินไปทำให้เรามองข้ามเรื่องบางเรื่อง” เขากล่าว “เรื่องที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งก็คือสถานะทางเศรษฐกิจของนักข่าว”

รูเพิร์ท มังกิลิต เลขาธิการสหภาพผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์

ที่ผ่านมา นับว่าสหภาพฯ ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการรณรงค์และดำเนินการโครงการต่างๆเพื่อยุติการไม่ต้องรับผิด ในขณะนี้ NUJP พยายามทำงานในฐานะสหภาพแรงงานและต้องการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อนำไปสู่การต่อสู้เรื่องค่าจ้างและสภาพการจ้างงานที่มั่นคงมากขึ้นสำหรับนักข่าวฟิลิปปินส์

หากทำสำเร็จ NUJP จะเป็นผู้นำในหมู่สหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEAJU) ซึ่งตั้งขึ้นพร้อมๆ กับคำประกาศพนมเปญเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2556 โดยในปี 2557SEAJU ได้จัดประชุมครั้งแรกไปแล้วในมะละกา ประเทศมาเลเซีย

SEAJU ยังเป็นสมาชิกสหพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ(International Federation of Journalists) และมีสมาชิกจากหกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงฟิลิปปินส์

ด้วยความน่าเชื่อถือที่สะสมมานานหลายปีและความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรสื่อต่างๆการร่วมมือของ NUJP กับสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวในภูมิภาคจะยิ่งทำให้การทำงานในฟิลิปปินส์เข้มแข็งยิ่งขึ้นเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ทั้งมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา ติมอร์ตะวันออก ซึ่งต่างมีประสบการณ์ของการต่อสู้เพื่อยุติการไม่ต้องรับผิด

การจดทะเบียน NJUP ในฐานะสหภาพแรงงาน จะช่วยปกป้องผู้สื่อข่าวจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะในทางการเงินหรือทางร่างกาย ที่สำคัญกว่านั้น การรณรงค์ของ NUJP จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาชีวิตของนักข่าวในการทำงานด้วย

171 รายและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากสถิติของ NUJP ตั้งแต่ปี 2529ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับการทำงานสื่อทั้งหมด 171 ราย ทำให้ฟิลิปปินส์ตกอยู่ในลำดับ 149ด้านเสรีภาพสื่อโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศจากการจัดลำดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงสิงคโปร์ ลาวและเวียดนามเท่านั้นที่แย่กว่าฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งมาเลเซีย ที่มีกฎหมายกดทับเสรีภาพสื่อและอิทธิพลทางการเมืองครอบงำสื่อกระแสหลัก ยังอยู่ก่อนฟิลิปปินส์ในลำดับที่ 147

มังกิลิตเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างการสร้างความมั่นคงทางการเงินของนักข่าว การปกป้องเสรีภาพสื่อ และการตกเป็นเหยื่อของการไม่ต้องรับผิด เขามองว่าเมื่อ NUJP กลายเป็นสหภาพแรงงานอย่างเต็มตัวแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ โดยNUJP ไม่เพียงแต่จะสู้เพื่อมาตรฐานค่าแรงและสวัสดิการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ ด้วย

“การจัดตั้งสหภาพแรงงานจะช่วยยกระดับสภาพการทำงานของผู้สื่อข่าวและสร้างมาตรฐานในวิชาชีพด้วยการเปิดพื้นที่ให้แก่นักข่าวในการยืนยันสิทธิของตนเองร่วมกัน” เรด บาตาริโอกล่าว, บาตาริโอเป็นผู้อำนวยการศูนย์เพื่อวารสารศาสตร์และการพัฒนาชุมชนตั้งอยู่ในกรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์

“อย่างน้อยในทางทฤษฎีมันจะช่วยให้สาธารณะเข้าใจบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตยและเคารพการทำงานของสื่อที่ได้มาตรฐานมากขึ้น” เขากล่าว “การที่เรามีสาธารณชนหนุนหลังสื่อมวลชนเป็นวิธีหนึ่งในการปกป้องนักข่าว และแก้ไขปัญหาการไม่ต้องรับผิด เพราะประชาชนก็จะช่วยเรียกร้องมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในคดีเกี่ยวกับการสังหารนักข่าว อย่างนี้เป็นต้น”

ตอกย้ำภาพที่เป็นลบ

ทุกวันนี้นักข่าวหลายคนในฟิลิปปินส์รู้สึกว่าตนไม่ค่อยได้รับความเคารพหรือมีภาพลักษณ์ที่ดีเท่าใดนักพูดตรงๆก็คือนักข่าวและสื่อในฟิลิปปินส์มักถูกมองว่ามีอคติหรือไม่ก็คอร์รัปชั่นอันที่จริงมีนักข่าวคนหนึ่งจากสื่อที่น่าเชื่อถือเล่าประสบการณ์ว่าเคยมีคนขอที่อยู่องค์กรและถามว่าอยากได้เงินเท่าไหร่ถ้าจะตีพิมพ์ข้อมูลที่มีคนส่งไปให้

แม้แต่ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่สามยังกล่าวหานักข่าวในหลายครั้งว่าไม่แฟร์ มีอคติ ทำงานไม่ดี และมีทัศนคติที่เป็นลบ แต่นักวิเคราะห์สื่อ ลุยส์ เทโอโดโร จากศูนย์เพื่อเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบ มองว่า จากการติดตามการรายงานของสื่อพบว่าสื่อส่วนใหญ่ในมะนิลานั้นทำงานแฟร์นักข่าวส่วนใหญ่พยายามอย่างเต็มที่ในการรายงานว่าประธานาธิบดีพูดอะไรและทำอะไรบ้าง

โชคไม่ดีที่สำหรับสื่อในต่างจังหวัดข้อกล่าวหานั้นมักจะเป็นจริงเทโอโดโรชี้ว่าเวลานายกเทศมนตรีในต่างจังหวัดกล่าวหาว่านักข่าวไม่เป็นกลางหรือเข้าข้างคู่แข่งทางการเมืองส่วนใหญ่แล้วมักจะมีมูลเนื่องจาก “ธรรมชาติของการเมืองท้องถิ่น” ทำให้เป็นแบบนั้น

“นักข่าวบางคนถูกจ้างโดยนักการเมืองให้ทำหนังสือพิมพ์ให้” เขากล่าว “หรือถ้านักข่าวคนนั้นอยู่ในหนังสือพิมพ์อยู่แล้วก็จะได้รับเงินจากนักการเมืองฉะนั้นข้อกล่าวหาอย่าง ‘นักข่าวบางคนมีอคติกับผมเพราะถูกอีกฝ่ายจ้าง’ นั้นถือว่าจริงในหลายกรณี”

ข่าวนั้นมีไว้ขาย

“ช่วงฤดูกาลเลือกตั้งจะเป็นช่วงที่เราเห็นการคอร์รัปชั่นในสื่อที่แย่ที่สุด” ไรอัน โรซาอุโรนักข่าวประจำเมืองดาเวาซิตี้จากนสพ.ฟิลิปปินส์เดลีอินไคว์เรอร์กล่าว “ผู้สมัครมักจะติดสินบนสื่อเพื่อให้มีข่าวดีๆบางทีในการเลือกตั้งรองประธานาธิบดีเคยมีการจ่ายเงินถึง 20,000 เปโซ (ราว 13,300 บาท) ให้กับนักจัดรายการคนดังๆ”

“การติดสินบนยังมาในแบบของรายได้สถานี” โรซารุโอกล่าว “อย่างคุณสัมภาษณ์ผมห้านาที ผมก็จะพูดเรื่องนี้ๆ ถ้าถามผมเรื่องนี้ๆ ผมก็จะจ่ายเงินเข้าสถานีคุณ”

“แล้วการติดสินบนเกี่ยวข้องกับการไม่ต้องรับผิดยังไงน่ะหรือก็คือว่าคนที่จ่ายเงินติดสินบนให้นักข่าวก็เหมือนกับว่านักข่าวถูกซื้อไปแล้วมีบัตรผ่านทำอะไรก็ได้รวมถึงการฆ่านักข่าวด้วย” เขากล่าว

เขากล่าวว่าสถานการณ์ที่เห็นได้บ่อย ก็เช่นเวลานักข่าวรายงานเข้าข้างนักการเมืองและโจมตีคู่แข่งทางการเมืองทีนี้คู่แข่งก็บอกว่าต้องหยุดเดี๋ยวนี้ไม่งั้นจะเจอดีแน่ตรงนี้เองที่การสังหารจะเข้ามาเกี่ยวข้อง

เทโอโดโรกล่าวว่าถ้านักข่าวไม่หยุดก็จะโดนยิงตายและคนสังหารก็อาจจะเป็นตำรวจดังนั้นการสอบสวนก็จะไม่มีอะไรคืบหน้าและตรงนี้เองการไม่ต้องรับผิดก็จะเกิดขึ้น

ในขณะเดียวกันมังกิลิตชี้ว่านักข่าวในมะนิลาเองก็มีแนวโน้มจะคอร์รัปชั่นและการคอร์รัปชั่นในสื่อกระแสหลักมักจะซับซ้อนกว่าในต่างจังหวัด

“อย่างแรกมีเงินเยอะกว่าที่เข้ามาเกี่ยวสองคือเจ้าหน้าที่รัฐที่นี่มีอำนาจมากกว่าและเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้วแนวโน้มการถูกเล่นงานจะเยอะกว่าด้วย”

การทำงานท่ามกลางอันตราย

แน่นอนที่สุดว่า ไม่ใช่นักข่าวที่ถูกสังหารทั้งหมดในฟิลิปปินส์นั้นเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่น บาตาริโอกล่าวว่า “นักข่าวบางคนที่ถูกฆ่าอาจเป็นเพราะเพียงแค่ทำงานตามหน้าที่และอีกหลายคนที่ต้องตายเพราะวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐ”

และก็แน่นอนว่า ในต่างจังหวัดเองยังมีสื่อที่ยังทุ่มเทให้กับการทำงานข่าวอย่างจริงจังแม้ต้องประสบภัยอันตราย มาลูคาเดลีนา มานาร์หัวหน้าฝ่ายข่าว NDBC ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัดคิดาปาวันกล่าวว่า “ถ้าคุณกลัวก็อย่าเป็นนักข่าวเลยดีกว่าต้องอย่ากลัวเพราะความจริงนี่ล่ะที่จะปลดปล่อยคุณ”

มาลูคาเดลีนา มานาร์หัวหน้าฝ่ายข่าว NDBC

มานาร์ไม่ได้เป็นคนจังหวัดคิดาปาวันจริงๆ แล้วเธออยู่อาศัยและทำงานในเมืองโคตาบาโตมากว่า 30 ปีแต่เมื่อปี 2547 เธอต้องย้ายบ้านหนีพร้อมกับครอบครัว เหตุว่าเธอถูกข่มขู่หนักขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานข่าว

“พวกนั้นมากล่าวว่าฉันรายงานเข้าข้างนักการเมือง” เธอกล่าว “แต่มันไม่จริงน่ะที่ฉันเข้าข้างคือความจริงต่างหากไม่ได้มีใครจ้างให้ฉันเขียนข่าวแบบนี้ฉันเขียนเพราะว่าเห็นอะไรเกิดขึ้นกับตา”

แต่ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนนั้นยังนับว่าค่อนข้างแย่ทำให้เวลานักข่าวตกเป็นเหยื่อการสังหารคนจะไม่ค่อยมีความเห็นใจเวลามีนักข่าวเเสียชีวิตก็แทบจะไม่ได้รับการไว้อาลัยจากสาธารณชนเท่าใดนักในอีกแง่หนึ่ง ทัศนคติแบบนี้นี่เองกลับส่งเสริมอาชญากรรมต่อผู้สื่อข่าวให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น

ถึงเวลาลบล้างภาพลักษณ์เสียหาย

ในทางอุดมคติแล้วสหภาพแรงงานจะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนได้เพราะจะช่วยคัดนักข่าวที่คอร์รัปชั่นออกไปจากวงการสื่อสหภาพจะตั้งมาตรฐานที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม และมาตรฐานนี้จะช่วยให้สมาชิกในสหภาพพิจารณาการรายงานข่าวว่าทำงานได้คุณภาพหรือไม่

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือสหภาพแรงงานจะต่อสู้เรื่องค่าจ้างที่มีมาตรฐานและเป็นธรรมซึ่งแทบไม่มีใครพูดถึงในแวดวงสื่อฟิลิปปินส์เลยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ถ้านักข่าวได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมแล้วก็จะมีความมั่นคงทางการเงินและมีแนวโน้มคอร์รัปชั่นน้อยลงเทโอโดโรกล่าวว่า“นักข่าวหลายคนที่รับสินบนนั้นเพราะว่าได้รับเงินเดือนที่น้อยมากไม่มีสวัสดิการบางคนไม่มีเงินเดือนด้วยซ้ำถ้าคุณต้องอยู่ในจุดนั้นคุณจะทำไงหลายคนก็เลยคอร์รัปชั่น”

มังกิลิตยังชี้ว่า “ในมะนิลา มีผู้สื่อข่าวที่ทำงานอย่างเป็นอิสระเยอะกว่าเพราะมีสภาพการทำงานที่ดีกว่า และส่วนใหญ่จะได้รับการอบรมเรื่องความสำคัญของหลักจริยธรรม”

มังกิลิตกล่าวว่านักข่าวที่เข้าทำงานใหม่ๆนั้นได้เงินเดือนมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก

สถิติของรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าค่าจ้างขั้นต่ำในมะนิลานั้นอยู่ประมาณ 8,500-9,300 บาท ส่วนในต่างจังหวัดนั้นอยู่ที่ราวๆ 5,000-7,200 บาท แต่มังกิลิตกล่าวว่า ในหลายจังหวัดของฟิลิปปินส์ นักข่าวท้องถิ่นนั้นได้รับค่าจ้างเป็นรายคำ หรือวัดตามความยาวของคอลัมน์ และไม่มีสวัสดิการอย่างอื่นเลย หลายคนทำงานเป็นฟรีแลนซ์กับองค์กรสื่อที่พยายามให้มีลูกจ้างต่ำว่า 12 คน เพื่อหนีกฎหมายที่ว่าต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

มังกิลิตเองก็เคยมีประสบการณ์แบบนั้นเขาเคยทำงานกับบริษัทสื่อหนึ่งที่ต้องค่อยต่อสัญญาจ้างใหม่ตลอดเพราะบริษัทจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเขาตั้งข้อสังเกตว่า “การจ้างงานในฟิลิปปินส์กำลังจะไปในทิศทางที่ลูกจ้างอยู่ในสัญญาการจ้างงานแบบระยะสั้น รวมทั้งนโยบายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆอีก”

เพราะสถานการณ์แบบนี้NUJP ยิ่งจำเป็นต้องเร่งจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานให้เร็วขึ้น มังกิลิตกล่าวว่า “เราใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะมองออกว่า ประเด็นแรงงานนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเสรีภาพสื่อ และสภาพทางสังคมเศรษฐกิจของนักข่าวนั้นอยู่ภายใต้เรื่องเสรีภาพสื่อด้วย”

เน้นปริมาณและจำนวน?

การที่ NUJP เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยให้ NUJP เร่งการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานได้เร็วขึ้น ในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหภาพผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์จะสามารถเข้าถึงองค์กรคล้ายกันง่ายขึ้น และได้แลกเปลี่ยนมุมมองและทางออกต่อปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

มังกิลิตกล่าวว่า “ถ้าเป็นเรื่องการสังหารนักข่าวแล้วประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ถือว่ารุนแรงสุดถ้าเทียบกับประเทศอื่นแต่ถ้าเรื่องการเซ็นเซอร์ประเด็นสิทธิแรงงานนักข่าวในภูมิภาคส่วนใหญ่ก็เจอคล้ายๆกันหมดในแง่นี้เราก็แลกเปลี่ยนเรื่องการเซ็นเซอร์กับมาเลเซียได้เพราะในมาเลเซียนี่เป็นประเด็นใหญ่มาก”

สหภาพผู้สื่อข่าวมาเลเซียแห่งชาติ (NUJM) นับว่าประสบความสำเร็จในการต่อสู้เรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรมและสวัสดิการอื่นๆ แต่มังกิลิต อาจจะผิดหวังถ้ารู้ว่าสมาชิกจากมาเลเซียไม่ได้ดูกระตือรือล้นมากนักในการสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออก

“ถ้าเราอยากจะมีอิทธิพลมากกว่านี้เราก็ทำได้” ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวมาเลเซียชินซุงเชียวกล่าว “แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกเรามากกว่าว่าต้องการอะไร” ทั้งนี้สหภาพผู้สื่อข่าวมาเลเซีย ก่อตั้งในปี 2505 และมีสมาชิกกว่า 1,400 คน จากหนังสือพิมพ์ราว 10 แห่ง

“สมาชิกของเราโดยเฉพาะที่มาจากหนังสือพิมพ์รายวันจีนน้อยคนมากที่สนใจต่อสู้เรื่องเสรีภาพสื่อจริงๆ” ชินกล่าว “อย่างมากพวกเขาก็แค่คุยกันมากกว่าที่จะทำแอคชั่นอะไรจริงๆเพราะเห็นแก่ตนเองเป็นหลัก”

อาจจะเป็นเพราะว่านักข่าวมาเลเซียไม่อยากจะประสบชะตากรรมเดียวกับฮาตะวาฮารีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวันอูตาซันมาเลเซียเมื่อปี 2554 วาฮารีเป็นประธานสหภาพผู้สื่อข่าวมาเลเซียเขาเรียกร้องให้กองบรรณาธิการปฏิรูปการรายงานข่าว โดยให้ลดการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลลง หากแต่นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างกับฝ่ายค้านอีกต่อมาเขาถูกเลิกจ้างเพราะถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์ข้อคำที่หมิ่นประมาทบริษัทของตนเอง

เมื่อปี 2556 เขายืนประท้วงเดี่ยวหน้าออฟฟิศวาฮารีต้องเผชิญกับการรังควานและตะโกนด่าจากเพื่อนร่วมงานและยังถูกปาซองบะหมี่ใส่ที่หัวด้วยปัจจุบันเขาทำงานกับองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน

การเดินทางอันยาวไกล

อย่างไรก็ตามมังกิลิตกล่าวว่าแม้สหภาพผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์จะยังไม่ได้เป็นสหภาพแรงงานเต็มตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องสิทธิแรงงานแล้วNUJP ต่อสู้แบบไม่ยอมใคร ในเว็บไซต์ของ NUJP ระบุถึงการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับสวัสดิการผู้สื่อข่าว การฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งของนักข่าวในที่ทำงาน รวมถึงเรื่องสภาพการทำงานด้วย

การรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องสวัสดิการที่เท่าเทียมของพนักงานประจำสถานีวิทยุข่าวแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ NUJP ยังช่วยเหลือนักข่าวและครอบครัวที่เป็นเหยื่อของการไม่ต้องรับผิดด้วยการตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษาบุตรของผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิต และการติดตามคดีที่เกี่ยวกับการสังหารสื่อมวลชน

มังกิลิตกล่าวว่าสิ่งที่ NUJP ประสบความสำเร็จ คือการสนับสนุนการทำงานที่ยึดหลักจริยธรรม โดยจะมีการสอดแทรกเรื่องนี้ในการฝึกอบรมความปลอดภัยเซึ่งจัดป็นประจำซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสภาพทางเศรษฐกิจของผู้สื่อข่าว

ด้านบาตาริโอผู้อำนวยการศูนย์เพื่อวารสารศาสตร์และการพัฒนาชุมชนมองว่าในเรื่องของการต่อสู้เพื่อยุติการไม่ต้องรับผิดนั้น NUJP ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการระดมมวลชน เช่น การเดินขบวน การจุดเทียนรำลึก การจัดเสวนาและการจัดกิจกรรมกับโรงเรียนเพื่อให้ความรู้ด้านการไม่ต้องรับผิด เขาชี้ว่าการติดตามของNUJP ต่อการไต่สวนคดีการสังหารหมู่มากินดาเนาในปี 2552 (ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชน) ช่วยกดดันกระทรวงยุติธรรมในการตั้งศาลพิเศษ และยังสนับสนุนการถ่ายทอดสดการไต่สวนของศาล

เขากล่าวว่าในฐานะที่ NUJP เป็นสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งเดียวในฟิลิปปินส์ ก็ควรจะเป็นแนวหน้าการต่อสู้เรื่องการยุติการไม่ต้องรับผิดด้วย

“แต่ในขณะเดียวกัน” บาตาริโอกล่าว “พวกเขาควรจะทำงานร่วมกับองค์กรสื่อ สมาคมสื่อ และองค์กรรณรงค์ต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นแนวหน้าที่มีเอกภาพ บทบาทที่สำคัญที่สุดของพวกเขาก็คือการจับตาเรื่องการสังหารนักข่าวการข่มขู่ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การปิดสถานีวิทยุ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เช่นเดียวกับการจัดตั้งสาขาสหภาพฯ ในระดับจังหวัดด้วย”

*หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของพันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) อัลยา อับดุล อาซิส อัลฮาดจรี ซึ่งเป็นนักข่าวจากหนังสือพิมพ์แอนท์ เดลี่ มาเลเซียเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนปี 2557 โดยหัวข้อหลักของปีนี้คือ การสร้างความเข้าใจในภูมิภาคต่อการไม่ต้องรับผิดของการสังหารในฟิลิปปินส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท