Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หากจะขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรีในสภาพสังคมไทย ณ ปัจจุบัน จำต้องตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย และระหว่างคนต่างชนชั้น ให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน  แนวทางหนึ่งที่น่าจะช่วยไปให้เป้าหมายนั้นคือ การตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในมิติ พื้นที่ต่างๆ ที่เรากำลังถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ต่อสู้ทั้งทางระดับจุลภาคและมหภาค


1. ประเด็นปัญหาผู้หญิงภายใต้ระบบทุนนิยม รัฐอำนาจนิยม

ภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีคนรวยจนต่างระดับต่างชนชั้น รัฐผลิตซ้ำบทบาทของผู้หญิงให้แบกภาระในการทำงานดูแลครอบครัวในบ้าน โดยไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ  การให้การศึกษาต่ำทำให้ได้รับค่าตอบแทนต่ำตอบสนองทุนที่ยังใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำ  การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเครื่องระบายอารมณ์ การค้าประเวณี ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นที่โฆษณาขายของ โฆษณาดึงดูดด้วยเพศและกามารมณ์  (Sexism) เพื่อแสวงหามูลค่าเพิ่ม ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีลักษณะซื้อขายกัน ไม่เห็นคุณค่าแห่งความเป็นคน ดูถูกเหยียดหยาม ให้เป็นพลเมืองชั้นสอง

ผลที่ตามมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยระบบกลไกตลาด คือ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น/ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างมาก ที่ประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ปีนี้กำลังวิตกกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลจากน้ำมือของตัวเอง ผู้บริหารไอเอ็มเอฟยังรู้สึกกลัวระบบทุนนิยมตามที่คาร์ล มาร์คซ์กล่าวว่า “ความไม่ยุติธรรมคือเมล็ดพันธุ์ที่ทำลายตัวระบบเอง” และเตือนในที่ประชุมว่าควรต้องทำอะไรสักอย่าง

ระดับปัญหาวิกฤตของทุนนิยมดูได้จากการศึกษาขององค์กรอ็อกซ์แฟม ที่พบว่า คนรวยสุด 80 คนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมเท่าๆกับคนจนจำนวน 3.5 พันล้านคน  ปีที่แล้วคนรวยสุด 1% ครอบครองมูลค่าเท่ากับ 48% ของมูลค่าทั้งหมดในโลก สูงขึ้นมา 4% ในรอบ 5 ปี และปีหน้านี้คนรวยสุด 1% ก็จะรวยกว่าคนอีก 99% รวมกัน  ด้วยปัญหาความไม่ยุติธรรมในเรื่องรายได้ ที่เป็นมานานถึง 30 ปี ทำให้คนอัฟริกามีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลล่าสหรัฐฯ

นอกจากนี้ จากรายงานของแอ็คชั่นเอด ที่ประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สรุปว่า ผู้หญิงในประเทศยากจนถูกโกงเงิน (สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้) มูลค่า 9 ล้านล้านดอลล่าต่อปี (270 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับจีดีพีของสามประเทศรวมกันคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เพราะถูกจ้างงานด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าผู้ชาย ซึ่งหมายถึงนายทุนใช้ความเสียเปรียบที่เพศหญิงเป็นอยู่ เอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง ได้แก่ การจ้างงานในบ้าน เลี้ยงดูเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ เหมาช่วงตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้าน เพื่อลดต้นทุน ทำให้ช.ม.การทำงานของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 10 เท่ากว่า โดยเฉพาะในประเทศบังคลาเทศ

มูลนิธิเมลินดาและบิล เกตส์ มองว่า การพัฒนาเด็กและผู้หญิงในประเทศยากจน ไม่ว่าจะในอินเดีย ในทวีปอัฟริกาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งผลต่อระดับโลกได้ ขณะนี้มีคนจนนับ 2 พันล้านคน มูลนิธิฯ คาดการณ์ว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในอีก 15 ปี หากมีการลงทุนพัฒนากลุ่มสตรี ซึ่งตีความได้ว่า  กลยุทธ์ของนายทุนใหญ่ คือ การให้การศึกษา เมื่อมีการศึกษาก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานสร้างมูลค่า มีรายได้ และนำรายได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ค่าอาหาร ยารักษาโรค การศึกษาของลูกต่อไป ซึ่งการไปพัฒนาเด็กและสตรี ไม่ใช่เรื่องของการมีใจโอบอ้อมอารีสงสาร แต่เป้าหมายคือการปลดปล่อยกำลังแรงงานที่ถูกกดขี่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สถานการณ์ผู้หญิงในไทย

ข่าวอาชญากรรมต่อเด็ก สตรี การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวเป็นข่าวที่โดดเด่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ และสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเรื้อรังของปัญหาความรุนแรงในสังคม และระบบรัฐไทย ที่มีลักษณะอำนาจนิยม ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

นอกจากนี้ ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง เช่น ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย ด้อยการศึกษากว่า ไม่ได้รับการยอมรับเป็นผู้นำขององค์กรเท่าที่ควร แบกรับภาระดูแลบุตรธิดามากกว่าผู้ชาย ซึ่งสะท้อนวิธีการกำหนดบทบาทหน้าที่ด้วยเพศสภาวะ รวมถึงการถูกโจมตี ดูหมิ่นด้วยอคติทางเพศ ดังตัวอย่างที่มักได้ยินได้ฟังจากคำปราศรัยบนเวทีทางการเมืองของกปปส.

การกระทำอันรุนแรงต่อผู้หญิง และการเลือกปฏิบัติให้ต้อยต่ำกว่าผู้ชาย การที่ผู้หญิงในชนชั้นล่างได้รับโอกาสน้อยกว่าคนชั้นกลางและคนชั้นนำ คือการเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม ให้เป็นฝ่ายไร้อำนาจ
การสร้างกรอบวัดศีลธรรมของผู้หญิง เช่น

  • การใช้ความซื่อสัตย์ของผู้หญิงเป็นตัววัดคุณค่าของครอบครัว ในขณะที่สังคมไม่ตำหนิผู้ชายที่มีภรรยามากกว่า 1 คน
     
  • หญิงมีชู้กลายเป็นสาเหตุหย่า แต่ผู้ชายกลับไม่
     
  • หญิงถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ต้องดูแลบ้านเลี้ยงลูก หากตั้งครรภ์แล้วยุติการตั้งครรภ์ ก็จะถูกสังคมตำหนิเป็นจำเลยของสังคม

จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าในปี 54 มีกรณีที่ภรรยาถูกสามีทำร้าย จำนวนกว่า 27,000 กรณี  กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากนี้สะท้อนว่า กลไกของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้หญิงได้  เพราะเป็นปัญหาที่มาจากวัฒนธรรมไทยรับใช้ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน

แม้ว่าปัจจุบัน การที่ผู้หญิงจำนวนมากออกมาทำงานนอกบ้านได้ช่วยปลดแอกพวกเขาออกจากกรอบประเพณีดั้งเดิมบางส่วน มีอำนาจต่อรองกับพ่อแม่ สามี เพราะมีอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น มีอาชีพการงานดีขึ้น เป็นที่ยอมรับ ตัดสินใจที่จะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน อยู่ก่อนแต่ง เปลี่ยนคู่ มีเสรีภาพทางเพศ ต่อสู้กับนายจ้างในโรงงาน เฉื่อยงาน หยุดเครื่องจักร นัดหยุดงาน ตั้งสหภาพแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม ทว่า ยังไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจของกลุ่มพลังที่นิยมลัทธิทหาร /ลดทอนพลังของวัฒนธรรมอำนาจนิยมได้ ดังเห็นได้จากการที่บริบทสังคมไทยขณะนี้ เต็มไปด้วยวาทกรรมคนดีมีศีลธรรมแบบไทยๆ นโยบายปลูกฝังค่านิยมแบบไทยๆ ปฏิเสธความหลากหลายทางความคิด ที่มีกลไกปราบปรามของรัฐคอยใช้กำลังคุกคามปิดปาก กักขังคนที่คิดต่างในทางการเมือง การมีนักโทษทางความคิดและใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก  ระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน เพื่อรักษาระบบที่ต้องการแรงงานราคาถูกเอาไว้

ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม ที่มาพร้อมกับการใช้กำลัง เงิน ตำแหน่งหน้าที่ของคนระดับสูงในสังคมไทย กดขี่ผู้หญิงและประชาชนคนชั้นล่าง  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างข้าราชการกับประชาชน ผู้ใหญ่กับเด็ก นายจ้างกับลูกจ้าง ครูกับนักเรียน ในโครงสร้างสังคมชนชั้นเป็นปัจจัยหลักที่กดขี่ผู้หญิง พร้อมๆกับแรงงานคนชั้นล่าง มากกว่าระบบชายเป็นใหญ่ที่เล็งเห็นเฉพาะมิติทางเพศ ในลักษณะชายกดขี่หญิง แม้หญิงจะได้รับโอกาสด้านอาชีพมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนดุลอำนาจให้มาอยู่ในมือของประชาชน และสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานได้


2. การปลดปล่อยสตรีกับการสร้างประชาธิปไตย

หากดูประวัตินักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและสิทธิพลเมือง จะปรากฎบุคคลที่โดดเด่นอย่างโรซ่า ปาร์กส์ คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าชาวแอฟริกันอเมริกัน เป็นนักกิจกรรมต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ไม่ยอมสละที่นั่งให้แก่คนผิวขาวบนรถเมล์ ในปี 1955 ที่รัฐอลาบามา สภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาขนานนามว่าเป็นสุภาพสตรีแห่งเสรีภาพคนแรก “The first lady of freedom.” เธอเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองให้แก่คนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เป็นสมาชิกของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนสีผิวแห่งชาติ (NAACP)

อีกตัวอย่างก่อนหน้าโรซ่า ปาร์คส์ คือ คลาร่า เซทกิน นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ของคนงานหญิง นอกจากเธอจะต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี การลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือ 8 ชั่วโมงและเรียกร้องการใช้ระบบสามแปด สร้างมาตรฐานแรงงานด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มี.ค.1907 และเรื่อยมา  เธอจึงเป็นผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล  นอกจากนี้ เธอยังต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองคือ สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง  อีกทั้ง ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับโรซ่า ลักเซมเบอร์กในนามกลุ่มสปาตาซิสต์ และยังต่อต้านพรรคนาซีกับการทำสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศรัสเซีย

การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงาน ยังไม่เพียงพอ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน สร้างขบวนการประชาธิปไตยให้เติบโตเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับระบบทุนนิยมและรัฐอำนาจนิยม

ดังนั้น แนวทางของการปลดปล่อยพลังของสตรี สามารถทำได้ดังนี้

  • เพิ่มศักยภาพด้วยการติดอาวุธทางปัญญา ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เช่น กลุ่มศึกษาของแรงงาน
     
  • เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางชนชั้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในระดับนโยบาย เช่น สิทธิในการทำแท้ง เสรีภาพเหนือร่างกายของผู้หญิง เช่น การแต่งกาย ยุติการใช้ความรุนแรง ลดช่องว่างระหว่างค่าจ้างของคนงานหญิงกับชาย สวัสดิการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น
     
  • ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในกลุ่ม ในสหภาพแรงงาน ในสถานที่ทำงาน เช่น ไม่ควรกำหนดงานบริการเสริฟน้ำ กาแฟ ดูแลห้องประชุมให้ผู้หญิงแบกรับเพียงฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้ผู้หญิงนำวงเสวนา เป็นวิทยากรในจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชาย จัดสรรโควตาการดำรงตำแหน่งของผู้หญิงในโครงสร้างการบริหารงานองค์กรด้วย
     
  • ฝึกฝนการรณรงค์ในรูปแบบวิธีการต่างๆ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วม

นั่นหมายความว่า ประเด็นผู้หญิงต้องคำนึงถึงประเด็นทางชนชั้น และประเด็นทางชนชั้นต้องไม่บดบังความเป็นหญิง  แต่แนวทางเหล่านี้จะเดินไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง จำเป็นต้องมีองค์กรที่เข้มแข็ง สร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ มีเครือข่าย แนวร่วม เป็นขบวนการที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีโครงสร้าง ระบบการทำงานภายในที่ชัดเจน และสร้างพรรคการเมืองของประชาชน ไม่หวังพึ่งพรรคคนรวยที่มักได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งมากกว่าคนจน  ฉะนั้นประชาชนคนยากจน จึงต้องสร้างศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น  ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงไม่มีท่านใดปฏิเสธ แต่ก้าวต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้มาร่วมมือกันทำงานภายใต้กฎอัยการศึก  และจะออกแบบระบบการทำงานร่วมกันอย่างไร  นี่คงเป็นโจทย์ให้ขบคิดกันมากขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net