Skip to main content
sharethis

ชาวสหรัฐฯ รวมถึงนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศต่างพากันต่อต้านกฎหมาย 'ฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา' ซึ่งกลัวว่าจะถูกนำมาอ้างใช้เพื่อกีดกันทางเพศสภาพ อย่างเช่นการไม่ต้อนรับหรือให้บริการคนรักเพศเดียวกัน

 

30 มี.ค. 2558 หลังจากที่ ไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียน่าจากพรรครีพับรีกันลงนามอนุญาตใช้กฎหมายกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านทั้งจากนักกิจกรรม ศิลปิน เจ้าของธุรกิจ และนักกีฬา จากทั่วประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อรัฐอินเดียน่าในนามการเคลื่อนไหว #BoycottIndiana จนทำให้ ส.ส. รัฐอินเดียน่าเริ่มคำนึงว่าควรย้อนกลับมาพิจารณากฎหมายใหม่อีกครั้งหรือไม่

กฎหมายกีดกันทางเพศฉบับดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "กฎหมายฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา" ที่มีการลงนามอนุญาตใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในเนื้อความกฎหมายนี้ระบุห้ามไม่ให้มีกฎหมายของรัฐใดๆ ที่เป็นการ "สร้างภาระอย่างหนัก" ต่อการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของประชาชนทั่วไป สถาบันทางศาสนา สมาคม หรือธุรกิจ

นักวิจารณ์กล่าวว่ามาตรการนี้จะกลายเป็นการสนับสนุนให้บุคคลหรือธุรกิจกระทำสิ่งที่ล่วงละเมิดกฎหมายห้ามการกีดกันซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมกังวลว่ากฎหมายที่อ้างถึงเสรีภาพทางศาสนานี้จะถูกนำมาใช้เหยียดหรือกีดกันกลุ่มคนรักเพศเดียวกันโดยเจ้าของธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตามมีการประท้วงจากหลายฝ่าย โดยมีการติดสติ๊กเกอร์ตามหน้าร้านค้าทั่วรัฐอินเดียนาซึ่งระบุข้อความว่า "ธุรกิจแห่งนี้เปิดรับทุกคน" และเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมานักกิจกรรมหลายร้อยคนก็พากันเดินขบวนนอกที่ว่าการรัฐเพื่อเรียกร้องให้เพนซ์ลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้สมาคมนักกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติสหรัฐฯ (N.C.A.A.) ยังแสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบนักกีฬาและผู้เข้าชมกีฬาของตน ซึ่งนักกีฬาซูเปอร์สตาร์เอ็นบีเอชื่อ ชาร์ลส บาร์ตลีย์ ประท้วงด้วยการเรียกร้องให้การจัดแข่งบาสเก็ตบอลรอบสุดท้ายของ N.C.A.A. ในรัฐอินเดียน่าไปจัดในรัฐอื่น เจสัน คอลินส์ นักกีฬาเอ็นบีเออีกคนหนึ่งวึ่งเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันยังโพสต์แสดงความกังวลถึงกฎหมายนี้ในทวิตเตอร์ของเขาด้วย

อย่างไรก็ตามเพนซ์กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้อ้างว่าเป็นการคุ้มครองย้อนหลังให้กับผู้ที่รู้สึกว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาของตนกำลังถูกโจมตีโดยการกระทำของรัฐบาล เขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออีกว่าแม้จะมีผู้ประท้วงแต่เขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ เพนซ์ยังปฏิเสธอีกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจตนาทำให้เกิดการเหยียดหรือการกีดกัน

ทางด้านผู้อำนวยการด้านกฎหมายของกลุ่มสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ซาราห์ วอร์บิโลว์ กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงความอดกลั้นต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเธอคิดว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถส่งผลให้เกิดการกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้จริง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนในวงการไอทีอย่างทิม คุก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล และเจเรมี สต็อปเปลแมน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Yelp ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงผู้นำคนอื่นๆ อย่าง ฮิลลารี่ คลินตันรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และ เกรก บัลลาด นายกเทศมนตรีเมืองอินเดียนาโปลิสสังกัดพรรครีพับรีกัน ก็พากันต่อต้านกฎหมายฉบับนี้


เรียบเรียงจาก

Indiana Law Denounced as Invitation to Discriminate Against Gays, New York Times, 27-03-2015

National #BoycottIndiana Movement Drives Officials to Backpedal on Anti-LGBTQ Law, CommonDreams, 29-03-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net