นักวิจัยจากคอร์เนลล์มอง 'ปฏิรูปที่ดินในกัมพูชา' ยังไม่แก้ปัญหาเดิม-ส่อเกิดปัญหาใหม่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เขียนบทความกรณีรัฐบาลมีแผนปฏิรูปที่ดินในกัมพูชา สะท้อนวัฒนธรรมการเมืองแบบใช้ที่ดินสร้างอำนาจและความนิยม แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว อีกทั้งยังส่อเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการจัดสรรที่ดิน

30 มี.ค. 2558 อลิซ เบบอง ฟรองซ์ ว่าที่ดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เขียนบทความในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรั่มวิเคราะห์เกี่ยวกับการสนับสนุนปฏิรูปที่ดินในกัมพูชาซึ่งน่าหวั่นเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับประชาชน

ฟรองซ์ระบุว่า การปฏิรูปที่ดินจะทำให้ประชาชนรายเล็กๆ ราว 770,000 คนที่ยังไม่ได้รับการระบุสิทธิชัดเจนเหนือที่ดินของตน ผู้อาศัยอยู่บนที่ดินรายเล็กๆ เหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าบริษัทจากโครงการพัฒนาที่ต้องการทำพื้นที่ไว้ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรในนามของ 'สัมปทานที่ดินเพื่อเศรษฐกิจ' (ELCs) ซึ่งโครงการพัฒนาของรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่มีการควบคุมและช่วยเหลือในเรื่องการยุติข้อขัดแย้งแต่อย่างใด

ฟรองซ์ระบุว่าปัญหาหลักๆ ในกัมพูชาคือเรื่องความโปร่งใสในภาคส่วนที่ดิน และการยกเลิก ELCs ก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลอย่างไรบ้างเพราะไม่เคยมีข้อมูลสาธารณะที่บ่งบอกชัดเจนว่าที่ใดเป็นผืนดินของรัฐ เป็นที่มีกรรมสิทธิ์ หรือเป็นที่ดินลงทุนทางการเกษตร

รัฐบาลกัมพูชาเคยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยช่วยสำรวจพบว่ามีเจ้าของที่ดินในกัมพูชามากกว่า 600,000 คน อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ และยังมีแผนการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่ แต่การพยายามจัดสรรนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยเฉพาะชนพื้นเมืองในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการยึดครองที่ดินทำกิน ทั้งที่มีประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 74 จากการสำรวจโดยนักศึกษายังคงรอการออกเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินของพวกเขาอยู่ ส่วนที่ไม่ได้ถูกระบุในการสำรวจของนักศึกษากัมพูชาก็น่ากังวลเช่นกัน

ฟรองซ์ระบุว่าในช่วงที่มีแผนการจัดสรรกรรมสิทธิ์มีประชาชนบางส่วนถูกกดดันจากผู้มีอำนาจที่อาศัยในเมืองให้ขายที่ให้ซึ่งนับเป็นที่ดินขนาดกว้างขวางมาก โดยการจัดการนี้รอดพ้นไปจากสายตาของรัฐบาลกัมพูชาและการตรวจสอบของภาคประชาสังคม การขายที่ให้กับการลงทุนทางการเกษตรในกัมพูชาชวนให้ตั้งคำถามเนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่มีหนี้สินในชนบทสูงมากและมีความเสี่ยงสูงในภาคส่วนการธนาคาร

ฟรองซ์เสนอว่าควรมีการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินมากกว่านี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางที่ดินในกัมพูชา นอกจากนี้ยังต้องมีการฝึกอบรมในชุมชนและการประชุมหารือของผู้ถือหุ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อนายทุนผู้บริจาคให้รัฐบาล แต่สิ่งที่ควรจะประเมินกันจริงๆ คือ ประชาชนกัมพูชายังคงสูญเสียที่ดินอยู่หรือไม่

บทความยกตัวอย่างวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวจากโครงการรณรงค์น้ำตาลเลือด (Blood Sugar Campaign) ซึ่งมีเป้าหมายเป็นผู้บริโภคน้ำตาลในยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้สหภาพยุโรปปฏิบัติการสืบสวนในกรณีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนและการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรมเพื่อการทำไร่อ้อยในกัมพูชา

"นักกิจกรรมชุมชนในปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ผู้บริจาคควรเล็งเห็นจะต้องเปลี่ยนวิธีการจากการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคในระยะสั้นๆ มาเป็นการส่งเสริมในระยะยาวทั้งด้านกฎหมายและการเสริมอำนาจให้คนในชุมชน ทุกวันนี้วาทกรรมเรื่องสิทธิที่ดินที่มีการเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหารและความจำเป็นในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็กำลังเติบโตขึ้นด้วย" ฟรองซ์ระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามฟรองซ์ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมยังมีอุปสรรคจากการข่มขู่คุกคาม เช่น การจำคุกนักกิจกรรมที่ปิดถนนประท้วง นอกจากนี้ยังมีการพยายามซื้อตัวนักกิจกรรมในชุมชนและเอ็นจีโอ รวมถึงการปฏิเสธต่ออายุวีซ่าให้กับนักกิจกรรมต่างชาติด้วย นอกจากนี้สภาแห่งชาติของกัมพูชายังเตรียมออกกฎหมายลิดรอนสิทธิหลายด้าน ทั้งกฎหมายควบคุมสื่อ กฎหมายการจำกัดชนิดพืชพันธุ์ของเกษตรกรและบทลงโทษของผู้ไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงกฎหมายที่ทำให้รัฐมีอำนาจเหนือเอ็นจีโอมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการออกกฎหมายล้าหลัง

ฟรองซ์ตั้งข้อสังเกตต่อวัฒนธรรมทางการเมืองกัมพูชาว่า ผู้นำกัมพูชาอย่างฮุนเซนมีการใช้ที่ดินเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ใช้เรื่องแจกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับคนจนเป็นการรณรงค์หาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้ง แต่ตัวเขาเองก็มีการแจกจ่ายที่ดินให้กับชนชั้นนำเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและอาศัยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการสะสมความมั่งคั่งของตัวเอง

ฟรองซ์ระบุว่าสิ่งที่เป็นปัญหาท้าทายรัฐบาลกัมพูชาคือ "คนตัวใหญ่" อย่างพวกเขาจะทำอย่างไรในการสร้างความเปลี่ยนแปลงระยะยาวแทนการสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น สิ่งที่ควรจะทำมีมากกว่าการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน การยึดครองที่ดิน หรือออกสัมปทาน แต่ควรมีการเปลี่ยนนโยบายทางสังคมที่มองที่ดินเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตแทนการมองเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เรียบเรียงจาก

Time to sow the seeds of land reform in Cambodia, Alice Beban France, East Asia Forum, 26-03-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/03/26/time-to-sow-the-seeds-of-land-reform-in-cambodia/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท