Skip to main content
sharethis

นักกฎหมาย-นักวิชาการจัดเวทีระดมสมองปัญหาป่าไม้ที่ดินอีสาน ชี้ผลกระทบจากการจัดการป่าไม้ยุค คสช. ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 28 – 29 มี.ค.58 ที่ศาลาบ้านดินชุมชนหนองจาน ต.นาหองทุ่ม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ภาคประชาชนอีสานที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินทั้งในเขตพื้นที่ป่าไม้ และที่สาธารณะประโยชน์กว่า 80 คน ร่วมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นจัดทำร่างแผนแม่บทป่าไม้โดยประชาชนเตรียมเสนอภาครัฐ โดยมีนักวิชาการและนักกฎหมายร่วมแลกเปลี่ยน

สมนึก ตุ้มสุภาพ  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การระดมสมองครั้งนี้ต่อเนื่องจากเวทีสัมมนา “ยกร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 – 20 มี.ค.58 ณ โรงแรมเจริญธานี  จังหวัดขอนแก่น โดยในวันดังกล่าว นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ได้ร่วมเชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากภาคประชาชน ที่ร่วมกันร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน เสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มว่า เวทีครั้งนี้ จึงเป็นส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นัดหมายร่วมกันจัดทำแผนยกร่างแผนแม่บทฯ ที่จัดการกันเองโดยชุมชนขึ้นอีกครั้ง เพื่อรวบรวมและร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแต่ละพื้นที่ ทั้งปัญหาและผลกระทบต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมเสนอภาครัฐให้ร่วมพิจารณาสนับสนุนแผนแม่บทที่ร่างโดยประชาชน ให้มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน รวมทั้งให้ผู้มีอำนาจสั่งการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ยกเลิกการจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลของประชาชน และให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกับภาคประชาชน เพื่อศึกษาว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทจำนวนเท่าไร อย่างไร

สมนึกเสริมอีกว่า ในพื้นที่ภาคอีสานภายหลังคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/57 และประกาศใช้แผนแม่บทป่าไม้ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ของรัฐพบว่า ประชาชนหรือราษฎรได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว เท่าที่ร่วมแลกเปลี่ยนจากตัวแทนที่เข้าร่วมครั้งนี้พบว่า มีไม่ต่ำกว่า15 พื้นที่ และไม่น้อยกว่า 10 จังหวัดได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งคำสั่งให้ออกจากพื้นที่  เช่นชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมินับจากวันที่ 25 ส.ค. 57 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังปิดป้ายประกาศไล่รื้อ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

นอกจากนี้ บางพื้นที่ถูกตัดฟันอาสิน  จับกุมดำเนินคดี  และถูกผลักดันออกจากพื้นที่  ทั้งขโมยทรัพย์สินชาวบ้าน  ติดป้ายตรวจยึด  เช่น ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน และป่าดงกระเฌอ บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนครโดยหน่วยงานภาครัฐเข้าทำการตัดต้นยางพาราไป 380 กว่าไร่ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก 37 ราย โดนทั้งคดีอาญา บางรายโดนรื้อบ้าน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน บ้านดานเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยเจ้าหน้าฝ่ายปกครองอำเภอสามชัยเจ้าหน้าที่ทหารชุดร้อย รส.1 ม.พัน 14 และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสามชัย  แจ้งให้ชาวบ้านมารวมกันเพื่อจะดำเนินการทำข้อมูลออกเอกสารสิทธิที่ดินให้  ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมบัตรประชาชนไว้  จากนั้นได้ทำการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน

“แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาส่งผลต่อความหวาดระแวงของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องการดำเนินชีวิตแบบไม่มีความสุข ไร้สิ้นซึ่งความมั่นคง บางพื้นที่ถูกผลักดันออกไปแล้วคือ กรณีป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ บ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ครอบครัวต้องจากบ้าน สูญสลายกระจัดกระจายไปรับจ้างทำงานต่างถิ่นซึ่งข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น มีอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุคสมัยไม่สามารถดำเนินการให้เป็นที่ยุติได้กระทั่งปัจจุบัน หากแผนแม่บทดังกล่าวดำเนินการต่อ โดยไม่พิจารณาประวัติศาสตร์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิที่ดิน การถูกอพยพอาจเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งชาวบ้านต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดินอย่างแน่นอน ดังนั้นชาวบ้านจึงร่วมระดมยกร่างแผนประชาชนดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่ซ้ำรอยมานับครั้งไม่ถ้วน” ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ชาวบ้านมักเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด และนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐ โดยภาพรวมมองว่า นอกจากปัญหาความเหลี่ยมล้ำที่ต่อเนื่องมาจากทุกยุคสมัยรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐมีเป้าหมายให้ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ในเขตป่าและที่ดินของรัฐ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกต่อต้านความไม่เป็นธรรม แม้ชุมชนจะมีหลักฐานพร้อมข้อเท็จจริงในสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า  แต่ขาดโอกาสที่จะเข้าพบและอธิบายข้อมูลให้กับผู้มีอำนาจให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด

อลงกรณ์ กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสั่งการไม่พร้อมเปิดใจรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง ให้เกิดการมีส่วนร่วมตัดสินใจกันหลายฝ่าย ชาวบ้านก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน การถูกละเมิดสิทธิชุมชน และถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว

“ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ หรือการพิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ออกไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา “อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองกล่าว

ด้านวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิเคราะห์ลึกลงไปในรายละเอียดให้มากกว่านี้ จะเห็นว่านับแต่มีกฎหมายป่าไม้ รวมทั้ง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่คลอดออกมา ทุกฉบับไม่มีพื้นที่สำหรับในเรื่องของสิทธิชุมชนที่เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการได้เลย ดังนั้น หลักการแก้ไขปัญหาต้องคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อความยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ด้วย

ที่ปรึกษาศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ ควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะหันมาให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ ไม่เช่นนั้น คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/57 ที่ระบุและมีผลบังคับใช้ ว่า การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการขั้นตอนต่อไป ตรงกันข้ามผู้มีอำนาจกลับไม่หยิบคำสั่ง 66/57 มาบังคับใช้ ในฐานะที่ชาวบ้านต่างถือครองทำประโยชน์มาก่อนที่รัฐจะเข้ามาประกาศเขตป่าต่างๆ ทับซ้อน อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้มีการบุกรุกเพิ่มแต่อย่างใด รวมทั้งพื้นที่พิพาทก็ได้มีกระบวนการแก้ไขมาโดยตลอด ล่าสุดมติตามนโยบายข้อเสนอในที่ประชุมให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน

“หากวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุแห่งความขัดแย้ง จะพบว่ากรอบความคิดและแนวปฏิบัติของรัฐ จะมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของราษฎร ทำให้ความไม่ชอบธรรมตกอยู่ที่ชาวบ้านสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการสร้างความไม่ปกติสุขในการดำเนินชีวิตให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นการคืนความสุขอย่างแท้จริง และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง “ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายฯ ให้ความเห็น ทิ้งท้าย

ในเวทีระดมความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ภาครัฐมีส่วนร่วมการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐที่ประกาศทับซ้อนชุมชนและพื้นที่ทำกิน จัดทำแนวเขตและจำแนกที่ดินให้ชัดเจน รวมทั้งจัดสรรที่ดินและรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจน และส่งเสริมสนับสนุนการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ หรือการใช้แนวคิดในระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรโดยชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ผลกระทบพื้นที่เขตป่า ผู้เข้าร่วมเวทีที่ได้รับผลกระทบจากกรณีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ให้ข้อมูลว่า ถูกหน่วยงานท้องถิ่น เข้ามาดำเนินการปิดกั้นพื้นที่พิพาทหลังมีประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ รวมทั้งยื่นคำขาดให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เช่น กรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกป่าแดง ต. สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงปราสาท อ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64 /2557 จัดทำโครงการขุดคลองส่งน้ำโดยขุดผ่านที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหาบุกรุกพื้นที่

กรณีที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งซำเสี้ยว ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการขุดลอกแนวเขตที่สาธารณะประโยชน์ทำให้พืชพันธุ์ผลอาสิน อาทิ ไร่อ้อย และนาข้าว ถูกทำลายได้รับความเสียหาย

และกรณีที่สาธารณะโคกหนองสิม ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด จากเหตุการณ์วันที่ 12 ก.พ.58 มีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย จังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด กองทัพภาคที่สอง รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 60 นาย เข้ามาตรวจสอบพื้นที่พร้อมข่มขู่ให้ชาวบ้านที่ไปร่วมลงชื่อออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังขู่ว่าจะทำการรื้อถอนวัด และมีการข่มขู่ว่าหากพระกลับเข้ามาจะจับสึกโดยทันที ทำให้วันนี้พระยังไม่กล้ากลับเข้ามาจำวัด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net