ตะวันออกกลาง: การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยสงคราม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
สงครามเต็มรูปแบบในเยเมนที่เริ่มขึ้นเมื่อซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรกลุ่มสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC) และประเทศมุสลิมบางประเทศได้เริ่มถล่มทางอากาศต่อเยเมนในวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาจะไม่ใช่เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างเยเมนและซาอุดิอาระเบียและถ้าประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงไม่มีรัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางการเมือง (อ่านว่าประชาธิปไตย) เราสามารถคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจว่าสงครามในโลกอาหรับจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งในอนาคตอันใกล้และไกล (โปรดดูบทความเรื่อง “การเดินทางครั้งใหม่ของโลกอาหรับ “  ที่ได้คาดการณ์เรื่องดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ http://www.prachatai.com/journal/2011/04/34124) ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการเมืองที่ชอบธรรมกับการเกิดสันติภาพ จำเป็นต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์ศาสตร์บางช่วงบางตอนซักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์ปัจจุบันในเยเมน
 
เมื่อกองกำลังปฏิวัตินำโดย อับดุลเลาะห์อัซซัลลาล (Abdullah al-Sallalเสียชีวิต ค.ศ.1994) ทำการโค่นล้มกษัตริย์ อิหม่าม มูฮัมหมัด อัลบัดร (Muhammad Al-Badrเสียชีวิต ค.ศ.1996)  เพื่อสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นในเยเมน ในปี ค.ศ.1962 ซาอุดิอาระเบียซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เช่นเดียวกันกลัวจะเป็นรายต่อไปที่ถูกกระแสของการปฏิวัติพัดลงสู่ถังขยะของประวัติศาสตร์ได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับอิหม่าม มูฮัมหมัด อัลบัดรจำนวน 40,000 นายบุกเข้าเยเมนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางตอนเหนือที่มีพรมแดนติดกันกว่า 1,800 กม. ด้วยการช่วยเหลือของอังกฤษและอิหร่านเพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ กล่าวสำหรับอับดุลเลาะห์อัซซัลลาล นั้นมีกองกำลังจำนวน 70,000 นายหนุนหลังซึ่งส่งตรงมาจากผู้นำอียิปต์กามาล อับดุลนัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser เสียชีวิต ค.ศ.1970) ศัตรูหมายเลขหนึ่งของราชวงศ์ซาอู๊ด (House of Saud) และเป็นผู้จุดประกาย “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1952 และต่อมาเขาเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมชมชอบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับสมัยใหม่  สงครามตัวแทนระหว่างซาอุดิอาระเบียและอียิปต์ในแผ่นดินเยเมนซึ่งกินเวลาเกือบทศวรรษ ได้เริ่มสงบลงประมาณปี ค.ศ.1970โดยที่ทหารอียิปต์เสียชีวิตถึง15,000 นาย ขณะที่ชาวเยเมนเสียชีวิต มากกว่า 100,000 คนสงครามได้สร้างความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้แก่เยเมนประเทศที่มีเมืองท่าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ร่ำรวยให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในตะวันออกกลางในปัจจุบันแม้ผลของสงครามจะทำให้ซาอุดิอาระเบียมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในเยเมนเนื่องจากอียิปต์อ่อนแอจากการพ่ายแพ้ในสงครามหกวันระหว่างอาหรับกับอิสราเอลในปี ค.ศ.1967กระนั้นก็ตามสงครามในครั้งนั้นก็มิอาจทำให้ระบอบสาธารณรัฐอ่อนแอลง กลับสร้าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมนใต้ (People’s Democratic Republic of South Yemen: PDRSY)ซึ่งนิยมมาร์กซิสม์ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
 
กงล้อประวัติศาสตร์หมุนกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้งในวันนี้ หากแต่สลับสับเปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตรเมื่ออียิปต์นำโดยนายพล อับเดลฟัตตะฮอัลซีซี่ (Abdel Fattah el-Sisi) ผู้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนาย มูรซี (Mohamed Morsi) กลายเป็นผู้สนับสนุนซาอุดิอาระเบียอย่างแข็งขันในสงครามโค่นกลุ่มฮูซี่ (Houthi) ชนเผ่าทางตอนเหนือนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮสายไซดียะฮ[1] ซึ่งควบคุมเยเมนเอาไว้ได้เกือบทั้งหมดโดยมีอดีตมิตรผู้เคยให้การช่วยเหลือซาอุดิอาระเบียอย่างอิหร่านกลายเป็นศัตรูผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มฮูซี่อยู่เบื้องหลัง แม้ซาอุดิอาระเบียจะอ้างว่าการปฏิบัติการทางทหารต่อเพื่อนบ้านในครั้งนี้เป็นไปเพื่อคืนความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ถูกโค่นโดยกลุ่มฮูซี่ แต่เป็นที่รู้กันว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของซาอุดิอาระเบียคือการสกัดอิทธิพลของอิหร่านที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆจากเหตุการณ์สงครามในอิรัก ซีเรีย และเลบานอน ซาอุดิอาระเบียมองว่าเยเมนที่เป็นมิตรกับอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน นอกจากนั้นการสูญเสียการนำของซาอุดิอาระเบียในภูมิภาคก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียตัดสินใจแสดงบทแข็งกร้าวทั้งๆที่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่านักรบเดนตายจากภูเขาที่แห้งแล้งของเยเมนมิใช่อูฐเชื่องๆในทะเลทรายที่จะต้อนเอาได้ง่ายๆ
 
เหตุการณ์การสลับจับขั้วชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างด้านศาสนาและนิกายทางศาสนามิใช่ประเด็นที่ทำให้เกิดสงคราม ซาอุดิอาระเบีย (อิสลาม)ไม่รู้สึกว่าอิสราเอล (ยิว) เป็นภัยคุกคามต่อตนเอง ขณะที่ซุนหนี่กับซุนหนี่ (อียิปต์กับซาอุดิอาระเบีย) ซุนหนี่กับชีอะฮ(ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน) พร้อมจะรบกันได้ตลอดเวลาถ้ารัฐไม่ว่าจะนับถือนิกายอะไร มีความรู้สึกว่าถูกคุกคาม ไม่ว่าภัยคุกคามนั้นจะเป็นจริงหรือจินตาการขึ้นมาด้วยเหตุผลใดก็ตาม
 
คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตะวันออกกลางจึงมีความรู้สึกว่าเพื่อนบ้านเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง? และในทางกลับกันทำไม“เพื่อนบ้าน” จึงต้องพยายามขยายอิทธิพลของตนเองในเบื้องแรก? ทำไมรัฐอาหรับจึงอ่อนไหวต่อภัยคุกคาม (ทั้งที่เป็นจริงและสร้างกันขึ้นมา)? ทำไมภัยคุกคามระหว่างกันจึงเกิดขึ้นและมักระเบิดเป็นสงครามในกลุ่มประเทศในโลกอาหรับ? และทำไมภูมิภาคในตะวันออกกลางจึงไม่ว่างเว้นจากภาวะสงครามตลอดศตวรรษที่ผ่านมาแม้หลังได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมแล้วก็ตาม?แน่นอนว่าการเกิดขึ้นมาของอิสราเอลและการค้นพบบ่อน้ำมันทำให้ภูมิภาคนี้ลุกเป็นไฟได้ง่ายๆ แต่ทำไมเกิดสงครามระหว่างประเทศอาหรับ(มุสลิม)ด้วยกันเอง?คำอธิบายที่มักพบบ่อยก็คือความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลางเป็นมรดกที่จักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสได้ทิ้งไว้ก็ไม่น่าจะหนักแน่นพอเนื่องจากภูมิภาคอื่นๆก็เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสมาก่อนเช่นเดียวกัน
ก่อนที่จะตอบคำถามข้างบน ข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้คือรัฐอาหรับมุสลิมในตะวันออกกลางล้วนเป็นรัฐเผด็จการอำนาจนิยม เป็นการปกครองโดยคนๆเดียวหรือกลุ่มคนที่ใช้ความเป็นชนเผ่า (tribalism)เป็นฐานสร้างความภักดีทางการเมือง โดยใช้อำนาจเด็ดขาดกดทับผู้คนและสังคมเอาไว้ด้วยการใช้ความรุนแรง (รวมทั้งการ “ซื้อ” ความสะดวกสบายแก่ประชาชนด้วยเศษเงินจากน้ำมัน) ระบอบการเมืองและรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มิได้เป็นผลอันเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันของประชาชน ลักษณะดังกล่าวทำให้การดำรงอยู่ของรัฐเหล่านี้ขาดความชอบธรรม (illegitimacy) ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐอยู่มีความรู้สึกอ่อนไหวเนื่องจากอาจถูกโค่นล้มได้ตลอดเวลาทั้งจากประชาชนผู้ถูกกดทับและจากอำนาจภายนอกซึ่งเป็นเผด็จการอำนาจนิยมเช่นเดียวกัน การที่จะต้องสร้างศัตรูภายนอกอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของตนเอง ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐเผด็จการเหล่านี้ใช้สงครามเป็นเครื่องมือ
 
ในทางตรงกันสาเหตุที่อำนาจจากภายนอกต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศเพื่อนบ้านก็เพราะต้องหารัฐลูกหาบ (client state) เพื่อเป็นเครื่องมือมิให้ตนเองซึ่งขาดความชอบธรรมถูกโค่นล้มเช่นกัน นอกจากนั้นการตัดสินใจเข้าสู่สงครามของรัฐเหล่านี้ล้วนเป็นการตัดสินใจโดยกลุ่มคนผู้กุมอำนาจจำนวนน้อยที่อ่อนไหวต่อการสูญเสียอำนาจมิได้เป็นการตัดสินใจที่วางอยู่บนรากฐานและสะท้อนความต้องการของประชาชนในวงกว้าง นี่ไม่ต้องพูดถึงว่ากระบวนการตัดสินใจไม่ได้รับการถกเถียง ตรวจสอบ หรือถ่วงดุลจากรัฐสภาที่มาจากประชาชนผู้มีแต่จะสูญเสียและได้รับผลโดยตรงจากภาวะสงคราม เมื่อเป็นการตัดสินใจที่ขาดความชอบธรรม เทววิทยาอิสลามจึงถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายและสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำหรือนโยบายของรัฐเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่าในสังคมมุสลิมสงครามในตะวันออกกลางที่ประเทศมุสลิมกระทำต่อกันจะถูกอธิบายและได้รับการถกเถียงในเชิงศาสนาว่าถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่ ข้อความจากคัมภีร์อัลกรุอ่านและคำพูดของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) จะถูกยกขึ้นมาโต้เถียงกันเพื่อสนับสนุนท่าทีต่อสงครามของฝ่ายตัวเองทำให้คำถามที่เป็นหัวใจสำคัญ หรือคำถามเชิงโครงสร้าง ดังเช่นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นไม่ได้รับความสนใจ ความพินาศจากสงคราม การล่มสลายของสังคม ชีวิตและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่มีที่ทางในการถกเถียง กระทั่งมิได้นำมาพิจารนาด้วยซ้ำ 
 
ก็ต่อเมื่อรัฐอาหรับมุสลิมในภูมิภาคตะวันออกกลางมีระบอบการเมืองและรัฐบาลที่มีความชอบธรรมซึ่งสะท้อนเจตจำนงของประชาชนเท่านั้น รัฐเหล่านี้จึงจะมีความมั่นคงภายใน และได้รับการเคารพจากสายตาของชุมชนระหว่างประเทศซึ่งเป็นการประกันความมั่นคงจากภายนอก ความอ่อนไหวต่อการคุกคามซึ่งมักนำไปสู่สงครามจะยุติลง ประเทศในภูมิภูมิภาคตะวันออกกลางจึงจะอยู่ด้วยกันด้วยความเคารพในเอกราชของกันและกัน การใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของความเป็นมนุษย์จึงจะดำเนินไปได้
 
 
 
[1] มาจากการที่พวกเขานับถือตาม ZaydibnʻAlīซึ่งเป็นหลานของ HusaynibnʻAlīซึ่งเป็นหลานของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซ.ล.)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท