'บวรศักดิ์' น้อมรับคำแนะนำ 'ประยุทธ์' รธน.ใหม่ยึดหลักฉบับปี 40, 50

"บวรศักดิ์" น้อมรับข้อแนะนำ "ประยุทธ์" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ยึดฉบับปี 40 และ 50 เป็นหลัก ขณะเดียวกันเพิ่มเติมออกกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายงบโฆษณาของภาครัฐและการจัดตั้งองค์กรสื่อ
 
4 เม.ย. 2558 สทท.เชียงใหม่ รายงานความเคลื่อนไหวกิจกรรมเวทีสัมนาการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ วันนี้ มีการแบ่งกลุ่มย่อยประชาชนที่เข้าร่วมเป็น 10 กลุ่มในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มสิทธิและการปฏิรูป โดย น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ , กลุ่มสถาบันการเมืองโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช , กลุ่มการกระจายอำนาจ โดย นายจรัส สุวรรณมาลา, กลุ่มนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดย นายบรรเจิด สิงคเนติ, กลุ่มการสร้างความปรองดอง โดย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และกลุ่มพลเมือง โดย นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา หลังจากนั้น จะเป็นการอภิปรายสรุปผลการสัมมนา และปิดการสัมมนา โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลาประมาณ 15.30 น.
 
โดยก่อนเข้าสู่ขบวนการกิจกรรมแบ่งกลุ่ม ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่ารัฐธรรมนูญพร้อมด้วย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลงข่าวโดยมีข้อสรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้บัญญัติถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนซึ่งจะอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เป็นหลักโดยไม่มีการปรับแก้ แต่จะมีการเพิ่มเติมในประเด็นใหม่ อาทิ สื่อมวลชนต้องมีความเป็นอิสระจากภาครัฐ ขณะเดียวกันเตรียมออกกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายงบโฆษณาของภาครัฐพร้อมกันนี้ยังจะมีการตั้งองค์การวิชาชีพสื่อ ที่จะต้องมีความเป็นอิสระทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลจริยธรรม รวมทั้งการจัดสวัสดิการของสื่อมวลชน พร้อมขอให้สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ
 
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ไม่รู้สึกกดดันหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทักท้วงและขอให้ปรับการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้มีเนื้อหาธรรมดา โดยนำบทบัญญัติจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาพิจารณาประกอบ ถือว่านายกรัฐมนตรีให้ความเห็นได้ เพราะเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เหมือนหัวหน้าพรรคการเมือง หรือนักการเมือง ส่วนประเด็นเรื่องที่มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ก็ควรไปถามหัวหน้าพรรคการเมือง และ ส.ส. ว่าจะเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯหรือไม่ แต่ก็รับฟัง เหมือนเวทีนี้ที่ความเห็นของภาคประชาชนถือเป็นส่วนที่ กรรมาธิการยกร่างฯต้องรับฟังเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของ กมธ.ยกร่างฯ 36 คน แต่เป็นของประชาชนทั้ง 65 ล้านคน โดยการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น กมธ.ยกร่างฯจะนำไปพิจารณาประกอบการแก้ไข หรือปรับปรุงในช่วง 60 วัน
 
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอในหัวข้อสถาบันการเมือง ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้นักการเมืองมีธรรมาภิบาล เป็นนักบริหารที่มองประเทศมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก โดยรูปแบบของสภานิติบัญญัติ ยังยึดระบบ2สภา คือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองเข้าร่วมส่งผู้สมัครรับเลือกด้วย เช่น กลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้าอยากส่งผู้สมัคร สามารถจดจัดตั้งกลุ่มแแล้วส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ และวุฒิสภาที่ล่าสุดได้ปรับให้มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน รวมเป็น 77 จังหวัด โดยก่อนจะมีการเลือกตั้ง ส.ว. จะมีกรรมการกลั่นกรองคุณสมบัติ และประเภทของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ใน 10 ประเภท นอกจากนั้นยังมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหา และการเลือกกันเองในกลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และอาชีพต่างๆ จำนวน 123 คน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท