นัก ก.ม.สิทธิฯ จี้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ชี้ขัดหลักประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ระบุให้อำนาจหัวหน้า คสช.เหนือนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ชี้ขัดหลักแบ่งแยกอำนาจ หลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชน

7 เม.ย.2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 แทนการใช้กฎอัยการศึก

แถลงการณ์ระบุว่า การประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เป็นการให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ เป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อหลักการพื้นฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยให้เหตุผลในการเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว 2 ประการ คือ

“1. การให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจเหนือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ เป็นการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขัดต่อหลักนิติรัฐ ที่แบ่งแยกอำนาจเพื่อถ่วงดุล ป้องกันการใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งการกำหนดให้การกระทำตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยความประสงค์หลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสถาบันตุลาการที่เป็นอิสระซึ่งทำให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว

2. การออกคำสั่งฉบับดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจของทหารในฐานะ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”กระทำการใดๆ ตามคำสั่งฉบับดังกล่าว เช่น ออกคำสั่งเรียก บุคคล จับกุม ค้น ห้ามการเสนอข่าว ฯ รวมถึงการทำหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน โดยการพิจารณาคดีของพลเรือนในข้อกล่าวหาตั้งแต่มาตรา 107 ถึง 112 และมาตรา 113 ถึง 118 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 ซึ่งขัดต่อหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยตุลาการที่เป็นอิสระซึ่งได้รับรองไว้ตามปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในหลายๆ ด้าน เช่น สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีผลทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดมากยิ่งขึ้นและส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ มีผู้ลงนามสนับสนุนการยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว รวม 132 ราย ซึ่งประกอบด้วย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ และบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ที่ห่วงกังวลต่อการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท