ข้อเสนอเปลี่ยนเบี้ยยังชีพมาเป็นระบบบำนาญแห่งชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ยกระดับจากเบี้ยยังชีพมาเป็นระบบบำนาญแห่งชาติ

ยกระดับจากนโยบายประชานิยมมาสู่รัฐสวัสดิการ

และยกระดับจากการสงเคราะห์มาสู่การเป็นสิทธิด้านรายได้ของผู้สูงอายุ

องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่าประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว สำหรับประเทศไทยหากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้ว เนื่องจากมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ

จากการคาดประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอีก 30ปีจากนี้ไป จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และสัดส่วนผู้สูงอายุจะสูงกว่าสัดส่วนประชากรเด็ก (0 – 14 ปี) เป็นครั้งแรกภายใน 10 ปีนี้

แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในไทยเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญในการวางระบบ และมีแนวทางสนับสนุนหลักประกันทางรายได้ให้เป็นสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 แสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน*

สาเหตุของความยากจนส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทำให้มีกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะยากจน ยิ่งเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ทางสังคม เช่น เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาเพื่อยกระดับอาชีพ ทำให้งานที่ทำมีรายได้ไม่แน่นอน ได้รับรายได้ที่ไม่เป็นธรรม รายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ความสามารถ และโอกาสในการได้งาน

ส่วนรัฐเองก็ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับส่งเสริมให้ความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น นโยบายที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงทรัพยากรของคนในท้องถิ่น ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทำให้คนในชนบทไม่เห็นความสำคัญของการทำการเกษตร หรือการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญในเมืองมากกว่าชนบท ทำให้คนอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองมากขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องเจอกับสภาวะที่ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน แต่รายได้ก็ไม่พอใช้จ่าย หรือพอใช้จ่ายไปแบบเดือนชนเดือนแต่ไม่มีศักยภาพในการออม ทำให้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพได้

แล้วที่ผ่านมารัฐได้มีการจัดสวัสดิการด้านรายได้หรือบำนาญให้กับผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง

การรับรู้เรื่องบำนาญของคนไทยมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกประชาชนที่ได้รับบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพราะเคยทำงานในภาคราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกองทุนประกันสังคมให้กับแรงงานในระบบ ที่มีสิทธิได้รับเป็นสวัสดิการ

ประชาชนอีกส่วนที่ได้รับเพราะรัฐสงเคราะห์ในรูปแบบเบี้ยยังชีพ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยรัฐได้จ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้สูงอายุจำนวน 200 บาทต่อเดือน แต่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้สูงอายุที่ยากจนจริงๆ เท่านั้นที่จะได้รับ จึงทำให้เงินไม่ถึงมือผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง และอาจจะเป็นเครื่องมือสำหรับนักการเมืองในการสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับตัวเอง ทำให้ปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยยังชีพมาเป็นการจ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคนเดือนละ 500 บาท และในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพให้ทุกคนเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุจาก 600 - 1,000 บาทต่อเดือน

จำนวนเงินของเบี้ยยังชีพที่เพิ่มขึ้นไม่มีหลักคิดคำนวณ ไม่มีเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง นโยบายเปลี่ยนแปลงได้ตามความคิดของนักการเมืองถือเป็นประชานิยม ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการสิทธิขั้นพื้นฐาน ยังไม่เป็นรัฐสวัสดิการ เพราะคิดอยู่บนฐานของการสงเคราะห์ให้เฉพาะกับคนยากจน จำนวนเงินไม่เพียงพอกับการยังชีพได้จริง และถ้ารัฐบาลชุดใดไม่ให้ความสำคัญเรื่องเบี้ยยังชีพก็จะหายไปทันที จึงไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนได้

เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ (เครือข่ายฯ) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายประชาชน 5 ข่าย คือ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เและเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้เห็นตรงกันว่า รัฐควรปรับระบบ “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญพื้นฐาน” เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เป็นนโยบายประชานิยมในการหาเสียงของนักการเมือง และยกระดับให้เบี้ยยังชีพกลายเป็นการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโดยให้โอกาสที่เท่าเทียมกันกับทุกคน ส่งเสริมความเป็นธรรมในการกระจายความมั่งคั่ง และความรับผิดชอบสาธารณะที่รัฐต้องดูแล

ระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นฐานความคุ้มครองทางสังคมที่เป็นสิทธิและเป็นหลักประกันว่า “ประชาชนจะได้รับการดูแลให้อยู่ในภาวะที่พออยู่ได้ทันที” บนหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม และถ้วนหน้า” นั่นคือประชาชนทุกคนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ต้องได้รับบำนาญพื้นฐานรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงการดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือตามสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ และมีการปรับเปลี่ยนอัตรารายเดือนตามภาวะเศรษฐกิจ

แหล่งรายได้ของการจัดสวัสดิการเรื่องบำนาญแห่งชาตินั้นอยู่ที่รัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของสังคม ด้วยการปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศให้สมดุล ทั้งการจัดการคลังเพื่อเศรษฐกิจและการคลังเพื่อสังคม หรือจัดสรรภาษี เช่น จากสลากกินแบ่งรัฐบาล ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น มาใช้ในการสร้างสวัสดิการทางสังคมอย่างชัดเจน

และเพื่อให้ประเด็น “บำนาญแห่งชาติ” มีแนวทางในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงต้องมีการผลักดันให้เรื่องดังกล่าวได้รับการรับรองทางกฎหมาย ทางเครือข่ายฯ จึงร่วมกับนักวิชาการในการ ร่าง พ...บำนาญแห่งชาติ ซึ่งมีหลักการสำคัญ ดังนี้

  • กำหนดระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วยระบบบำนาญพื้นฐานโดยเสมอภาค การส่งเสริมการออมเพื่อบำนาญ

  • ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเป็นกลไกในการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน บูรณาการกฎหมาย และหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการเรื่องบำนาญในปัจจุบัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการ การกำกับ ดูแล โดยองค์กรกำกับต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

  • ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือน ในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน หรือค่าเฉลี่ยค่าจ้าง

  • รัฐสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเพื่อได้รับบำนาญเมื่อสูงอายุ โดยรัฐร่วมจ่ายสมทบเพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม และเพื่อให้คนที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าสู่การออมได้

 

การยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นการทำงานบนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน เงินก็จะได้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ไม่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

-----------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ: * เส้นความยากจน หมายถึงเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้วัดความยากจนได้ในระดับบุคคล ครัวเรือน พื้นที่ จังหวัด ภูมิภาคจนถึงระดับประเทศ โดยพิจารณาจากความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของปัจเจกบุคคล ทั้งด้านอาหารและสินค้าอุปโภค หากครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่คำนวณได้ถือว่าเป็นครัวเรือนยากจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท