Skip to main content
sharethis

หลังมีการโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงเกิดขึ้นในปีนี้ รัฐบาลบางประเทศเสนอการปิดกั้นสื่อบางส่วนโดยอ้างกลัวแนวคิด "หัวรุนแรง" แต่นักกิจกรรมจากอเมริกาแย้งว่าการปิดกั้นไม่สามารถทำให้ความคิดแบบหัวรุนแรงหมดไปได้ สิ่งที่ควรจะทำจริงๆ คือการเปิดเวทีถกเถียง ไม่เช่นนั้นการปิดกั้นสื่อก็เป็นแค่การฉวยโอกาสเพิ่มอำนาจเท่านั้น

8 เม.ย. 2558 นาโอมิ วูล์ฟ นักเขียนและนักกิจกรรมชาวอเมริกันเขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์เดอะการ์เดียนถึงกรณีที่มีกระแสการออกกฎลิดรอนเสรีภาพสื่อเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวคิด "หัวรุนแรง"

วูล์ฟตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากกรณีที่มีคนร้ายบุกยิงสำนักงานนิตยสารแนวเสียดสี 'ชาร์ลี เอบโด' เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีการลิดรอนเสรีภาพสื่อมากขึ้นเช่นในฝรั่งเศสมีการจับกุมนักเขียนการ์ตูนชื่อซีออน (Zeon) โดยอ้างข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น' อีกทั้งยังจับกุมผู้เขียนการ์ตูนต่อต้านชาวยิวหรือต่อต้านลัทธิไซออนนิสต์

นอกจากนี้วูล์ฟยังได้ยกตัวอย่างจากชาติตะวันตกอีกหลายประเทศที่พยายามหาข้ออ้างลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการอ้างว่าเพื่อจำกัดแนวคิดแบบ "หัวรุนแรง" ซึ่งเป็นเรื่องชวนให้ถกเถียงว่าการสั่งห้ามคำพูดในเชิง "หัวรุนแรง" มีความจำเป็นและทำให้พวกเราปลอดภัยขึ้นจริงหรือไม่

วูล์ฟแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าแนวคิดของนักการเมืองเวลามองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเรื่องแนวคิดหัวรุนแรงมีความคิดผิดๆ อย่างหนึ่งคือการมองว่า "แนวความคิด" (idea) เป็นเหมือนเชื้อไวรัสที่ต้องควบคุมหรือประหัตประหารมันเช่นเดียวกับการกำจัดเชื้อโรค แต่จริงๆ แล้วแนวความคิดเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นได้ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่สามารถปิดกั้นแนวความคิดได้ อีกทั้งการเซ็นเซอร์ยิ่งเป็นวิธีการที่ทำให้แนวคิดนั้นๆ แพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุดด้วย

วูล์ฟระบุว่าการเซ็นเซอร์โดยรัฐเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน โดยยกตัวอย่างกฎหมายยุคสมัยวิกตอเรียในอังกฤษว่าด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่สื่ออนาจารปี  1857 (2400) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการระบุโทษโดยพิจารณาจากเจตนาของผู้สื่อรวมถึงการส่งผลต่อผู้รับสื่อเช่น "ทำให้คนที่ยังบริสุทธิ์อ่านแล้วหน้าแดงหรือไม่" นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามสื่อถึงการรักเพศเดียวกันของชายกับชายและการคุมกำเนิดทำให้ในปี 1857-1885  (2400-2428) มีการกวาดล้างนักเขียนและสำนักพิมพ์หนักมาก ทั้งการยึดแท่นพิมพ์โดยไม่มีหมายจับ ทำลายแท่นพิมพ์ที่มีมูลค่ามาก และมีการจับคนทำหนังสือเข้าคุกเพื่อใช้แรงงานหนัก

วูล์ฟระบุว่าแม้จะในช่วงยุควิกตอเรียจะดูมีภาพลักษณ์สะอาดบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่มีใครทราบได้ว่าสะอาดบริสุทธิ์จริงหรือไม่เพราะมีการคุมเข้มสื่ออย่างหนัก

ในบทความของวูล์ฟ ยังมีการเปรียบเทียบการพยายามเซ็นเซอร์สื่อ "หัวรุนแรง" ในยุคนี้กับยุคก่อนหน้านี้ที่มีการเซ็นเซอร์ผู้แสดงแนวคิดแบบ "ชาตินิยมไอริช" ในบริติชและการเซ็นเซอร์เกี่ยวกับ "คอมมิวนิสต์" ในอเมริกาและโดยพรรคนาซี แต่การพยายามปิดกั้นสื่อเหล่านี้กลับไม่สามารถปิดกั้นความคิดอ่านของผู้คนได้ ยิ่งมีการปิดกั้นก็ยิ่งทำให้มีผู้สนใจ "วาทกรรม" ต่างๆ ที่รายล้อมแนวคิดที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

บทความของวูล์ฟระบุว่า เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้วสิ่งที่จะทำให้แนวคิดแบบหัวรุนแรงอ่อนแอลงได้นั้นคือการเปิดกว้างและเปิดให้สังคมมีการถกเถียง ทำให้ทุกฝ่ายได้รับฟังกัน ทำให้มีการตรวจสอบแนวคิดที่ผู้คนเคยหวาดกลัวอย่างใคร่ครวญ วูล์ฟเชื่อว่าวิธีการนี้นำมาใช้ได้กับแนวคิดแบบหัวรุนแรงทางศาสนาอิสลามเช่นกัน เธอเสนอว่าแทนที่จะไล่จับคนที่ถูกมองเป็น "มุสลิมหัวรุนแรง" หรือไล่จับคนเขียนการ์ตูนต่อต้านชาวยิว ควรจะมีการจัดโต้วาทีสาธารณะระหว่างคนที่มีแนวคิดสุดโต่งกับกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนาหรือผู้มีแนวคิดสายกลาง โดยมีการถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ และให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้

วูล์ฟระบุว่าการปิดกั้นสื่อจะเป็นแค่การทำให้พวกผู้นำสามารถควบคุมและข่มขู่คุกคามกลุ่มต่อต้านที่มาจากรากหญ้าจริงๆ รวมถึงคุกคามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นประชาธิปไตยทุกรูปแบบ

"เมื่อรัฐเริ่มตั้งเป้าหมายเซ็นเซอร์สื่อของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกเขามักจะเริ่มจากกลุ่มที่คิดว่าทุกคนคงจะเกลียด แต่ต่อมาไม่นานแม้แต่ความคิดเห็นของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักกิจกรรมเพื่อการปฏิรูปธนาคาร นักสหภาพแรงงานหรือนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพก็จะโดนปิดกั้นไปด้วย" วูล์ฟระบุในบทความ

"คำว่า 'การก่อการร้าย' ที่ถูกอ้างใช้ในตอนนี้ก็เช่นเดียวกับในอดีต คือใช้เป็นข้ออ้างของรัฐในการเริ่มทำอะไรเลวร้ายมากกว่านี้ อย่างเช่นกรณีที่สหรัฐฯ ออกรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (Patriot Act) ทำให้พวกเขาสอดแนมและควบคุมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของทุกคน" วูลฺ์ฟระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

The fastest way to spread extremism is with the censor’s boot, Naomi Wolf, The Guardian, 07-04-2015
http://www.theguardian.com/commentisfree/2015/apr/07/extremism-censorship-ideas-charlie-hebdo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net