อ่าน' ทวิภพ' จินตภาพแห่งการสูญเสียกับชาตินิยมแนวรักโรแมนติกของทมยันตี

ตอนสุดท้ายของงาน ปาฐกถา ชุดพิเศษ "วีรชนที่ถูกสร้าง วีรชนที่ถูกลืม": จินตภาพแห่งการสูญเสียกับชาตินิยมแนวรักโรแมนติกของทมยันตี บรรยายโดย หัวหน้าภาควรรณคดี ผศ.ดร.ชุติมา ประกาศวุฒิสาร จัดขึ้นที่ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 มี.ค. โดยตอนสุดท้ายของซีรีส์งานปาฐกถานี้ได้หยิบยกวรรณกรรมลือลั่นของทมยันตี "ทวิภพ" ขึ้นมาตีความเรื่องการปลูกฝังชาตินิยมที่ประสบความสำเร็จในเรื่องได้แยบยลภายใต้ความโรมานซ์

ทั้งนี้ ผู้จัดแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 นาย เข้ามาอำนวยความสะดวกและร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ผศ.ดร.ชุติมา ประกาศวุฒิสาร เริ่มปาฐกถาด้วยประเด็นเรื่องความสูญเสียก่อนการข้ามภพของตัวละครหลัก “มณีจันทร์” หรือ “เมณี่” โดยกล่าวถึงเรื่อง สังคมสมัยใหม่กับการหลอกหลอน จากการตีความของนักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องทวิภพ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่มณีจันทร์ข้ามภพเพื่อไปกู้ชาติ อาณานิคม ชาตินิยม แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิชาการมองข้าม คือ สภาวะการหลอกหลอน ที่มณีจันทร์กำลังประสบก่อนที่จะเดินทางข้ามภพ เช่น การได้ยินเสียงเรียก แม่มณี หรืออาการหลอนช่วงที่มณีจันทร์ได้ไปที่ร้านขายของเก่า สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจและเป็นสาเหตุก่อนที่จะเดินทางข้ามภพของตัวละคร

ผู้บรรยายใช้เรื่องจิตวิเคราะห์อธิบายสภาวะหลอกหลอนของมณีจันทร์ก่อนเดินทางข้ามภพว่า ทมยันตีฉลาดมากที่ให้มณีจันทร์เป็นลูกสาวทูต เกิดและเติบโตที่ต่างประเทศ ใช้ชีวิตที่ต่างแดนพูดได้หลายภาษา แต่อีกด้านด้วยความเป็นลูกสาวทูต ทำให้มณีจันทร์ถูกคาดหวังจากพ่อและแม่ว่าต้องรักษาความเป็นไทย เพราะฉะนั้นมณีจันทร์จึงมีลักษณะที่เรียกว่าอัตลักษณ์แห่งการย้อนแย้งตลอดเวลา

มณีจันทร์คือตัวละครที่ปฏิเสธความไทยแล้วเลือกรับเฉพาะวัฒนธรรมของตะวันตก ผู้เขียนวางมณีจันทร์ให้พบกับสภาวะพลัดถิ่นในฐานะลูกสาวทูต เปรียบเสมือนสถานะเป็นลูกกำพร้าของมณีจันทร์ มารดาที่มณีจันทร์มีความใกล้ชิดมากที่สุดแต่ต้องจากกันไป ส่งผลให้เธออยู่คนเดียว หดหู่สร้างความกังวลใจให้กับมณีจันทร์ มีฉากตัวอย่างที่มณีจันทร์กล่าวกับแม่ว่า ยังไม่กลับไปได้หรือไม่, ไม่อยากให้แม่ไป, เกิดลางสังหรณ์ว่าอาจไม่ได้พบแม่อีก เป็นต้น

อาจารย์ชุติมากล่าวเสริมว่า ความเป็นไทยที่มณีจันทร์พยายามปฏิเสธถึงแม้ว่าจะกำจัดไปแต่ว่าไม่ได้หายไป สิ่งที่พยายามกำจัดปรากฏว่ายิ่งถูกหลอกหลอน ยกตัวอย่างในฉากที่มณีจันทร์เกิดรถตายในขณะที่ขับรถ ช่วงที่เธอกำลังตามหาคนช่วย ได้ไปเจอกับร้านขายของเก่า มีชายสูงอายุเจ้าของร้านที่ขายกระจกให้เธอ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการข้ามภพ

นวนิยายอธิบายถึงภาพสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว รวดเร็ว สว่างไสว เป็นเมืองที่หลงลืมอดีต และมิติของเวลาเป็นมิติที่เดินทางเป็นเส้นตรง ในขณะที่การปรากฏขึ้นของภาพร้านขายของโบราณ มีความมืดทึบ อึมครึม เก่าเก็บ โบร่ำโบราณ เป็นเรื่องของการที่อดีตสามารถย้อนหวนคืนมาได้ในยุคของเวลาสมัยใหม่และอดีตเป็นอดีตที่ถูกกดทับเอาไว้
ประเด็นที่น่าสนใจในฉากนี้คือ เมื่อมณีจันทร์ย้อนกลับมาที่ร้านขายของโบราณกลับไม่พบแล้ว ร้านที่ขายกระจกให้หายไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะอธิบายได้อย่างไร พื้นที่สมัยใหม่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Solid (ของแข็ง) ในขณะที่ร้านขายของเก่ามีลักษณะที่เป็น Liquid (ของเหลว) พร้อมจะเลือนหายไป

ทมยันตีบรรยายภาพของมณีจันทร์ว่าเป็นผู้หญิงสมัยใหม่แต่งตัวทันสมัย แต่ภาพในกระจกที่มณีจันทร์เห็นในร้านขายของโบราณกลับกลายเป็นภาพของผู้หญิงโบราณอ่อนหวานงามละมุน ฉากที่มณีจันทร์เห็นผู้หญิงในกระจกสื่อให้เห็นถึงการสูญหายไปและความบกพร่องของอัตลักษณ์ เงาที่ปรากฏในกระจกคือความปรารถนาของเธอ แต่ภาพของความปรารถนานี้คือความปรารถนาที่ต้องห้ามเพราะทมยันตีบรรยายไว้ว่ากระจกมีความร้าวลึก เป็นลักษณะที่อันตราย คนไทยถือ ไม่นิยมนำเข้าบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มณีจันทร์โหยหาปรารถนาคือสิ่งที่ต้องห้ามไปพร้อมๆ กัน

ประเด็นนี้จริงๆ อธิบายถึงสังคมไทยสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ว่าเป็นสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้กับอดีตและความเป็นไทย ถ้ามณีจันทร์ต้องการภาพตัวเองแบบในกระจกที่เห็นนั้น มันหมายถึงความสูญสลายของตัวตน เนื่องจากมณีจันทร์ identify ตัวเองกับภาพเงา เท่ากับว่านำตัวเองไปสู่ความตายและสูญสลาย เงาในกระจกที่มณีจันทร์เห็นเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นมิติด้านลบของตัวตน เป็นสิ่งที่ตัวละครพยายามกดทับ เพราะฉะนั้นการนิยามตัวเองกับภาพเงา จึงนำไปสู่การสลายของอัตลักษณ์ที่ตัวละครสร้างขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ

อาจารย์ชุติมาได้บรรยายถึงประสบการณ์หลอนอย่างสุดท้ายของมณีจันทร์ก่อนข้ามภพที่น่าสนใจว่า ในฉากที่มณีจันทร์ร้องเพลงเล่นเปียโน แต่สิ่งที่เธอได้ยินคือวงมโหรี หรือตอนที่บ้านฉีดสเปรย์กลิ่นกุหลาบ แต่สิ่งที่เธอได้กลิ่นคือดอกไม้ไทยบางอย่าง ในตอนหลังมารู้ว่าคือดอกจันทร์กระพ้อ หรือมณีจันทร์เรียกตัวเองในแบบฝรั่งว่าเมณี่ แต่เสียงแว่วที่เธอได้ยินคือแม่มณี เพราะฉะนั้นหูได้ยินเสียงแว่ว หรือจมูกได้กลิ่น เมื่อย้อนกลับไปทั้งเรื่อง แม่มณี วงมโหรี ดอกจันทร์กระพ้อ ทุกอย่างคืออาการหลอนของความเป็นไทยที่หวนกลับมาในยุคโลกาภิวัตน์

เรื่องนี้อาจารย์เกษียรเคยกล่าวไว้ว่า ระเหิดความเป็นไทยนั้น คือความเป็นไทยที่เราปิดทับและกดทับเอาไว้นั้น เพื่อสร้างเอกภาพของอัตลักษณ์สมัยใหม่ ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่เรากดเอาไว้แต่ไม่ได้หายไปไหน กลายเป็นสิ่งที่หวนกลับมาใหม่ และยิ่งมณีจันทร์กดทับยิ่งถูกความเป็นไทยหลอกหลอนมากเท่านั้น ความเป็นไทยที่หวนกลับมาใหม่ มีภาพที่เรียกว่าเป็นสัญญะของความเป็นไทยที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่าไทย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม่มณี เพลงมโหรี ดอกจันทร์กระพ้อ ทั้งหลายคือสัญญะที่เรียกว่าไทยมาก พอมาอยู่ภายใต้โลกาภิวัตน์ที่สลายพรมแดนความเป็นชาติ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มณีจันทร์เผชิญกับอาการหลอนอดีตที่ตัวละครปฏิเสธ

มณีจันทร์เป็นลักษณะของความย้อนแย้ง มีความฝังใจกับการสูญเสียอย่างแรงกล้าเรื่องดินแดน ทั้งที่เพิ่งบอกว่ามณีจันทร์มีความเป็นฝรั่งปฏิเสธความเป็นไทย แต่ในขณะที่มณีจันทร์เกิดมีความฝังใจเกี่ยวกับการสูญเสียอย่างแรงกล้า มีงานที่จะต้องทำ วาดอนาคตของประเทศอย่างสวยงาม และบอกว่า “ทวิภพตอบข้อเสนอที่เธอใฝ่ฝันแล้ว ความรู้สึกอันรุนแรงกับการเสียเปรียบให้ต่างชาติความรู้สึกเกือบกึ่งดูถูกดูแคลนหรือคนไทยทั้งชาติจะยอมเสียเปรียบได้” (ประโยคจากนวนิยาย) แต่สำนึกเรื่องนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับภูมิหลังของตัวละคร ที่ผู้เขียนให้ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมามณีจันทร์ไม่ใส่ใจกับคำโบราณ เธอสนใจกับสถานการณ์โลก ศิลปะ และบอกกับผู้อื่นว่าตนเองนั้นตกวิชาประวัติศาสตร์

อาจารย์ชุติมาอธิบายเรื่องประสบการณ์หลอนอันเกิดจากบาดแผลฝังใจที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นว่า แม้ว่าคนในรุ่นหลังจะไม่ได้พบเจอโดยตรงแต่สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงตัวเรากับอดีตและรากเหง้า ทำให้บุคคลนั้นรับเอาความทรงจำของบรรพบุรุษมาไว้ในจิตใจโดยไม่รู้ตัว ความฉลาดของทมยันตีตรงนี้คือการทำให้มณีจันทร์เป็นลูกสาวทูต แม้ว่าจะไม่ได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์โดยตรงแต่ทำให้มณีจันทร์ได้รับถ่ายทอดอดีตอันขมขื่นของบรรพบุรุษในอดีต ความรู้สึกสูญเสียบาดแผลของอดีตถูกส่งผ่านมาที่มณีจันทร์พร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่รับทราบผ่านผู้เป็นบิดา แม้ว่าอดีตอันขมขื่นจะถูกมณีจันทร์กลบฝัง อย่างไรก็ตามอารมณ์ความรู้สึกของความสูญเสีย ความรู้สึกผิด เจ็บปวด อับอาย ของบรรพบุรุษ ได้เผยให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปแก้ไขอดีต

ภาพในทวิภพที่มณีจันทร์เห็น คือภาพของ Fantasmagoria ประการแรก อดีตที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่จริงแท้ มณีจันทร์ไม่ได้เดินทางข้ามภพไปสู่อดีต แต่โลกอดีตเป็นผลมาจากการสร้างอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะตอนแรกมณีจันทร์มองเห็นโลกอดีตเป็นภาพดำจอมืดแต่ตอนหลังเริ่มมีแสง และพัฒนาเรื่อยๆ เห็นเป็นรูปคน แต่ตอนนั้นเธอแค่เป็นผู้ชม หลังจากนั้นก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นและตนเองก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเป็นตัวละครในอดีตด้วย พัฒนาการที่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะมณีจันทร์รับรู้เรื่องราวอดีตจากคนรอบข้าง คุณยายจากกุลวรางค์ จากรายละเอียดพวกนี้ทำให้มณีจันทร์เริ่มประติดประต่อเป็นเรื่องราว และสร้างภาพเห็นโลกอดีตที่ชัดเจน สมบูรณ์ขึ้น โลกอดีตที่มณีจันทร์เห็นจึงเป็น Fantasmagoria สิ่งที่น่าสนใจในการนำเสนอเหตุการณ์ใน ร.ศ.112 ได้นำเสนอในรูปแบบชาตินิยมนั้น

ผู้บรรยายได้อธิบายเสริมว่า กระบวนการที่มณีจันทร์ทำกับประวัติศาสตร์ก็คือ การจำเพื่อลืม หมายถึง ทมยันตีปลุกสำนึกในเรื่องชาติผ่านวาทกรรมเรื่องเสียดินแดน แต่ในขณะเดียวกันการกระตุ้นเพื่อให้จดจำถูกทำควบคู่ไปกับการทำให้หลงลืม สังเกตได้จากตัวอย่างในฉากหนึ่ง ที่คุณหลวงกับแม่มณีไปปิกนิก ในฉากล่องเรือปิกนิกค่อนข้างโรมานซ์ หลังจากที่บรรยายภาพภูมิทัศน์ที่มีความโรแมนติก มณีจันทร์ก็ถามคุณหลวงถึงจุดประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้ว่าไปที่ไหน คุณหลวงตอบว่าไปดูเรือรบฝรั่งเศส ซึ่งในฐานะคนอ่านเกิดความอยากรู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร การเผชิญหน้ากันระหว่างคุณหลวงกับชาติตะวันตกเป็นอย่างไร แต่ปรากฏว่าทมยันตีตัดฉากนั้นออกและเปิดฉากอีกครั้งว่าลอยเรือเรียบร้อยกลับมาถึงบ้าน

“ทมยันตีอธิบายฉากละเอียดมากทั้งอาหารเสื้อผ้าทุกอย่างเสียกระดาษหลายหน้าในการบรรยาย ดิฉันอยากรู้ว่าเปิดเรื่องมาจะได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างสยามกับตะวันตกอย่างไรปรากฏว่าไม่มี เป็นการปลูกจิตสำนึกการสูญเสีย แต่ก็ฝังกลบรายละเอียดต่างๆ ไปด้วย ลองนึกขึ้นดูหากเผยขึ้นมาจะเห็นอะไรที่รัฐไทยไม่อยากให้เห็นหรือไม่” ชุติมากล่าว

ทั้งนี้อาจารย์ชุติมาอธิบายเสริมว่า ฉากในทวิภพปกปิดรายละเอียดไม่ลงเบื้องลึกเบื้องหลัง ปฏิเสธที่จะเล่าว่าฝรั่งมองเราอย่างไร ทมยันตีปรับเปลี่ยนความพ่ายแพ้ของสยามต่อชาติตะวันตกในการช่วงชิงดินแดน ให้กลายเป็นการต่อสู้ของบรรพบุรุษที่ได้เสียสละปกป้องชาติไว้ โดยกลบฝังไม่ลงลึกถึงความอับอายพ่ายแพ้ของบรรพบุรุษไว้ อย่างข้อสังเกตของ ส.ศิวลักษณ์ ได้กล่าวไว้ว่า หลังสูญเสียดินแดน ร.5 โศกเศร้ามาก และไม่มีการผลิตทายาทอีกเลย สูญเสียชาติจึงเท่ากับการสูญเสียความเป็นชายด้วย เรื่องนี้เน้นเฉพาะความกล้าหาญของวีรบุรุษสยามเท่านั้น

อาจารย์ชุติมากล่าวว่าจุดที่น่าสนใจก็คือนิสิตหลายคนอ่านแล้วอยากกลับไปเป็นแม่มณี โลกจะสวยงามได้เมื่อกลับไปเป็นแม่มณี ไม่ใช่แม่นุ่ม หมายถึงโลกจะสวยงามได้เมื่อกลับไปเป็นเจ้านายไม่ใช่ไพร่หรือทาส ในทวิภพ ทมยันตีนำเสนอในภูมิทัศน์แบบโรแมนติก ชวนให้ผู้อ่านโหยหาอดีต มณีจันทร์เปรียบโลกปัจจุบันกับโลกอดีตว่าภูมิทัศน์ที่งดงามแบบนี้กำลังจะสูญหายไม่มีอีกแล้ว บันทึกวาทกรรมสูญเสียแต่การสูญเสียนั้นเป็นจินตภาพที่สร้างขึ้นมา

ลองยกตัวอย่าง ลำน้ำสีน้ำตาลกว้างใหญ่ไหลเอื้อยอ่อย หมายถึงลำน้ำเจ้าพระยาในอดีต ทิวทัศน์สองฟากฝั่งมีแต่ต้นไม้่เรียงรายและเรือนแพ ไม่มีบ้านรกรุงรัง ไม่มีโรงแรมริมน้ำ ไม่มีเรือหางยาวเสียงลั่น นอกจากนำเสนอโลกอดีตแบบนี้แล้ว ภาพที่สวยงามในอดีตถูกนำเสนอภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เงื่อนไขที่ภาพภูมิทัศน์นั้นไม่มีคน ไม่มีไพร่ ไม่มีทาส มีแต่สองเราล่องเรือกลางลำน้ำเจ้าพระยา ลองสังเกตดูในสมัยนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ แออัด วุ่นวาย เป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีคนอยู่เลย สิ่งนี้เป็นการสร้างจิตภาพรูปแบบโรแมนติกที่แฝงไปด้วยแนวคิดอาณานิคม

การสูญเสียที่ทมยันตีนำเสนอเป็นเรื่องเล่าไม่มีจริง งานวิจิตรบรรจงเหล่านั้นนำเสนอผ่านการลบภาพบ่าวไพร่และปฏิเสธที่จะนำเสนอชีวิตของคนกลุ่มนี้โดยสิ้นเชิง และนำเสนอวิถีชีวิตที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของชนชั้นสูงแทน ประโยคที่ว่าโลกนี้สวยงามดั่งฝัน อยากจะภาพว่าเป็นฝันของใคร ภายใต้เงื่อนไขอะไร โลกที่มีการจัดแย่งลำดับชนชั้น เกิดขึ้นได้ภายใต้อะไร การโหยหาอดีตในสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริงตั้งแต่แรก ความงามที่แฝงไปด้วยความรุนแรง

“มณีจันทร์เห็นตัวเองเป็นแม่มณีในโลกอดีต ตาแก่เป็นภาพเงาของคุณหลวงในโลกอดีต และแม่มณีมีแม่ม้วนเป็นคนรับใช้ในโลกอดีต ส่วนในปัจจุบันคือแม่นุ่ม มันบอกอะไรได้ในสังคมไทยถ้าคุณเป็นเจ้าคุณต้องเป็นเจ้า ถ้าคุณเป็นทาสคุณต้องเป็นทาสตลอดชีพ ไม่ว่าจะภพชาติไหน” อาจารย์ชุติมากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท