Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ในภาวะที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ และสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนถูกลิดรอนเช่นนี้ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ จะมีโอกาสมากน้อยเพียงใด ที่วรรณกรรมไทยจะมีบทบาทสำคัญในการคัดค้านเผด็จการ ขับเคลื่อนประชาธิปไตย และนำประชาชนไทยไปสู่เสรีภาพ? แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คำตอบของคำถามนี้คือ ยังไม่เห็นแนวโน้มเช่นนั้น ทำให้เป็นที่สงสัยว่าจะมีโอกาสหรือไม่ ที่วรรณกรรมไทยจะมีต่อสังคมในทางก้าวหน้าอีกครั้ง

ที่มาของคำตอบเช่นนี้ มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า นักเขียนวรรณกรรมไทยมีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองและสังคมน้อยมากมาเป็นเวลานาน และยังถูกครอบอย่างเบ็ดเสร็จจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมจารีตประเพณี จนมองไม่เห็นทิศทางของสังคมที่จะต้องก้าวสู่ประชาธิปไตย และมองไม่เห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนภายใต้กระแสเผด็จการ

ย้อนหลังไปในอดีต วรรณกรรมไทยเคยมีบทบาทต่อสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เช่น ในสมัยหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ชมรมนักเขียนที่นำโดย อิศรา อมันตกุล และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้สร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม โดยการเสนอว่า วรรณกรรมจะต้องเขียนขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชนคนหมู่มาก และต้องไม่มอบยาพิษแก่ประชาชน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งจะมีการนำเสนอทั้งรูปแบบนวนิยาย เรื่องสั้น และบทกวี เช่น นวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่องสั้นชุด “ขอแรงหน่อยเถอะ” ของ ศรีบูรพา บทกวีก็เช่น อีศาน ของ นายผี หรือ ขอบฟ้าขลิบทอง ของ อุชเชนี

ต่อมา ได้มีการนิยายคำว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ให้ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดสังคมนิยม มีเป้าหมายในการรับใช้ประชาชนผู้ทุกข์ยาก และจะต้องเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมให้เห็นด้านอัปลักษณ์ของสังคม และเสนออุดมคติอันดีงาม วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะต้องเล่าถึงชีวิตของประชาชนคนระดับล่างที่เป็นคนทั่วไป ไม่เล่าถึงชีวิตชนชั้นสูง หรือถ้าจะเขียนถึงชนชั้นสูงก็จะเขียนถึงวิพากษ์ ชี้ให้เห็นด้านที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน  หรือเห็นความเสื่อมโทรมของสังคมชั้นสูง นอกจากนี้ วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะเน้นเนื้อหามากกว่ารูปแบบ เพราะจะต้องผลิตให้ประชาชนคนสามัญอ่านและเข้าใจได้

ในสมัยเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการกวาดจับนักคิดนักเขียนจำนวนมากเข้าคุก วรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงซบเซาลง แต่จะกลายเป็นยุคทองของวรรณกรรมน้ำเน่า นิยายรักประเภทซนแต่สวย พ่อแง่แม่งอน เรื่องหาผัวเรื่องเมียเฟื่องฟูสุดขีด หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องบู๊แบบเลือดและกามารมย์ เรื่องยาวหลายร้อยตอนจบ นักเขียนที่โด่งดังจากยุคนี้เช่น พนมเทียน  ประชา พูนวิวัฒน์  บุษยมาศ สุภา เทวกุลฯ สีฟ้า ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเช่นนี้ สอดคล้องกับการพัฒนาการของนิตยสารที่พิมพ์นวนิยายเป็นตอน เช่น แสนสุข ศรีสยาม เดลิเมล์วันจันทร์ สกุลไทย

ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2510 เป็นต้นไป วรรณกรรมเริงรมย์และน้ำเน่าก็ถึงจุดอิ่มตัว เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับสังคมและการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงของมหาวิทยาลัย เกิดยุคแสวงหาแนวทางใหม่ทั้งทางสังคมและทางวรรณกรรม นำมาซึ่งการเสนอวรรณกรรมที่สะท้อนสังคมมากขึ้น เช่น เขาชื่อกานต์ ของ สุวรรณี สุคนธา หรือ ไผ่ลอดกอ ของ เพ็ญแข วงศ์สง่า หรือแม้กระทั่ง จดหมายจากเมืองไทย ของ โบตั๋น หรือ บทกวี “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ วิทยากร เชียงกูร และ “ตื่นเถิดเสรีชน” ของ รวี โดมพระจันทร์ นี่เป็นกระแสส่วนหนึ่งที่นำมาสู่ขบวนการ 14 ตุลา พ.ศ.2516

หลังจากกรณี 14 ตุลา เกิดการเฟื่องฟูครั้งใหม่ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต บทบาทของประชาชนได้รับการเชิดชู เกิดนักเขียนและกวีจำนวนมากที่ผลิตผลงานในแนวทางรับใช้ประชาชน และนำมาสู่กระแส “เผาวรรณคดี” คือ การวิพากษ์วรรณกรรมแบบเก่า ที่เป็นวรรณกรรมรับใช้ศักดินา พร้อมทั้งยืนยันในแนวทางของวรรณกรรมเพื่อชีวิต หนังสือที่ออกพิมพ์เผยแพร่อย่างมากในระยะนี้ คือ หนังสือที่เผยแพร่อุดมการณ์สังคมนิยม เพื่อปลุกเร้าให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ที่เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตส่วนมากจะเป็นบทกวี และเรื่องสั้น ที่เป็นนวนิยาย คือ พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ของ สันติ ชูธรรม ตำบลช่องมะกอก ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ไผ่ตัน ของ สุจิต วงศ์เทศ เป็นต้น

กระแสการเคลื่อนไหวเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การปราบปรามประชาชนและการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และนำมาซึ่งการฟื้นอำนาจเผด็จการ ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตซบเซาลงชั่วคราว จนเมื่อระบอบเผด็จการของธานินทร์ กรัยวิเชียร ล่มสลาย วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ฟื้นมาใหม่ แต่เป็นเพียงระยะไม่นานนัก วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะเริ่มถูกวิจารณ์ว่า เป็นวรรณกรรมสูตรสำเร็จมากเกินไป เช่น กรรมกรจะต้องดีและถูกกดขี่ นายทุนชนชั้นปกครองจะต้องเลวเสมอ และลงท้ายด้วยการต่อสู้ และยังถูกวิจารณ์ด้านรูปแบบว่าหยาบ ไม่มีสุนทรีย์เท่าที่ควร เพราะเน้นเนื้อหามากเกินไป สถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงจากการที่ขบวนการสังคมนิยมล่มสลาย และแนวโน้มของสังคมก็ประนีประนอมมากขึ้น วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่พัฒนาในยุคแห่งการต่อสู้จึงเสื่อมบทบาทลง

แต่กระนั้น หลังจาก พ.ศ.2525 กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของนักเขียนวรรณกรรมเริงรมย์ งานเขียนของนักเขียนสตรี เช่น สีฟ้า และ กฤษณา อโศกสิน ก็จะมีเนื้อหาสาระทางการเมืองและสังคมมากขึ้น นวนิยายของทมยันตี และ นันทนา วีระชน ก็สะท้อนอิทธิพลของแนวคิดสิทธิสตรี วรรณกรรมของโบตั๋นหลายเรื่อง ก็มีแนวโน้มไปในทางอัตถนิยมที่เล่าเรื่องหรือเป็นบันทึกทางสังคม และนักเขียนชายรุ่นใหม่ เช่น ชาติ กอบจิตติ หรือ วิมล ไทรนิ่มนวล ก็ยังคงลักษณะของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เช่น เรื่อง คำพิพากษา หรือ คนทรงเจ้า ก็ถือเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคใหม่ได้

แต่หลังจาก พ.ศ.2530 แนวโน้มของนวนิยายยุคใหม่ด้านหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปเป็นวรรณกรรมเรื่องความรักแบบน้ำเน่าเพื่อสนองตลาดละครโทรทัศน์ แต่อีกด้านหนึ่ง กระแสการฟื้นตัวของแนวคิดจารีตนิยมที่ครอบงำสังคมไทย ก็ทำให้แนวโน้มของวรรณกรรมมีเนื้อหาที่พัฒนาไปในทางที่อนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากงานวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล เช่น รางวัลซีไรต์ ก็จะเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนเนื้อหาอนุรักษ์นิยม เน้นการพิจารณาเรื่องรูปแบบ หรือจะต้องเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ข้างในของนักเขียน เนื้อหาทางการเมืองถ้าหากจะมี ก็จะเป็นแบบ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” วรรณกรรมที่จะสะท้อนถึงปัญหาของยากจนหรือความไม่เป็นธรรมทางสังคม น้อยลงอย่างมาก

หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมที่มุ่งจะสะท้อนปัญหาทางการเมือง แนวโน้มทางความคิดที่พบได้ในนวนิยายและเรื่องสั้นจำนวนมากหลังจาก พ.ศ.2535 คือ ทัศนะที่เห็นว่า นักการเมืองชั่วเป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาของประเทศมาจากนักการเมืองทุจริต ฉ้อฉล ซึ่งมาจากระบบการเมืองอันสกปรก เพราะนักการเมืองมาจากการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ในวรรณกรรมเหล่านี้จึงสะท้อนว่า ประชาชนจึงตกเป็นเหยื่อนักการเมือง ระบอบการเมืองที่ดีจึงไม่ใช้ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง แต่เป็นระบอบจารีตนิยมที่มีคนดีมาปกครอง คนดีคือ ผู้ปิดทองหลังพระไม่เกลือกกลั้วการเมือง ระบบเศรษฐกิจที่ดีก็มิใช่ทุนนิยมเสรี หรือไม่ใช่แม้กระทั่งเศรษฐกิจสวัสดิการ แต่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยแนวความคิดทางวรรณกรรมเช่นนี้ จึงทำให้นักเขียนส่วนใหญ่เข้าร่วมสนับสนุนพลังอนุรักษ์นิยมกระแสหลัก และสนับสนุนการรัฐประหารตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา และแม้ว่าหลังจากนั้น จะมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอำมาตย์อย่างรุนแรง ก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระแสวรรณกรรมที่รับใช้แนวทางประชาธิปไตย หรือสะท้อนปัญหาของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ วงการวรรณกรรมไทยก็ยังดำเนินไปในแบบจารีตนิยมอย่างที่เคยเป็นมา
และนี่คือความอับจนของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน!


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 509 วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net