Skip to main content
sharethis

 

หลังจากต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหานำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่  ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ..ศ..... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.... และ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ.... จากนั้น สนช. ก็มีมติเห็นชอบรับหลักการในวาระแรกอีก

ทำให้ช่วงนี้การเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง อย่างไรก็ตามตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเด็นการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ในโอกาสนี้ประชาไทจึงสัมภาษณ์ ปกรณ์ อารีกุล และ สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา และแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อประเด็นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันจะนำไปสู่การถอดบทเรียนการเคลื่อนไหว ดังนี้

ภูมิหลังของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

สุรินทร์ กล่าวถึงภูมิหลังของกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออนอกระบบว่า จริงๆ แล้ว เรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นมีการเซตเป็นแผนระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2547 แผนนี้ต้องการที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยอย่าง ม.สุรนารี ม.วลัยลักษณ์ หรือ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆที่ออกก่อน จนกระทั่งปี 2544 ไทยมีการก็เงินจาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เมื่อเป็นหนี้ เจตนารมณ์ของรัฐที่จะทุ่มให้กับการศึกษาก็น้อยลง ก็เลยมีคความคิดที่จะผลักภาระที่จะจ่ายด้านการเรียนที่รัฐควรอุดหนุนให้ไปสู่นิสิตนักศึกษา

ปัญหาคือกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีเรื่องของความไม่ชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษาไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย เช่น ที่ม.บูรพา ภายหลังจากการออกนอกระบบเมื่อปี 2550 และสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารปี 2549 ที่ สนช. ขึ้นมาและพิจารณาออกนอกระบบ เมื่อหลังจากออกนอกระบบมา ม.บูรพา มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่าย และนำไปสู่กระบวนการที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่โปร่งใส แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่มีการชี้แจง เมื่อออกเป็นกฎหมายก็ใช้ตามนั้นเลย ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองไม่มีส่วนร่วม มีภาระ

รวมทั้งเป็นเรื่องของการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ปกครองและนักศึกษา นี่เป็นปัญหาหลักๆ ที่ ม.บูรพา เจอ ส่วนค่าเทอมที่แพงนั้น จากเดิมหน่วยกิตละ 100 บาท เมื่อเป็นค่าเทอมเหมาจ่ายก็เพิ่มเป็น 2-3 เท่าตัว เช่น คณะเภสัชศาสตร์ เมื่อกลายเป็นระบบเหมาจ่ายก็เป็น 3-4 หมื่น และขณะนี้ก็เป็น 7.5 หมื่น แล้ว เป็นผลพวงที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของสวัสดิการ และความคล่องตัวในการบริหารจัดการที่อ้างอย่างที่ผ่านมานั้น เท่าที่มีการทำวิจัยมานั้นนักศึกษาก็ไม่รู้สึกว่าการบริหารจัดการมีความคล่องตัวอย่างไร เนื่องจากอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการในองค์กรนั้นอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเต็มๆ ส่วนเรื่องการศึกษาหรือความเป็นเลศทางวิชาการที่อ้างถึงกันนั้นก็ไม่ได้เป็นอย่างแท้จริง เนื่องจากอาจารย์ก็เร่งทำผลงานเพื่อที่จะได้รับการต่อสัญญาปีต่อปีไป ทำให้เจตนารมณ์พื้นฐานที่จะสอนให้นักศึกษาหรือทุ่มให้กับการเรียนการสอนก็น้อยลง

สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์

การศึกษาเป็นสิทธิที่รัฐต้องจัดหาให้

ปกรณ์ กล่าวว่า มองไปที่ปรัชญาของการศึกษา คิดว่าเราควรทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของสิทธิที่รัฐจัดหาให้ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาถูกหรือฟรี จะเห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการลงทุนกับคนมีผลต่อประเทศในระยะยาว แต่วันนี้เรากลับผลักภาระของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไปให้ประชาชนจ่าย

เวลาผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการให้สัมภาษณ์ก็จะบอกว่า ม.นอกระบบ ก็ยังได้งบประมาณจากรัฐอยู่ ไม่ใช่เอกชน แต่พอไปดูรูปธรรมหลายแห่ง เช่น จุฬาฯ นั้นขึ้นค่าเทอมแทบทุกปี ค่าเทอมสุทธิในหลายคณะแพงกว่าตอนก่อนที่จะออกนอกระบบเป็นเท่าตัว นี่เป็นรูปธรรมของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ทำให้ค่าเทอมมันแพงขึ้นจริงๆ ถ้าออกแล้วค่าเทอมมันแพงขึ้น ถ้าออกแล้วประชาชนต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายนั้นจึงไม่เห็นด้วย

หนุนความคล่องตัว เสรีภาพทางวิชาการและคุณภาพของมหาวิทยาลัย

ปกรณ์ กล่าวด้วยว่า ตนหรือผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา หากเป็นประเด็นเรื่องความคล่องตัว เสรีภาพทางวิชาการ คุณภาพทางวิชาการหรือประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยที่มันควรจะมีมากขึ้นหากบริหารจัดการได้เองนั้น เรื่องเหล่านี้เราเห็นด้วยหมด แต่เรื่องที่เราไม่เห็นด้วยคือเรื่องของการผลักภาระเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่ายไปให้ผู้เรียน เป็นเรื่องแนวความคิดแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่าทุกอย่างที่มีคุณค่าต้องทำให้มีราคาในกลไกตลาด อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราเห็นว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้กับประชาชน

ปกรณ์ อารีกุล

มหาวิทยาลัยอยู่ใต้รัฐไทยแบบที่เป็นอยู่ก็มีปัญหาเช่นกัน

ปกรณ์ กล่าวต่อว่า อาจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ก็เคยกล่าวว่าหากใครเป็นอธิการบดี มธ. ก็ต้องไปเป็น สนช. ทุกคน เพราะมันเป็นระบบราชการ โดยเรื่องเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นเรื่องหนึ่ง ยุคของการต่อสู้เรื่อง ม.นอกระบบ นั้นมีหลายยุค ยุคแรกที่มีการแปรรูปในสมัยทักษิณนั้น เป็นการต่อสู้กับแนวความคิดการแปรรูป หรือ Privatization โดยตรง เหมือนการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เหมือนการคัดค้านการปรรูป ปตท. แต่ยุคปี 54-55 ที่ผ่านมาสมัยคุณยิ่งลักษณ์ การเคลื่อนไหวเป็นการขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งคิดว่าส่วนหนึ่งนักศึกษาก็เห็นข้อดีบางอย่างเหมือนกัน เช่น ความคล่องตัว การไม่ไปอยู่ในระบบราชการ แต่เมื่อไม่มีส่วนร่วมเราก็ไม่อาจยอมรับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้

หากไม่เอา ม.นอกระบบ แล้วมีข้อเสนออย่างไร เพราะการที่มหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้รัฐนั้น เมื่อรัฐเป็นรัฐแบบนี้ย่อมมีปัญหาแน่นอน จึงเสนอว่ามหาวิทยาลัยต้องบริหารแบบเป็นอิสระจากรัฐ แต่งบประมาณรัฐยังต้องมาอุดหนุนอยู่ ในสัดส่วนที่ประกันการเข้าถึงของคน แม้ปัจจุบันที่รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เราอาจไม่สามารถทำให้การศึกษาฟรีได้ถึงระดับปริญญาตรี โทหรือเอก แต่ต้องมีหลักประกันให้กับคนที่อยากเรียนในระดับอุดมศึกษาเรียนได้ต้องได้เรียน ไม่ว่าจะเป็นลูกใคร

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ายอมรับ ม.นอกระบบ เพราะถ้าจะเอา ม.ออกนอกระบบนั้น กระบวนการต้องมีส่วนร่วม และออกไปแล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย

สุรินทร์ กล่าวว่า ต้องกลับไปดูอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไปรัฐต้องอุดหนุน จึงมาตอบโจทย์ที่ว่าอยากเรียนต้องได้เรียน แม้ว่าไม่อยากเรียนรัฐก็ต้องจัดการศึกษาให้ หรือจัดทางเลือกให้ มหาวิทยาลัยนั้นทิศทางมันแปรรูปไปตามกระบวนการของเสรีนิยมใหม่ เพียงแต่ ม.นอกระบบเป็นกลไกตัวหนึ่งที่จะไปเอื้อและการขูดรีดก็ง่ายขึ้น  

ก่อนออกแม้ไม่ฟรีจริงแต่ก็ไม่ได้เข้าถึงยากจนเกินไป

ปกรณ์ กล่าวว่า เวลาที่เราพูดถึงเรื่องโอกาสในการศึกษา กระทรวงก็จะบอกว่าในเชิงโอกาสเด็กไทยถ้าอยากเรียนก็เรียนได้ หมายถึงถ้าเด็กอยากเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐก็ไปสอบ หากสอบได้ก็ได้เรียน แต่ถ้าเรียนแล้วไม่สามารถเรียนได้ก็ต้องยอมรับในการถูกคัดออก ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ก็ยังมีมหาวิทยาลัยเปิด รามคำแหง สุโขทัยฯ ให้เรียน หรือยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เรียนอีก คือถ้าอยากเรียนก็สามารถเรียนได้ โดยก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถึงแม้ไม่ฟรี แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงยากจนเกินไปในเรื่องของค่ารียน แต่ ม.ออกนอกระบบตัวเลขค่าเทอมเราเห็นอยู่แล้วว่ามีการปรับขึ้น

สำหรับมาตรการเมื่อมีการออกนอกระบบแล้วเก็บค่าเทอมสูง แต่มีการให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปกรณ์ มองว่าเป็นแนวคิดที่มีส่วนถูก ในเชิงนโยบายจะมองว่าระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่ม มันไม่ถูกที่คนส่วนใหญ่จะเอางบประมาณไปอุดหนุนคนส่วนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่อยู่ที่การศึกษาภาคบังคับมีจำนวนมาก ทำไมรัฐยังอุดหนุนไม่มากพอ คิดว่าข้อเสนอรูปธรรมก็คือหากต้องการเก็บมากมันมีการเปิดภาคพิเศษภาคสมทบเพื่อเปิดที่นั่งให้คนมีรายได้มากและอยากเรียนเข้ามาอยู่แล้ว จึงคิดว่าพวกนี้มีรูปธรรมและทางออกที่เกิดขึ้น ก็เปิดเป็นภาคพิเศษเป็นภาคสมทบ แล้วมาจุนเจือคนมีรายได้น้อย แต่ถ้าภาคปกติแล้วยังเก็บแพงนั้นเป็นแนวคิดที่รัฐปฏิเสธที่จะสนับสนุนการศึกษา โดยผลักภาระไปให้ประชาชน

ประชาคมมีส่วนร่วม กำหนดทิศ คานอำนาจ ป้องกันทุจริต

ต่อข้อเสนอการให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย สุรินทร์ มองว่าประชาคมคือทั้งบุคลากรทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยและนักศึกษา กลไกพวกนี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหมด แม้กระทั่งพนักงานในมหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วยที่ต้องเสียภาษี

ปกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในมหาวิทยาลัยประธานการตรวจสอบก็เป็นอธิการบดี ทำให้อำนาจการตรวจสอบกับการบริหารเป็นคนกลุ่มเดียวกัน จึงไม่มีองค์กรที่ถูกออกแบบมาเพื่อคานอำนาจ ดังนั้นการมีส่วนร่วมมันเอื้อต่อการตรวจสอบ

เพราะหากเรายึดตัวบุคคลในยุคหนี่งเราอาจได้คนที่ดีมีความสามารถ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอานาคตจะมีคนเหล่านั้นมาบริหารอีก การออกแบบระบบที่คานอำนาจจึงสำคัญ และยังเป็นการป้องกันการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเดิมอีกด้วย

การมีส่วนร่วมนั้นต้องมีความสามารถเข้าไปนั่งในสภามหาวิทยาลัยและมีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น ตัวแทนนักศึกษา ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชนท้องถิ่นรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีความแตกต่างไปตามขอบข่ายของประชาคม ทำให้กระบวนการในการตรวจสอบตัดสินใจของผู้บริหารมาจากประชาคมของมหาวิทยาลัย  หากสภามหาวิทยาลัยมีความหลากหลายมีที่มาเป็นประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่น่าจะเพียงพอ ที่ไม่ใช่เรื่องของผู้ทรงคุณวุฒภายนอกจากบรรดาอดีตข้าราชการวัยเกษียณอย่างเดียว แต่ควรเป็นที่ของคนมีวิสัยทัศน์และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ควรกระจายอำนาจการศึกษา ให้บทบาทท้องถิ่น

ปกรณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยในเชิงหลักการที่จะให้มหาวิทยาลัยอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนเรื่องข้อกังวลด้านมาตรฐานการศึกษานั้นก็มีมาตรฐานกลางที่คอยประเมินอยู่แล้ว แต่เรื่องที่ผู้ใหญ่ในระบบการศึกษาไทยไม่ยอมให้เกิดการกระจายเพราะระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมความคิดความเชื่อของพลเมือง เช่นกรณีอยากให้เด็กนักเรียนท่องค่านิยม 10 ประการ ก็สามารถสั่งการไปตามโรงเรียนเพื่อให้เด็กท่องได้ แต่ถ้าอยู่ที่ท้องถิ่นก็จะสั่งไม่ได้ หาก อบจ. ไหนแข็งๆ หน่อย ก็อาจไม่เห็นด้วยกับการท่องนโยบายดังกล่าวก็อาจไม่ยอมรับ

ต่อข้อกังวลของฝ่ายความมั่นคงหากมีการกระจายอำนาจของการศึกษาจะทำให้ควบคุมคนในประเทศยากนั้น ปกรณ์ มองว่าต้องดูว่าความมั่นคงนั้นเป็นความมั่นคงของใคร อย่างกรณีหนังบางระจันที่เป็นกระแส และเชื่อว่ามีจริง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน ดังนั้นกรณีชาวบ้านที่นามูล จ.ขอนแก่น ก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ความเป็นจริงกรณีนามูลกลับไม่ได้รับความรู้สึกร่วมกับคนในสังคมเมื่อเทียบกับกรณีบางระจัน เพราะมันไม่ได้ถูกนำไปใช้และเล่าเรื่องแบบบางระจัน ดังนั้นการสร้างความมั่นคงของชาติไทยขึ้นมาโดยปฏิเสธการตั้งคำถาม สุดท้ายมันเป็นความคงชาติในกรุงเทพที่มันรวมศูนย์ สุดท้ายจะกลายเป็นการละเลยความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชุมชนตามภูมิภาคต่างๆ

เหตุที่รัฐพยายามรวมศูนย์อุดมการณ์และความมั่นคง แต่กลับยอมให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นอิสระได้นั้น ปกรณ์ มองว่าการศึกษามันคุมคนได้มาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม และรูปธรรมของมหาวิทยาลัยนั้นมันคุมได้ด้วยอุดมคติ ตำแหน่งของสภามหาวิทยาลัยที่เป็นคนของรัฐทั้งหมด เช่น อดีตข้าราชการ เทคโนแครต เป็นต้น

ภาพปกรณ์ สุรินทร์ และนักศึกษาที่แอคชั่นค้าน ม.นอกระบบ หน้ารัฐสภา 13 ก.พ. 56 (อ่านรายละเอียด)

สรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวการคัดค้านม.นอกระบบ

สุรินทร์ มองว่า หนึ่ง การสื่อสารของเรา โดยความไม่ชัดเจนในการสื่อสาร ทำให้สามารถขยายได้กับนักกิจกรรมที่สนใจประเด็นพวกนี้จริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามมีการทำเวทีสัญจรไปตามภาคต่างๆ แต่ไม่สามารถทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เราไปนั้นเห็นด้วยกับเรามากขึ้น

สอง ค่านิยมทางการศึกษา จากการที่นักเรียนนักศึกษาที่ถูกผลิตให้อยู่ในระบบ เมื่อพบเรื่องนี้เด็กก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะคนที่มาศึกษาไปมองที่ปลายทางเรื่องของการรับปริญญาหน้าที่การงานมากว่า รวมทั้งตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่าเทอม จึงคิดว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ แม้เราพยายามรณรงค์เรื่องการมีส่วนร่วม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปพังกำแพงความคิดของคนเหล่านี้ได้

ขณะที่ ปกรณ์ ประเมินว่า ขบวนการถูกแบ่งแยกและปกครองโดยการนำ 6 มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบไปเมื่อปี 50-51 ในยุค คมช. จากการรัฐประหาร ปี 49 โดยความคิดที่จะเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 30 ต่อเนื่องมาจนทำได้จริงในปี 44 ยุคทักษิณก็มีการต่อสู้กับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตลอด ซึ่งมีนักศึกษาที่ออกไปคัดค้านจำนวนมาก

แต่เมื่อเกิดรัฐประหารปี 49 ข้อจำกัดของรัฐบาลที่มีการบังคับให้กฏอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ลำบาก และกระบวนการที่มีส่วนร่วมของประชาชนของนักศึกษาเข้าไปคัดค้านจัดการก็ไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้ง จุฬาฯ ม.บูรพา ลาดกระบัง พระนครเหนือ ม.ทักษิณ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา แต่มันเป็นเพราะการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงรัฐบาลที่ไม่ประชาธิปไตยมากกว่า จะเห็นว่าหลังจากนั้นพอมีการเลือกตั้งยุคคุณอภิสิทธิ์ ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ก็มีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ตราบใดที่ระบบมันเอื้อให้นักศึกษาเข้าไปจัดการได้ พอมายุคนี้ก็เหมือนเดิม คนที่ร่าง พ.ร.บ.มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นคนที่เป้น สนช.

บางมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้ว หลังจากนั้นมีทั้งที่ดีขึ้นและแย่ลง แต่ก็ไม่มีการประเมินว่าที่ดีขึ้นนั้นเป็นเพราะการออกนอกระบบหรือเป็นเพราะความเป้นมหาวิทยาลัยนั้นๆ เอง

มีคำกล่าวที่ว่ามหาวิทยาลัยตอนนี้เป็นสนามวิ่งเล่นของชนชั้นกลางไปหมดแล้ว หรือคนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยมีอุดมคติที่เปลี่ยน ไม่ใช่ไปเรียนเพื่อรับใช้สังคมหรือเปลี่ยนแปลงพัฒนาบ้านเมือง แต่เป็นการเรียนเพื่อความสำเร็จของตัวเองมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ดังนั้นเราจึงควรที่จะหาบทเรียนเหล่านี้

ประเด็นสำคัญของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงนี้คืออธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยที่กำลังจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและไปนั่งใน สนช. ควรจะคิดได้ว่าที่เขาสู้นั้นสู้เรื่องการมีส่วนร่วม สู้เพราะว่าที่ผ่านมาที่ร่าง พ.ร.บ.กันนั้น ไม่เปิดโอกาศให้นักศึกษาไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องว่านี้เอาแต่ค้าน ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยพัฒนา แต่เป็นเรื่องที่ผ่านมาไม่ให้เขามีส่วนร่วม

สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ออกมายืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. เหล่านั้นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้วนั้น ปกรณ์ แย้ง ว่า เขาไม่ได้ทำ เพราะการอ้างว่าทำแล้วนั้นก็ต้องถามว่าทำตอนไหน หากบอกว่ายุคหรือนักศึกษารุ่นที่แล้ว ก็ไม่ได้ทำ หากจะมีการทำแบบปาหี่ก็เพราะเป็นผลมาจากที่มีการต่อสู้มาก่อนหน้า ยกกรณีรัฐบาลเพื่อไทย ที่จะมีการนำ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรและธรรมศาสตร์เข้าสภา ก็ไม่ได้ทำ เนื่องจากไม่มีแม้แต่หลักฐานบันทึกว่ามีการทำ พอไม่มีกระทรวงศึกษาก็ใช้วิธีการโทรศัพท์ไปที่อธิการบดี ม.เกษตรฯ ว่านักศึกษาอ้างว่าไม่มีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็น เกษตรฯ จึงทำเวทีในวันรุ่งขึ้น 1 วัน ก่อน พ.ร.บ.นั้นเข้าสภา

“ต้องไปดูว่าทำการมีส่วนร่วมแล้วมันคืออะไร มันคือการเรียกรอนายกองค์การนักศึกษา เรียกประธานนักศึกษาไป 4-5 คน แล้วบอกว่าเดี๋ยวเราจะเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบนะลูกๆ อันนี้คือการมีส่วนร่วมไหม ในขณะที่ ม.เกษตรฯ มี 6 วิทยาเขต มากไปกว่านั้นมันมีประชาคม มีผู้ปกครอง มีคนอยู่รอบมหาวิทยาลัย มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยมากมาย แล้วคนพวกนี้เขาก็เสียภาษีให้รัฐเอาเงินไปอุดหนุนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ การที่จะเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยมันก็ต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม” ปกรณ์ กล่าว

สำหรับคำพูดที่ว่ามีการะบวนการสร้างการมีส่วนร่วมมาโดยตลอดนั้น ปกรณี ยืนยันว่าไม่มี และถ้าหากมี แล้วทำไมนักศึกษาที่เข้ามาที่หลังเขาก็ควรที่จะมีสิทธิที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

สุรินทร์ เสริมด้วยว่าเราต้องวิพากษ์กลไกที่มาอำนาจการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบตอนนี้ให้ถึงที่สุด และต้องมีข้อเสนอด้วย เช่น เข้าไปนั่งเพื่อนำร่างฯ กลับมาให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนร่างฯ จะออกมาก็ต้องมีกระบวนการประชาธิปไตยภายในมหาวิทยาลัยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net