#KefayaWar 'พอทีกับสงคราม' ชาวเยเมนร่วมรณรงค์ยุติสงครามในประเทศ

เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วที่มีปฏิบัติการโจมตีเยเมนนำโดยกองทัพของซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้บ้านเรือนของประชาชนและระบบโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด อีกทั้งยังมีการปิดกั้นไม่ให้มีการส่งอาหารและความช่วยเหลือทางการแพทย์เข้าไปในพื้นที่ ทำให้ชาวเยเมนทั้งในประเทศและที่เป็นคนพลัดถิ่นต่างก็พยายามเรียกร้องให้ยุติสงครามผ่านโซเชียลมีเดียและการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

 


ภาพผู้รณรงค์ต่อต้านสงครามเยเมนในทวิตเตอร์
ที่มา : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/hashtag/Kefayawar

 

9 เม.ย. 2558 เว็บไซต์ข่าวนอกกระแสคอมมอนดรีมส์ระบุว่าชาวเยเมนรณรงค์ต่อต้านสงครามผ่านอินเทอร์เน็ตในชื่อว่า #KefayaWar ที่แปลว่า 'พอทีกับสงคราม' ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลกร่วมกันยุติสงครามทั้งหมดในเยเมนและยืนหยัดร่วมกับประชาชนผู้ที่ไม่อยากได้รับผลพวงความเสียหายจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ หลังจากที่เยเมนถูกทิ้งระเบิดตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นมา ก็มีผู้ส่งข้อความผ่าน #KefayaWar จำนวนมาก นอกจากในประเทศเยเมนแล้วก็มาจากประเทศอื่นๆ เช่น สกอตแลนด์  เม็กซิโก สหรัฐฯ เป็นต้น

รูจ อัลวาซีร์ นักกิจกรรมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสื่อสนับสนุนเยเมน (Support Yemen Media) ให้สัมภาษณ์ต่อคอมมอนดรีมส์ว่า เธอและเพื่อนหลายคนร่วมจัดการรณรงค์ #KefayaWar เพื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในเยเมนและเพื่อขยายการรับรู้ในเรื่องเชิงมนุษยธรรมที่ว่ามีผู้คนได้รับผลกระทบจากสงครามนี้อยู่จริง เพื่อจะให้เกิดความรู้สึกเชิงมนุษยธรรมเช่นนี้จำเป็นต้องทำให้คนมองชาวเยเมนเป็นมากกว่าเหยื่อ

"มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี ความยุติธรรม และเสรีภาพของพวกเขาเอง" อัลวาซีร์กล่าว

"ประชาชนในเยเมนไม่ได้เป็นเพียงคนจนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่พวกเขายังเป็นคนที่มีเรื่องราวของตัวเอง เป็นคนที่พยายามทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองในแบบของตัวเองและในชุมชนของพวกเขาเอง พวกเขาเป็นอนาคตของเยเมนและในตอนนี้พวกเขาต้องการคนที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับพวกเขาและสนับสนุนพวกเขามากเท่าที่พวกเขาควรจะได้รับ" อัลวาซีร์อธิบาย

นอกจากในอินเทอร์เน็ตแล้วยังมีการประท้วงตามท้องถนนทั้งในเยเมนและประเทศอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดทิ้งระเบิดในเยเมนโดยทันที เช่นในปากีสถานมีกลุ่มประชาสังคมขนาดใหญ่ประท้วงกดดันรัฐบาลไม่ให้เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยซาอุดิอาระเบียและประเทศพันธมิตรอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ คูเวต อียิปต์ โมร็อกโก เป็นต้น

มีการประท้วงเรื่องสงครามเยเมนอีกในเลบานอน สหรัฐฯ และในอังกฤษ โดยในกรุงลอนดอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีประชาชนหลายพันคนเดินขบวนประท้วงในชื่อว่า 'เลิกแทรกแซงเยเมน' (Hands Off Yemen) ในสหรัฐฯ มีการประท้วงในรัฐนิวยอร์ก มิชิแกน และวอชิงตันดีซี ซึ่ง สุไคนา หนึ่งในผู้ประท้วงที่หน้าทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกล่าวว่าการประท้วงของพวกเขาเป็นเรื่องในเชิงมนุษยธรรมโดยต้องการให้หยุดการทำสงครามที่เข่นฆ่าและใช้วิธีการเจรจา

สุไคนาเป็นชาวเยเมนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เธอมีครอบครัวรวมถึงหลานสาวอายุ 13 ปีซึ่งยังคงประสบความยากลำบากอยู่ในเมืองหลวงของเยเมน เธอบอกว่าพวกเขาอยู่ในสภาพหวาดกลัว มีอาหารเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องท่อส่งแก๊สและไฟฟ้าที่แย่กว่าเดิม

สภาพสงครามเยเมน

องค์การอนามัยโลกระบุว่าความขัดแย้งรอบล่าสุดในเยเมนนับตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. เป็นต้นมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 643 ราย มีผู้บาดเจ็บ 2,226 ราย มีคนพลัดถิ่นภายในประเทศ 334,000 ราย และคาดการณ์ว่ามีผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขราว 8.4 ล้านราย กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 74 ราย

ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีการรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีในกรุงซานาโดยกลุ่มกบฏฮูติกลุ่มกบฏที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ผู้ยังคงมีอิทธิพลในเยเมน ทำให้ประธานาธิบดีอับด มานซูร์ ฮาดี หลบหนีไป และหลังจากนั้นในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ก็ตกลงว่าจะมีการแทรกแซงเยเมนตามที่รัฐบาลของฮาดีเรียกร้อง ทำให้มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศนำโดยซาอุฯ โดยอาศัยข้อมูลข่าวกรองรวมถึงอาวุธส่วนหนึ่งจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามมีการวิจารณ์การแทรกแซงในครั้งนี้ว่าเป็นเพียงแค่การช่วงชิงอำนาจของชาติตะวันตกในรูปแบบเดียวกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้

รามี เอลามีน นักเขียนและนักกิจกรรมชาวเลบานอน-อเมริกันกล่าวว่าเห็นได้ชัดว่าสงครามในครั้งนี้ถูกชักใยโดยสหรัฐฯ และซาอุฯ เขาบอกว่าอยากให้ชาวอเมริกันไตร่ตรองว่าเงินภาษีของพวกเขาถูกนำมาใช้ในการทำ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ที่ทำให้ผู้คนบริสุทธิ์จำนวนมากถูกสังหาร

นอกจากสงครามในครั้งนี้จะทำลายบ้านเรือนและชีวิตของประชาชนแล้ว ซาอุฯ ยังปิดกั้นไม่ให้องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่งความช่วยเหลือเข้าไปในประเทศเยเมนซึ่งมีความยากจนและเคยตกเป็นเป้าการใช้โดรนโจมตีโดยสหรัฐฯ องค์กรกาชาดสากลเตือนว่าสถานการณ์ในเมืองอาเดนที่ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีอย่างหนักมีสภาพเลวร้ายมาก ทางด้านกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ระบุถึงวิกฤติคนไข้ล้นสถานพยาบาลในเมืองอาเดนและกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

อัลวาซีร์กล่าวอีกว่ามีการปิดกั้นอ่าวและการส่งเงินระหว่างประเทศทำให้เกิดปัญหาต่อคนที่เดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศอื่น อาหารในเยเมนกำลังจะหมด มีระเบิดทิ้งใส่ทั้งค่ายผู้ลี้ภัยของพลเรือน โรงงานอาหาร โรงงานวัตถุดิบ โครงสร้างการประปาและการคมนาคม คนในเยเมนมีแต่ความหวาดกลัวว่าพวกเขาจะเป็นเหยื่อรายต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท