Skip to main content
sharethis

กรมโรงงานมั่นใจปีนี้ยอดขอ รง.4 จะมียอดสูงถึง 6 แสนล้าน

พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติการตั้งกิจการใหม่และขยายโรงงานเพิ่มเติมหรือรง.4 ในช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-มี.ค.58) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีงบประมาณที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 30 โดยมีมูลค่าลงทุนรวม 280,000 ล้านบาท โดยสามารถออก รง.4 ได้ภายใน 30 วันตามนโยบายของคสช.และคาดว่า 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ จะมีทิศทางการขอ รง.4 ดีขึ้น ซึ่งปกติแล้ว ในช่วง ต.ค-ธ.ค.ของทุกปีการขอจะมีเข้ามามาก แต่ช่วง ม.ค.-มี.ค.ของทุกปีจะชะลอการขอลงและเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้เป็นต้นไป ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า ภาพรวมการขอ รง.4 ตลอดปีนี้จะมีมูลค่ารวมกว่า 500,000-600,000 ล้านบาท

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการขอ รง.4 และขอขยายโรงงานภาพรวมดีกว่าปีที่ผ่านมามาก ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้โอกาสนี้ ลงทุนเพราะช่วงนี้มีต้นทุนถูกและผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถรับงานได้ ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศก็จะมีราคาถูกกว่า และเมื่อวัฎจักรของธุรกิจกลับมาดีก็จะทำให้สามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างทันเหตุการณ์

(สำนักข่าวไทย, 13 เม.ย.58)

หอการค้าไทย เตรียมปรับลดจีดีพีปีนี้ใหม่ หลังสงกรานต์ คาดโตร้อยละ 3-3.5

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ยอดขายสินค้าต่าง ๆที่ลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และ ความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสงกรานต์ยังอยู่ในภาวะความระมัดระวัง ประกอบกับในช่วงสุดสัปดาห์ เกิดเหตุระเบิดที่ลานจอดรถของห้างเซ็นทรัล พลาซ่า สาขาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ประชาชนเกิดความกังวล ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ คงจะกระทบต่อบรรรยากาศสงกรานต์ในช่วงสั้น

ธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่าทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้รวบรวมข้อมูลภาวะเศรษฐกิจทุกภาค และ ตัวเลขการส่งออก เพื่อรายงานต่อสภาหอการค้าไทย โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่สดใส คาดว่าจะโตร้อยละ 3-3.5 ขณะที่การส่งออกคาดว่าโตร้อยละ 0 -1 ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจะปรับประมาณการณ์ใหม่ในวันที่ 16 เม.ย.นี้

(สำนักข่าวไทย, 13 เม.ย.58)

คนว่างงานเพิ่ม 3.78 แสน

รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยถึงภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนมี.ค.58 พบว่า ผู้มีงานทำรวม 37.62 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38.37 ล้านคน เป็นแรงงานที่รอฤดูกาลจำนวน 3.69 แสนคน หรือ 1% ของประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน ส่วนจำนวนผู้ว่างงานนั้นอยู่ที่ 3.78 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% ของประชากรที่อยู่ในวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นจาก 3.16 แสนคน หรือ 0.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเป็นการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นคน เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคกลางมีการว่างงานสูงสุด 1.44 แสนคน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่างงาน 7.7 หมื่นคน กรุงเทพฯ 6 หมื่นคน ภาคเหนือ 4.9 หมื่นคน และภาคใต้ 4.8 หมื่นคน

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมี.ค.57 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจํานวนผู้ทํางานลดลง 4.8 แสนคน (จาก 12.11 ล้านคน เป็น 11.63 ล้านคน) ในขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีจํานวนผู้ทํางานเพิ่มขึ้น 2.0 แสนคน(จาก 25.79 ล้านคน เป็น 25.99 ล้านคน) ในจํานวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการศึกษา 1.0 แสนคน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยงการบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 7.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 5.0 หมื่นคน และสาขาการผลิต 1.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุดคือสาขาการก่อสร้าง 1.3 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 8.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับลดลงเท่ากัน 3.0 หมื่นคน และสาขาการขายส่งการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 1.0 หมื่นคน สําหรับสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ

ในเดือนมี.ค.58 มีผู้ว่างงาน 3.78 แสนคน (ชาย 2.43 แสนคน และหญิง 1.35 แสนคน)คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 (ชายร้อยละ 1.2 และหญิงร้อยละ 0.8) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจํานวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นคน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง มีจํานวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นคน ภาคเหนือ 1.7 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 1.4 หมื่นคน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีจํานวนผู้ว่างงานลดลง 1.7 หมื่นคน และ 1.6 หมื่นคน ตามลําดับ

(สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

รอง ปธ.สภาอุตฯชี้ว่างงานเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การว่างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะผลจากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยตลาดหลักหลายแห่งยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ทำให้ผู้ผลิตที่ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดดังกล่าวลดกำลังการผลิตลง ไม่มีการจ้างล่วงเวลาหรือโอที ทำให้แรงงานออกจากงานไปบ้าง อย่างไรก็ตาม มองว่าการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1% เป็นอัตราที่ไม่น่ากังวล เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่การว่างงานอยู่ในอัตราที่สูง และพบว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยังต้องพยายามรักษาแรงงานไว้ และยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น

นายวัลลภกล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นประมาณปลายไตรมาสที่ 2/2558 หรือประมาณเดือนมิถุนายน เพราะมีงบประมาณลงทุนของภาครัฐเริ่มเข้าสู่ระบบกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนด้านสถานการณ์สู้รบและการก่อการร้าย จะขยายวงกว้างจนกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดย ส.อ.ท.ประมาณการการส่งออกปี 2558 ไว้ที่ 1%

(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 12 เม.ย.58)

ไอเอ็มเอฟ ประเมินจีดีพีไทยปีนี้โต 3.7%

คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ  ได้ประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจําปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2558 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.7 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลงและการลงทุนของภาคเอกชน ที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ แต่การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีข้อจํากัด จากอัตราการใช้กําลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ คำสั่งซื้อต่างประเทศที่ยังชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีข้อจํากัดจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐทําได้ล่าช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังอ่อนแอ

(สำนักข่าวไทย, 10 เม.ย.58)

หม่อมอุ๋ยคาดส่งออกไตรมาสแรกร่วง 4 % ชี้ผลจากเศรษฐกิจโลก

9 เม.ย.58 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลก" ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ที่เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อหลักของโลกหดตัว โดยสหภาพยุโรป(อียู) ยังไม่ฟื้น มีคนตกงาน 10-20% ขณะที่สหรัฐฯฟื้นตัวได้น้อย อัตราว่างงานยังอยู่สูง 5.7-5.8% จึงไม่มีกำลังพอที่จะขึ้นมาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่

ส่วนญี่ปุ่นเศรษฐกิจก็ยังซบเซา ขณะที่จีนก็อยู่ระหว่างการปราบปรามคอร์รัปชันทำให้เศรษฐกิจส่วนเกินหายไปฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นจึงเห็นว่าตลาดหลักของโลกทั้งหมดมีปัญหาทั้งสิ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบ ทำให้คาดว่าการส่งออกในไตรมาส1ของปีนี้จะลดลงถึง 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 0-1% ถือว่าได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดในปีก่อนแล้ว ส่วนราคาสินค้าเกษตรหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่นปาล์มน้ำมัน  ส่วนข้าวสต็อกในไทย 17 ล้านตันนั้น จากนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาและสต็อกข้าวโลกอยู่ที่ 37-38 ล้านตัน ดังนั้นราคาข้าวจึงไม่สามารถขยับได้มากกว่านี้

(มติชนออนไลน์, 9 เม.ย.58)

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 10.4 ล้านล้าน คลังชี้ไม่น่าเป็นกังวล

สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์การหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งข้อมูลล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2557 มีจำนวน 10.4 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า เป็นระดับที่ยังบริหารจัดการได้ ไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ได้แก่ หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หนี้สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งหนี้เหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงหนี้สหกรณ์ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิก

สำหรับที่มีความเสี่ยงหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ได้แก่ หนี้เพื่อการบริโภค หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังพบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ผ่านสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสหกรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนการกู้ถึงร้อยละ 87 ดังนั้น เชื่อว่าสถาบันการเงินจะดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือน รัฐมนตรีคลังย้ำว่าจะเน้นดูแลให้กลุ่มเสี่ยง คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอ็นพีแอลทั้งระบบ โดยไตรมาส 4 ปี 2557 เอ็นพีแอลของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอยู่ที่ร้อยละ 3.1 แต่สินเชื่อส่วนบุคคลมีเอ็นพีแอลร้อยละ 4.7 และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีเอ็นพีแอลร้อยละ 3.4

(สำนักข่าวไทย, 9 เม.ย.58)

คมนาคมเดินหน้าพัฒนาระบบเชื่อมต่อรถไฟฟ้า

สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ว่า การพัฒนาพื้นที่การเชื่อมต่อระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง  ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อออกแบบพื้นที่เป็นจุดเชื่อมต่อ  โดยทาง รฟม. จะใช้งบประมาณของหน่วยงานในการพัฒนา  พื้นที่ดังกล่าวจัดทำที่ขึ้นลงแบบ Inclined Platform สำหรับผู้พิการ จำนวน 2 ตัวติดตั้งที่บันไดทางเชื่อมต่อ และบันทางขึ้นลง

ทั้งนี้ด้านกรมเจ้าท่าได้ลงนามการพัฒนาท่าเรือ 17 แห่ง เพื่อเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.ย. 2558 ทั้งหมด 3 แห่งได้แก่ ท่าเรือพรานนก ,ท่าเรือราชวงศ์ และท่าเรือสี่พระยา ส่วนอีก 14 แห่งเตรียมเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ย. 2559 สำหรับท่าเรือเอกชนอีก 19 เเห่ง อยู่ระหว่างเสนอกรมธนารักษ์เพื่อขอปรับปรุงท่าเรือทั้ง 19 แห่ง เพื่อบริการเป็นระบบปิด ด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม คาดว่าท่าเรือเอกชนทั้ง 19 แห่ง สามารถให้บริการได้พร้อมกับระบบตั๋วร่วมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ในช่วงเดือน ส.ค. 2559 กำหนดให้บริการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือสาทร , ท่าเรือนนทบุรี และท่าเรือปิ่นเกล้า

(สำนักข่าวไทย, 9 เม.ย.58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net