Skip to main content
sharethis

 

15 เม.ย.2558 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรคจะขอรอร่างที่เสร็จสมบูรณ์จากคณะกรรมาธิการฯก่อน เพราะยังมีข้อห่วงใยอีกมาก ตั้งแต่ในแง่ของกระบวนการที่จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และอาจจะมีกลุ่มที่ไม่ยอมรับแนวคิดหรือแนวทาง ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตนไม่อยากให้ประเทศไทยเสียเวลาถกเถียงกันในเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แต่ต้องการจะเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับ และสามารถทำให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่จะได้ช่วยกันมาคิดและร่วมกันนำพาประเทศไปข้างหน้ามากกว่า ซึ่งมองว่าปัญหาของการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่นั้น อาจจะยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด หรือการคิดบทบัญญัติในบางเรื่องบางด้าน แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงให้ครบวงจรได้ จะเห็นว่าปัญหาในอดีตเป็นเรื่องของการใช้อำนาจโดยมิชอบ กลายเป็นว่ากระบวนการตรวจสอบ หรือถ่วงดุล หรือให้อำนาจฝ่ายบริหารในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตามกระบวนการยังไม่จบ และหวังว่ากรรมาธิการยกร่างฯจะรับฟังจากฝ่ายต่าง ๆ และสุดท้ายสิ่งที่ดีที่สุดคือการทำประชามติถามประชาชน โดยมีทางเลือกที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดคือให้ประชาชนเลือกระหว่างรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่กับร่างที่ใช้อยู่ก่อน

“จะต้องมีทางเลือกที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ทราบว่าจะได้อะไร หรือจะได้เมื่อไหร่ ผมคิดว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดคือให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างที่ร่างขึ้นมาใหม่กับรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ก่อน ไม่มีใครสรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับหรือไม่รับ นอกจากทำประชามติ” อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลายประเด็นที่น่าเป็นห่วงในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การไปอนุญาตให้รัฐบาลยื่นคำขาดกับสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่มีการแก้ไขเลย หรือในเรื่องกระบวนการถอดถอนที่ออกแบบมานั้น กลายเป็นฝ่ายตรวจสอบจะถูกถอดถอนมากกว่าฝ่ายบริหาร และแนวความคิดที่มองว่าทำให้การเลือกตั้งมีพรรคการเมืองมาก ๆ หรือมีกลุ่มการเมือง จะทำให้การเมืองเป็นเรื่องการต่อรองของผลประโยชน์มากกว่า ดังนั้นตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนที่เป็นปัญหา ยังไม่นับเรื่องอำนาจในบทบัญญัติที่เป็นช่วงรอยต่อ โดยเฉพาะอำนาจของคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งล่อแหลมต่อการทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงได้ คือการที่ให้คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจเสนอกฎหมายอภัยโทษ ก่อให้เกิดความรับผิดชอบกับคนที่มาเป็นรัฐบาล โดยเกณฑ์การอภัยโทษมีเกณฑ์แค่ว่าคนที่ทำผิดเพียงให้ข้อมูลและสำนึกผิดต่อกรรมการ ซึ่งมีความล่อแหลมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต

ส่วนที่โหรทำนายว่านายกรัฐมนตรีจะต้องบริหารประเทศ 3 ปี ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่จะมีปัญหาหรือไม่ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่กังวลเรื่องโหร และคิดว่าคนที่ต้องกังวลคือนายกรัฐมนตรี เพราะจะมีแรงกดดันเข้ามามาก และคิดว่าตัวหัวหน้าคสช.คงไม่กังวลว่าจะอยู่นานเท่าไหร่ แต่สิ่งที่จะต้องกังวลมาก ๆ คืองานปฏิรูป หรือความพยายามที่จะทำให้บ้านเมืองสงบ และเดินไปข้างหน้าได้จะยั่งยืนหรือไม่

สำหรับกรณีที่รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทนนั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า การผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าเรายังอยู่ในสถานการณ์ที่ใช้กฎหมายพิเศษ

ชี้ต่างประเทศอาจมองไม่ออก รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ทำตัวเหมือนเผด็จการ

สำหรับการวางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการสร้างสัมพันธ์กับประเทศรัสเซียและจีนมากขึ้น อภิสิทธิ์ มองว่า รัฐบาลทำงานภายใต้ข้อจำกัด เนื่องจากมิตรประเทศบางภูมิภาค มีแนวปฏิบัติที่เป็นกฎกติกาภายในทำให้ไม่สามารถดำเนินงานที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยได้เต็มที่ แต่มีมิตรประเทศบางส่วนที่ไม่มีข้อจำกัด รัฐบาลจึงสามารถทำงานร่วมกับ จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ในขณะที่โลกตะวันตกไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ เป็นไปโดยธรรมชาติ

ส่วนจะทำให้เสียดุลยภาพทางการต่างประเทศหรือไม่นั้น รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ใช่ข้อจำกัดที่เราต้องการ เมื่อเขาตัดสินใจว่าไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับไทยได้อย่างปกติ ก็ต้องยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการเป็นมิตรและพร้อมเพิ่มพูนความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคต จึงอยู่ที่ทางประเทศเหล่านั้นว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งทุกครั้งที่ตนได้พบกับผู้แทนของสหภาพยุโรป หรือ อียู จะบอกเสมอว่า งานด้านการค้าการลงทุนที่เกี่ยวกับการเจรจาระดับเทคนิคหรือเจ้าหน้าที่น่าจะ เดินต่อไปได้ แต่ถ้าจะมีจุดยืนว่าไม่ทำข้อตกลงกับรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งก็สามารถ ประกาศได้ แต่การหยุดทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเสียสมดุลของความสัมพันธ์ ซึ่งเขาก็รับฟังว่าจะไปพิจารณาปรับแก้ได้หรือไม่

ต่อประเด็นท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียูที่กดดันไทยในช่วงเวลานี้มากกว่าการรัฐประหารในปี2549 อภิสิทธิ์ มองว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่มีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในบางประเทศ เช่น ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผู้นำเขาก็ไปเยือน โดยมีการอ้างว่าเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ส่วนเหตุผลจะฟังขึ้นหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เขาได้รับเป็นข้อมูลที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการมองปัญหารัฐประหารว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่มองเห็นได้ง่าย แต่เวลาที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาทำสิ่งที่ไม่ดี ระดมคนข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเหมือนกัน ต่างประเทศอาจมองไม่ออก จึงมองแค่ว่าการปฏิวัติและไม่มีการเลือกตั้งนั้นเป็นเผด็จการ แต่เวลาที่มีการเลือกตั้งแล้วทำตัวเหมือนเผด็จการเขาก็ไม่สามารถรับรู้ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวล็อบบี้เพื่อให้ต่างประเทศรับรู้ความจริงด้านเดียวทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net