Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ภายหลังจากทำการสำรวจวรรณกรรม (Literature Review) งานเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและแนวคิดทฤษฎีทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ของไทย) [1] มาอยู่พักใหญ่ ผู้เขียนสังเกตเห็นถึงบางสิ่งบางอย่างในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย นั่นคือ การติดอยู่ในวังวนของการใช้ทฤษฎีและแนวคิดในกลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่ว่าด้วยวิธีคิดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ และความเป็นหลักสากลของความจริง (Universal Truth) ซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ในรูปแบบที่เป็นภววิสัย (Objective) ตามอิทธิพลของวงวิชาการรัฐศาสตร์อเมริกันที่ยึดในปรัชญาแนวปฏิฐานนิยมและความเป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ แนวคิดในสำนักสัจนิยม (Realism) หรือแนวคิดในกลุ่มสำนักเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นแนวคิด ทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการนโยบายต่างประเทศ และวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นกลุ่มทฤษฎีที่ได้รับความนิยมภายในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเช่นกัน)

ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า เหตุใดวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยจึงยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิด (ซึ่งผู้เขียนนิยามไว้ในที่นี้ว่าเป็นรูปแบบจารีต – Traditional Concepts ของวงการ IR) เนื่องจากในขณะที่ผู้เขียนได้พยายามทำการสำรวจวรรณกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยแล้ว พบว่างานเขียนที่ใช้ทฤษฎี แนวคิดประเภทกระแสรอง หรือ นอกกระแส มีอยู่น้อยนิด (จนถึงขั้นพบได้ยาก) [2] ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนจึงเป็นในเรื่องของ ความที่ในไทยนั้นไม่มีที่ยืนให้แก่ทฤษฎี แนวคิดในกลุ่มสำนักหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivism) แม้วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากลจะเคยผ่านประสบการณ์ในการมีวิวาทะหรือข้อถกเถียงครั้งใหญ่ในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 3) [3] ซึ่งเป็นการถกเถียงระหว่างวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยม (Positivism - Post Positivisim) [4] มาแล้วก็ตาม

แต่กระนั้น วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันกลับมีลักษณะที่เรียกได้ว่า ขาดแคลนความหลากหลายของตัวทฤษฎีและแนวคิดที่ปรากฏในตัวบทของงานเขียนทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ความหลากหลายทางทฤษฎีและรูปแบบของแนวคิดนั้น คือ สีสันที่เปรียบได้ดั่งเครื่องมือที่เรียงร้อยกันอยู่ภายในกล่องเครื่องมืออุปกรณ์ที่เรียงรายพร้อมกันรอให้ผู้ศึกษาหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาเลือกสรรและนำไปประยุกต์ใช้ [5] แต่สาเหตุที่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้นยังคงมีความขาดแคลนดังเช่นว่า สาเหตุเบื้องต้นผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไทยเรานั้นรับอิทธิพลจากวงการรัฐศาสตร์สายสหรัฐอเมริกามาแต่เพียงอย่างเดียว ที่มีหลายปัจจัยร่วมอยู่ด้วย อาทิ การขาดแคลนตำราที่มีคุณภาพ อุปสรรคทางด้านภาษา อุปสรรคจากกระบวนขั้นตอน Peer-Review (ที่อาจทำให้งานเขียนไม่สามารถเผยแพร่ออกมาได้) ไปจนถึงเหตุผลทางด้านอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้ที่มีความคิดจะผลิตงานวิชาการด้านดังกล่าว (อาทิ ในกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท-เอก ที่อาจมีความเชี่ยวชาญไม่ตรงกับประเด็นที่ผู้ศึกษาสนใจ) ดังกล่าวข้างต้นนี้ ผู้เขียนมิได้คาดหวังจะให้กลายเป็นคำอธิบายสากลต่อประเด็นความขาดแคลนที่ผู้เขียนได้นำเสนอ ผู้เขียนเข้าใจและยอมรับว่าทฤษฎีกลุ่มหลังปฏิฐานนิยมหลายๆทฤษฎีนั้นอาจไม่สามารถที่จะสร้างความเป็น Grand Theory ให้แก่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เทียบเท่ากับสำนักเสรีนิยมและสัจนิยมที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่การนำทฤษฎีหรือแนวคิดในกลุ่มหลังปฏิฐานนิยมมาใช้ร่วมในงานเขียน เช่น ทฤษฎีในกลุ่มสำนักวิพากษ์ (Critical Theory), สำนักแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School) หรือแม้แต่กลุ่มมาร์กซิสต์ (Marxism) จะสามารถสร้างคำอธิบายที่มีประสิทธิภาพและอาจอุดช่องโหว่ในประเด็นที่กลุ่มสำนักเสรีนิยม และสัจนิยมเปิดช่องว่างไว้ก็เป็นได้ การจะนำทฤษฎีกระแสรองมาใช้ร่วมจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่คำอธิบายภายในงานเขียน หรือแม้แต่เป็นการพยายามสร้างมุมมองที่แตกต่างออกไป

ในทัศนะของผู้เขียน ผู้เขียนมีความเชื่ออยู่ประการหนึ่ง คือ ทฤษฎีหรือแนวคิดใด หากสามารถปรับใช้กับมนุษย์ หรือ สังคมได้ ทฤษฎีหรือแนวคิดนั้นย่อมสามารถนำมาปรับใช้ในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เนื่องจากวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่ Booth (2014) เรียกว่าเป็น “State-Dominated” คือ รัฐนั้นยังคงเป็นยูนิตหรือตัวแสดงที่มีอิทธิพลอยู่ในสังคมระหว่างประเทศ แต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (State-Centrism) ซึ่งรัฐนั้นก็ประกอบขึ้นมาจากพฤติกรรมของมนุษย์และตั้งอยู่บนฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่จำเป็นต้องอยู่ในสังคมร่วมกัน ในเมื่อทฤษฎีที่นักวิชาการหลายท่านมักนิยมใช้เป็นทฤษฎีหลักในงานดังเช่น ทฤษฎี Linkage Theory ของ Rosenau ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการดึงเอาทฤษฎีในกลุ่มจิตวิทยาหรือจิตวิเคราะห์เข้ามาช่วยในการตีความตัวยูนิตอย่างผู้นำประเทศหรือตัวแสดงที่เป็นมนุษย์อันมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าศาสตร์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นศาสตร์ทางด้านสหวิทยาการหรือสหสาขาวิชา (Multi-Disciplinary) ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อเด่นที่วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีไว้ เพื่ออุดช่องว่างด้านความขาดแคลนภายในตัวทฤษฎีระดับแกรนด์ (Grand Theory) ของของศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้

และด้วยความเชื่อที่ว่าทฤษฎีใดๆหากสามารถประยุกต์ใช้ได้กับมนุษย์และสังคมแล้ว ย่อมสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับรัฐและสังคมระหว่างประเทศได้ เมื่อยืนอยู่บนฐานดังว่านี้ จากการสังเกตและสำรวจวรรณกรรมทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผนวกกับแนวคิดอันโด่งดังที่สร้างชื่อให้กับนักคิด 2 ท่าน ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า คือ Gilles Deleuze และ Félix Guattari ที่ได้เขียนตำราวิเคราะห์ระบบทุนนิยมในรูปแบบใหม่ (คือ Anti-Oedipus และ A Thousand Plateaus) ที่พยายามหลีกหนีวิธีคิดแบบดั้งเดิม ด้วยความที่ประเด็นเรื่อง “ทุนนิยม” และประเด็นของ “ทุน” ในปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปจนถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ [6]

ผู้เขียนจึงถือเป็นโอกาสอันดีต่อการจะเสนอการนำงานของนักคิดทั้ง 2 ท่านนี้เข้ามาเพื่อสรรหาคำอธิบายที่มีความกว้างขวางและมีประสิทธิภาพให้แก่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยเหตุที่งานเขียนของ Deleuze และ Guattari นั้นมีความเป็นปรัชญารูปแบบที่ไม่ถูกจริตกับรูปแบบการศึกษาของกลุ่มวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม การจะนำเข้ามาสู่ในปริมณฑลของวงการ IR จึงค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากและล่าช้า โดยผู้เขียนใคร่ขออนุญาตที่จะยกตัวอย่างงานเขียนที่โด่งดังอันมาจากการนำงานของ Deleuze และ Guattari เข้ามาตีความสู่วงการ IR ก็คืองานเขียนของ Michael Hardt และ Antonio Negri (2000)  ที่เป็นการสร้างคำอธิบายให้แก่ระบบจักรวรรดินิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ถัดมาก็คือ งานเขียนของ Lenco (2011) ที่เกี่ยวกับขบวนการ Alter-Globalization Movement, งานที่ Buchanan (2006) เป็นบรรณาธิการให้ เกี่ยวกับเหตุการณ์โลกปัจจุบันและร่วมสมัย (Contemporary World) และล่าสุดสำหรับงานของ Lenco (2014) ก็เป็นการพยายามที่จะนำเสนอมรดกทางความคิดของ Deleuze ต่อการศึกษาในปริมณฑลระหว่างประเทศให้แก่วงวิชาการสังคมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วยังถือได้ว่าอยู่ในปริมาณที่น้อย ด้วยหลายเหตุปัจจัย ที่แม้แต่วงวิชาการ IR ตะวันตกก็ยังมีจำนวนน้อยนิด

ในปัจจุบันแม้งานเขียนของ Deleuze และ Guattari จะค่อนข้างยาก ซับซ้อนต่อการนำมาตีความและพัฒนาสู่การสร้างมโนทัศน์ทาง IR แต่ผู้เขียนก็หวังว่าวงวิชา IR ของไทยจะปรับตัวและก้าวข้ามอิทธิพลของวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมออกไปได้ในไม่ช้า เพื่อปลดปล่อยศาสตร์ IR ให้หลุดออกจากความขาดแคลนซึ่งความหลากหลายทางทฤษฎีและแนวคิดทาง IR ดังเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

เชิงอรรถ

[1] ทั้งภายในวารสารวิชาการ สื่ออิเล็กโทรนิคส์ ไปจนถึงหนังสือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[2] ผู้เขียนยอมรับว่า ธีมหลักของวงการและเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันคือ แนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตย และ เสรีนิยม ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ที่มีรูปแบบของความร่วมมือ อันยึดอยู่กับความอยู่รอดของชีวิต รัฐ สังคมระหว่างประเทศ อย่างมีสันติภาพ ในสภาวะที่เวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการมีองค์อธิปัตย์ระดับโลก (Global Sovereign Power) อันเรียกว่า สภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) (ตามตัวแบบของแนวคิดสำนักเสรีนิยม และสัจนิยม) อยู่

[3] Great Debates in International Relations Scholars หมายถึง กลุ่มสถานการณ์ของการเกิดข้อถกเถียงทางวิชาการขึ้นในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้ว 4 ครั้ง (หากไม่นับข้อถกเถียงระหว่างกระบวนทัศน์ – “Inter-Paradigm Debate” ของกลุ่มสำนักคิดสัจนิยม เสรีนิยม และโครงสร้างนิยม ในฐานะกลุ่มสำนักคิดแบบจารีตกับสายถอนรากถอนโคน)

[4] IR Great Debate ครั้งที่ 3 เป็นการถกเถียงกันระหว่างสำนักคิดที่ยึดวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) และกลุ่มสำนักคิดแบบหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivism) ในบางตำราอาจได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะ Great Debate ครั้งที่ 4 แต่สำหรับ Lapid (1989) เขาได้นิยามถึงช่วงเวลาของสำนักคิดหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivist Era) ว่าเป็นช่วงของ Great Debate ครั้งที่ 3

[5] ผู้เขียนมิได้บังอาจจะมีเจตนาที่จะบอกว่าวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้นล้าหลัง หรือด้อยประสิทธิภาพไปกว่าวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากลแต่อย่างใด เนื่องจากผู้เขียนเป็นเพียงยูนิตเล็กๆในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มิอาจทัดเทียมกับนักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ทรงเกียรติท่านอื่นๆ
[6] Michel Foucault ถึงกับยืนยันว่าช่วงเวลาแห่งศตวรรษนี้คือเวทีของเดอเลิซและวิธีคิดแบบเดอเลิซ (Deleuzian Century)

 

อ้างอิง

Booth, K. (2014). “International Relations: All that matters”. US: McGraw-Hill Companies.

Buchanan, I. (2006). “Deleuze and the Contemporary World”. Edinburgh: Edinburgh University Press.

Deleuze, G. and Guattari, F. (1983). “Anti-Oedipus: Capitalism and Schizophrenia”. Minneapolis: University of Minnesota.

Deleuze, G. and Guattari, F. (1987). “A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophreniaa”. Minneapolis: University of Minnesota

Foucault, M. “Theatrum Philosophicum”. Retrieved: April 14, 2015. Generation-Online: http://www.generation-online.org/p/fpfoucault5.htm.

Hardt, M. and Negri, A. (2000). “Empire”. Cambridge: Harvard University Press.

Lapid, Y. (1989). “The Third Debate: On the Prospects of International Theory in a Post-Positivist Era.”, International Studies Quarterly, 33.3, Page 235-254.

Lenco, P. (2011). “Deleuze and World Politics: Alter-Globalizations and Nomad Science.”. Oxon:  Routledge.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net