สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 เม.ย. 2558

กสอ.เร่งเครื่อง อัดงบกว่า 28 ลบ.พัฒนาอุตฯ 5 จังหวัดชายแดนใต้
 
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสอ.ได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดนใต้ พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา เพื่อผลักดัน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสร้างโอกาสผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากชายแดนใต้เป็นพื้นที่  ที่สามารถผลิตครบวงจร ตั้งแต่เกษตรขั้นต้น วัตถุดิบขั้นกลาง และการแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยคาดว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนพื้นที่ชายแดนใต้สูงขึ้น และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 25%
       
ทั้งนี้ กสอ.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณกว่า 28 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสขยายธุรกิจและการลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียนผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งโครงการกลยุทธ์การค้าชายแดน  โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นต้น
       
“ศักยภาพทางเศรษฐกิจของชายแดนใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดในประเทศประมาณ 500,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 51.9% ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม โดยเฉพาะด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ที่มูลค่าการค้าสูง แม้ปัจจุบันยังได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตของประชาชนจากปัญหาความไม่สงบ แต่พื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญยังเติบโตได้ดีและไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย”
       
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตที่โดดเด่นและเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสูงสุดอันดับต้นๆของประเทศ เช่น ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถจักรยาน ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เป็นต้น มีมูลค่าการส่งออกรวมแล้วประมาณ 105,000 ล้านบาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16/4/2558)
 
คปก.เดินหน้ายกระดับ กม.แรงงานไทยสู่สากล แนะถึงเวลาปฏิรูปชำระ กม.แรงงาน
 
17 เม.ย. 2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยนาย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงาน พ.ศ....”เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยคปก.มีความเห็นว่า กฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไทยมีหลายฉบับ แต่ละฉบับมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้และมีความไม่เชื่อมโยงกับกฎหมายแรงงานอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากลตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประกอบกับกฎหมายแรงงานฉบับต่างๆ ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วคปก.จึงเสนอแนะให้มีการปฏิรูปชำระกฎหมายแรงงานโดยการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน และแยกการบริหารแรงงานภาครัฐออกเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้สามารถส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพชีวิตของคนทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 
 
บทบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งที่ คปก.เสนอให้มีการแก้ไขคือการเปลี่ยนนิยามจาก “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” เป็น “ผู้จ้างงาน” และ “คนทำงาน” เพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมผู้ทำงานทั้งหมด และเพื่อให้เกิดทัศนคติการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างคนทำงานอย่างแท้จริง 
 
สำหรับในส่วนที่เป็นบทบัญญัติด้านแรงงานสัมพันธ์ คปก.เสนอแนะให้มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาไอแอลโอ ซึ่งจะช่วยให้คนทำงานมีหลักประกัน ความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนการได้รับค่าจ้างและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
ด้านร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงาน เป็นการรวบรวมเนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานภาครัฐมารวมไว้เป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้การบริหารแรงงานของภาครัฐทำได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน หรือ ร.บ.ร. เป็นผู้ดำเนินการตามวิธีการที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระของศาลแรงงานและลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลแรงงานได้เป็นอย่างมาก
 
(ประชาไท, 17/4/2558)
 
กกท.เร่งสมาคมกีฬาทำเรื่องเบิกงบเบี้ยเลี้ยงซีเกมส์
 
นายมนตรี ไชยพันธุ์ รักษาการผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงความความคืบหน้าในการเตรียมนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าสู่การแข่งขัน กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพว่า เหลือเวลาอีก 2 เดือน กีฬาซีเกมส์ก็จะเปิดฉากขึ้นแล้ว โดยเจ้าภาพได้กำหนดชิงชัย 402 เหรียญทอง จาก 36 ชนิดกีฬา ขณะที่ กกท. ได้กำหนดส่งจำนวนนักกีฬาไว้ 809 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 
 
ดังนี้ กลุ่มเอ ทีมนักกีฬาเป้าหมายเหรียญทอง โดยแบ่งเป็นประเภทกลุ่มกีฬาสากลจะเก็บตัว 7 เดือน กลุ่มกีฬาทั่วไปเก็บตัวฝึกซ้อม 6 เดือน และมีสิทธิเก็บตัวฝึกซ้อมต่างประเทศ 3 ครั้ง 
 
กลุ่มบี ทีมนักกีฬามีลุ้นทุกเหรียญรางวัล กลุ่มนี้เก็บตัวประมาณ 6 เดือน แบ่งเป็นประเภทกลุ่มกีฬาสากลจะเก็บตัว 6 เดือน และกลุ่มกีฬาทั่วไปเก็บตัวฝึกซ้อม 5 เดือน และมีสิทธิเก็บตัวต่างประเทศไม่เกิน 2 ครั้ง 
 
และ กลุ่มซี นักกีฬาที่จะทำผลงานสถิติได้ดี ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มกีฬาสากลและกีฬาทั่วไปเช่นกัน โดยในกลุ่มกีฬาสากลเก็บตัว 5 เดือน และกลุ่มกีฬาทั่วไป 4 เดือน ช่วงนี้บรรดานักกีฬาอยู่ระหว่างการเก็บตัวช่วงสุดท้าย 
 
นายมนตรี กล่าวอีกว่า "จากการเก็บข้อมูลพบว่า นักกีฬาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เพื่อไม่ประมาท กกท. ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามประเมินผลและคอยให้ความช่วยเหลือทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนักกีฬาทีมชาติไทย"
 
สำหรับสมาคมกีฬาที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ได้ทำการส่งเอกสารเบิกจ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาและเจ้าหน้าที่มายัง กกท.แล้ว จำนวน 19 สมาคม ได้แก่ ว่ายน้ำ, กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเกตบอล, มวยสากล, เรือพาย(แคนูคยัค), เรือพาย (กรรเชียง), ฟุตบอล, ยูโด, เรือใบ, วินเซิร์ฟ, ยิงปืน, เทควันโด, เทนนิส, วอลเล่ย์บอล, ยิงธนู, เปตอง, รักบี้ฟุตบอล, ตะกร้อ-ชินลง และ เทเบิลเทนนิส 
 
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายสมาคมที่ยังไม่ได้ส่งเอกสารเบิกจ่ายมา ทาง กกท.ต้องการให้สมาคมที่เหลือเร่งให้ส่งเอกสารเบิกจ่ายมายัง กกท.โดยเร็ว เพราะทาง กกท. ได้ระดมพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการคลังและฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศทำการตรวจเอกสารให้สมาคมกีฬาเป็นกรณีเร่งด่วนหลังเวลาราชการและเสาร์-อาทิตย์ เพื่อจะเร่งสรุปเบิกจ่ายให้กับสมาคมที่เหลือให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
 
นายมนตรี เผยอีกว่า งบประมาณในการเตรียมทีมนักกีฬาเข้าแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ จำนวน 308,300,000 บาท ซึ่งประกอบด้วย 1.เงินสนับสนุนจากงบกลาง จำนวน 107,233,750 บาท, 2.เงินเหลือจากการจัดการเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 จำนวน 43,468,100 บาท, 3.เงินอุดหนุนสมาคมกีฬา จำนวน 143,160,500 บาท, และ4.งบอื่นๆของ กกท. จำนวน 14,447,650 บาท ซึ่งครอบคลุมตลอดการแข่งขันซีเกมส์ โดยงบประมาณดังกล่าว แบ่งเป็นงบประมาณการเตรียมนักกีฬา จำนวน 228,300,000 บาท และงบประมาณในการส่งแข่งขัน จำนวน 80,000,000 บาท
 
ส่วนเรื่องของเงินรางวัลอัดฉีดที่รัฐบาลจะมอบให้นักกีฬาที่ทำผลงานคว้าเหรียญรางวัล ซึ่งหลายฝ่ายเห็นสมควรปรับเพิ่มนั้น นายมนตรี ชี้แจงว่า เบื้องต้นยังคงใช้หลักเกณฑ์ตามเดิมอยู่ เนื่องจาก พ.ร.บ. การกีฬาฉบับใหม่อยู่ในระหว่างดำเนินการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ดังนั้นสำหรับมหกรรมซีเกมส์ครั้งที่ 28 ยังคงไว้ที่ เหรียญทอง 200,000 บาท เหรียญเงิน 100,000 บาท และทองแดง 50,000 บาท
 
(มติชนออนไลน์, 17/4/2558)
 
โวยค่าครองชีพพุ่ง ไม่เกี่ยวขอขึ้นค่าจ้าง ลั่นปี 59 ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติคงค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 โดยเสนอการปรับรูปแบบค่าจ้าง 5 รูปแบบเพื่อพิจารณาใน พ.ค.นี้ ว่า หากจะมัดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 ถือเป็นเวลา 3 ปีที่ไม่มีการปรับค่าจ้างเลยนั้น มองว่าในปี 2559 จะต้องมีการปรับ แต่จะปรับในรูปแบบไหนนั้นก็ต้องมาพิจารณาพูดคุยกัน ไม่ใช่ไม่ฟังเหตุผลของลูกจ้างเลย เพราะที่ผ่านมาค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับเท่าเดิม ทั้งที่สถานประกอบการหลายแห่งมีศักยภาพในการขึ้นค่าแรงได้ ทั้งนี้ ช่วง พ.ค.-ต.ค.จะต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ในการขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ค่าแรงขั้นต่ำแรกเข้า ซึ่งจะต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และ 2. โครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของอายุการทำงาน และฝีมือการทำงานด้วย เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้
       
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสมองว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นตามไปด้วยอีก น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ขอร้องว่าอย่าโยนความผิดให้ลูกจ้างหรือคนงาน ขอให้ดูข้อมูลย้อนหลังว่าช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาที่คงค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทนั้น มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าแก๊สต่างๆ ล้วนเพิ่มขึ้นหมด ทั้งที่ลูกจ้างยังได้ค่าแรงเท่าเดิม พอจะมาปรับค่าจ้างก็กลายเป็นว่าเราเป็นจำเลยของสังคมที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ทั้งที่จริงไม่ใช่ เพราะไม่ปรับค่าจ้าง แต่ค่าครองชีพก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี ข้อเท็จจริงคือต้องมามองว่าอะไรแพงขึ้น ทั้งที่ค่าจ้างเท่าเดิม นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ ไม่ใช่ความผิดลูกจ้างที่เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำแล้วข้าวของแพงขึ้น รัฐต้องมีประสิทธิภาพจัดการเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่ขึ้นค่าจ้างเลยลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ ต้องปรับให้เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้ การที่ลูกจ้างได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ทำให้มีกำลังซื้อ หรือจับจ่ายใช้สอยก็จะกลายเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางด้วย
       
“ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงอาจทำให้มีผลกระทบบ้างกับสถานประกอบการที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่อยากให้สถานประกอบการทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม เราไม่ได้บีบคอว่าจะต้องขึ้นค่าจ้างเลย แต่อย่างน้อยมาพูดคุย พิจารณาร่วมกันว่าขึ้นค่าจ้างอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พวกเราก็มองตามความเป็นจริงของสถานประกอบการด้วย อย่างธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ อย่างน้อยก็ควรมีสวัสดิการอย่างอื่นมารองรับ เช่น ที่พัก อาหาร ให้ลูกจ้างสามารถอยู่ได้ ซึ่งจากการสอบถามลูกจ้างจำนวนมาก บางแห่งก็ไม่ได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ แต่มีสวัสดิการอื่นๆ รองรับก็พอที่จะอยู่ได้ แต่จริงๆ แล้วก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายในการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะลูกจ้างเองก็แสวงหาที่ที่ทำให้เขาอยู่ได้” น.ส.วิไลวรรณกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17/4/2558)
 
ส.อ.ท.ตากวอนรัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ 400 โรงงาน
 
นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จังหวัดตาก เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สำหรับมาตรการจูงใจของภาครัฐในนโยบายขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในจังหวัดตากนั้น มองว่า สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับยังไม่สามารถดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ได้มากนัก ทั้งจากด้านสิทธิประโยชน์การใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากโรงงานในพื้นที่อื่นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ก็ได้รับสิทธิ์ในการส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกัน ทำให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่สร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษีต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดตากมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอกว่าร้อยละ 80 รวมถึงการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เน้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนรายเดิมกว่า 400 โรงงานในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบทางธุรกิจ และเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้เน้นถึงสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนรายใหม่เท่านั้น
 
(ไอเอ็นเอ็น, 19/4/2558)
 
พม.เร่งช่วยเหลือ พนง.จ้างเหมากว่า 200 รายที่ไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง
 
นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง และโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากกรณีตัวแทนพนักงานจ้างเหมาศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือกรณีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการไม่ต่อสัญญาพนักงานจ้างเหมาของศูนย์จำนวน 28 เขต จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนชรา และผู้ป่วยในชุมชนต่างๆทั่วกรุงเทพฯ ที่จะหมดสัญญาในเดือน พ.ค. 2558 นี้ ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนไร้อาชีพจึงเรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือ นั้น
 
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำเป็นต้องเกลี่ยอัตราตำแหน่งต่างๆ และมีการปรับลดพนักงานบางส่วน อย่างไรก็ตามกระทรวงฯได้ชี้แจงให้พนักงานทราบในข้อมูลเบื้องต้นแล้ว และจะดูแลพนักงานที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา โดยได้ประสานกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อจัดหาแหล่งงานที่มีความเหมาะสมให้กับพนักงานดังกล่าว ได้ประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงดูตนเองต่อไป
 
(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 20/4/2558)
 
ก.เกษตร เสนอ ครม.แก้กฎหมายประมงอย่างเร่งด่วน
 
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจภายใน 6 เดือน สามารถปลดใบเหลืองด้านประมงจากอียูได้ พร้อมจะเสนอ ครม.เร่งพิจารณาออก พ.ร.ก.หรือใช้มาตรา 44 เพื่อแก้กฎหมายประมงอย่างเร่งด่วน
 
นายปีติงพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การให้ใบเหลืองประมงไทยของอียู เป็นไปตามคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมแผนแก้ไขปัญหาไว้ 3 แผนหลัก คือ 
 
1. การยกกฎหมายประมงเป็นกฎหมายระดับชาติ ซึ่งจะแก้ไขใน 4 ข้อหลัก ได้แก่ การกำหนดให้สามารถตรวจสอบเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายในครอบครอง เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ สั่งห้ามเรือที่ผิดกฎหมายเข้าจอดในท่าเทียบเรือได้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจสอบเรือประมงที่ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของเรือ และ การบูรณาการตรวจสอบระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า และ ศุลกากรไว้ในจุดเดียว
 
2. การฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องการการทำประมง ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ซึ่งตอนนี้ยังเหลือปัญหาการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ซึ่งรัฐบาลต้องทำเอ็มโอยูกับบางประเทศ ในปัจจุบันได้ทดสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับไปแล้วจำนวน 4 ท่าเรือ รวมทั้งติดตั้งระบบติดตามเส้นทางการเดินเรือประมงนอกน่านน้ำ หรือ VMS จะเน้นเรือขนาด 60 ตันกลอส 
 
3.การออกแผนปฏิบัติระดับประเทศ เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาภายใน 6 เดือนตามที่อียูกำหนด อาจจะพิจารณาออกเป็นพระราชกำหนด หรือใช้มาตรา 44 
 
อย่างไรก็ตาม จะเสนอแผนงานทั้งหมดให้กับคณะกรรมการความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และ ไร้การควบคุม หรือ IUU ภายในวันที่ 24 เมษายนนี้ และ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะเสนอให้คณะรัฐมตรี พิจารณาอนุมัติได้ ซึ่งมั่นใจว่าภายใน 6 เดือน จะสามารถแก้ไขปัญหาประมงไทยได้ และ อียูจะมาตรวจสอบครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคม และ พิจารณาว่าจะปลดไทยออกจากใบเหลืองหรือไม่
 
(ครอบครัวข่าว, 22/4/2558)
 
เอ็นจีโอหวั่นรัฐตามใจเอกชนออกกฎกระทรวงกดค่าแรงในเขตเศรษฐกิจพิเศษ วอนดูแลสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงานและคณะกรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (แมพ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถรวมตัวกันจนมีอำนาจต่อรองและเจรจากับภาครัฐได้ จึงกังวลว่าอาจมีการเสนอให้รัฐบาลออกกฎกระทรวงให้ลดอัตราค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเหลือต่ำกว่า 300 บาท/วัน ได้
 
“ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลชุดที่แล้วประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ แต่ยังมีกฎกระทรวงที่ยกเว้นให้แรงงานในภาคเกษตรกรรม ประมง แรงงานทำงานในบ้าน ไม่ต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำถึง 300 บาทได้ หากภาครัฐออกกฎกระทรวงลักษณะเดียวกันนี้มายกเว้นให้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยกข้ออ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีและผู้ประกอบการเป็นรายย่อย จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหนักขึ้น” นายสุชาติ กล่าว
 
ทั้งนี้ สถานการณ์การจ่ายค่าแรงแก่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบางแห่งมีปัญหาเดิมอยู่แล้ว เช่น ใน อ.แม่สอด มีโรงงานหลายแห่งจ่ายค่าแรงเพียง 120-180 บาท/วัน
 
นอกจากนี้ รูปแบบการจ่ายค่าจ้างในพื้นที่แม่สอดปัจจุบันมักกำหนดเป็นรายเหมา เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) แต่ปริมาณงานที่กำหนดเป็นรายเหมามากเกินความจริง เช่น ต้องเย็บผ้าให้ได้ 100 ตัว/วัน ส่งผลให้แรงงาน 1 คน ต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง เพื่อให้งานเสร็จ โดยไม่ได้รับค่าโอที และมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ
 
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า สถานประกอบการหลายแห่งยังมีสวัสดิการที่พักแออัด เช่น ห้องสำหรับอยู่ได้ 4 คน แต่ให้แรงงานข้ามชาติพักอาศัยห้องละ 8-12 คน พร้อมทั้งคิดค่าเช่าห้องพักอีก 500 บาท/เดือน/คน เชื่อว่าเมื่อมีแรงงานเพิ่มหลังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มตัวจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
 
ทั้งนี้ ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่พักอาศัย อาหาร ให้แรงงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมถึงควรมีความชัดเจนด้านบริการสุขภาพ ว่าแรงงานกลุ่มที่จะเข้ามาแบบเช้าไป-เย็นกลับ หรือเข้ามาตามฤดูกาลจะได้สิทธิแบบใด ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการกดขี่ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแรงงานระยะยาว ภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมก็ควรลงทุนด้านสวัสดิการเพื่อแรงงานที่จะเข้ามาทำงานให้ตัวเองด้วย
 
ข้อมูลของกรมการจัดหางาน ระบุว่า จ.ตาก มีแรงงานพม่าเข้ามาทำงานแล้ว 5.7 หมื่นคน เมื่อเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเข้ามาเพิ่มเติมตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อีกราว 6 หมื่นคน ขณะที่ จ.มุกดาหาร มีแรงงานลาวอยู่แล้ว 1,668 คน คาดว่าจะเข้ามาอีก 3,000 คน จ.สระแก้ว มีแรงงานข้ามชาติแล้ว 5-6 หมื่นคน คาดว่าจะเข้ามาเพิ่มอีกราว 8 หมื่นคน ขณะที่ จ.ตราด มีแรงงานกัมพูชาอยู่ 1.8 หมื่นคน และจะเข้ามาอีก 9,000 คน ส่วน จ.สงขลา ต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มอีก 1-1.5 หมื่นคน
 
(โพสต์ทูเดย์, 22/4/2558)
 
"บิ๊กเต่า" ฟุ้ง 6 เดือน ช่วยคนไทยมีงานทำเพิ่ม โบ้ย "เกษตรฯ" แก้อียูให้ใบเหลืองประมง
 
(22 เม.ย.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวผลงานของกระทรวงฯในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จคือ การตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย หรือ Smart Job Center เชื่อมโยงระบบออนไลน์ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการจัดหางานได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งจากการเร่งรัดดังกล่าวทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 224,587 คน และจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศจำนวน 45,087 คน คาดว่าจะทำให้มีเงินถึงมือพี่น้องแรงงานร่วมแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงฯ จะขยายการดูแลบุคคลกลุ่มต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ แรงงานนอกระบบ คนพิการ และคนในพื้นที่สูง และจะสร้างระบบหลักประกันและความยั่งยืนให้กลุ่มคนดังกล่าว
       
"ในส่วนของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กระทรวงฯ จะประชุมในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ส่วนคนพิการพบว่าในไทยมีประมาณ 1.6 ล้านคน สามารถใช้แรงงานได้ประมาณ 7 แสนคน แต่มีคนพิการที่อยู่ในระบบการจ้างงานเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ก็ต้องเร่งดำเนินการให้ที่เหลือกว่า 4 แสนคนมาช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ซึ่งเมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมาได้ร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 20 แห่ง จ้างงานผู้พิการทำงานในชุมชน รวมไปถึงงานด้านการศึกษา รณรงค์เมาไม่ขับ เป็นต้น ทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการแล้ว 400-500 คน สำหรับคนในพื้นที่สูงใน 20 จังหวัด อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาในการหางานที่เหมาะสม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่อยากออกนอกพื้นที่หรือเข้าไปทำงานในเมือง" รมว.แรงงาน กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวนั้น ที่ผ่านมามีการลงทะเบียนผ่าน One Stop Service 1.6 ล้านคน ขณะนี้สามารถตรวจสอบสัญชาติได้แล้วประมาณ 3 แสนคน ส่วนกลุ่มที่รอการตรวจสอบสัญชาติอยู่นั้น สาเหตุที่ล่าช้ามาจากเอกสารไม่ครบ จึงได้มีการผ่อนผันให้เปลี่ยนบัตรใหม่โดยสามารถอยู่ต่อได้อีก 1 ปี สำหรับกลุ่มที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายหากพบเจอจะผลักดันกลับสู่ประเทศ ส่วนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายผ่านการทำ MOU ระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้ทำงานได้ 2 ปี และต้องกลับประเทศ 3 ปีจึงจะกลับเข้ามาใหม่ได้ ตอนนี้ผ่อนผันให้เหลือเพียง 30 วัน
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังเดินหน้าเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทั้งทำให้สถานประกอบการปลอดภัย ไม่บาดเจ็บจากการทำงาน มีสถานประกอบการเข้าร่วม 7-8 พันแห่ง การคุ้มครองสิทธิเลิกจ้าง และการดำเนินการเจรจาทวิภาคี เพื่อให้ความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้างจบที่โรงงาน ซึ่งสามารถทำได้หลายแห่งแล้ว สำหรับประกันสังคม ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 แล้ว จากนี้จะเร่งทำกฎหมายลูกอีก 17 ฉบับให้เสร็จภายใน 120 วัน
       
"การดำเนินงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งไทยถูกติงว่าไม่เจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่เข้มงวด ขณะนี้รัฐบาลขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติแล้ว มีโครงร่างกฎหมายที่ชัดเจน วางแนวทางการดำเนินงานตั้งแต่ระดับผู้บริหารถึงปฏิบัติการ ซึ่งกระทรวงฯ ได้ทำรายงานส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว คงต้องรอการพิจารณาในช่วง มิ.ย.นี้ สำหรับกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย เพราะเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู) นั้น สิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานคือ เรือประมงที่ต้องติดระบบติดตามเรือ เครื่องมือทำประมงไม่ได้มาตรฐาน และแรงงานประมงสุ่มเสียงต่อการค้ามนุษย์นั้น 2 ส่วนแรกเป็นสิ่งที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องทำการแก้ไข" รมว.แรงงาน กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนความสุ่มเสี่ยงในการค้ามนุษย์ เช่น ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กระทรวงฯได้ทำรายงานส่งไปตั้งแต่ มี.ค.แล้วว่ามีการดำเนินงานให้เกิดใช้แรงงานที่ได้มาตรฐาน โดยการออกกฎกระทรวง เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กำหนดแบบสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดเวลาพักของลูกจ้างให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อการทำงาน 24 ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อการทำงาน 7 วัน ตลอดจนสภาพแวดล้อม ในการทำงานที่ปลอดภัย ก็คงต้องรอให้ทางสหภาพยุโรปพิจารณา นอกจากนี้ จะให้นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาเกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ว่าทำดำเนินการแก้ปัญหาการได้ใบเหลืองเป็นใบเขียวอย่างไร
       
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลักดันให้เกิดการจ้างงานคนพิการ แต่มีการศึกษาพบว่า คนพิการไม่อยากเข้าสู่ระบบการทำงาน เนื่องจากขาดสิทธิการรักษาระหว่างเปลี่ยนจากบัตรทองมาสู่ประกันสังคม นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ได้นำเข้าสู่คณะอนุกรรมการฯ แล้ว แนวโน้มในการหารือคือทำอย่างไรให้ผู้พิการไม่เสียสิทธิ ซึ่งตรงนี้ยังต้องรอหารือกับทางคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานด้วย นอกจากนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องส่งรายชื่อผู้พิการที่จะมาเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้ สปส.ด้วย เพราะ สปส.ไม่มีข้อมูล และมาตรฐานระบบข้อมูลไอทีของทั้งสองหน่วยงานไม่เท่ากัน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/4/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท