Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แจ้งถอนตัวกิจกรรมภาคสังคม 10 ประเทศพบผู้นำอาเซียนจันทร์นี้ เนื่องจากผิดหวังรัฐบาลกัมพูชา-สิงคโปร์เลือกคนเพื่อเข้าพบผู้นำอาเซียนเอง โดย กป.อพช. ตัดสินใจแสดงความสมานฉันท์กับภาคสังคมกัมพูชา-สิงคโปร์ ด้วยการไม่ขอเข้าร่วม และขอให้ทั้ง 2 รัฐบาลพิจาณาทบทวน

หนึ่งในป้ายข้อความจากผู้เข้าร่วมชาวไทย ในขบวนเดินอาเซียน หรือ "ASEAN Walk" ในพิธีปิดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2558 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

 

26 เม.ย. 2558 - รายงานจากเว็บไซต์ของการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในนามตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนที่เข้าร่วมในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/สมัชชาประชาชนอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งว่าภาคประชาชนไทยถอนตัวจากกำหนดการพบผู้นำอาเซียน ในการประชุมผู้นำอาเซียน วันจันทร์ที่ 27 เม.ย. นี้ เพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาและสิงคโปร์ ที่เป็นผู้คัดเลือกคนฝ่ายตนเข้าพบผู้นำอาเซียน โดยมิได้เคารพกระบวนการของภาคประชาสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

ภาคประชาสังคมไทยถอนตัวจากการพบผู้นำอาเซียนปี 2015 ประท้วงการกระทำของรัฐบาลอาเซียน

เราภาคประชาสังคมจำนวน 125 คนผู้เข้าร่วมในการประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference and ASEAN People’s Forum (ACSC/APF) ปี 2015 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 21-24 เมษายน 2558 เขียนแถลงการณ์นี้ เพื่อประกาศถึงการตัดสินใจร่วมกันที่จะถอนตัวจากการเข้าร่วมในการพบผู้นำอาเซียน ซึ่งมีกำหนดการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนที่จะถึงนี้

พวกเราขอแสดงความผิดหวัง ต่อการที่รัฐบาลกัมพูชาและสิงคโปร์ ยังคงเลือกตัวแทนด้วยตนเองเพื่อเข้าพบผู้นำอาเซียน โดยมิได้ให้ความเคารพต่อหลักการและกระบวนการของภาคประชาสังคม และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น พวกเราผิดหวังอย่างที่สุดในรัฐบาลอาเซียนทั้งมวล ในความล้มเหลวที่จะร่วมกันทำให้หลักการในการพบผู้นำของภาคประสังคม เป็นไปได้ด้วยหลักการและเจตนารมณ์ที่ดีได้อย่างแท้จริง

เราเชื่อว่า การนำเอาตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวแทนเข้าพบผู้นำ ในกรณีของกัมพูชา และนำตัวแทนจากกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วม และไม่ได้แสดงความเห็นพ้องกับแถลงการณ์ของ ACSC/APF ในกรณีของสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นการทำลายหลักการที่ได้รับการยอมรับของ ACSC/APF โดยสิ้นเชิง  ทั้งนี้ หลักการคือมีดังต่อไปนี้

1.      การกำหนดและตัดสินใจด้วยตนเอง และการคัดเลือกตัวแทนด้วยตนเอง
2.      การเคารพซึ่งกันและกัน
3.      การมีการพบกันอย่างมีความหมาย
4.      การยอมรับในเนื้อหาของแถลงการณ์ ACSC/APF 2015 และ;
5.      การเข้าร่วมในกระบวนการ ACSC/APF

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาสังคม โดยการผ่านทางกระบวนการ ACSC/APF ได้พยายามชี้แจงหลักการดังกล่าวต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน โดยการเสนอว่า ในท้ายที่สุด แม้รัฐบาลประเทศหนึ่งใดจะไม่ยอมรับตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากภาคประชาสังคม แต่สิ่งที่ควรเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย คือการปล่อยให้ที่นั่งของตัวแทนประเทศนั้น ๆ ว่างลง และรัฐบาลจักต้องไม่แทนที่ตัวแทนภาคประชาสังคมด้วยบุคคลที่รัฐบาลจัดหามาเอง หลักการสำคัญนี้ ได้ถูกทำลายลงอีกครั้งในปีนี้

เราประสงค์จะแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลไทย ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับหลักการการตัดสินใจด้วยตนเอง การคัดเลือกตัวแทนด้วยตนเอง และการเคารพซึ่งกันและกัน ภาคประชาสังคมไทยประสบความสำเร็จในการคัดเลือกตัวแทนภาคประชาสังคม และเราขอแสดงความขอบคุณ

อย่างไรก็ตาม เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการและกระบวนการของอาเซียนโดยรวม เราจึงถอนตัวจากการพบผู้นำอาเซียนในปี 2015 นี้ เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับเพื่อนจากกัมพูชาและสิงค์โปร์ และด้วยการตัดสินใจดังกล่าว เราขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อภาคประชาสังคมมาเลเซีย รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ  ในการร่วมกันทำให้การจัดงาน ACSC/APF 2015 เกิดขึ้นได้ และสำเร็จลงด้วยดี

ในท้ายที่สุด ด้วยแถลงการณ์ฉบับนี้ เราขอยืนยันข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.      ขอให้รัฐบาลไทยปล่อยเก้าอี้ของตัวแทนไทยในที่ประชุมกับผู้นำอาเซียนในวันพรุ่งนี้ให้ว่างลง และไม่จัดหาคนเข้าแทนตัวแทนประเทศไทย และ;

2.      ขอให้รัฐบาลสิงค์โปร์และกัมพูชา ทบทวนความตั้งใจของตนในการร่วมมือกับภาคประชาสังคมในประเทศของตนเองและกับภาคประชาสังคมอาเซียนทั้งมวล รัฐบาลทั้งสองควรตระหนักว่า การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อภาคประชาสังคม และต่อการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชน เป็นสิ่งที่จะทำลายความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างกันของรัฐบาลอาเซียนและประชาชนอาเซียน การกระทำของทั้งสองรัฐบาล จะทำให้เป้าหมายที่อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากจะเป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่าที่ไร้ความหมาย

ด้วยความสมานฉันท์กับประชาชนในอาเซียนและกลุ่มภาคประชาสังคม

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ในนามตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนที่เข้าร่วมในการประชุม ACSC/APF ปี 2015

000

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ซึ่งจัดระหว่าง 22-24 เมษายน ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียนั้น ในวันแรกก่อนพิธีเปิด มีการสัมมนาหัวข้อย่อย "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" จัดโดย กลุ่มรณรงค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยและผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนอาเซียน ทั้งนี้หลังการสัมมนามีการออกแถลงการณ์ "เพื่ออาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร"

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ "1. อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร 2. อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง 3.อาเซียนต้องทบทวนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net