นิธิ เอียวศรีวงศ์: มนุษย์เกิดมาบริสุทธิ์ จนเมื่อไปรวมกลุ่มกันขึ้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ปิดกันให้แซ่ดนั้น ถูกวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย จนเห็นได้ชัดว่าหากตัดสินใจทำประชาพิจารณ์ ก็อาจจะไม่ผ่านดังฉบับ 2550 แม้เพื่อไทยและทักษิณอาจเชียร์ให้ผ่านก็ตาม เพราะผมเข้าใจว่าอิทธิพลของเพื่อไทยและทักษิณแผ่วลงไปไม่น้อยหลังรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะ คสช. นะครับ แต่เพราะปฏิกิริยาของพวกเขาต่อ คสช. ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์หรือก่นด่าร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกฎหมายและหลักประชาธิปไตย ผมจึงไม่ขอพูดอะไรเกี่ยวกับสองเรื่องนี้

แต่เมื่ออ่านร่างแล้ว ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า เราจะเข้าใจวิธีคิดของผู้ร่างได้ดีกว่า หากมองมันจากมุมของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทย และจากทัศนะที่มีต่อธรรมชาติความเป็นมนุษย์... โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นคนไทย

ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนกว้างขวางมาก และอาจจะมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ด้วย เพราะได้รวมเอาสิทธิและเสรีภาพชนิดใหม่ๆ ซึ่งเพิ่งเกิดในสำนึกของคนไทยเข้ามาไว้ด้วย เช่น สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของ "เพศสภาพ", สิทธิของผู้บริโภคและบังคับให้จัดตั้งองค์กรเพื่อการนี้, ให้สิทธิและอำนาจในการที่ประชาชนจะเสนอกฎหมาย, ฯลฯ

แต่ขอให้สังเกตนะครับว่า ประชาชนที่ได้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นนี้ เป็นปัจเจกบุคคล ในทางตรงกันข้าม ประชาชนที่เป็นกลุ่ม (collective body) กลับถูกระแวงว่าจะนำเอาสิทธิเสรีภาพไปใช้ในทางเสียหายแก่บ้านเมือง จึงต้องสร้างกลไกในการควบคุมถ่วงดุลและตรวจสอบอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่เห็นได้ชัดและมีผู้วิจารณ์มากแล้วคือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งถูกกลั่นกรองเสียก่อนจะเสนอให้ประชาชนเลือก รัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งก็จะถูกตรวจตราควบคุมจากสรรพองค์กรที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชนเลยเป็นต้น ใช่แต่เท่านั้น สมัชชาคุณธรรมอันเป็นองค์กรใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเช่นกัน ยังมีหน้าที่ "ปลูกฝัง และส่งเสริมจริยธรรมของประชาชน..." เห็นไหมครับว่า ประชาชนที่เป็น collective body นั้นขาดคุณธรรมขนาดไหน พรรคการเมืองซึ่งเป็น collective body อีกอย่างหนึ่ง ก็ถูกตรวจตราควบคุมอย่างใกล้ชิด ขนาดศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถเข้าไปแทรกแซงในการบริหารภายในของพรรคได้

แน่นอนครับ collective body บางอันก็น่าไว้วางใจเป็นพิเศษ เช่นสภาคุณธรรม หรือสมัชชาจิปาถะที่จะตั้งกันขึ้นมา (อย่างไรไม่รู้) ล้วนมีอำนาจในการไปเที่ยวตรวจสอบควบคุม collective body ที่เชื่อมโยงกับประชาชน และในบรรดา collective body ที่น่าไว้วางใจทั้งหลายนั้นมีอยู่สองอันด้วยกันที่ได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ อันหนึ่งคือตุลาการ ซึ่งไม่ได้วางหลักในการที่คนภายนอกจะเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลอะไรได้เลย อีกอันหนึ่งก็คือกองทัพ ซึ่งในมาตรา 79 ได้เปิดทางให้กองทัพแทรกแซงการเมืองได้ตลอดเวลา เพราะรัฐมีหน้าที่ต้อง "พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตอำนาจรัฐ ความมั่นคงของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเหมาะสมและเพียงพอแก่ความจำเป็นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และเพื่อการพัฒนาประเทศ"

คำถามที่เกิดทันทีเมื่ออ่านร่างนี้ก็คือ เหตุใดภารกิจดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพเพียงอย่างเดียว การศึกษาไม่ใช่หรือ การพัฒนามนุษย์ไม่ใช่หรือ ความมั่นคงของชีวิตพลเมืองไม่ใช่หรือ สาธารณสุขไม่ใช่หรือ ฯลฯ ถ้าใช่ เหตุใดร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่บังคับให้รัฐต้อง "จัด" อะไรให้แก่หน่วยอื่นๆ เพื่อทำภารกิจนี้บ้าง ถ้ารัฐบาลใดลดงบประมาณทหารลง จะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทหารวินิจฉัยเองได้ใช่ไหมว่าจะต้องออกมายึดอำนาจเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อรักษาความมั่นคง ฯลฯ เพราะในทัศนะของทหาร รัฐบาลไม่ทำหน้าที่นี้ หรือทำได้ไม่ดี

อันที่จริงแนวโน้มในการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในฐานะปัจเจกอย่างกว้างขวางแต่สกัดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่เป็นกลุ่มหรือ collective body ไม่ได้เริ่มในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เป็นแนวโน้มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้หลายฉบับแล้ว

มีอะไรอยู่ในความคิดของชนชั้นนำไทย ที่เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนนั้น มีคุณธรรมความดีในตัวเอง พอไว้วางใจได้ หรือถึงยังไม่ดีพอก็อาจอบรมให้ดีขึ้นได้ แต่มนุษย์ที่รวมกลุ่มกันเป็นหน่วย (entity) หนึ่งๆ นั้น ไม่น่าไว้วางใจ มีแนวโน้มที่จะเอียงไปในทางที่ชั่ว และหมดทางที่จะเยียวยาได้เสียแล้ว

ผมพยายามหาคำตอบแก่คำถามนี้อยู่พอสมควร แล้วคิดด้วยความไม่แน่ใจ (ทั้งคำถามและคำตอบ) ว่า ทัศนคติแบบนี้น่าจะมาจากพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย หรืออาจเรียกว่าพระพุทธศาสนาที่ถูกรัฐปฏิรูปในศตวรรษก่อน พุทธศาสนาแบบนี้เน้นที่ปัจเจกบุคคล การหาความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมก็อยู่ที่พฤติกรรมและสำนึกของปัจเจก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะเวียนว่ายอยู่กับกองทุกข์ไปไม่สิ้นสุดก็ตัวเรา จะหลุดพ้นไปสู่ภาวะเหนือโลกเหนือทุกข์ก็ตัวเรา

ผมไม่ทราบว่า ก่อนหน้าการปฏิรูป พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีลักษณะเช่นนี้มาแต่เดิมหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ก็คงอย่างที่นิกายอื่นเรียกเราว่า "หีนยาน" คือยานอันต่ำ เพราะช่วยพาคนพ้นทุกข์ได้คนเดียวคือปัจเจกผู้ประพฤติธรรมจนถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม คนไทยแต่ก่อนนับถือศาสนาที่คำนึงถึงกลุ่มคนหรือสังคมด้วย บางคนอธิบายว่าส่วนนี้ของศาสนาไทยคือการนับถือผีและฮีตคอง ซึ่งล้วนเป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อจรรโลงให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ มีผีเรือน (ผีบรรพบุรุษ?) ที่คอยดูแลพฤติกรรมทางเพศของหญิงสาว มีผีอีกนานาชนิดที่คอยปกปักรักษาทรัพยากรสาธารณะซึ่งทุกคนต้องใช้ร่วมกัน นับตั้งแต่ป่า, บ่อน้ำ, วัด, นาข้าว, ศาลปู่ตา, ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมอีกนานัปการ

แต่การปฏิรูปศาสนาโดยรัฐได้ปลดความเชื่อส่วนนี้ออกไปจากศาสนาของคนไทยจนหมดบางคนอธิบายว่าเพื่อทำให้ศาสนาของไทยสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ตะวันตก ไม่เป็นที่ดูหมิ่นถิ่นแคลนของชาติอารยะทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็อยากจะเตือนไว้ด้วยว่า ศาสนาผีทำให้เกิดอาญาสิทธิ์ทางวัฒนธรรมขึ้นอีกหลายอย่าง ซึ่งอยู่นอกการกำกับควบคุมของรัฐ เช่น จ้ำ, หมอนานาชนิด, คนทรง, ฯลฯ โดยตัวของมันเอง ศาสนาผีจึงมีภยันตรายแก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ส่วนนี้ของศาสนามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความหลุดพ้นของปัจเจกบุคคลเหมือนกันแน่นอนว่ามันไม่เหมาะกับโลกสมัยใหม่ในปัจจุบัน แต่ถ้าหมอผีมีโอกาสเท่ากับพระภิกษุที่รัฐเข้ามาอุปถัมภ์และควบคุม หมอผีก็อาจปรับเปลี่ยนความเชื่อโบราณเหล่านั้นให้กลายเป็นกลไกควบคุมสังคมใหม่ๆ ที่เหมาะกับยุคปัจจุบันได้ บางเรื่องอาจกลายเป็นพิธีกรรม, เป็นงานฉลอง, เป็นมารยาท, เป็นรูปแบบที่ถือว่า "อารยะ" ได้นานาชนิด

แต่เพราะส่วนนี้ของศาสนาไทยหายไปแล้ว จึงทำให้คนไทยปัจจุบัน (โดยเฉพาะชนชั้นนำซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาที่ถูกปฏิรูปมากที่สุด) มองคนที่รวมกันเป็นกลุ่มด้วยความหวาดระแวง เพราะไม่รู้ว่าจะตรวจสอบควบคุมกลุ่มคนได้อย่างไร และเพราะพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่เคยพัฒนากลไกการควบคุมทางสังคมขึ้นมาแทนที่ศาสนาผี ชนชั้นนำจึงมองหากลไกเช่นนั้นไม่เจอ ที่เจอก็เป็นกลไกที่สร้างกันขึ้นไว้ในสังคมตะวันตก อันเป็นสิ่งที่ไม่วางอยู่กับหลักการทางศาสนาใดๆ โดยเฉพาะไม่วางอยู่บนหลักการทางพระพุทธศาสนาเสียด้วย

แต่คนที่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปอะไรก็ตาม (พรรคการเมือง, สหภาพแรงงาน, เสื้อแดง, เสื้อเหลือง, สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ฯลฯ) เป็นพลังที่ขาดไม่ได้ของภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการรวมกลุ่มเช่นนี้ อำนาจของประชาชนที่ตราไว้ในกฎหมายก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ จะให้ปัจเจกเช่น นาย ก. นาย ข. ลุกขึ้นมากำกับควบคุมฝ่ายบริหาร, ตุลาการ และนิติบัญญัติได้อย่างไร รัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับ รวมทั้งร่างฉบับนี้ จึงรู้สึกพิพักพิพ่วนกับประชาชนที่เป็น collective body ในขณะที่อาจเปิดสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนในฐานะปัจเจกไว้เต็มที่ก็ตาม

ร่างฉบับนี้ วางกลไกการตรวจสอบควบคุมประชาชนที่เป็น collective body ไว้มากมายหลายอย่าง จนประชาชนลักษณะนี้ทำอะไรแทบไม่ได้เลย ดังที่เขาวิเคราะห์วิจารณ์กัน เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ร่างยังฝากความหวังไว้กับศีลธรรม, คุณธรรม, จริยธรรมอย่างมากไม่น้อยไปกว่ากลไกอื่นๆ นี่ไม่ใช่ของใหม่ ทำกันมานานแล้ว แต่ร่างฉบับนี้อาจให้ความสำคัญกว่าฉบับที่ผ่านๆ มา เพราะเสียงเรียกร้องศีลธรรม, คุณธรรม, จริยธรรม ดังมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ราวกับว่าผู้เรียกร้องยังได้ผลตอบแทนไม่คุ้ม ทั้งๆ ที่ได้โซ้ยองค์กรประเภท ส.ต่างๆ ไว้ในมือบริษัทบริวารจนหมดสิ้นแล้ว หรือเพราะโซ้ยไปหมดแล้ว จึงมีพลังให้เรียกร้องได้ดังขึ้นก็เป็นได้

มีบางคนขยันตรวจสอบคำสามคำนี้ที่ใช้ในร่างฉบับนี้ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ ปรากฏผลว่า

คำว่า "ศีลธรรม" เพิ่มจาก 7 ครั้งในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนเป็น 13 ครั้งในร่าง

คำว่า "จริยธรรม" ปี 2540 มีแค่ 2 ครั้ง 2550 กระโดดไปเป็น 26 ครั้ง ร่างฉบับนี้เพิ่มเข้าไปอีกเป็น 30 ครั้ง

แต่คำเหล่านี้มีความหมายว่าอะไร, แค่ไหน, และอย่างไรไม่เคยปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญฉบับใด จึงอาจเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญทั้งหลายนิยมเอาเทพที่จุติลงมาเป็นตุลาการ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, ผู้บริหารคณะในมหาวิทยาลัย, นายกสมาคมวิชาชีพ, และเอ็นจีโอ ซึ่งต้องสมมติว่าอุดมด้วยคุณสมบัติสามคำนี้เต็มเปี่ยม เข้ามาแต่งตั้งกลุ่มประชาชน หรือตรวจสอบกลุ่มประชาชน จนอาจมีอำนาจเหนือคะแนนเลือกตั้งของเขา ร่างฉบับนี้ยิ่งเต็มไปด้วยเทพที่จุติลงมาตามที่ต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งอิทธิฤทธิ์ที่สูงขึ้นไปพร้อมกัน

ผมคิดว่า หากไปถามผู้ร่างว่า เหตุใดจึงให้คนเหล่านี้ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับประชาชนผู้เลือกตั้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น มีอำนาจตรวจสอบ ควบคุม จนถึงปลดคนที่เชื่อมโยงกับประชาชนคือผู้เลือกตั้งได้ คำตอบที่ตรงใจที่สุดของผู้ร่าง ก็คือ หากปล่อยอำนาจไว้ในมือของคนซึ่งมีที่มาเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาชนผู้เลือกตั้ง ก็เท่ากับยกอำนาจไปไว้ในมือของคนที่ไม่น่าไว้วางใจ คือผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนเหมือนกัน จึงจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะใหญ่กว่าไว้กับปัจเจกบุคคล ซึ่งได้ทำให้น่าเชื่อแล้วว่ามีศีลธรรม, คุณธรรม และจริยธรรมเพียบพร้อม เพราะเกิดและเติบโตมาในพระพุทธศาสนา (หรือศาสนาอื่น) ทั้งยังอาจอ้างพระพุทธเจ้าได้ในแทบจะทุกประโยค อำนาจของประชาชนที่เป็นกลุ่ม จึงจะถูกถ่วงดุลหรือถ่วงเกินดุลด้วยอำนาจทางศีลธรรม, คุณธรรม และจริยธรรม

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท