รายงานเสวนา ทบทวนหลักการสันติภาพในอิสลามกับปรากฎการณ์ความไม่สงบในปาตานี

 

สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) ร่วมกับ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ สันติภาพอิสลาม @ ปาตานี [Peace-Islam @ Patani] อาจารย์มัสลันชี้ปัญหาชายแดนใต้ผู้คนที่นี่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตนเองด้วย ด้านอาจารย์เจะเหลาะห์ยืนยันต้องใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ปัญหา

การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้น ณ หอประชุมอัล-อิมาม อัล-นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันพุธ ที่ 22 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา วิทยากรโดย อาจารย์มัสลัน มาหะมัด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี และอาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ แขกพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มัสลัน มาหะมัด : สังคมเจริญงอกงามภายใต้ภาวะสันติภาพ
อาจารย์มัสลัน กล่าวว่า เรื่องอิสลามกับสันติภาพเราพูดกันมานานแล้ว และไม่ใช่แค่ศาสนาอิสลามเท่านั้นที่เน้นย้ำในเรื่องของสันติภาพ แต่ศาสนาอื่นๆ ก็เน้นย้ำในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คืออิสลามเริ่มก่อตัวหรือเริ่มสร้างขึ้นที่เมืองมักกะฮฺ(ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย)ซึ่งคุกรุ่นไปด้วยสงครามและสภาพสังคมที่เลวร้าย

“แต่ 13 ปีที่นบีเผยแพร่ศาสนาอิสลามในมักกะฮฺไม่เคยทำสงครามเลยสักหนเดียว แม้ฝ่ายที่มีอำนาจในมักกะฮฺจะรังแกและทำร้ายมุสลิมต่างๆ นาๆ ก็ตาม แต่มุสลิมก็อยู่กันอย่างอดทนอดกลั้น จนสาวกของนบีมาขออนุญาตเพื่อที่จะตอบโต้แต่ปรากฎว่านบีก็ไม่อนุญาตให้ตอบโต้ใดๆ ทั้งที่นบีมีสาวกที่เป็นตัวแทนชั้นสูงของชนเผ่าต่างๆ มากกว่า 20 ชนเผ่าแล้วในขณะนั้น และสามารถทำสงครามกองโจรหรือสงครามกลางเมืองได้อย่างสบาย แต่นบีก็เลือกที่จะอพยพไปยังเมืองมาดีนะห์ที่ต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ในการเดินทาง”

เมื่อไปถึงมาดีนะห์และคนที่นั่นรับอิสลามป็นจำนวนมาก จนสามารถสร้างรัฐอิสลามขึ้นมา ชาวมักกะฮฺยังตามมาบุกถึงหน้าบ้านจึงเกิดสงครามขึ้นในช่วงปีแรกของการอพยพไปจนถึงปีที่แปด สงครามที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันบ้าน ป้องกันศาสนา ป้องกันผู้คน มีสงครามที่นบีเป็นแม่ทัพประมาณ 27 ครั้ง และสงครามเล็กๆ อีกประมาณกว่า 100 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 8 ปี ปรากฎว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายไม่เกิน 2,000 คน

“แม้จะมีคำกล่าวที่ว่าสงครามในอดีตไม่มีอาวุธร้ายแรงจึงทำให้มีคนตายในจำนวนที่น้อยมาก แต่เมื่อลองไปศึกษาสงครามต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจเป็นสงครามสามก๊ก สงครามเมืองทรอย หรือสงครามอื่นๆ จะเห็นได้เลยว่ามนุษย์สามารถที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ” อาจารย์มัสลัน กล่าว

อาจารย์มัสลัน กล่าวต่อไปว่า หลักคำสอนของอิสลามทำให้เชื่อได้ว่าการทำสงครามหรือการบังคับขู่เข็ญไม่สามารถเปิดใจของผู้คนได้ หรือหมายถึงครองแผ่นดินได้แต่ครองหัวใจไม่ได้ ที่สำคัญมนุษย์สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองในการพัฒนาสังคมได้อย่างเต็มที่ในภาวะที่สงบสุข และจะพัฒนาได้ไม่เต็มที่ในภาวะสงคราม เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าสังคมเจริญงอกงามภายใต้ภาวะสันติภาพทั้งสิ้น

“เมื่อถามว่าทำไมอิสลามถูกมองว่าเต็มไปด้วยสงครามในปัจจุบัน เราคงต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุของสงครามว่าใครเป็นผู้จุดชนวนของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หรือสงครามอื่นๆ ล้วนไม่ได้เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมุสลิม หรือแม้กระทั่งสงครามในประเทศของมุสลิมเองก็ไม่ใช่มุสลิมเป็นผู้เริ่มก่อสงคราม ที่สำคัญบริษัทผลิตอาวุธสงครามไม่ได้อยู่ในประเทศของมุสลิม”

อิสลามกับสันติภาพในปาตานี
อาจารย์มัสลัน กล่าวว่า ตนเน้นย้ำมาโดยตลอดว่าให้ใคร่ครวญถึงปฐมโองการหรือโองการแรกของอัลกุรอานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานลงมานั่นคือ “จงอ่าน” คำถามก็คือในสถานการณ์อันเลวร้าย ณ ขณะนั้น ทำไมถึงประทานโองการที่ว่าด้วยคำสั่งให้อ่านแก่ท่านนบีแทนที่จะเป็นจงปราบปรามคนชั่วหรืออะไรก็ตามแต่ ในขณะที่การอ่านในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อ่านสิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอ่านสิ่งที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคืออ่านตัวเองและอ่านสังคมรอบข้าง การอ่านของนบีหากเปรียบกับปัจจุบันคือการวิเคราะห์ SWOT นั่นเอง กล่าวคือ นบีอ่านถึงจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส รวมไปถึงอุปสรรคต่างๆ ด้วย

ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้จำเป็นที่ต้องอ่าน และตั้งคำถามในสิ่งที่ทำอยู่ว่าในทางตรรกะเรามีทางที่จะชนะหรือไม่? สิ่งสำคัญคือต้องอ่านและวิพากษ์ตัวเองให้ถ่องแท้ และเมื่อเรารู้ว่าทางข้างหน้าจะต้องเจอกำแพงเรายังจะดันทุรันไปต่ออีกหรือ? หรือจะลองเลี้ยวไปหาทางอื่นเพื่อที่จะได้มีโอกาสได้เจอกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการญิฮาดก็ไม่ได้มีอยู่ประตูเดียว ในขณะที่การคิดว่าการญิฮาดคือการทำสงครามอย่างเดียวคือกับดักทางความคิดหรือไม่? เพราะเมื่อดูสถาพสังคมในปัจจุบันที่กว่า 80% ของเยาวชนติดยาเสพติด นี้คือความพ่ายแพ้ของมุสลิมอย่างสิ้นเชิง

“สิ่งที่จะฝากแก่ผู้ฟังโดยเฉพาะนักศึกษาก็คือ จะต้องหมั่นศึกษาความรู้ในด้านกฎหมายอิสลามหรือฟิกฮฺที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ฟิกฮฺว่าด้วยการลำดับความสำคัญ 2. ฟิกฮฺว่าด้วยความเป็นจริง และ 3. ฟิกฮฺว่าด้วยความสามารถ เพราะแน้แท้ทางที่จะนำไปสู่สวรรค์ไม่ได้มีอยู่ทางเดียว และอิสลามไม่ได้บังคับในเรื่องที่เราไม่มีความสามารถแม้ว่าจะวาญิบก็ตาม” อาจารย์มัสลัน กล่าว

เจ๊ะเหลาะห์ แขกพงศ์ : อิสลามสอนในเรื่องสันติภาพมากกว่าสงคราม
อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าวว่า สันติภาพเป็นความปรารถนาของทุกประชาชาติ ยิ่งอยู่ในภาวะความไม่สงบเรายิ่งเห็นความสำคัญของสันติภาพ นบีมุฮัมมัดถูกส่งลงมาเพื่อความเมตตาแก่มวลมนุษยชาติ ัสิ่งที่นบีปฏิบัติทั้งในเมืองมักกะฮฺและมาดีนะห์ นบีไม่ได้คิดเองแต่เป็นแผนการของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น ในอิสลามสันติภาพถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ชื่อต่างๆ ไปจนถึงหลักคำสอน มุสลิมคือคนที่เมื่อมีคนมาอยู่รอบข้างเขาทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมจะปลอดภัย เมื่อนั่นสังคมจึงจะเกิดความสงบสุข

ในคำภีร์อัลกุรอานมีคำว่าสันติภาพอยู่ 24 ครั้ง และมีคำว่าสงครามอยู่ 6 ครั้ง และ 6 ครั้งดังกล่าวถูกประทานลงมาในช่วงหลังจากที่นบีอพยพไปยังเมืองมาดีนะห์แล้ว ในขณะที่สันติภาพถูกประทานลงมาในช่วงที่อยู่มาดีนะห์เพียง 5 ครั้ง นั่นหมายถึง 19 ครั้งถูกประทานลงมาในช่วงที่อยู่มักกะฮฺ ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่มุสลิมถูกรังแกอย่างหนักพระผู้เป็นเจ้าสอนในเรื่องของการสร้างสันติภาพมากกว่า

“เมื่อไปดูถึงวิธีการต่างๆ เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น การให้สิทธิต่างๆ พระผู้เป็นเจ้าให้สิทธิแก่มนุษย์ในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้าก็ได้ ดังนั้นหน้าที่ของนบีคือการส่งสารที่พระเจ้าประทานลงมาไปยังมวลมนุษยชาติซึ่งมนุษย์จะเชื่อหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนบีที่จะไปต้องไปบังคับให้เชื่อ ที่สำคัญโองการต่างๆ ในอัลกุรอานท้าทายให้คิดมากกว่าบังคับให้เชื่อ” 

เพราะไม่ยึดหลักการจึงทำให้เกิดสงครามในโลกมุสลิมใช่หรือไม่?
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกปัจจุบันนี้เกิดจากมุสลิมไม่ยึดถือหลักการอิสลามใช่หรือไม่? อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าวว่า ตัวอย่างประวัติศาสตร์ก่อนยุคอิสลาม มี 2 ชนเผ่าที่มักจะรบกันไม่หยุดแม้แต่ปัญหาเล็กๆ อย่างเรื่องแมวตัวเดียวก็ทำให้รบกันได้ แต่เมื่อทั้งสองชนเผ่าเข้ารับและยึดมั่นในหลักการอิสลามก็ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นระหว่าง 2 ชนเผ่าดังกล่าว

“แต่เราไม่สามารถด่วนตัดสินได้ว่าผู้ที่ก่อสงครามในปัจจุบันไม่ได้ยึดหลักการอิสลาม เพราะเมื่อเกิดสงครามสิ่งที่เราจะต้องดูหรือพิจารณาก่อนก็คือต้นเหตุของสงครามมาจากไหน? หรือเงื่อนไขต่างๆ มาจากไหน? เพราะบางครั้งบางกลุ่มกำลังทำสงครามเพื่อพิทักษ์สัจธรรมหรือเพื่อสร้างสันติภาพ โดยการทำสงครามปราบปรามความอธรรมสักระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดสันติภาพตามมาในภายหลัง” อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าว

อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าวต่อไปว่า การจะวิเคราะห์ถึงความไม่สงบในสังคมมุสลิมนั้นจะต้องใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และเมื่อถามว่าทำไมหลักการอิสลามสงบแต่สังคมมุสลิมไม่สงบ เราต้องแยกให้ออกระหว่างหลักการกับปรากฏการณ์ เช่น หลักการว่าด้วยความสะอาดในอิสลาม อิสลามสอนว่า “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา” แต่เมื่อไปดูห้องน้ำตามบ้านเรือนของมุสลิมหรือแม้แต่ที่มัสยิดเองกลับสกปรก ในสังคมภาพรวมก็เช่นกัน

ความยุติธรรมกับสันติภาพในปาตานี
อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าวว่า สิทธิในการใช้กฎหมายชารีอะห์ของคนปาตานีจะต่างจากในอดีตมาก กล่าวคือในอดีตสามารถใช้กฎหมายชารีอะห์ได้กว่า 90 % คำถามก็คือปัจจุบันสามารถใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ การให้ความยุติธรรมต่างๆ ให้ได้หรือไม่? ในหลักการอิสลามสอนว่าต้องอดทน ต้องให้อภัยและต้องให้ความยุติธรรมด้วย ในสมัยนบีเคยมีกรณีที่มีการวิ่งเต้นเพื่อที่จะให้ไม่มีการตัดมือผู้ที่ขโมยเพราะไม่อยากทำให้ครอบครับเสียหน้า จนมีสหายของท่านนบีไปถามว่าจะยกเว้นโทษผู้กระทำผิดคนดังกล่าวได้หรือไม่? นบีจึงออกไปประกาศว่าต่อให้ลูกสาวของท่านเป็นผู้ขโมย ท่านก็จะตัดมือของลูกสาวท่านเอง
“กฎหมายในปัจจุบันระบุว่าจะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนเหมือนกันทั่วประเทศ แต่พอเอาไปใช้จริงก็ยังเป็นที่กังขาของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ชี้ให้เห็นว่าบทบัญญัติที่สวยหรูแต่เอาไปใช้ได้ไม่หมด ดังนั้นหากประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีสามารถใช้กฎหมายชารีอะห์เหมือนอย่างในอดีตอาจนำมาซึ่งสันติภาพที่ขาดหายไปก็เป็นได้”

อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าวต่อว่า ในหลักการอิสลามมีบทบัญญัติว่าด้วยมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกับทุกศาสนาได้ปราบใดที่เขาไม่ถูกละเมิดหรือไม่โดนขับไล่ออกจากบ้านของเขาเอง  กล่าวคือมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกับใครก็ได้อย่างสันติภาพเมื่อผู้อื่นอยู่กับเขาอย่างสันติภาพ เพราะการที่ไม่มีสันติภาพในบางพื้นที่ เกิดจากพื้นที่นั้นๆ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพในทางศาสนาอย่างครบถ้วน จึงอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาได้

ดังนั้นมุสลิมจำเป็นที่จะต้องอ่านสังคมให้ดีๆ เพราะเราอาจกำลังอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพก็เป็นได้ เช่น สมมติในระหว่างที่กำลังเจรจาเรื่องของการขอสวมฮิญาบที่ยังสวมไม่ได้ เราอาจต้องอดทนเพื่อที่ว่าอีก 2 วันข้างหน้าหลังจากการเจรจาจบลง ทั้งเราและคนอื่นๆ จะสามารถสวมฮิญาบตามบทบัญญัติของศาสนาได้ เป็นต้น การอ่านสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและนำบทบัญญัติมาใช้อย่างฉลาดและใช้อย่างเข้าใจ และมีกำลังความสามารถพอที่จะปฏิบัติได้ สันติภาพก็อาจจะเกิดขึ้น

“หากไม่ยอมกันทั้งสองฝ่ายก็เป็นเหตุเป็นผลพอที่จะเกิดการปะทะกัน บางทีความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นเพราะการที่เราไม่อ่านสังคมให้ดีๆ ในขณะเดียวกันก็เกิดจากฝ่ายอื่นๆ ด้วย หรืออาจจะเกิดจากการไม่มีโอกาสได้ใช้บทบัญญัติได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มุสลิมทั้งหมดทั้งข้างบนในระดับสูงไปจนถึงข้างล่างสุดมีโอกาสได้ใช้บทบัญญัติแห่งอิสลามได้อย่างครบถ้วนสมบูณร์โดยใช้อย่างจริงจังและใช้อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อนั้นสันติสุขและสันติภาพจะเกิดขึ้นมาในสังคมปาตานีได้อย่างไม่ต้องสงสัย” อาจารย์เจ๊ะเหลาะห์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท