Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์หลังมีการประหารชีวิต 8 คนในอินโดนีเซีย ระบุเป็นความเมินเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อกระบวนการอันควรเป็นตามหลักกฎหมาย-หลักประกันสิทธิมนุษยชน วอนทางการอินโดฯ ยกเลิกแผนการประหารที่จะมีขึ้นอีก

บุคคลทั้งแปดประกอบด้วยชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ พวกเขาถูกประหารชีวิตเวลาเที่ยงคืนวันที่ 28 เมษายน (ตามเวลาท้องถิ่น) ด้วยการยิงเป้าที่เกาะ Nusakambangan นอกชายฝั่งเกาะชวา ทั้งหมดเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ส่วนการประหารชีวิต Mary Jane Fiesta Veloso สตรีสัญชาติฟิลิปปินส์ได้ถูกยับยั้งในนาทีสุดท้ายตามคำสั่งประธานาธิบดีวิโดโด

รูเพิร์ต แอ็บบอต (Rupert Abbott) ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การประหารชีวิตครั้งนี้เป็นเรื่องที่ควรถูกประณามอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการกระทำที่เพิกเฉยต่อหลักประกันในระดับสากลเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต

“ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดควรยกเลิกแผนการประหารชีวิตใดๆ ที่จะมีขึ้นเพิ่มเติมโดยทันที และให้จัดทำข้อตกลงพักใช้โทษประหารชั่วคราว ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกก่อนจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด”

ในบรรดานักโทษที่ถูกประหารชีวิต มีอย่างน้อยสองกรณีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์บทลงโทษ และศาลได้รับไว้พิจารณาแล้ว ในขณะที่การพิจารณาคำขอลดหย่อนโทษของนักโทษทั้งแปดคนเป็นไปอย่างรวบรัดและถูกปฏิเสธ ถือเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเพื่อขออภัยโทษหรือขอเปลี่ยนแปลงโทษ ซึ่งเป็นสิทธิที่ยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับปี 2558 นับถึงขณะนี้อินโดนีเซียมีนักโทษที่ถูกประหารชีวิตแล้ว 14 คน และรัฐบาลประกาศว่าที่จะมีการประหารชีวิตเพิ่มเติมอีกภายในปีนี้

“โทษประหารชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี แต่ทุกวันนี้มีอีกหลายปัจจัยซึ่งทำให้การประหารชีวิตเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้น มีรายงานว่านักโทษบางคนไม่สามารถเข้าถึงทนายความหรือล่ามที่เหมาะสม ทั้งในระหว่างการจับกุมและการไต่สวนเบื้องต้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ”

“หนึ่งในนักโทษที่ถูกประหารชีวิตในวันนี้ได้แก่ Rodrigo Gularte ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการจิตเภทแบบหวาดระแวง และกฎหมายระหว่างประเทศมีข้อห้ามอย่างชัดเจนต่อการใช้โทษประหารชีวิตกับผู้มีความบกพร่องทางจิต ทั้งยังเป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถูกประหารชีวิตในคดียาเสพติด ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็น “ความผิดร้ายแรงสุด” ที่อาจอนุญาตให้ใช้โทษประหารชีวิตได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” รูเพิร์ต แอ็บบอตกล่าว

สำหรับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลคัดค้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี การคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตยังได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน 140 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย

นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า โทษประหารชีวิตช่วยป้องกันการกระทำความผิดทางอาญาได้ดีกว่าการลงโทษแบบอื่นๆ จากการศึกษาอย่างรอบด้านโดยองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆ่าคนตาย ได้ข้อสรุปว่าไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มากพอที่ยืนยันว่า การประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามการกระทำผิดมากกว่าการจำคุกตลอดชีวิต

บุคคลทั้งแปดที่ถูกประหารประกอบด้วย Andrew Chan และ Myuran Sukumaran (ชาย สัญชาติออสเตรเลีย) Raheem Agbaje Salami (ชาย สัญชาติไนจีเรีย และมีอีกชื่อว่า Jamiu Owolabi Abashin), Zainal Abidin (ชาย สัญชาติอินโดนีเซีย), Martin Anderson หรืออีกชื่อว่า Belo (ชาย สัญชาติกานา), Rodrigo Gularte (ชาย สัญชาติบราซิล), Sylvester Obiekwe Nwolise (ชาย สัญชาติไนจีเรีย) และ Okwudili Oyatanze (ชาย สัญชาติไนจีเรีย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net