เรียนรู้อีกครั้ง 'กลไก TJ เชื่อมความยุติธรรมกับสันติภาพปาตานีอย่างไร' โดย 'ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี'

เรียนรู้อีกครั้ง กลไก TJ เชื่อมความยุติธรรมกับสันติภาพอย่างไร โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ชี้พื้นที่อ่อนไหวใช้กฎปะทะอย่างเดียวไม่พอ กรรมการค้นหาความจริงกรณีโต๊ะชูดชี้จุดให้กระบวนการยุติธรรมทำงานต่อ บนพื้นฐาน 2 หลักการ “ปกป้องสิทธิฯและสร้างสันติภาพ” แต่ที่ปาตานียังไม่มีข้อตกลงสันติภาพฯ จึงต้องปรับทุกอย่างให้มุ่งสู่สันติภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชน ย้ำความจริงจากทุกฝ่ายจะช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

กลไก TJ เชื่อมความยุติธรรมกับสันติภาพ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่มีผู้เสียชีวิต 4 คน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมานั้นยึดแนวทาง Transitional Justice ในการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่สันติภาพ

คำถามคือ - เป็นการเตรียมความพร้อมอย่างไร โดยเฉพาะต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ก่อนอื่นต้อทำความเข้าใจก่อนว่า Transitional Justice คืออะไร

Transitional Justice หรือ TJ แปลเป็นไทยคือ ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน คือชุดของกลไกชั่วคราวที่ช่วยรัฐและสังคมในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายหลังความขัดแย้ง ซึ่ง ผศ.ดร.ศรีสมภพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนั้นด้วยบอกว่า มันคือ “ส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ” นั่นเองในแง่ของความยุติธรรม

ผศ.ดร.ศรีสมภพ อธิบายว่า TJ มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ 1.ความยุติธรรมเพื่อการลงโทษ 2.ความยุติธรรมเพื่อความสมานฉันท์ และ 3.ความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ

“ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นตัวประกอบในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างความขัดแย้งและหลังความขัดแย้ง ซึ่งในพื้นที่ของเรา เป็นการนำหลักการของ TJ มาใช้ในช่วงระหว่างความขัดแย้ง”

หลักการ TJ ที่ถูกนำมาใช้ในในพื้นที่ก็คือ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่มาแล้วประมาณ 13 ชุด ซึ่งรัฐได้ตั้งขึ้นมาหลังจากมีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกรือเซะและตากใบ กรณีล่าสุดก็คือกรณีโต๊ะชูด

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า หลักการ TJ ที่นำมาใช้ในพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการครบ 3 ในองค์ประกอบดังกล่าวได้ทั้งหมด เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนเจรจาสันติภาพ จึงเลือกทำบางอย่างไปก่อน เช่น การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ตามหลักการของ TJ นั้น การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น มีขึ้นเพื่อจะตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ 1.เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งต้องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะใช้กลไกที่มีอยู่ในประเทศหรือถึงขั้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

2.เพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเยียวยาครอบครัวที่ได้รับกระทบ ซึ่งก็คือความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และ

3.เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมหรือสถาบันยุติธรรม และโครงสร้างความมั่นคง หรือสถาบันความมั่นคง

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า สำหรับจุดประสงค์เพื่อการปฏิรูปกระบวนการหรือสถาบันยุติธรรมนั้น คณะกรรมการสอบกรณีโต๊ะชูดก็สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การมีข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีความก้าวหน้ามากเมื่อเปรียบกับข้อเสนอของคณะกรรมการชุดก่อนๆ เพราะบางข้อยังไม่เคยเสนอมาก่อน เช่น ให้ดำเนินการคดีอาญาและลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำผิด เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอต่อการปฏิรูปความมั่นคงนั้น คณะกรรมการมีข้อเสนอให้ปฏิรูปงานข่าวกรองของรัฐหรือการข่าวความมั่นคงเพื่อแยกแยะข้อมูลให้มีความถูกต้อง ป้องกันการปฏิบัติการที่ผิดพลาด

 

พื้นที่อ่อนไหวใช้กฎปะทะอย่างเดียวไม่พอ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยกตัวอย่างการปฏิรูปงานความมั่นคงเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เช่น การบังคับบัญชาหรือการปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ เพื่อเกิดความรอบคอบมากขึ้น กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาระดับหน่วยเหนือกับผู้บังคับบัญชาในสนามรบมีการประสานงานกันตลอดเวลา ทั้งก่อน/ระหว่างปฏิบัติการ และที่สำคัญคือการตัดสินใจในการปะทะ

“ที่ต้องรอบคอบมากเพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งและมีความรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เป็นความขัดแย้งทางด้านชาติพันธ์ ความขัดแย้งทางศาสนา ความขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่ใช่สนามรบธรรมดาที่แค่อาศัยกฎการปะทะของทหารอย่างเดียว”

เพราะกฎของการปะทะของทหารนั้น อำนาจอยู่ที่ผู้บังคับในสนานรบ ที่จะเป็นคนสั่งยิงหรือจับกุมได้เลย แต่พื้นที่ที่มีความขัดแย้งลักษณะนี้ การปฏิบัติการทางทหารอาจจะเหมาะสมก็จริง แต่ในทางการเมืองอาจจะไม่เหมาะสมก็ได้

“ไม่เหมาะสมเพราะมีความเสี่ยงที่จะยิงไปโดนผู้บริสุทธิ์หรือพลเรือน ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือต้องรับรู้ในทุกๆขั้นตอนในการปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ”

การปฏิรูปนี้ เพื่อจะให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนน้อยลง เพราะไม่ใช่ปฏิรูปหน่วยทหารอย่างเดียวแต่ยังมีหน่วยงานทางการเมืองที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ด้วย และยังทำงานเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพหรือสันติสุขด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเมืองนำการทหารก็ต้องนำมาสู่สนามรบด้วย นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้เสนอไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

กลไก TJ ชี้จุดให้กระบวนการยุติธรรมทำงานต่อ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้จึงทำงานได้ทั้ง 3 อย่าง คือ ความยุติธรรมเพื่อลงโทษ แม้ไม่ได้ทำจนถึงขั้นนำผู้กระทำผิดมาลงโทษก็ตาม เพราะผลสอบของคณะกรรมการจะไปผูกกับการดำเนินคดีไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครมาให้ข้อมูลเพราะการให้ข้อมูลจะผูกมัดตัวเอง

“แม้ทำถึงขั้นนั้น แต่ข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการชุดนี้กลับเป็นตัวช่วยเปิดทางนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีการแยกข้อเท็จจริง ทั้งข้อเท็จจริงของประชาชน ข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อมูลจริงของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ เป็นต้น”

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า ผลการตรวจสอบสามารถที่จะชี้ได้ว่าจุดใดมีความชัดเจนร่วมกันหรือน่าเคลือบแคลงใจ จุดที่ไม่ชัดเจนหรือน่าเคลือบแคลงใจก็จะเป็นจุดที่ทางกระบวนการยุติธรรมต้องทำงานต่อเพื่อหาผู้กระทำผิดมาโทษ พนักงานสอบสวนสามารถทำงานให้ลึกและมีคุณภาพมากขึ้นตามแนวทางนี้

อีกข้อเสนอหนึ่งของคณะกรรมการ คือรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ต้องนำเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพร่วมของเหตุการณ์ทั้งหมด ขั้นตอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่าย

 

2 หลักการ“ปกป้องสิทธิฯและสร้างสันติภาพ”

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า กระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น กรณีโต๊ะชูดแม้ไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนนำไปสู่ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อการปฏิรูปเชิงกระบวนการและสถาบันยุติธรรม และการปฏิรูปความมั่นคง เพื่อส่งเสริมการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข

“เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูดชุดนี้ทำงานบนฐาน 2 หลักการที่ต้องไปด้วยกัน ได้แก่ หลักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักการสร้างสันติภาพ”

 

ต้องทำควบคู่กับกระบวนการสันติภาพ

คำถามคือ – จะสร้างกลไกเพื่อให้ผลการสอบข้อเท็จจริงหรือการค้นหาความจริงนำไปสู่การพิจารณาคดีได้หรือไม่ ?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่าทำได้ แต่ต้องทำควบคู่กับกระบวนการสันติภาพ”

หมายความว่า หากกระบวนการสันติภาพไม่สามารถแก้ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งได้ กลไกแบบนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะจะมีผลกระทบต่อคน คือ ถ้ากลไกนี้ตัดสินว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด กระบวนการสันติภาพก็จะไปต่อไม่ได้ จะทำให้การพูดคุยติดขัดทันที เพราะกระบวนการสันติภาพเป็นการตกลงร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน เช่น การนิรโทษกรรม ดังนั้นจะไปลงโทษตอนนี้ไม่ได้

“เพราะฉะนั้นกลไกการค้นหาความจริงที่จะนำไปสู่การลงโทษต้องทำควบคู่กับกระบวนการสันติภาพ เพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย และยังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ จึงต้องมีกระบวนการสันติภาพก่อน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในพื้นที่ความขัดแย้งลักษณะนี้การดำเนินความผิดทางกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถที่จะประนีประนอมปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะฝ่ายขบวนการบางส่วนก็ฆ่าคน เจ้าหน้าที่บางส่วนก็ฆ่าคน หากจะลงโทษในระหว่างขั้นตอนการเจรจามันจะไปกระทบกับการพูดคุยสันติภาพได้

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพยืนยันว่า ปัญหานี้ต้องแก้ไข แต่ต้องแก้ในระยะยาวร่วมกับรากเหง้าของปัญหาอื่นด้วย เช่น ความอยุติธรรม อัตลักษณ์ เป็นต้น เพราะการต่อสู้ในพื้นที่นี้เกิดมาจากสาเหตุทางการเมือง ดังนั้นการฆ่าในที่นี้ไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นระบบสังคมที่มีความขัดแย้งกัน

“นี่คือระยะเปลี่ยนผ่าน จึงเรียกว่าความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะมีอะไรบางอย่างที่จะต้องละเว้น มีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถกระทำได้ในตอนนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีการตกลงกันเสียก่อน”

ด้วยเหตุนี้ เรื่องความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงถูกใส่ในกระบวนการสันติภาพของมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ติมอร์เลสเต และที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยใส่เข้าไปในข้อตกลงสันติภาพเลย เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการสันติภาพ

“หากทำเรื่องค้นหาความจริงเพื่อลงโทษคนผิดอย่างเดียวโดดๆ จะทำให้มีปัญหาต่อการพูดคุยสันติภาพแน่นอน จึงต้องระวัง”

 

แต่ที่ปาตานียังไม่มีข้อตกลงสันติภาพฯ

คำถามคือ - ในเมื่อกระบวนการสันติภาพที่ปาตานี/ชายแดนใต้ตอนนี้ยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพ แล้วจะทำอย่างไร

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ตอบว่า ก็ต้องแยกแยะว่า มีการทำผิดทางกฎหมายอย่างชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีการละเมิดสิทธิของประชาชนก็เป็นการกระทำผิดกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หากมีหลักฐานชัดแจ้งก็ดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายปกติได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วได้

แต่กลไกการค้นหาความจริงเพื่อการลงโทษลักษณะนี้มันขึ้นอยู่กับกระบวนการเฉพาะ ซึ่งอาจจะทำได้ เพราะมีบางส่วนของเหตุรุนแรงที่มีการละเมิดสิทธิประชาชนที่เข้าไปอยู่ในกลไกนี้ได้ และบางส่วนที่เข้าไม่ได้หรือไม่จำเป็น เพราะใช้กลไกปกติในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

 

ดังนั้นต้องปรับทุกอย่างให้มุ่งสู่สันติภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชน

คำถามคือ – ดูเหมือนว่าสังคมเรียกร้องความยุติธรรม แต่ในกระบวนการสันติภาพบอกว่า จะหาว่าใครผิดใครถูกมาลงโทษยังไม่ได้ ฟังดูแล้วขัดแย้งกัน?

“ใช่ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาร่วมกัน เพราะที่นี่มันอยู่ในกระบวนการสันติภาพแล้วในตอนนี้ (แต่ยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพ)”

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า กรณีโต๊ะชูด คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมการสามารถทำได้ในระดับนี้ เพราะยกระดับเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้เด่นชัดขึ้นมา แต่ยกระดับได้แค่ไหนนั้น มีการสรุปบทเรียนกันภายในคณะกรรมการที่เข้าใจเรื่อง TJ ว่า ข้อเสนอและข้อสรุปต่างๆของคณะกรรมการชุดนี้ มีความก้าวหน้ามากกว่าข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ 10 กว่าชุด

“หลายคนที่เป็นกรรมการชุดนี้ก็เคยเป็นกรรมการในชุดก่อนๆ ด้วย ก็มีความเห็นว่ากรรมการชุดนี้ก้าวหน้าที่สุดแล้ว ทั้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ และกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”

ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ อย่างเรื่องความยุติธรรมเพื่อความสมานฉันท์ในประเด็นการเยียวยาก็มีเช่นกัน ส่วนข้อเสนอให้ปรับแก้และพัฒนาในเชิงกระบวนการยุติธรรมและการจัดการเรื่องความมั่นคงหรืองานการทหารก็ให้ไปตามแนวทางของกระบวนการสันติภาพและแนวทางการปกป้องสิทธิมนุษยชน

“เพราะทั้งคำพูดของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ย้ำเรื่องความยุติธรรมและคำขออภัยหลังแถลงผลสอบกรณีโต๊ะชูด รวมทั้งตัวแทนภาคประชาชนอย่าง ดร.อิสมะแอลุตฟี จะปะกิยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฎอนี ก็ที่ออกมาพูดย้ำอีกครั้งว่าเราต้องการให้เกิดกระบวนการสันติภาพ”

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วก็จบ จ่ายเงินเยียวยาก็จบ ไม่ได้นำมาคุยกันต่อความคิดจึงไม่เปลี่ยน แต่ตอนนี้ความคิดเปลี่ยนไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนความคิดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของความคิดด้วย ทั้งการคิด การพูด ภาษาที่ใช้ ถ้อยคำที่ใช้มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามาถึงจุดนั้นแล้วแสดงว่ามันก้าวหน้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การค้นหาความจริงกรณีโต๊ะชูดครั้งนี้ได้ยกระดับทั้งกระบวนการไปแล้ว ถ้ายกระดับได้หมดทั้ง 3 เรื่องตามองค์ประกอบของ TJ ได้ก็จะดีมาก ซึ่งจริงๆแล้วก็ยกระดับได้ทั้งหมด เพียงแต่บางเรื่องอาจจะเพียงแค่แตะ ยังไม่เต็มกระบวนการ เช่น เรื่องการลงโทษคนผิด

 

ความจริงจากทุกฝ่ายจะช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้

สำหรับกรณีโต๊ะชูด การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดกฎหมายทำได้ 2 อย่าง คือ การลงโทษในทางการบริหาร เช่น การลงโทษทางวินัยหรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ อีกทางคือการลงโทษในทางกระบวนการยุติธรรมในคดีวิสามัญฆาตกรรม คือมีการตั้งข้อหาฆ่าคนโดยเจตนาไว้ก่อน

ขณะเดียวกันผู้เสียชีวิตก็ถูกตั้งข้อหาด้วยคือข้อหาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จึงต้องมีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไปว่า ผู้เสียชีวิตต้อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่พนักงานจนนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมจริงหรือไม่ ถ้าศาลพิพากษาว่าผู้เสียชีวิตว่าต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ การฆ่าของเจ้าหน้าที่นั้นถือว่าเจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ ข้อหาฆาตกรรมนั้นก็จะได้รับการยกเว้น แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้ต่อสู้เจ้าหน้าที่ ผู้ที่ฆ่าก็จะถูกลงโทษประหารชีวิต

แต่กรณีนี้ ข้อมูลที่คณะกรรมการตรวจสอบพบชี้ว่ามีความเคลือบแคลงของหลักฐาน แต่คณะกรรมการสรุปไม่ได้เพราะไม่มีพยานหลักฐานและประจักษ์พยาน ไม่มีเวลาพอในการตรวจสอบ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะชี้ผิดใครและไม่มีความชำนาญถึงขนาดนั้น

ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ชี้ไปไม่ถึงว่ามีการต่อสู้ คณะกรรมการจึงชี้เพียงว่ามีข้อเคลือบแคลงตรงจุดใดที่ตำรวจและอัยการต้องสอบสวนต่อไป โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

กรณีนี้ พนักงานสอบสวนและอัยการต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน หากไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้อตัดสินที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไป หากให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คำนึงถึงข้อมูลความเป็นจริงทุกฝ่าย ผลการตัดสินจะนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้

ฟังอย่างนี้แล้ว คงเข้าใจได้ว่ากระบวนการสันติภาพนั้นจำเป็นต้องคู่กับความยุติธรรม ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีประโยคที่ถูกพูดถึงซ้ำๆอยู่ในพื้นที่ว่า“ไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีสันติภาพ”

 

 

อ่านข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง

“เมื่อความจริงไปไม่ถึงความยุติธรรม” จึงต้องมีกลไก TJ เพื่อความพร้อมสู่สันติภาพ

“ทำไมความจริงยังไปไม่ถึงความยุติธรรม” เผยข้อค้นพบจากการสำรวจกลไกยุติธรรม เพื่อสร้างความพร้อมสู่สันติภาพ

ความยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านควรมีบทบาทอย่างไรในชายแดนใต้

สี่ศพทุ่งยางแดง: เมื่อความจริงเป็นจุดเริ่มต้นของความยุติธรรม

ภาพงานแถลงผลสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด/ทุ่งยางแดง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท