Skip to main content
sharethis
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรจัดอบรมพัฒนาผู้หญิงใช้สื่อ New social media ขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิงแบบใหม่ รุกเสริมเขี้ยวเล็บการขับเคลื่อน ลุยสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารสันติภาพที่หลากหลาย
 
 
 
 
 
ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2558 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรปัตตานี จัดอบรม “New social media & New women’s movement” ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตยชายแดนใต้ : ญส.ปต. ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี
 
การอบรมครั้งนี้มีตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กลุ่มเซากูน่า มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร นักจัดรายการวิทยุชุมชน ประมาณ 20 คนเข้าร่วม
 
โดยมีหัวข้อต่างๆ ในการอบรม ประกอบด้วย ผู้หญิงรู้จัก “Social Media”(สื่อสังคมออนไลน์), “Platform และการใช้ social Media เพื่อสร้างพื้นที่ผู้หญิงในกระบวนการสร้างสันติภาพ”, “การเชื่อร้อยกิจกรรมและเครื่องมือการสื่อสาร (Online + Offline) เพื่อสนับสนุนโครงการศักยภาพผู้หญิงฯ”, “ร่วมออกแบบการสื่อสาร และเรียนรู้เทคนิค เพื่อการรณรงค์งานผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ” โดยนางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เป็นวิทยากร
 
นางสาวฐิตินบ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการเปิดพื้นที่การสื่อสารให้เป็นอิสระมากขึ้นในรูปแบบ Social Media ทำให้สังคมมีการเปิดประเด็นถกเถียงเรื่องต่างๆ ผ่าน Social Media ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มีคนติดตามกลุ่มใน Social Media ที่ตัวเองชอบมากขึ้น
 
“เมื่อก่อนกลุ่มผู้หญิงเขียนแถลงการณ์แล้วยื่นให้ทหารที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงแล้วคิดว่าปัญหาจบแล้ว แต่การยื่นแถลงการณ์ดังกล่าวกลับถูกมองว่าเป็นการเอียงข้างไปอยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นการออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อสาธารณะ กลายเป็นว่าเป็นการเรียกร้องต่อฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย ไม่ถูกมองว่าเอียงข้างไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นางสาวฐิตินบ กล่าว
 
นางสาวฐิตินบ กล่าวอีกว่า เดิมเมื่อเครือข่ายผู้หญิงฯลงพื้นที่เพื่อจะเขียนเรื่องราวลงเผยแพร่เฉพาะในเว็บไซต์ของตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ช่วงหลังๆมานี้จึงรู้ว่าต้องนำไปเผยแพร่ผ่านหลายๆสื่อ หลายๆช่องทางมากขึ้น เช่น ตอนนี้เครือข่ายผู้หญิงฯมีบล็อก (Blog) ของตัวเองในเว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีเฟสบุ๊คและหน้าเพจของตัวเอง รวมทั้งผลิตคลิปข่าว 3 นาทีส่งไปออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องทางไทยพีบีเอส ทำให้มีการนำเสนอเรื่องราวจากสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น
 
นางสาวสุรีนี เปาะนิ ผู้ดูแลหน้าเพจเฟสบุ๊คของเครือข่ายผู้หญิงฯ เปิดเผยว่า ตนมีหน้าที่อับเดทเพจของเครือข่าย ตัดต่อคลิปข่าว 3 นาทีออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส และใช้ Social Media เพื่อสนับสนุนงานของเครือข่าย
 
นางสาวสุรีนี มองว่า ที่ผ่านมารู้สึกว่าการติดตามเรื่องผู้หญิงมีน้อยมาก สังเกตจากการกดไลค์หรือแชร์ข้อมูลของเครือข่ายใน Social Media มีน้อยมาก ทั้งๆที่เป็นเรื่องน่าสนใจ ช่วงหลังเครือข่ายจึงส่งคลิปข่าว 3 นาทีออกอากาศทางไทยพีบีเอส ซึ่งมีคนติดตามทั่วประเทศแต่ก็ออกอากาศแค่ 3 นาทีเท่านั้น ทางเครือข่ายจึงต้องใช้พื้นที่ Social Media ในการกระจายข้อมูลไปสู่พื้นที่อื่นๆด้วย
 
“การมาเรียนรู้วันนี้ ทำให้ได้เห็นว่า การใช้พื้นที่ใน Social Media เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อเผยแพร่งานที่เราขับเคลื่อนแล้ว ยังจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้วย ซึ่งบางครั้งคนในพื้นที่ก็ไม่กล้าพูดต่อหน้าตรงๆ ก็สามารถใช้พื้นที่ใน Social Mediaได้” นางสาวสุรีนี กล่าว
 
นางสาวอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ประสานงานโครงการฯ เปิดเผยว่า หากการสื่อสารประเด็นผู้หญิงยังเป็นแบบเดิมที่ต่างคนต่างเผยแพร่ผ่านช่องทางตัวเองยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความสนใจให้คนในสังคม ยิ่งสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น ความรุนแรงนั้นจะไปแย่งชิงพื้นที่การสื่อสารมากขึ้น คนที่ติดตามข่าวก็จะยิ่งเสพความรุนแรงมากขึ้น เครือข่ายผู้หญิงฯก็ยิ่งยิ่งต้องแข่งกันนำเสนอเรื่องราวดีๆของพื้นที่ออกไป จึงต้องส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ทำงานอยู่แล้วในพื้นที่ ให้สามารถใช้เครื่องมือการสื่อสารที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
“วันนี้ เราต้องการให้การสื่อสารของผู้หญิงชายแดนใต้ และการรณรงค์กระบวนสันติภาพเป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นกระบวนการ มีการวางแผน มีการกำหนดวาระ ทำให้เป็น Platform ซึ่งจะส่งผลให้การสื่อสารมีพลังมากขึ้น” นางสาวอัสรา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net