Skip to main content
sharethis

ไอลอว์พูดคุยกับนักกฎหมาย นักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรม และการ์ตูนนิสต์มาเลเซีย ถึงบรรยากาศเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในมาเลเซีย ภายหลังยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายใน หรือ ISA (Internal Security Act) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1960 ปัจจุบันมีการนำ Sedition Act ที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมกลับมาใช้ใหม่ บรรยากาศเสรีภาพการแสดงออกของมาเลเซียจะเป็นอย่างไรในบริบทปัจจุบันภายใต้กฎหมายฉบับเก่า

...................................

มองจากสายตาคนนอก มาเลเซียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจและสังคมเจริญเติบโตไม่น้อย บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน การคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ก็สะดวกสบาย มีระบบรถไฟฟ้าราคาย่อมเยาครอบคลุมทั่วเมือง อาจกล่าวได้ว่านอกจากสิงคโปร์เเล้ว มาเลเซียคืออีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน    
 


ตึกปิโตรนาสยามค่ำคืน (ภาพโดย iLaw)

แต่สำหรับคนที่โหยหาในเสรีภาพ มาเลเซียอาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่น่าพิสมัยนัก นักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรม ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่างถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่หนักเบาแตกต่างกันไป เนื่องในโอกาสที่ปี 2015 เวทีภาคประชาสังคมอาเซียน (ASEAN People Forum) จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำความรู้จัก บรรยากาศเสรีภาพการแสดงออกของมาเลเซียในทุกวันนี้ และรู้จักกับเรื่องราวของนักเคลื่อนไหวที่ตกเป็นจำเลยจากการจองจำทางความคิด

เซดิชัน แอค (Sedition Act): ยาครอบจักรวาลที่ใช้จัดการกับคนเห็นต่าง

กฎหมายเซดิชัน เป็นกฎหมายที่อยู่คู่กับมาเลเซียมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กฎหมายนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองเจ้าอาณานิคม ประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ส่วนใหญ่ต่างมีกฎหมายนี้ ต่อมา เมื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลายเป็นคุณค่าที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกให้การยอมรับ ประเทศในเครือจักรภพจึงยกเลิกกฎหมายนี้ บางประเทศแม้ไม่ยกเลิกกฎหมาย ก็จะไม่มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซียกลับเป็นไปในอีกทางหนึ่ง กฎหมายเซดิชันยังคงถูกบังคับใช้กับผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างต่อเนื่อง

กฎหมาย เซดิชัน บัญญัติความผิดไว้อย่างกว้างๆ ว่าผู้ที่ทำผิดตามกฎหมายนี้ ได้แก่ผู้ที่ กระทำการซึ่งก่อให้เกิดความเกลียดชัง ต่อรัฐบาล ศาล ประมุขแห่งรัฐ (สุลต่าน) และความเกลียดชัง ระหว่างเชื้อชาติหรือ ชนชั้น
 

[A “seditious tendency” is a tendency—
(a) to bring into hatred or contempt or to excite disaffection
against any Ruler or against any Government.
(b) to excite the subjects of any Ruler or the inhabitants of
any territory governed by any Government to attempt
to procure in the territory of the Ruler or governed by
the Government, the alteration, otherwise than by lawful
means, of any matter as by law established;
(c) to bring into hatred or contempt or to excite disaffection
against the administration of justice in Malaysia or in
any State;
(d) to raise discontent or disaffection amongst the subjects of
the Yang di-Pertuan Agong or of the Ruler of any
State or amongst the inhabitants of Malaysia or of any
State;
(e) to promote feelings of ill will and hostility between
different races or classes of the population of Malaysia;
or
(f) to question any matter, right, status, position, privilege,
sovereignty or prerogative established or protected by
the provisions of Part III of the Federal Constitution or
Article 152, 153 or 181 of the Federal Constitution.]
 

เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้กว้างๆ ทำให้ง่ายที่ตำรวจจะใช้ดุลพินิจว่า ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแง่ลบ ทำผิดกฎหมายเซดิชัน และทำการจับกุมได้ โดยกฎหมายนี้ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป จับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้าหรือผู้ต้องสงสัยที่น่าเชื่อว่าได้กระทำผิด หรือมีความพยายามจะทำความผิด ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ    

ผู้ที่กระทำผิด และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ในกรรมแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 ริงกิต (ประมาณเกือบ 50,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดในกระทงต่อๆ ไป มีโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี

เอริค พอลเซน ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้ง สำนักงานกฎหมายเพื่อเสรีภาพ ลอว์เยอร์ ฟอร์ ลิเบอร์ตี (Lawyers for Liberty) ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่ว่าความให้จำเลยในคดีการเมืองหรือคดีจากการแสดงความเห็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เล่าว่า เซดิชัน เป็นคดีที่ต่อสู้ยากมาก เพราะไม่สามารถต่อสู้เรื่องเจตนา ผลกระทบที่ตามมหา หรือความเป็นจริงเป็นเท็จได้
 


เอริค พอลเซน ทนายความ และผู้ร่วมก่อตั้ง ลอว์เยอร์ ฟอร์ ลิเบอร์ตี (ภาพโดย iLaw)
 

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่โพสต์ข้อความเชิญชวนคนให้คนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาล ถือว่ามีความผิด ไม่ว่าจะมีคนมาชุมนุมตามคำเชิญชวนหรือไม่ ขณะเดียวกัน ผู้ที่เปิดโปงการคอร์รัปชันของรัฐบาล ก็อาจถูกดำเนินคดีฐานนี้เช่นกัน แม้ว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง การต่อสู้คดีในเชิงเนื้อหาว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นไม่เป็นความผิด จึงเป็นเรื่องยาก

คดีส่วนใหญ่ที่ต่อสู้แล้วชนะ มักจะต่อสู้ในทางเทคนิค ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เช่น มีแหล่งข่าวคนหนึ่งถูกดำเนินคดีจากการให้สัมภาษณ์สื่อ แหล่งข่าวคนนี้จึงต่อสู้คดีในประเด็นว่า สิ่งที่ตนให้สัมภาษณ์ไปกับสิ่งที่เผยแพร่หลังการเขียนของนักข่าวและการแก้ไขของบรรณาธิการไม่เหมือนกัน จึงชนะคดีพ้นผิดได้ 

เอริค เล่าถึงปัญหาการพิจารณาคดีเซดิชันว่า ระบบกฎหมายมาเลเซียเป็นระบบกฎหมายจารีตหรือระบบคอมมอนลอว์ ผู้พิพากษาจะต้องตัดสินคดีโดยอ้างอิงกับแนวคำพิพากษาเก่าๆ กฎหมายเซดิชัน เป็นกฎหมายเก่าที่คำพิพากษาในอดีตเขียนขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แม้ว่าคดีจะถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาหัวก้าวหน้า คำพิพากษาที่ออกมาก็จะไม่ก้าวหน้านัก เพราะสุดท้ายผู้พิพากษาจะต้องไปดูแนวการตัดสินจากคดีก่อนๆ

รู้ไปทำไมว่า

ดาโต๊ะ อาหมัด ซาฮิด (Datuk Seri Ahmad Zahid Hamidi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเลเซียเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 มีบุคคลถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายเซดิชันอย่างน้อย 40 คน (คำสัมภาษณ์เผยแพร่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ใน The Malaysia Insider)

ยัง ไม่สามารถหากข้อมูลเชิงสถิติได้ว่า คดีเซดิชันเคยมีการลงโทษสูงสุดกี่ปี แต่ ซูนาร์ นักเขียนการ์ตูนที่กำลังถูกดำเนินคดีเซดิชันจากการทวิตข้อความ อาจถูกตัดสินจำคุกสูงถึง 43 ปี

กฎหมายเซดิชัน เปรียบได้กับ กฎหมายอาญามาตรา 116 ของไทย

"กระทำ ให้ปรากฏ แก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือ วิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำ ภายในความมุ่งหมาย แห่ง รัฐธรรมนูญ หรือมิใช่ เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือ ติชม โดยสุจริต (๑) เพื่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกฎหมายแผ่นดิน หรือ รัฐบาล โดย ใช้กำลัง ข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย (๒) เพื่อให้ เกิดความปั่นป่วน หรือ กระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะ ก่อความไม่สงบขึ้น ใน ราชอาณาจักร หรือ (๓) เพื่อให้ ประชาชน ล่วงละเมิด กฎหมายแผ่นดิน"

เท่าที่บันทึกได้ หลังการรัฐประหารในปี 2557 มีผู้ถูกกล่าวหาในคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 11 คน อยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนอย่างน้อย 5 คน และในชั้นศาลอย่างน้อย 6 คน 


เสรีภาพในการชุมนุม: การชุมนุมทำได้ถ้าเตรียมใจสูญเสียอิสรภาพ

เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ใน รัฐธรรมนูญของมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เจ้าหน้าที่พร้อมที่จะใช้กฎหมายมาจัดการกับผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา

เอส อรุตเชลวาน (S. Arutchelvan) หรือ อารูล เลขาธิการพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia ) ผู้ที่พึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีชุมนุมโดยผิดกฎหมาย เล่าว่า มาเลเซียมีกฎหมายที่ใช้ควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ได้แก่ กฎหมายการชุมนุมโดยสงบ ตามกฎหมายนี้ ผู้ชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าตำรวจประจำท้องที่ของสถานที่ที่จะใช้จัดการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน ก่อนการชุมนุม นอกจากนี้ การเดินขบวนบนท้องถนน ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย



เอส อรุตเชลวาน หรือ อารูล เลขาธิการพรรคสังคมนิยม มาเลเซีย (ภาพโดย iLaw)

การจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมในมาเลเซียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ อารูลเล่าว่า ที่มาเลเซีย ตำรวจจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากต้องการควบคุมตัวต่อ ต้องขออำนาจศาลเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่ควบคุมตัวของตำรวจ ในคดีที่อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 14 ปี จะควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน โดยครั้งแรกศาลจะอนุญาตให้ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 4 วัน หากต้องการควบคุมต่อ จะต้องไปขออำนาจศาลอีกครั้งหนึ่ง

อารูลเล่าว่า ระยะเวลาการควบคุมตัวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือลงโทษผู้ชุมนุม ตำรวจจะขออำนาจศาลควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับจากการชุมนุมไว้สามถึงสี่วันเพื่อให้พวกเขาเข็ดหลาบ ก่อนจะปล่อยตัวไปโดยไม่ตั้งข้อหา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครั้งที่ผู้ชุมนุมจะโชคดี ถูกกักตัวชั่วคราวแล้วปล่อยโดยไม่ตั้งข้อหา ล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2558 อารูลกับผู้ชุมนุมอีกกว่า 50 คน ถูกดำเนินคดี ฐานชุมนุมโดยผิดกฎหมาย จากการไปชุมนุมประท้วงนโยบายเก็บภาษีสินค้าและบริการ 6% 



ภาพการชุมนุมประท้วงการเก็บภาษีสินค้าและบริการ(GST) 6% ในวันที่ 23 มีนาคม 2558 (ที่มา เฟซบุ๊กของ Julius Choo Chon Kai)

อารูลเล่าว่า ในวันชุมนุม ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สำนักงานศุลกากร พร้อมกับยื่นคำถามไปถึงผู้มีอำนาจ โดยผู้ชุมนุมทั้งหมด จะนั่งรอในบริเวณที่ทำการสำนักงานเพื่อรอคำตอบ อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำตอบจากผู้มีอำนาจ กระทั่ง 5 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาเลิกงาน ตำรวจเข้าล้อมพื้นที่และควบคุมตัวผู้ชุมนุมรวม 70 กว่าคนขึ้นรถบรรทุกตำรวจสีดำ ที่เรียกกันว่า แบล็กมาเรีย ออกจากพื้นที่ เพื่อไปควบคุมที่สถานีตำรวจ ผู้ชุมนุม 50 กว่าคนถูกปล่อยตัวในคืนเดียวกัน แต่อารูลและเพื่อนอีก 20 กว่าคน ถูกส่งตัวไปควบคุมต่อที่สถานกักตัวของตำรวจอีก 2-3 วันก่อนจะได้รับการปล่อยตัว

เนื่องจากผู้ชุมนุม 50 กว่าคน จะถูกดำเนินคดี อารูลและเพื่อนของเขา จึงต้องพยายามระดมทุนหาเงินประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดซึ่ง ซึ่งอาจสูงถึงคนละ 3,000 ริงกิต (เกือบสามหมื่นบาท)

ก่อนยุติบทสนทนาอารูลเล่าถึงเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคนิคที่ตำรวจมาเลเซียใช้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมให้ฟังด้วยว่า ก่อนการชุมนุมใหญ่ ตำรวจมักจับตัวแกนนำด้วยข้อหาเล็กๆ น้อย เพื่อเอาตัวมาขังไว้ชั่วคราว ก่อนจะปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหาเมื่อการชุมนุมยุติลง เพื่อทำลายความเข้มแข็งของการชุมนุม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ก็มักรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่การชุมนุมด้วย 

รู้ไปทำไมว่า

อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของตำรวจ

อำนาจ การควบคุมตัวผู้ต้องหาของตำรวจไทย มีความแตกต่างไปจากอำนาจการควบคุมตัวของตำรวจมาเลเซีย ตำรวจไทยมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจไม่เกิน 48 ชั่วโมง ขณะที่ตำรวจมาเลเซียมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ในกรณีของไทย หลังครบกำหนดการควบคุมตัวชั่วคราวที่สถานีตำรวจ หากตำรวจต้องการควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อ  จะต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขัง หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวภายใต้การดูแลของราชทัณฑ์ที่เรือนจำ แต่กรณีของมาเลเซียจะแตกต่างออกไป เพราะหลังครบกำหนดการควบคุมตัวที่สถานี ตำรวจยังสามารถควบคุมผู้ต้องหาไว้ที่สถานควบคุมตัวซึ่งอยู่ในความดูแลของ ตำรวจต่อได้ อีก 7 หรือ 14 วัน แล้วแต่กรณี หลังจากนั้นหากมีการดำเนินคดี และศาลให้ควบคุมตัวต่อ จึงค่อยส่งตัวไปอยู่ในความดูแลของเรือนจำ 

การตัดสัญญาณมือถือในที่ชุมนุม

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในที่ชุมนุม เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติทั่วไปในประเทศไทยหรือไม่ เท่าที่หาข้อมูลได้ ช่วงการชุมนุมทางการเมือง เดือนพฤษภาคมปี 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. เคยขออำนาจศาลเพื่อตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในที่ชุมนุม

ระหว่างการ ชุมนุมทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เคย ออกมาประกาศว่า หากผู้ให้บริการเครือข่ายตัดสัญญาณมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจถูกลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต

การวางเงินประกันตัวในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะเหมือนกรณีมาเลเซีย เท่าที่บันทึกมามีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่ใช้ดำเนินคดีผู้ร่วมการชุมนุมสาธารณะ ได้แก่

กฎหมายอาญามาตรา มาตรา 215 ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมาย อาญามาตรา 215 จะต้องวางเงินประกันอย่างน้อย 30,000 บาท ขณะที่ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จะต้องวางเงินประกันอย่างน้อย 20,000 บาท


เสียงหัวเราะที่เงียบงัน: การ์ตูนล้อเลียนที่รัฐมองว่าเป็นภัย

ซุคิฟลี ซัม อันวาร์ (Zulkiflee Sm Anwar Ulhaque) หรือ ซูนาร์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ผู้อยู่ในวงการมากว่า 20 ปี เล่าให้ฟังว่า หน้าที่ของนักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง คือการเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในมุมมองของเขา การใช้เสรีภาพของนักเขียนการ์ตูนไม่ควรมีขีดจำกัด หากเป็นไปเพื่อวิจารณ์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ
 


ซุคิฟลี ซัม อันวาร์ หรือ ซูนาร์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง (ภาพโดย iLaw)
 

การ์ตูนของซูนาร์ แม้จะพูดถึงเรื่องการเมืองซึ่งดูจะเป็นประเด็นที่จริงจังและเคร่งเครียด แต่ก็สามารถเรียกเสียงฮาแบบแสบๆ คันๆ จากคนอ่านได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอำนาจ ดูจะไม่สนุกกับการ์ตูนของเขา ซูนาร์เล่าว่า หนังสือการ์ตูนของเขา 7 จาก 20 เล่ม ถูกสั่งห้ามเผยแพร่ เพราะเนื้อหากระทบต่อความสงบเรียบร้อย ขณะที่หนังสือเล่มอื่นๆ แม้จะไม่ถูกห้ามขาย แต่หากร้านใดรับไปวางขายก็จะมีตำรวจแวะมาเยี่ยมเยียนพร้อมกับความยุ่งยากต่างๆ เช่น ถูกดำเนินคดีเกี่่ยวกับใบอนุญาต ทำให้ไม่มีร้านใด กล้ารับไปวางขาย เมื่อไม่สามารถวางขายหนังสือตามร้านทั่วไปได้ ซูนาร์ก็ตัดสินใจย้ายหนังสือของเขามาวางขายบนเว็บไซด์แทน แต่การย้ายที่ขาย ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าใดนัก เพราะตำรวจสั่งให้เว็บมาสเตอร์ เปิดเผยตัวตนของคนที่สั่งซื้อหนังสือการ์ตูนของเขา

ซูนาร์เปิดเผยว่า ที่การ์ตูนของเขาถูกไล่ล่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่ลดละ อาจเป็นเพราะประเด็นที่เขานำมาเสียดสี เป็นเรื่องแสลงหูของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอรัปชัน ทฤษฎีสมคบคิดในการกำจัดผู้นำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบราฮิม การฆาตกรรมนางแบบชาวมองโกเลีย ที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซะห์ อาจมีส่วนพัวพัน รวมถึงประเด็นล่าสุดที่วิพากษ์การใช้ชีวิตหรูหราด้วยเงินภาษีของประชาชนของ รสมะห์ มันโซร์ ภรรยาของนายกรัฐมนตรี ที่คนมาเลเซียบางส่วนนำเธอไปเปรียบเทียบกับ อิเมลด้า มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ (ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา และมีรองเท้านับพันคู่)



ตัวอย่างการ์ตูนของซูนาร์ เนื้อหาเป็นการเสียดสีระบบพวกพ้องในการเมืองมาเลเซีย (ภาพโดย iLaw)


นอกจากหนังสือจะถูกห้ามขาย และ จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกมา"เยี่ยมเยียน" ที่สำนักงานเป็นครั้งคราวแล้ว ซูนาร์เองก็ถูกดำเนินคดีในข้อหา "เซดิชัน" จากการทวิตข้อความ 9 ข้อความ วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ซูนาร์จำเป็นต้องหาเงินประกันตัวด้วยการระดมทุน เพราะเขาต้องวางเงินประกันตัวสูงถึง 45,000 ริงกิต (ประมาณ405,000 บาท) ซูนาร์เล่าให้ฟังว่า เบื้องต้นตำรวจแจ้งกับเขาว่าจะดำเนินคดีเพียงข้อความเดียว แต่ก่อนถึงเวลานัดไปศาลประมาณ 7 ชั่วโมงก็ติดต่อมาว่าเขาจะถูกดำเนินคดีรวม 9 ข้อความ ซูนาร์ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการลักษณะนี้น่าจะเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง เพราะการระดมทุนจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก

ซูนาร์ยอมรับว่า การสู้คดี เซดิชัน เป็นเรื่องยาก แต่เขาก็ยืนยันที่จะสู้ เพราะเชื่อว่า การสู้คดี จะเป็นการณรงค์ทางสังคม ให้ชาวมาเลย์ตื่นตัวในเรื่องเสรีภาพ เมื่อถามถึงอนาคตของวงการการ์ตูนล้อการเมืองและเรื่องเสรีภาพการแสดงออกของมาเลเซียในภาพรวม ซูนาร์มองว่าแม้จะริบหรี่ แต่ก็พอมีหวังอยู่บ้าง เพราะคนมาเลย์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนใน เจอเนอร์เรชั่นวาย (Gen Y) มีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ ในขณะนี้ มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่เขียนการ์ตูนล้อการเมืองเผยแพร่อยู่ในโลกออนไลน์ แม้จะยังมีจำนวนไม่มาก และฝีมือของพวกเขาจะยังไม่ค่อยแก่กล้า แต่พวกเขาก็จะเติบโตขึ้นในไม่ช้า

รู้ไปทำไมว่า

ในประเทศไทย ก็เคยมีกรณีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองถูกแจ้งความดำเนินคดีเช่นเดียวกันที่ มาเลเซีย ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองเคยถูกทีมกฎหมายของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าแจ้งความดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความวิจารณ์นายกรัฐมน ตรีบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ไม่มีข้อมูลว่าหลังจากการแจ้งความดำเนินคดี มีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่


บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บบลอกของ iLaw
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net