Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 มีผลให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่เขียนบทความนี้ก็ราว 4 เดือนเศษ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นผู้ถือกฎหมายฉบับนี้โดยตรง ยังมีหน้าที่สำคัญๆ ที่ต้องดำเนินการโดยเร็วอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้ง "คณะกรรมการคุ้มครองคนไร่ที่พึ่ง" ที่มีรัฐมนตรีว่าการเป็นประธาน และมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และนักวิชาการ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานมาตรฐานการทำงานด้านการคุ้มครอง ดูแล คนไร้ที่พึ่งอย่างยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ “มีที่พึ่ง พึ่งตนเองได้ เป็นที่พึ่งของผู้อื่น”

ระบบสวัสดิการที่หลากหลาย ต้องเข้ามามีส่วนในมาตรการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมากขึ้น โดยลดการทำงานเชิงสงเคราะห์ลง แต่เน้นการทำงานส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่ของรัฐให้มากขึ้น หน่วยงานที่ทำงานกับกลุ่มคนไร้ที่พึ่งมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ปี อย่าง บ้านมิตรไมตรี ทั้ง 10 แห่ง ที่เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่มองแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ ต้องได้รับการส่งเสริมให้พัฒนารูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นนวัตกรรมสำคัญในการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะสามารถเป็นต้นแบบให้หน่วยงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคม ที่สนใจเข้ามาใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีเจตนาสร้างความมั่นคงให้กับพลเมืองและประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการฯ เพิ่งร่างเสร็จ ในมาตรา 59 ที่เน้นว่า พลเมืองทุกคนต้องสามารถรับบริการสาธารณะของรัฐอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและบริการดังกล่าวต้องได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ

ในฐานะที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องของการสร้างระบบสวัสดิการของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ พ.ศ.2546 ที่มีหน้าที่หลักในการคิดค้นส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนจัดสวัสดิการทางสังคมให้บริการแก่พลเมืองของประเทศ จึงไม่สามารถหลีกความรับผิดชอบไปได้ โดยเฉพาะเมื่อนำพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 เข้ามาพิจารณาร่วมด้วยแล้ว จะพบว่าภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูคล้ายจะหนักมากขึ้น แต่หากพิจารณาในรายละเอียดกันดีดีแล้วจะพบว่า เป็นโอกาสที่จะใช้ในการยกระดับการให้บริการสวัสดิการอย่างมืออาชีพมากขึ้น โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานกำลังหลักในการทำงานภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ทั้งสอง ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับหลังจากการปรับโครงสร้างภายในใหม่ ตาม พ.ร.บ.ของกระทรวงฯ ทำให้ แบ่งบทบาทการทำงานในรูปแบบของกรมต่างๆ ที่มีหน้าที่ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทางมากขึ้น โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ยังดูแลนิคมสร้างตนเองอีกไม่น้อยกว่า 34 จังหวัด ที่เมื่อนำโครงสร้างการทำงานที่เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการจะสามารถสร้างรูปแบบการทำงานเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้อย่างยั่งยืน

โดยการทำงานอาจจะต้องเน้นการทำงานเชิงรุก โดยมีหน่วยงานนวัตกรรมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อย่างบ้านมิตรไมตรี เป็นหน่วยหน้าในการออกไปทำงานกับกลุ่มเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง และให้สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ และสถานคุ้มครอง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและหน่วยงานส่งต่อ เพื่อรับการคุ้มครอง ฟื้นฟู และพัฒนาตามลำดับ และเมื่อพบว่าผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปกติได้ในสังคม ก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้ที่มีศักยภาพพอที่จะดูแลตนเองได้ และผู้ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ไปตลอดชีวิต โดยกลุ่มแรก ก็สามารถประสานงานส่งต่อไปยังนิคมสร้างตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการใช้พื้นที่ภายในนิคมเพื่อสร้างอาชีพต่อไป และกลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ก็เข้าสู่กระบวนการของสถานสงเคราะห์ต่อไป

โดยการทำงานภายใต้กระบวนการดังกล่าว จะลดภาระการดูแลคนไร้ที่พึ่งในอนาคตลงมากกว่า 40% แต่จะสามารถมีพลังในการขับเคลื่อนสนับสนุนการทำงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการคืนกลับมาอย่างไม่มีสิ้นสุด เพราะรูปแบบการทำงานแบบส่งเสริมและพัฒนาให้เขาพึงพาตนเองได้ โดยมีทางเลือกที่หลากหลาย จะส่งผลให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของความมั่นคงของมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของกระทรวงฯ และเจตนารมณ์ของสากลที่มีความมั่นใจว่า ความมั่นคงของประชาชน คือความมั่นคงของชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net