สิทธิและการต่อรองในการใช้พื้นที่บนท้องถนน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เห็นว๊อยซ์ทีวีเชิญชวนให้ร่วมออกความเห็นเรื่องจักรยานควรอยู่บนท้องถนนหรือไม่แล้วทำให้นึกถึงบทความ Op Ed ของ Daniel Duane “Is It OK to Kill Cyclists?” ใน New York Times เมื่อสองปีที่ผ่านมา การที่คำถามที่คล้ายคลึงกันนี้ถูกตั้งขึ้นมาจากนักปั่นในซีกโลกอเมริกา ที่วัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนเอื้อต่อการปั่นจักรยานอย่างยิ่ง ทำให้เปลี่ยนความคิดไปในทันทีว่า ปัญหาอุบัติเหตุและความตายของนักปั่นจักรยานเป็นเรื่องของ “โลกที่สาม” ที่ “ด้อยพัฒนา” และไม่มีทั้งวัฒนธรรมการใช้ถนนที่มีความรับผิดชอบ หรือไม่มีทั้งเลนสำหรับรถจักรยาน เฉพาะในปี 2012 มีนักปั่นเสียชีวิตบนท้องถนนในสหรัฐฯจำนวน 726 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมือง ตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อยเลย เมื่อพิจารณาว่าเมืองใหญ่ของสหรัฐฯมีเลนจักรยานกันแทบทุกเมือง

ในสหรัฐฯดีเบตระหว่างจักรยาน vs. รถยนต์ ในเรื่องว่าท้องถนนควรถูกจัดการและแบ่งสรรอย่างไรดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษและยังคงเป็นประเด็นเผ็ดร้อนจวบจนปัจจุบัน นักปั่นจำนวนไม่น้อยรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มต่อต้านพวกขับรถยนต์แบบไม่รับผิดชอบ อาทิ Cyclists Against Reckless Drivers Foundation
 
บางคนรณรงค์ด้วยตนเองด้วยการติดกล้องกับจักรยานเพื่อบันทึกภาพการขับรถที่ไร้ความรับผิดชอบของรถยนต์เพื่อนำมาประจาน เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของนักปั่นในสหรัฐยังคงเป็นวาระร่วมสมัย และปัญหาความตายของนักปั่นไม่ได้สิ้นสุดลงแม้จะมีเลนจักรยานเป็นของตนเอง

แม้ว่าประเด็นว่าด้วยวัฒนธรรมและการปลูกฝังวัฒนธรรมการขับขี่ยานพาหนะอย่างรับผิดชอบจะมีความสำคัญ และเป็นส่ิงที่ถกเถียงกัน แต่นักปั่นอเมริกันส่วนใหญ่เห็นว่า วัฒนธรรมการขับขี่รถยนต์จะดีขึ้นได้ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิทธิในการใช้ท้องถนนและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรถยนต์และจักรยานเสียก่อน ทั้งนี้ สำนึกที่ว่าถนนมีไว้เพื่อรถยนต์เท่านั้น ได้ทำให้ยานพาหนะประเภทอื่นต้องตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าและไร้อำนาจในการใช้พื้นที่ถนนไปโดยปริยาย สภาวะเช่นนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่กฎหมายที่ออกมาในยุคต้นเมื่อเริ่มมีการใช้รถยนต์ ภายใต้การผลักดันของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ทำให้รถยนต์เข้ามามีอภิสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆในการครอบครองพื้นที่ถนน (กฎหมายบังคับการให้ข้ามถนนตามที่กำหนดเพื่อความสะดวกของรถยนต์ --Anti-jaywalking law เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งของการสถาปนาความต้องการของรถยนต์เหนือผู้ใช้ถนนอื่นๆ) นักปั่นเชื่อว่าจะปรับเปลี่ยนทัศนะคติที่ผูกขาดการใช้ถนนของรถยนต์ได้ ต้องกระทำผ่านการต่อสู้ให้มีกฎหมายที่ขยายอำนาจการคุ้มครองการใช้จักรยานบนท้องถนนให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศที่รถยนต์เป็นวัฒนธรรมใหญ่ของท้องถนนเช่นสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ในเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาก็สามารถผลักดันให้มีเลนจักรยาน และกฎหมายเกี่ยวกับจักรยานจนสำเร็จ

ในแง่นี้ การคุ้มครองความปลอดภัยของนักปั่นจักรยานกับสิทธิและการสร้างอำนาจการต่อรองในการใช้พื้นที่ถนนจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ในสหรัฐฯเรื่องนี้ทำได้ด้วยการรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันของกลุ่มนักปั่น ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและองค์กรต่างๆมากมาย นอกเหนือจากเลนจักรยานและกฎหมายเกี่ยวกับจักรยานแล้ว แต่ละรัฐได้ออกกฎหมายเฉพาะที่เพิ่มอำนาจคุ้มครองรถจักรยานบนท้องถนนที่เข้มงวดขึ้นไปอีก แตกต่างกันไป ในรัฐโอเรกอน มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติคุ้มครองผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง (Vulnerable Roadway User Statute) ซึ่งลงโทษอย่างหนักต่อผู้ที่ขับขี่รถยนต์อย่างประมาทและขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ถนนที่เปราะบางกว่า ไม่ว่าจะเป็นจักรยานหรือคนเดินเท้า ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในรัฐวิสคอนซินมีการออกกฎหมายลงโทษผู้ขับขี่รถยนต์ที่เปิดประตูรถอย่างไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้รถจักรยานต้องบาดเจ็บ และในแคลิฟอร์เนีย กฎหมายใหม่เพิ่งออกมาบังคับให้รถยนต์ต้องรักษาระยะห่างจากรถจักรยานไม่น้อยกว่าสามฟุต หรือชะลอความเร็วลงเมื่อขับรถตามหลังรถจักรยาน เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่เพียงคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักปั่นจักรยานทั้งหลาย หากแต่มีผลบังคับให้วัฒนธรรมการขับขี่รถยนต์ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย หรือพูดง่ายๆก็คือ ช่วยให้คนขับรถมองจักรยานในสถานะของผู้ใช้ถนนที่เท่ากันมากขึ้น

แน่นอนที่ว่า บริบทของการจัดการเมืองและวัฒนธรรมบนท้องถนนในสหรัฐฯย่อมเทียบไม่ได้กับเมืองไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเติบโตของความเป็นเมืองจักรยานในหลายมลรัฐไม่ได้เป็นเรื่องของการมีผังเมืองที่ดี มีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม มีทุน มีวัฒนธรรมการขับขี่ยวดยานที่รับผิดชอบที่จู่ๆก็เกิดขึ้นมา หรือเป็นไปเองตามธรรมชาติของประเทศที่เจริญแล้วอย่างมีมักเชื่อกัน หากส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของกระบวนการต่อรองและต่อสู้อันยาวนานของกลุ่มคนกลายกลุ่ม รวมทั้งนักปั่นจักรยาน เพื่อให้เมืองและท้องถนนตอบสนองต่อผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน และการจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มและเรียกร้องสิทธิของตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสร้างกฎหมายใหม่ๆที่คุ้มครองสิทธิของตนที่เข้มแข็งขึ้น

การจะทำให้ถนนปลอดภัยสำหรับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นนักปั่น ซาเล้ง หรือกลุ่มคนผู้เปราะบางประเภทอื่นๆ จึงเป็นเรื่องการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิในการใช้พื้นที่บนท้องถนน ไม่ใช่การขอความเมตตา การแบ่งปัน หรือความเห็นอกเห็นใจจากผู้ขับขี่รถยนต์ ที่วัฒนธรรมความประมาทในการขับขี่รถยนต์เกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นมาจากอำนาจผูกขาดพื้นที่ถนนมาโดยตลอดนั่นเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท