Skip to main content
sharethis
 
สำรวจพบแรงงานวัย 26-30 ปี มีปัญหาความเครียด-วิตกกังวลมากสุด
 
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ประชากรวัยแรงงานทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า มีประชากรวัยแรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการทำงานมากกว่า 1,900 ล้านคนทั่วโลก โดยทุกๆ ปี จะมีแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่า 160 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 ของแรงงานทั้งหมดประสบปัญหาความเครียดจากการทำงาน สอดคล้องกับข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า ในที่ 2557 มีจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด 47,780 คน เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 39,084 คน เพศชาย 17,262 คน เพศหญิง 21,814 คน ปัญหาลำดับแรกที่พบ คือ ปัญหาความเครียดหรือความวิตกกังวล จำนวนประมาณ 12,602 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.24 โดยวัยแรงงานช่วงอายุระหว่าง 26-30 ปี ขอรับคำปรึกษาด้านความเครียดหรือวิตกกังวลสูงสุด จำนวน 2,084 คน หรือ ร้อยละ 5.3 ซึ่งหากมองในด้านตัวเลขแล้วอาจจะดูว่ามีจำนวนไม่มากนัก แต่ความเครียดในช่วงวัยดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการปรับตัวเข้าสู่วัยแรงงาน นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรวัยแรงงานที่โทรมาขอรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กว่า 9,389 คน หรือ ร้อยละ 24.02 มีปัญหาเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเครียดในการทำงาน เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อศักยภาพในการทำงาน คุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานของแรงงานและอาจส่งผลทำให้มีโรคทางจิตเวชตามมา แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องมีทักษะหรือวิธีการจัดการกับความเครียดให้กับตัวเองโดยเร็ว  
 
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การจัดการปัญหาความเครียดมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับแนวทางที่เหมาะสมที่เลือกจะนำมาใช้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การได้มีโอกาสบริหารจัดการความสมดุลในร่างกายกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยเรียกวิธีการนี้ว่า 4ส.1ม. ซึ่งประกอบด้วย สมดุล สมาธิ สื่อสาร สัตย์ซื่อ และมีเมตตา เพื่อส่งเสริมสร้างสุขกับมิตรร่วมงาน เน้นการสร้างความสุขในที่ทำงานด้วยตนเอง เป็นแนวทางการทำงานแบบวิถีพุทธที่สามารถปรับใช้กับการทำงานในบริบทของสังคมไทยได้ง่าย และส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างความสุขในสังคมต่อไป 
 
(มติชนออนไลน์, 30/04/2558)
 
ก.แรงงานรับปี 59 ค่าแรงบางจังหวัดอาจปรับขึ้น
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ถึงการประเมินผลการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ของปี 57 หลังเริ่มใช้มาเป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน ว่าค่าจ้างจริงที่แรงงานได้รับปรับขึ้นมาอยู่เฉลี่ยวันละ 312 บาท หลังบวกค่าสวัสดิการต่างๆ แล้ว เพิ่มขึ้นจากปี 56 ประมาณ 7 บาท หรือ อยู่ที่วันละ 305 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ปรับเพิ่มขึ้นตามจากปี 56 อยู่ที่วันละ 275 บาท มาอยู่ที่วันละ 281 บาท ซึ่งยอมรับว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งความจริงแล้วการปรับค่าจ้างต้องไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ 
 
ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำในปี 59 นั้น ขณะนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. ได้เสนอเข้ามาแล้วให้ปรับขึ้นเป็นวันละ 360 บาท ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานทุกจังหวัดสำรวจดัชนีค่าจ้าง และค่าครองชีพของแรงงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาว่า จะปรับค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาทหรือไม่ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหากมีการปรับขึ้น ควรปรับขึ้นบางจังหวัดที่ค่าครองชีพสูง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ค่าครองชีพต่ำ และมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มร้อยละ 40-50 แล้ว อาจไม่ปรับขึ้นอีก
 
ทางด้านนักวิชาการ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชย์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพราะขณะนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรมก็ยังไม่คลี่คลาย แต่หากมีการปรับขึ้นจริง แรงงานเองก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งฝีมือและทักษะในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านไอทีเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ย้ายฐานการผลิตสินต้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานถูกกว่า 
 
(ครอบครัวข่าว, 30/04/2558)
 
'พล.อ.ประยุทธ์' ยืนยันจะรับข้อเรียกร้องกลุ่มแรงงานไปดำเนินการ พร้อมขอให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
 
1 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2558 ภายหลังนายกรัฐมนตรี รับข้อเรียกร้องจากกลุ่มตัวแทนแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องจัดระเบียบการบริหารงานทั้งระบบ สำหรับรัฐบาลวันแรงงานมีทุกวันไม่ใช่เฉพาะวันที่ 1 พฤษภาคมเท่านั้น เพราะรัฐบาลต้องทำงานให้ประชาชนมีความสุข มีอาชีพรายได้ที่ดี
 
นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะรับข้อเสนอแรงงานทั้ง 11 เรื่องมาดำเนินการ โดยต้องแบ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ทันที ขณะที่บางเรื่องต้องใช้เวลา และขอให้แรงงานเพิ่มความสามารถด้านฝีมือแรงงาน ทักษะด้านภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับการทำงานและความก้าวหน้า และจะต้องเน้นมาตรการลดรายจ่าย เช่น ขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตของใช้ราคาถูก หรือตั้งร้านค้าอาหารราคาถูก
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า จากการที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่าหมื่นราย ดังนั้นในวันข้างหน้าขอให้มั่นใจว่าแรงงานต้องมีงานทำทุกคน ซึ่งหากเปรียบเทียบอัตราการว่างงานของไทยถือว่าดีที่สุดในอาเซียน และอาจจะน้อยที่สุดในโลก
 
“ผมยืนยัน ในฐานะสุภาพบุรุษ ชายชาติทหาร พูดแล้วต้องทำ เพราะไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องการคะแนนเสียง ดังนั้นจะพยายามแก้ปัญหาของประเทศ รวมถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น และยืนยันว่าตั้งแต่เข้ามาบริหารงานในฐานะ คสช. ใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ใครมากำหนดชะตากรรม รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
นายกรัฐมนตรียังให้ความเชื่อมั่นว่าหลายอย่างจะดีขึ้น อย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน และให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจในอาเซียน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เสร็จแล้ว ได้ลงจากเวทีเดินทักทายกลุ่มผู้ใช้แรงงานภายในเต๊นท์จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ จากนั้นเดินชมบูทอาหารและแวะชิมขนมหวานของไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก
 
(สำนักข่าวไทย, 1/05/2558)
 
โพลแรงงานชี้ สังคมเหลื่อมล้ำ กระเป๋าแฟบ วอนเพิ่ม
 
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ "ความคิดเห็นของ “แรงงานไทย” ณ วันนี้" โดยได้สอบถามผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ จำนวน 1,136 คน ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2558 สรุปผลได้ ดังนี้
 
1. ผู้ใช้แรงงานคิดอย่างไร? กับ “การเมืองไทย” ณ วันนี้ 
 
อันดับ 1 เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีการทำงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม 72.14%
อันดับ 2 การเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน 70.58%
อันดับ 3 ยังมีความขัดแย้งจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีการสร้างกระแสเป็นระยะๆ 67.22%
 
2. ผู้ใช้แรงงานคิดอย่างไร? กับ “เศรษฐกิจไทย” ณ วันนี้
 
อันดับ 1 ของแพง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความเป็นอยู่ลำบาก 90.29%
อันดับ 2 เศรษฐกิจซบเซา ยังไม่ดีขึ้น มีปัญหาการว่างงาน ตกงาน 86.37% 
อันดับ 3 รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาแต่ก็เป็นเรื่องยาก 71.24%
 
3. ผู้ใช้แรงงานคิดอย่างไร? กับ “สังคมไทย” ณ วันนี้
 
อันดับ 1 มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมระหว่างคนจนคนรวย 85.61%
อันดับ 2 สังคมเสื่อมโทรม คนเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ มีภัยสังคมมากขึ้น 83.78% 
อันดับ 3 คนไทยยังขาดความสามัคคี ขัดแย้งแตกแยก 79.33%
 
4. ผู้ใช้แรงงานคิดอย่างไร? กับ “รัฐบาลไทย” ณ วันนี้
 
อันดับ 1 มีอำนาจเด็ดขาด จัดระเบียบสังคม แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 82.76%
อันดับ 2 ตั้งใจทำงาน พยายามที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองให้ดีขึ้น 73.40% 
อันดับ 3 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดเข้ามาบริหารประเทศก็ยังแก้ไขปัญหาทางการเมืองไม่ได้ 68.17%
 
5. สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานอยากฝากบอกกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ณ วันนี้ คือ
อันดับ 1 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับชีวิตแรงงานให้ดีขึ้น 92.36%
อันดับ 2 มีกฎหมายดูแล คุ้มครองแรงงานด้วยความเป็นธรรม 89.75%
อันดับ 3 ให้การสนับสนุน พัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถแข่งขันในอาเซียนได้ 71.48%
 
(ไทยรัฐ, 2/05/2558)
 
ชี้ค่าแรง 360 บาทสูงเกินแนะลอยตัวค่าจ้าง
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 20% ถือว่า สูงเกินไป เนื่องจากตามหลักการแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ต้องแตกต่างกันตามความเหมาะสม เพราะค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมีเอกชนบางรายได้เสนอให้ลอยตัวค่าจ้าง คือ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งตนเห็นว่า หากตกลงกันไม่ได้ หรือจะมีการพิจารณารูปแบบประชานิยมอีก เห็นว่า การลอยตัวค่าแรงงานจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด 
 
“อยากให้คณะกรรมการไตรภาคี ที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงในปี 59 ต้องพิจารณาอยู่บนเหตุผล เพราะหากมีการประกาศออกมาในลักษณะประชานิยมไม่มีเหตุและเหมือนที่ผ่านมา ก็จะซ้ำรอยเดิมอีก จะทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก และต้องปิดกิจการอีก ดังนั้นจะต้องดูองค์ประกอบของทั้งค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ความสามารถการจ่ายของเอกชน ความเป็นอยู่ของลูกจ้าง โดยการหารือจะต้องประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งค่าจ้างใหม่นี้จะต้องคิดให้ดีเพราะคืออนาคตการลงทุนของไทย เพราะถ้ายิ่งสูงเกินไปก็จะกระทบต่อขีดความสามารถของภาคเอกชน หรือนายจ้าง ถ้ารับไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการ จนทำให้ลูกจ้างตกงานอยู่ดี” 
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 4/05/2558) 
 
ก.แรงงานเล็งมอบจังหวัดนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทำงานในเขต ศก.พิเศษ
 
วันนี้ (4พ.ค.58) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดน ณ ห้องเทียน อัชกุล ว่า แนวโน้มในการพิจารณาให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในภาคเกษตรและกิจการต่างๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ชายแดนในลักษณะเช้ามา-เย็นกลับ ตามฤดูกาลเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้และควบคุมได้จริง โดยที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการ อาทิ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในพื้นที่ในการพิจารณานำเข้าออกแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ในการเข้ามาเก็บผลไม้ตามฤดูกาลในแต่ละจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
 
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดที่ทำการเกษตรมาก ทำให้ขาดแรงงานในฤดูจัดเก็บผลไม้ อาทิ จันทบุรี ตราด ระยอง และอีกหลายๆ จังหวัด รวมทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง ณ ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็นกว่า 10 จังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่และเป็นการเช้ามา-เย็นกลับตามฤดูกาล จึงมองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม อ่อนตัว สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงใน พื้นที่ เพื่อให้เกิดความง่าย และลดการกระทำ ความผิดกฎหมาย และสามารถควบคุมได้
 
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะจัดทำข้อมูลร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะการกำกับในพื้นที่ชายแดนกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสามารถคุมทุกพื้นที่ในจังหวัดได้ ทั้งนี้กรอบการปฏิบัติคาดว่าจะเหมือนกัน ทุกจังหวัด แต่แตกต่างกันในรายละเอียด บางอย่าง เช่น รายงานตัวที่ไหน ทำอย่างไร เข้ามาทำงานเดือนไหน เพราะช่วงฤดูกาลเก็บผลไม้ไม่เหมือนกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนตัวเองได้เพื่อป้องกันการกระทำผิด สำหรับระยะเวลาการเก็บผลไม้ของจังหวัดที่ทำการเกษตรจะมีเพียง 4 เดือน ได้แก่ เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ของทุกปี
 
(TNN, 4/05/2558) 
 
สธ.ห่วงสุขภาพวัยแรงงาน พบเจ็บป่วยปีละกว่า 130,000 คน
 
นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคมทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกาย และจิตใจ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวและเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2558 ทั่วประเทศมีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38 ล้านกว่าคน วัยทำงานจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ทำงานในที่ทำงานสัปดาห์ละกว่า 35 ชั่วโมง ตลอดอายุจะใช้เวลาทำงานเฉลี่ยประมาณ 81,900 ชั่วโมง ดังนั้นสถานที่ทำงานจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตและสุขภาพคนวัยนี้อย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาส่งเสริมคุณภาพสถานที่ทำงานทุกประเภท เพื่อให้สถานที่งาน น่าอยู่ น่าทำงาน สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี และมีชีวิตชีวา เมื่อแรงงานมีสุขภาพดี  ย่อมส่งผลต่อสมรรถนะการทำงานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสุขภาพก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อให้คงความมีสุขภาพดีให้ได้ถึงอายุ 72 ปี ล่าสุดประเทศไทยมีสถานประกอบการทั่วประเทศ 827,051 แห่ง
 
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาสุขภาพกลุ่มวัยทำงาน  ตามโครงการสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย เน้นหนักการป้องกันที่ตัวบุคคล เช่นการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง ป่วยจากการทำงาน และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยจะมีการให้ความรู้การบริโภคอาหารที่สมดุล  รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์  ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด ส่วนที่ 2 คือการจัดสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้สะอาด ปลอดภัย น่าทำงาน และมีชีวิตชีวา  โดยในปี2558 นี้ จะขยายการดูแลเพิ่มในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ได้รับความปลอดภัยจากกการทำงานด้วย
 
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค ล่าสุดในปี 2555 มีประชาชนได้รับการบาดเจ็บจากการทำงานปีละ 130,000 กว่าราย ปัญหาที่พบมาก อันดับ 1 เกิดจากวัตถุหรือสิ่งของบาด ทิ่มแทง รองลงมาคือ ถูกสิ่งของหล่นทับ และ 3 วัตถุ สิ่งของ สารเคมีกระเด็นเข้าตา ตามลำดับ ซึ่งล้วนแต่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น
 
ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้จัดทำหลักเกณฑ์สถานประกอบการน่าอยู่ น่าทำงาน โดยยึดกรอบสถานที่ทำงานน่าอยู่ขององค์การอนามัยโลก โดยต้องผ่านเกณฑ์ สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี   โดยในส่วนของพนักงาน จะมีการตรวจสุขภาพและบันทึกข้อมูลรายบุคคล ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกใช้สิ่งเสพติดต่างๆทั้ง บุหรี่ สุรา ยาเสพติด  มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในส่วนสถานประกอบการ จะเน้นที่การสร้างความปลอดภัย ทั้งเรื่องแสงสว่าง เสียง การกำจัดขยะ น้ำเสีย ห้องน้ำ ห้องสุขา ระบบการระบายอากาศ การจัดการสารเคมี การป้องกันอัคคีภัย การควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค เป็นต้น  ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชน ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินคุณภาพเป็นสถานประกอบการน่าอยู่น่าทำงานแล้ว 8,716 แห่ง สถานประกอบการที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ กรมอนามัย และศูนย์อนามัยทั้ง 12 เขต และจะประเมินผลหลังดำเนินการแล้ว 6 เดือน-1 ปี หากผ่านเกณฑ์ จะมอบเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ให้เป็นสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ต่อไป
 
(RYT9, 5/05/2558) 
 
กพร.จับมือสสวท.เตรียมพร้อม เยาวชนก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในงานลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจ ต่างส่งผลให้ตลาดมีความต้องการกำลังแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก ซึ่งการผลิตกำลังแรงงานในการตอบความสนองความต้องการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเยาวชนที่จะก้าวสู่วัยทำงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดำเนิน “โครงการความร่วมมือเครือข่ายสะเต็มศึกษาประเทศไทย”  ซึ่งจะใช้แนวทางที่เรียกว่า “สะเต็มศึกษา” โดยมีการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) แบบบูรณาการที่แก้ปัญหา วิเคราะห์ เชื่อมโยงกับอาชีพและการทำงาน กลุ่มเป้าหมายจะเป็นโรงเรียนในเครือข่ายของสสวท.
 
“การร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นกำลังแรงงานฝีมือแล้ว ยังได้ผลิตองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงแรงงานในการเพิ่มศักยภาพเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเยาวชน กำลังแรงงาน และประชาชนทั่วไปในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”
 
(RYT9, 5/05/2558) 
 
คาดเดือนมิถุนายนนี้ เปิดรับสมัครและโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 จากกองทุนประกันสังคม เป็นสมาชิก กองทุนการออมแห่งชาติได้ 
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการแก้ ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเขียนบทเฉพาะกาลให้กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.สามารถรับโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์รับเงินบำนาญชราภาพ จาก สปส.ได้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขผ่าน สนช. จะสามารถรับโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 และเปิดรับสมัครสมาชิกองทุน กอช.ได้ คาดว่าจะเปิดรับสมัครและรับโอนเดือนมิถุนายนนี้ โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ต้องลาออก หรือโอนมายังกองทุน กอช. และไม่เป็นผู้ประกันตนอีก แต่ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 4 และ 5 ยังคงเป็นผู้ประกันตนและรับสิทธิประโยชน์ เช่น ค่าทำศพ ทุพพลภาพ บำเหน็จ ได้ แต่กรณีบำนาญ ต้องลาออกหรือโอนมายังกองทุน กอช. หากเทียบ กอช.กับทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท และรัฐสมทบให้ 100 บาทต่อเดือน อาจมองได้ว่าสิทธิประโยชน์บางอย่างด้อยกว่าเดิม แต่กองทุน กอช.มีการรับประกันผลตอบแทนและได้ดอกผลด้วย
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 5/05/2558)
 
สปส.เตรียมเงินกว่า 2 พันล้านบาท จ่ายคืนผู้ประกันตนตามมาตรา 40
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือ สปส. ในฐานะโฆษก สปส. กล่าวถึงการโอนผู้ประกันตน มาตรา 40 ไปกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ว่า จากการหารือระหว่างระหว่าง สปส. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีข้อสรุปร่วมกันว่าผู้ประกันตน มาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์รับเงินบำนาญชราภาพ ต้องลาออกหรือโอนไปอยู่กับกองทุน กอช. เพราะ สปส. จะไม่ดูแลในเรื่องเงินบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บปวย ค่าทำศพ ทุพพลภาพ บำเหน็จยังคงดูแล โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ที่รับสิทธิประโยชน์เฉพาะบำนาญชราภาพ รวมทั้งผู้ประกันตนทางเลือกที่ 4 และ 5 ในส่วนของผู้ที่เลือกรับสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพ จะต้องลาออกหรือโอนไปอยู่กับกองทุน กอช. ซึ่งทุกกลุ่ม สปส.จะจ่ายเงินสมทบคืนแก่ผู้ประกันตน โดยในส่วนของผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะบำนาญชราภาพ ต้องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และ สปส. จะจ่ายเงินสมทบ ทั้งในส่วนผู้ประกันตนและส่วนของรัฐให้ทั้งหมด ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้มีกว่า 3 แสน 5 หมื่นคน คาดว่าใช้เงินกว่า 2 พันล้านบาท
 
รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพไปยังกองทุน กอช. เพราะต้องรอร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาประกันสังคม มาตรา 40 และร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่ สนช.ต่อไป
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 5/05/2558)
 
สศอ.แนะเอสเอ็มอีกลุ่มแฟชั่นย้ายฐานการผลิตไปลาว-กัมพูชา หลังค่าแรงถูกกว่าไทย และยังได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และอัญมณี ประสบปัญหาด้านการผลิต จากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอมีต้นทุนรวมของภาคการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13.9-22.8 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4-22.3 อุตสาหกรรมเครื่องหนังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1-19.3 ประกอบกับการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ จีเอสพี ส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
 
ดังนั้น สศอ.จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมแฟชั่น ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชาและ สปป.ลาว ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ยังได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่ และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไทย โดยกัมพูชามีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือ 70 บาทต่อวัน และลาวอยู่ที่ 3 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือ 110 บาทต่อวัน อีกทั้งมีจำนวนแรงงานพร้อมที่จะรองรับ รวมทั้งความพร้อมเรื่องโครงข่ายระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อกับไทย ระบบโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและสิทธิด้านการลงทุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้รองรับการขยายการลงทุน
 
โดยจังหวัดที่เหมาะสมในกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดกันดาร เกาะกง บันเจียเมียนเจย และศรีโสภณ ส่วนจังหวัดที่เหมาะสมในลาว ได้แก่ เวียงจันทร์ โดยผู้ประกอบการควรพิจารณาตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ตั้งขึ้นเพิ่มอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ด้านการขออนุญาตลงทุน การจดทะเบียนบริษัท พิธีการศุลกากร 
 
ทั้งนี้ จำนวนแรงงานรวมทุกภาคส่วนในภูมิภาค พบว่า ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนแรงงานมากที่สุด 127 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม 52 ล้านคน ไทย 40 ล้านคน พม่า 29 ล้านคน กัมพูชา 9 ล้านคน และ ลาว 4 ล้านคน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 6/05/2558)
 
ก.แรงงานแก้ค้ามนุษย์เล็งนำเข้าผ่านเอ็มโอยู
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 3 หรือเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุดว่า กระทรวงแรงงานมุ่งดูแลไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับแรงงานเด็กโดยจัดระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวเน้นให้ผู้ประกอบการต้องใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงาน 3 สัญชาติทั้งเมียนมา กัมพูชาและลาวซึ่งมีแรงงานและผู้ติดตามมาจดทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วประมาณ 3 แสนคนโดยล่าสุดรัฐบาลได้ผ่อนผันขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งดูแลไม่ให้มีนายหน้าเถื่อนโดยบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องมาขึ้นจดทะเบียนและพนักงานทุกคนก็ต้องขึ้นทะเบียนเช่น อีกทั้งเก็บค่าใช้จ่ายอย่างเป็นธรรม เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และดูแลไม่ให้นายจ้างยึดเอกสาร พาสสปอร์ต ไม่ให้มีการทำงานใช้หนี้
 
"นโยบายของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเน้นการนำเข้าแรงงานผ่านระบบความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายและควบคุมการเก็บค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไป" นายอารักษ์ กล่าว
 
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานยังเน้นการคุ้มครองแรงงานโดยมีการออกกฎหมายทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงทะเลพ.ศ. 2557 กำหนดให้ห้ามรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง นายจ้างต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างและมีการจัดทำสัญญาจ้าง รวมถึงออกกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมกำหนดให้ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ร่วมกับกองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจแรงงานในเรือประมงทะเล 22 จังหวัดชายทะเล
 
"ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้สรุปรายงานความคืบหน้าการป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานโดยภาพรวมของประเทศเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขอรายละเอียดเพิ่มภายในเดือนพ.ค.นี้ก่อนที่จะประกาศผลจัดอันดับเทียร์ในเดือนมิ.ย.นี้ หากไทยยังคงถูกจัดอันดับเทียร์ 3 อยู่เช่นเดิมจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาโดยเฉพาะด้านการค้ากับต่างประเทศ อาจจะทำให้ประเทศต่างๆเช่น อเมริกา ยุโรปลดการสั่งซื้อสินค้าอย่างกุ้ง ปลา อาหารแช่เยือกแข็งจากไทย อย่างไรก็ตาม หวังว่าไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นเพราะที่ผ่านมาได้พยายามป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่"นายอารักษ์ กล่าว
 
ส่วนกรณีที่พบค่ายและหลุมศพชาวโรฮิงญาที่เกาะในอ.สะเดา จ.สงขลานั้น เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงและตำรวจจะดำเนินการแก้ปัญหาได้ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบว่ามีการใช้แรงงานชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องนี้ตรวจสอบได้ยาก
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 6/05/2558)
 
ภาคประชาชนร้องนายกฯช่วยลูกเรือประมงกลับไทยอีก
 
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้จัดเสวนาทางวิชาการโต๊ะกลม ครั้งที่ 1 เรื่อง "การค้ามนุษย์กับการตีโจทย์ปฏิรูปประเทศไทย" โดยนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ ฯ กล่าวว่า การเสวนาวันนี้เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คนไทยถูกหลอกไปเป็นแรงงานบนเรือประมงในประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับถูกเอาเปรียบจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป ทั้งนี้เมื่อปี 2557 สามารถช่วยเหลือกลับมาประเทศไทยได้ 137 คนแล้ว ยังเหลือผู้รอการช่วยเหลือบนเกาะอัมบนและเบนจินา อีกประมาณ 300-400 คน แต่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าจะขยายระยะเวลาในการตรวจสอบเรือประมงต่างชาติออกไปอีก 6 เดือน ทำให้เกิดความกังวล และอยากให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมกับประกาศเป็นนโยบายการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติในระดับเอเชียและนานาชาติ แต่เท่าที่ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่อเร่งรัดให้แก้ปัญหานี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร
 
นายสมพงค์ กล่าวว่า ตอนนี้มีแรงงานประมงชาวไทยมาร้องขอความช่วยเหลือกว่า 20 คน ซึ่งเราได้ตั้งทนายความมาช่วยเหลือให้เขาได้รับสิทธิที่พึงมี เช่น เงินชดเชยกรณีได้รับอุบัติเหตุ ทุพพลภาพจากการทำงาน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ และเครือข่ายยังให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆที่ภาครัฐอาจจะไม่ได้คำนึงถึง ทั้งนี้ขอยืนยันว่าหลายภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันในเรื่องดังกล่าว และเอ็นจีโอต้องมีสิทธิในการตรวจสอบและช่วยเหลือคนเหล่านี้ รวมถึงต้องได้มีส่วนร่วมในกฎหมายใหม่ที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.ประมง กฎกระทรวงว่าด้วยการทำประมง เป็นต้น
 
"ตอนนี้เราพบว่าในจำนวนแรงงานไทยที่ได้กลับประเทศมารอบที่แล้ว 68 คนนั้น จากการติดตามในเมืองไทย พบว่ามี 2 คน คือนายรั่ว สายกระสุน และนายบุญศรี เพ่งพิศ ชาวจ.สุรินทร์ ที่หายตัวไป และยังรอการช่วยเหลือให้กลับเมืองไทยอีก 3 คน ที่ตอนนี้รอการตรวจสอบข้อมูลอยู่ที่สำนักงานตรวงคนเข้าเมืองที่เกาะอัมบน ตั้งแต่เดือน มี.ค. อีกทั้ง ทางการอินโดนีเซียได้สอบสวนพบคนไทยในจำนวน 68 คนนั้น มี 28 คนที่เป็นคดีค้ามนุษย์ แต่ฝายไทยกลับระบุว่ามีเพียง 2 รายเท่านั้น"นายสมพงศ์ กล่าว.
 
(เดลินิวส์, 6/05/2558)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net