เขียนรัฐธรรมนูญบนกรอบคิด ‘ความเป็นไทย’ ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในประเพณีทางปัญญาแบบตะวันตก มโนทัศน์หรือกรอบคิด (concept) ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก นักปรัชญา นักคิดด้านต่างๆ จึงสร้างมโนทัศน์หรือกรอบคิดต่างๆ ขึ้นมาใช้อธิบายปรากฏการณ์หรือแก้ปัญหาต่างๆ หรือใช้เป็นฐานกำหนดโครงสร้างทางความคิด ทฤษฎีที่เขาเสนอ เช่นเพลโตเสนอมโนทัศน์ forms ค้านท์เสนอมโนทัศน์ pure reason ฟูโกต์เสนอ discourse เป็นต้น

แน่นอนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาประชาธิปไตยหรือสัญญาประชาคมที่เป็นประชาธิปไตย ย่อมต้องเขียนขึ้นบนกรอบคิดที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย คือกรอบคิด “เสรีภาพ” (freedom) “ความเสมอภาค” (equality) และสิทธิต่อรองที่เท่าเทียมของปัจเจกบุคคล (individuals) และอาจพิจารณา “บริบท” อื่นๆ ที่ไม่ขัดแย้งหรือลดทอนจนเสียหลักการพื้นฐานนี้

น่าสนใจว่า การเขียนรัฐธรรมภายใต้การปฏิรูปโดยรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 หรือร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เป็นการเขียนภายใต้การ “เน้น” วาทกรรมที่ว่า ไม่ควรเลียนแบบตะวันตกทั้งหมด ควรคำนึงถึง “บริบท” ของ “ความเป็นไทย” ของเราเอง เพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ “สมบูรณ์” และ “ยั่งยืน” แต่น่าสังเกตว่านิยาม “ความเป็นไทย” “ประชาธิปไตยแบบไทย” “สมบูรณ์” “ยั่งยืน” ล้วนแต่มีความหมายไม่ชัดเจน หรือสะท้อนจินตนาการที่คลุมเครือ จึงทำให้ได้รัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญที่คลุมเครือมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสัดส่วนความเป็นไทยกับความเป็นประชาธิปไตย

อันที่จริงมันคลุมเครือตั้งแต่แรกที่เน้นว่า เขียนรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึง “บริบท” ความเป็นไทย ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญตามที่ “เน้น” นี้จริงๆ ก็แปลว่าความเป็นไทยไม่ใช่ “กรอบคิดหลัก” ของการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่กรอบคิดหลักคือกรอบคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและสิทธิต่อรองที่เท่าเทียมของปัจเจกบุคคลที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย ฉะนั้น เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ปรากฏออกมาต้องเป็นเนื้อหาที่สะท้อนถึงการปรับ “ความเป็นไทย” ให้สอดคล้องกับ “ความเป็นประชาธิปไตย”

แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เป็นเนื้อหาที่สะท้อนการปรับ การลดทอนความเป็นประชาธิปไตยให้สอดคล้องหรือ “ขึ้นต่อ” ความเป็นไทย ฉะนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นไทยจึงไม่ใช่ถูกถือเป็นเพียง “บริบท” ที่ควรคำนึงถึงในการเขียนรัฐธรรมนูญ หากแต่ความเป็นไทยได้ถูกทำให้เป็น “กรอบคิดหลัก” ในการเขียนหรือออกแบบรัฐธรรมนูญ หรือความเป็นไทยนั่นแหละคือฐานรากของเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยหลักคิดเช่นนี้เองจึงจำเป็นต้องปรับและลดทอนความเป็นประชาธิปไตยให้สอดคล้อง สนองตอบ หรือยู่ใต้ความเป็นไทยตามนิยามของฝ่ายมีอำนาจในการปฏิรูป

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเขียนรัฐธรรมนูญบน “กรอบคิดความเป็นไทย” จึงไม่มีทางได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาคและสิทธิต่อรองที่เท่าเทียมมากขึ้น ยิ่งปฏิรูปแบบเน้นความเป็นไทยมากขึ้นๆ ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ลดทอนอำนาจประชาชนและความเป็นประชาธิปไตยให้น้อยลงเรื่อยๆ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่ากรอบคิด “ความเป็นไทย” ขัดแย้งกับกรอบคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิต่อรองที่เท่าเทียมในระบบประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิต่อรองภายใต้กรอบคิดความเป็นไทยย่อมขึ้นอยู่กับกรอบคิดเรื่อง “อำนาจของชนชั้นปกครอง” และเนื่องจากกรอบคิดเรื่องอำนาจของชนชั้นปกครองอิงอยู่กับความเชื่อของพุทธเถรวาทแบบสยามไทยที่ถือว่า อำนาจของชนชั้นปกครองมาจากคุณธรรมและบุญญาธิการที่สูงส่งกว่าคนธรรมดาสามัญ สถานะของ “ชนชั้นปกครอง” จึงต้องอยู่สูงกว่า “ชนชั้นผู้ถูกปกครอง” เสมอ

แปลว่าสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองย่อมต้องไม่อยู่ภายใต้กรอบเสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิต่อรองใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง แต่ต้อง “อยู่เหนือ” ขึ้นไป และสภาวะแห่งสถานะและอำนาจเช่นนั้นคือหลักอ้างอิงในการกำหนดกติกาการปกครองว่า ประชาชนผู้ถูกปกครองควรจะมีเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิต่อรอง และอำนาจได้มากน้อยภายในขอบเขตแค่ไหน อย่างไร

แต่กรอบคิดเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิต่อรอง อำนาจในระบบประชาธิปไตยนั้นอิงอยู่กับความยินยอมหรือ “เจตจำนงทั่วไป” ของประชาชนที่มี “ความเป็นคนเท่ากัน” ฉะนั้นมโนทัศน์หรือกรอบคิดพื้นฐานที่สุดที่เป็นฐานอ้างอิงในการเขียนรัฐธรรมนูญที่กำหนดขอบเขตของเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิต่อรอง และอำนาจของประชาชนก็คือมโนทัศน์หรือกรอบคิด “ความเป็นเท่ากัน” หากไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นจากกรอบคิดพื้นฐานนี้ ความเป็นประชาธิปไตยก็เป็นไปไม่ได้

อาจมีผู้โต้แย้งว่า ความเป็นคนเท่ากันมันเป็นเพียง “อุดมคติ” ความเป็นจริงคือคนไม่เท่ากัน แต่ที่จริงไม่ว่า “ความเป็นคนเท่ากัน” หรือ “ความเป็นคนไม่เท่ากัน” ก็ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นบน “อุดมคติ” บางอย่าง เช่นความเป็นคนไม่เท่ากันก็ถูกสร้างขึ้นบนอุดมคติแบบพราหมณ์เรื่อง “วรรณะ 4” และอุดมคติแบบพุทธเรื่องการทำบุญมาไม่เท่ากันเป็นต้น ส่วนความเป็นคนเท่ากันก็เป็นอุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานของการออกแบบกติกาเกี่ยวกับเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิต่อรองที่เท่าเทียมในระบบประชาธิปไตย

นี่คือความสำคัญของการสร้างมโนทัศน์หรือกรอบคิดในวัฒนธรรมทางปัญญาแบบตะวันตก เพื่อที่จะยืนยันความเป็นคนเท่ากัน นักปรัชญา นักคิดของเขาได้พยายามสร้างมโนทัศน์หรือกรอบคิดต่างๆ มาเป็นฐานในการอธิบาย เช่นบางคนเสนอว่า ก่อนที่เราแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ต่างๆ เช่นเป็นคนไทย เป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ เราต่างเป็นเพียง “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” หรือเป็น “มนุษย์ผู้มีสิทธิ์ที่จะมีสิทธิ์เสมอกัน” ไม่มีใครเป็นอะไรที่แตกต่างหรือมีอภิสิทธิ์เหนือใคร

คำถามก็คือ สิ่งที่เราต้องการจริงๆคือประชาธิปไตยใช่หรือไม่? หากใช่ เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเขียนรัฐธรรมนูญบนกรอบคิดที่ต้องปรับความเป็นไทยให้สอดคล้องหรืออยู่ใต้ความเป็นประชาธิปไตยบนฐานคิด “คนเท่ากัน” ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบหลอกตัวเองเรื่อยไป

และแน่นอนว่า ตราบที่ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวได้ (หรือประชาธิปไตยที่เรียกว่า “เสรีประชาธิปไตย”) ความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ อำนาจ ความแตกแยก ความรุนแรง และรัฐประหารก็ย่อมจะมีอยู่ต่อไปไม่รู้จบ

    

 

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท