”ประยุทธ์ จันทร์โอชา”กับทฤษฎี “เจ้าผู้ปกครอง” ของ “มาคิอาเวลลี”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

           
                                                                                          

การเข้าสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง แต่การบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจของทั้งสังคมไทยและสังคมโลก เพราะเป็นการนำรัฐไทยผ่าคลื่นโลกาภิวัฒน์ ด้วยการใช้สไตล์การบริหารงานแบบการทหาร ซึ่งนักรัฐศาสตร์ทางการเมืองการปกครองถือว่าเป็นการนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง ดังนั้นบทความนี้ จึงพยายามนำทฤษฎีเจ้าผู้ปกครองของมาคิอาเวลลี ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักปกครองทั้งในอดีตและปัจจุบันพยายามนำมาปรับใช้ในการบริหารประเทศ มาวิเคราะห์บทบาทของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเจ้าผู้ปกครองรัฐไทย

 

ว่าด้วยการได้มาด้วยแบบวิธีการใด

เป็นที่ทราบกันดีว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ฯ มาโดยการรัฐประหาร ยกเลิกการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นมหาชนรัฐในระบอบประชาธิปไตย โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายสูงสุดแห่งรัฐ มาคิอาเวลลีได้กล่าวถึงการได้มาซึ่งอำนาจแบบนี้ไว้ใน บทที่ 8 ว่าด้วยบรรดาผู้ซึ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครองโดยอาชญากรรม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเจ้าผู้ปกครองแบบนี้ที่จะกลายเป็นผู้ปกครองได้จากบุคคลธรรมดามีสองแบบวิธีการคือ โดยโชคชะตาหรือคุณธรรมล้วนๆ

มาคิอาเวลลี ได้ยกตัวอย่างเจ้าผู้ปกครองที่ได้มาซึ่งอำนาจโดยอาชญากรรมไว้ 2 คนคือ อากาธอคลีสและโอลิเวรอตโต ซึ่งสมบัติ จันทรวงศ์ ได้สรุปลักษณะเจ้าผู้ปกครองโดยอาชญากรรม ของมาคิอาเวลลีไว้ว่า ”...ตามที่ไตร่ตรองถึงการกระทำและชีวิตของบุรุษผู้นั้น ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรเลย หรือมีอยู่น้อยมาก ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากโชคชะตา ซึ่งไม่ได้มาจากความนิยมชมชอบของใคร แต่โดยการไต่เต้าตำแหน่งในกองทัพด้วยความยากแค้นและอันตรายเป็นพันๆครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เขาคงรักษารัฐโดยเจ้าผู้ปกครองนี้ไว้ด้วยการตัดสินใจมากมายอันเด็ดเดี่ยวและเสี่ยงอันตราย แต่การกระทำนั้นก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นคุณธรรมความสามารถ การฆ่าเพื่อนพลเมือง การหักหลังมิตร การไม่รักษาข้อตกลง ปราศจากความสงสาร ปราศจากศาสนา อันเป็นแบบวิธีการที่ทำให้เขาสามารถได้มาแต่อำนาจเด็ดขาด แต่ไม่ได้ความรุ่งโรจน์” แต่สุดท้ายมาคิอาเวลลี ก็สรุปว่า ”ไม่อาจสรุปได้ว่าการได้มาของเจ้าผู้ปกครองแบบนี้มาจากโชคชะตาหรือคุณธรรมความสามารถ” เพราะจริงแล้วสิ่งที่ทำให้เขาบรรลุผลสำเร็จได้ไม่ได้อาศัยทั้งสองสิ่งนี้เลย (สมบัติ จันทรวงศ์,2552.น.170 –171)

วิธีการก่อนการยึดอำนาจพลเอกประยุทธ์ฯ ได้ใช้วิธีการเดียวกับอากาธอคลีสและโอลิเวรอตโต โดยเชิญเหล่ากลุ่มการเมืองที่มีอำนาจขณะนั้นเช่น พรรคเพื่อไทย กลุ่ม นปช พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนั้น และต่อมาหลังจากนั้น ก็ดำเนินการประกาศยึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550  มีคำถามว่าเหตุแห่งการยึดอำนาจคืออะไร เกิดจากการที่กลุ่มการเมืองต่างๆไม่สามารถเจรจาตกลงปรองดองกันได้และทหารต้องเข้ามายุติปัญหาของชาติบ้านเมืองใช่หรือไม่ หรือว่าพลเอกประยุทธ์ฯทราบดีอยู่แล้วว่าทุกฝ่ายทุกกลุ่มหากเรียกมาตกลงกันจะไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จึงใช้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุผลหรือความชอบธรรมทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ฯในการยึดอำนาจ คำตอบก็คงเป็นประเด็นหลังซึ่งก็หมายความว่าพลเอกประยุทธ์ฯได้วางแผนเตรียมการในการทำรัฐประหารยึดอำนาจไว้ล่วงหน้าแล้ว อันถือได้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ฯนั้นได้มาโดยอาชญากรรมในความหมายของ มาคิอาเวลลี นั่นเอง

 

ว่าด้วยความคิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจ

มาคิอาเวลลี ได้กล่าวถึงแนวคิดการใช้อำนาจว่าเกิดจาก 2 ประการคือการใช้กำลังและการใช้ความสามารถ ซึ่งกรณีของพลเอกประยุทธ์ฯถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยการใช้กำลัง เพราะมาจากการใช้กำลังของกองทัพในบังคับบัญชาของตนเองทำการยึดอำนาจ ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวคิดการใช้อำนาจของมาคิอาเวลลลีที่ว่า “ผู้ปกครองต้องทำความเลวและความดีในเวลาเดียวกันเพื่อจุดประสงค์เอกภาพของรัฐ”

ซึ่งการยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ฯนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายและผิดธรรมเนียมพิธีการในการเจรจาและขัดหลักการเพราะเหมือนกลวงกลุ่มการเมืองให้มาถูกจับกุม แต่ก็เป็นการกระทำที่อาศัยเรื่อง”ความมั่นคง”มาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยึดอำนาจ โดยอ้างความเป็นเอกภาพของรัฐ ดังที่มาคิอาเวลลี ได้ตั้งคำถามว่า “สิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ชั่วคืออะไร เพราะในทางการเมืองบางครั้งก็ไม่มีอะไรแน่นอน บางทีเรื่องที่เป็นเรื่องเสียชื่อเสียงก็สามารถช่วยเหลือรัฐได้ หรือบางทีความชั่วนั้น หากปฏิบัติตาม เขาก็จะสัมฤทธิผลในด้านความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดี” หลักคิดการยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ฯอาจจะมาหลักคิดข้อนี้ โดยอ้างว่าหากปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไป บ้านเมืองจะเสียหาย อันเป็นการอ้างความมั่นคงแห่งรัฐนั่นเอง

นอกจากนี้ มาคิอาเวลลี ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจนั้น ต้องมีศิลปะในการใช้อำนาจ คือให้ใช้อย่างเด็ดขาดรุนแรง แต่ใช้น้อยครั้งที่สุด โดยกล่าวว่า “การประทุษร้ายทั้งปวง ควรทำพร้อมกันเสียครั้งเดียว จะทำให้คนโกรธน้อยลง ส่วนผลประโยชน์ ควรจะค่อยๆทำทีละเล็กละน้อย เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น” (สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.173)

ดังนั้นหลังจากการยึดอำนาจพลเอกประยุทธ์ฯได้เรียกทุกกลุ่มรายงานตัวปรับทัศนคติโดยการคุมขัง ส่วนการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางเศรษฐกิจได้ทำการอายัดบัญชีฝ่ายตรงข้าม และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสอบสวน นำไปสู่การดำเนินคดีอาญาแผนกคดีนักการเมือง เพื่อดำเนินการสู่การถอดถอนและยึดทรัพย์ต่อไป  ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามหลักคิดของมาคิอาเวลลีนั่นเอง

อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจนี้  มาคิอาเวลลีกล่าวว่าการใช้อำนาจต้องมีศิลปะ เพราะการใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้นใช้กับประชาชน แต่ประชาชนนั้นเป็นพื้นฐานอำนาจ เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจจึงกระทบกับประชาชน  ดังนั้นการใช้อำนาจจะต้องระมัดระวังเพื่อจะไม่ได้รับความเกลียดชังจากประชาชน ดังที่มาคิอาเวลลีให้ใช้อำนาจต้องเด็ดขาดรุนแรงและน้อยครั้งก็เพื่อให้ประชาชนเกิดความกลัว ไม่ใช่ใช้บ่อยๆจนประชาชนเกลียอดชัง ซึ่งประเด็นนี้พลเอกประยุทธ์ฯไม่ได้ระมัดระวัง ได้ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ กระทำจับกุมประชาชนอย่างเกินเลยและบ่อยครั้ง และบางเรื่องก็เป็นเรื่องหยุมหยิมเกินเหตุ จนกระทั่งได้รับการต่อต้านจากประชาชนและสังคมโลก อันส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ฯและประเทศไทยในเวทีโลกในปัจจุบัน ถือว่าประเด็นนี้ไม่สามารถทำให้ประชาชนกลัวตามแนวคิดของมาคิอาเวลลีได้ แต่กลับทำให้ประประชาชนดูหมิ่นเกลียดชัง

 

ว่าด้วยการเจ้าผู้ปกครองได้รับการยกย่องหรือถูกตำหนิ

มาคิอาเวลลีเห็นว่า ผู้ปกครองที่ประกอบด้วยคุณธรรมจะตกเป็นเหยื่อผู้ไร้คุณธรรม ดังนั้นผู้ปกครองที่รักษาอำนาจทางการปกครองได้จะต้องเรียนรู้ว่าจะเป็นผู้ไร้คุณธรรมอย่างไร และรู้จักใช้หรือไม่ใช้ตามความจำเป็น (สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.229)
      
ผู้ปกครองต้องเรียนรู้คุณสมบัติทั้งดีและชั่วของมนุษย์เพราะธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์ที่ทั้งดีและชั่วผสมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชั่วต้องศึกษาเป็นพิเศษให้ได้ถึงขนาดเพื่อนำไปใช้ได้ผลออกมาเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อการรักษารัฐ ซึ่งเป็นข้อแนะนำแบบวิธีการปกครองอันเกี่ยวกับข้าแผ่นดินหรือประชาชน โดยเฉพาะแบบวิธีการที่มาคิอาเวลลีเรียกว่าแบบวิธีที่หันเหจากระเบียบแบบแผนของคนอื่น (การปกครองแบบประชาธิปไตย)
      
สิ่งที่ มาคิอาเวลลี กล่าวแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่ละแบบวิธีการเดิม ดังเช่นที่พลเอกประยุทธ์ฯยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองแบบประชาธิปไตยมาเป็นแบบเผด็จการทหารคือ พลเอกประยุทธ์ฯจะต้องหลีกเลี่ยงการเสียชื่อเสียง เพราะอาจทำให้เสียรัฐได้ หรืออาจทำให้สูญเสียอำนาจการปกครองได้นั่นเอง
     
แต่อย่างไรก็ตามเรื่อง”ชื่อเสียง” ในทางการเมืองคือ “ภาพ” อันเป็นความรู้สึกไม่ใช่ความจริง ฉะนั้นผู้ปกครองต้องทำการไตร่ตรองอย่างสุขุมรอบคอบเพราะ”ภาพ”บางอย่างดูเหมือน”คุณธรรม” แต่หากปฏิบัติตามก็อาจทำให้พินาศสูญเสียรัฐได้ เช่นกัน”ความชั่ว”บางครั้งปฏิบัติตามอาจเกิดความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีได้ ดังนั้นผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องภาพหรือการเสียชื่อเสียง หากการกระทำนั้นเป็นการรักษารัฐหรือเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐนั่นเอง แนวคิดนี้อาจเป็นที่มาของแบบแผนการกระทำรัฐประหารครั้งนี้ เพราะแม้จะเป็นการกระทำที่เสียชื่อเสียง โดยการกระทำที่ละเมิดกฎหมายสูงสุดและไม่เป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็สร้างภาพทางการเมืองว่าไม่เกิดความรุนแรงทางการเมือง และเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติ เป็นการสร้างภาพทางการเมืองเพื่อไม่ให้เป็นการเสียชื่อเสียงตามแนวคิดของมาคิอาเวลลี

ว่าด้วยความโอบอ้อมอารีและความตระหนี่ถี่เหนียว

เจ้าผู้ปกครอง จะต้องมีภาพของความเป็นคนโอบอ้อมอารี หรือมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความโอบอ้อมอารี แต่การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความโอบอารีนั้น ไม่มีผู้โอบอ้อมอารีมาโดยไม่มีต้นทุน เพราะหากเจ้าผู้ปกครองใดไม่ยอมเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้โอบอ้อมอารี ก็จะถูกประชาชนเรียกว่า ผู้ตระหนี่ถี่เหนียว  แต่หากเจ้าผู้ปกครองใดต้องการเป็นผู้โอบอ้อมอารี โดยใช้เงินทองอย่างฟุ่มเฟือย ก็จะต้องกดขี่ขูดรีดเอาจากประชาชน ซึ่งก็จะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชน อันทำให้ผู้ปกครองเสียงชื่อเสียงและอาจเป็นเหตุให้เสียรัฐได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายสำหรับเจ้าผู้ปกครอง
      
มาคิอาเวลลี ได้กล่าวเรื่องการเป็นผู้โอบอ้อมอารี โดยไม่ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนว่าเป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียวได้ ในบทที่ 16 โดยผู้ปกครองจะต้องไม่ใช้เงินของประชาชน และมีกฎเหล็กไว้ สามประการคือต้องไม่ปล้นเงินประชาชน ต้องสามารถป้องกันการรุกรานจากภายนอก และต้องไม่ยากจนจนถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม กล่าวโดยสรุป เจ้าผู้ปกครองจะต้องไม่ใช้จ่ายสิ่งที่เป็นของตนเอง หรือของข้าแผ่นดิน โดยใช้จ่ายที่เป็นของคนอื่น หากกระทำได้ดังนี้ ผู้ปกครองก็สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้โดยไม่ใช้สิ่งที่เป็นของผู้ปกครองหรือของข้าแผ่นดิน ก็จะสามารถเป็นผู้ทรงคุณธรรม และไม่ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชน (สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.233 – 235)
    
กรณีของพลเอกประยุทธ์ฯตั้งแต่ทำการรัฐประหารเป็นหัวหน้าคณะ คสช. จนกระทั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภาพทางการเมืองที่ออกมาว่า ท่านได้เอาใจข้าราชการ ด้วยการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และที่สำคัญคือรัฐบาลของท่านได้อนุมัติงบประมาณโครงการเมกกะโปรเจ็คมากมาย ซึ่งที่เป็นที่กังขาของประชาชนเพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมของรัฐบาลเดิมที่ท่านยึดอำนาจมา แต่ใช้งบประมาณอันเป็นภาษีอากรของประชาชนมากกว่ารัฐบาลก่อน นอกจากนี้งบประมาณประจำปีนี้ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองแสนล้านบาท ยิ่งเป็นข้อสงสัยของประชาชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าเรื่องการคอรัปชั่นเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธของทหารเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญอยู่ในสังคมมาโดยตลอด อันส่งผลต่อความสงสัยต่อผู้นำเหล่าทัพ เมื่อมารับหน้าที่ในคณะรัฐบาลชุดนี้ เมื่อมีการเปิดเผยทรัพย์สินของปปช. นั่นคือภาพทางการเมืองของท่านที่ปรากฏ ซึ่งหากภาพทางการเมืองเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นการกระทำผิดกฎเหล็กของมาคิอาเวลลีที่ว่า “ต้องไม่ปล้นเงินประชาชน” ซึ่งจากภาพทางการเมืองดังกล่าว อาจทำให้ท่านกลายเป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียวและอาจจะทำให้ท่านเสียชื่อเสียง จนกระทั่งเสียรัฐในที่สุด ดังนั้นท่านต้องเร่งสร้างภาพทางการเมืองออกมาว่า ท่านเป็นผู้โอบอ้อมอารีไม่ใช่ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวตามที่ภาพทางการเมืองปรากฏ

ว่าด้วยวิธีการหลีกเลี่ยงการเป็นที่เหยียดหยามและเกลียดชัง

แต่อย่างไรก็ตาม มาคิอาเวลลี ได้บอกวิธีการหลีกเลี่ยงการเป็นที่เหยียดหยามและเกลียดชังไว้ในบทที่ 19 ความว่า สิ่งที่ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงการเป็นที่เหยียดหยามเกลียดชังของประชาชนคือทรัพย์สินและสตรีของข้าแผ่นดิน และเจ้าผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ผู้สมคบคิดอุบาย เมื่อเขาได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ถ้าประชาชน เกลียดเขา เป็นศัตรูกับเขา เขาจะกลัวทุกๆคน
       
เรื่องทรัพย์สินของข้าแผ่นดินนั้น ท่านพลเอกประยุทธ์ฯคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกประชาชนเหยียดหยามเกลียดขัง ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ผู้สบคบคิดทำการรัฐประหารกับท่านประยุทธ์ฯ ขณะนี้ก็ไม่ทราบว่าเขาได้รับความนิยมจากประชาชนอีกหรือไม่ เพราะมีอยู่หลายกลุ่มสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับความนิยมแล้วจากประชาชนเช่น กปปส. ตอนนี้เขาคงจะกลัวทุกคน กลัวแม้แต่ท่านจะเล่นงานเขา แต่สำหรับกลุ่มที่ยังได้รับความนิยมจากประชาชนอยู่ ท่านยังคงต้องเอาใจเขา
       
นอกจากนี้ผู้ปกครองต้องไม่ทำให้คนชั้นสูงสิ้นหวังและประชาชนพอใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครอง เพราะการเป็นผู้ปกครองนั้นต้องเผชิญความพินาศ สามประการคือ ต้องต่อสู้กับความทะเยอทะยานของชนชั้นสูง และความหยาบคายของประชาชน กับความทารุณโหดร้ายของทหาร สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครองเพราะเป็นการยากที่จะทำให้ประชาชนและทหารพอใจ โดยเฉพาะทหารรักเจ้าผู้ปกครองที่ใฝ่สงคราม เพราะอยากให้เจ้าผู้ปกครองเพิ่มผลประโยชน์และเปิดโอกาสให้ทหารได้ใช้กำลังทารุณโหดร้ายประชาชน ส่วนประชาชนนั้นรักสงบ จึงรักเจ้าผู้ปกครองที่สุภาพ อันเป็นเรื่องตรงกันข้ามกัน
     
ในความหมายของมาคิอาเวลลี ผู้ปกครองต้องเผชิญปัญหาอยู่ 3 กลุ่ม คือชนชั้นสูง ประชาชน และทหาร ซึ่งมาคิอาเวลลี เรียกว่า “ความพินาศของผู้ปกครอง” และเป็นเรื่องยากที่สุดในการปกครองของเจ้าผู้ปกครอง
     
ดังนั้นมาคิอาเวลลี จึงบอกว่า ผู้ปกครองจึงต้องเป็นสิงโตที่โหดร้ายและเป็นสุนัขจิ้งจอกที่เล่ห์เหลี่ยมที่สุด โดยใช้สุนัขจิ้งจอกกับกับดัก(กำลัง) และต้องใช้สิงโตสำหรับหมาป่า(ปัญญา) หมายถึงเจ้าผู้ปกครองต้องรู้ถึงธรรมชาติของกับดัก และต้องรู้ธรรมชาติของสิ่งที่จะทำ (สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.125 – 165)
     
สถานการณ์ของพลเอกประยุทธ์ฯขณะนี้คงไม่ต่างจากทฤษฎีของมาคิอาเวลลี คือต้องเผชิญกับปัญหากับกลุ่มคนสามกลุ่มคือชนชั้นสูง ทหาร และประชาชน ท่านคงต้องใช้ทั้งกำลังและปัญญาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านคงต้องดำเนินการไม่ให้ชนชั้นสูงสิ้นหวังในตัวท่าน เพราะนั่นเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับท่านเพราะชนชั้นสูงไม่เพียงแต่จะทอดทิ้งท่าน แต่สามารถทำลายท่านได้ เนื่องจากชนชั้นสูงมีประสบการณ์ การมองการณ์ไกล และมีศักยภาพมากกว่าท่าน นอกจากนี้ท่านต้องทำให้ประชาชนพึงพอใจท่าน เพราะหากชนชั้นสูงทอดทิ้งท่าน ประชาชนก็จะสามารถปกป้องท่านได้ สำหรับทหารท่านก็ได้ดำเนินการอยู่มากแล้ว ไม่ว่าเพิ่มเกี่ยวเรื่องผลประโยชน์ไม่ว่าเงินเดือนสวัสดิการ การทวีคูณอายุราชการขณะประกาศกฏอัยการศึกและให้มาทำหน้าที่เป็นแขนขาของท่านทุกส่วน ทั้งช่วยเหลือฝ่ายตำรวจและปกครองและราชการอื่น โดยแก้ไขหรือออกกฎหมายให้ทหารมีอำนาจในหน้าที่อื่น เรียกว่าทั้งสามอำนาจคือบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ(ศาลทหาร)

 

ว่าด้วยการเลือกมุขมนตรี

มาคิอาเวลลี ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งมุขมนตรีหรือที่ปรึกษาของเจ้าผู้ปกครองไว้ในบทที่ 22 โดยให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งมุขมนตรีอย่างมาก โดยให้ความสำคัญถึงกับกล่าวว่า หากจะดูสติปัญญาของเจ้าผู้ปกครอง ก็ให้ดูจากบรรดาผู้คนรอบตัวของเจ้าผู้ปกครอง(มุขมนตรี) หากเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ ถือว่าเจ้าผู้ปกครองนั้น “เป็นเจ้าผู้ปกครองที่ทรงปัญญา”  แต่หากมุขมนตรีที่คิดถึงตนเองมากกว่าเจ้าผู้ปกครอง โดยแสวงประโยชน์เข้าหาตัวเอง มุขมนตรีแบบนี้ไว้ใจไม่ได้ เป็นมุขมนตรีที่ดีไม่ได้ (สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.293 – 294)
       
สำหรับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ฯ ท่านคงไม่ได้แต่งตั้งด้วยตัวท่านเอง สังเกตจากรัฐมนตรีส่วนใหญ่โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆก็มากผู้ร่วมสนับสนุนการรัฐประหารของท่าน ไม่เป็นทหารรุ่นพี่ เพื่อน หรือไม่ก็เป็นเพื่อนโรงเรียนของพี่ที่เคารพ แต่หากจะวิจารณ์ว่าเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์หรือไม่ ท่านประยุทธ์ฯคงทราบดี ส่วนประชาชนก็คงทราบจากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่หากท่านประยุทธ์ฯมีโอกาสเลือกรัฐมนตรีด้วยตัวท่านเอง มาคิอาเวลลี ได้ให้คุณสมบัติคนไว้ สามประเภท  ประเภทแรก คนที่เข้าใจด้วยตนเอง ประเภทนี้เป็นประเภทประเสริฐสุด ประเภทที่สอง คนที่มองเห็นสิ่งที่ผู้อื่นเข้าใจ ประเภทนี้เป็นประเภทประเสริฐ ส่วนประเภทที่สาม คนที่ไม่เข้าใจด้วยตนเองหรือแม้แต่ด้วยการผ่านคนอื่น ประเทนี้เป็นประเภทไร้ประโยชน์  ก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านบทความทุกท่านคงจะทราบว่ารัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ ท่านใดเป็นคนประเภทใดตามความหมายของมาคิอาเวลลี
       
แต่อย่างไรก็ตามหากจะตีความว่า พลเอกประยุทธ์ฯเป็นเจ้าผู้ปกครองที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงก็พอจะอนุโลมได้ ซึ่งมาคิอาเวลลี กล่าวว่าเจ้าผู้ปกรองที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากชนชั้นสูง จะรักษาตนเองด้วยความยากลำบาก เพราะเขาจะไม่สามารถบังคับบัญชาจัดการพวกนั้นตามแบบวิธีการของเขาได้ เพราะคนที่สนับสนุนเขา คิดว่าพวกเขาก็เท่าเทียมกับเจ้าผู้ปกครอง
      
ประเด็นนี้สังเกตได้ว่า รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ได้มีความเห็นในการบริหารราชการแผ่นดินไปคนละทิศละทาง ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ เช่นเรื่องการเก็บภาษีที่ดิน หรือแม้กระทั่งโรดแม๊ปการร่างรัฐธรรมนูญเป็นต้น จนกระทั่งเกิดมีวาทะเด็ดที่ว่า “ขึ้นเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ออกมา ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ได้ว่าท่านรัฐมนตรีแต่ละท่าน ก็ได้รับการสนับสนุนจากมิสเตอร์มายด์ที่อยู่เบื้องหลังของท่านรัฐมนตรีเหล่านี้ ซี่งเขาเชื่อว่ามีอำนาจเท่าเทียมหรืออาจจะมากกว่าพลเอกประยุทธ์ฯ

ว่าด้วยเจ้าผู้ปกครองโดยมหาชนสนับสนุน

มาคิอาเวลลี กล่าวถึงเจ้าผู้ปกครองแบบที่มหาชนสนับสนุนไว้ในบทที่ 9 โดยกล่าวว่าเจ้าผู้ปกครองแบบนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสองทางคือ สนับสนุนจากชนชั้นสูงหรือสนับสนุนจากประชาชน
      
เจ้าผู้ปกครองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ต้องเอา “ชนชั้นสูง”เป็นมิตร แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะผู้ปกครองจะขอชนชั้นสูงได้เพียงอย่าให้เขาถูกกดขี่ และเจ้าผู้ปกครองแบบนี้จะตกอยู่ในอันตราย เมื่ออยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากระเบียบมหาชนไปสู่การปกครองแบบเด็ดขาด จ้าผู้ปกครองที่ฉลาด คงต้องคิดคำนึงถึงวิธีกรแบบแผนที่จะทำให้พลเมืองของตนมีความต้องการรัฐตามที่ตัวเขาเสนอ จะทำให้ประชาชนจงรักภักดีต่อเขาเสมอ
      
เจ้าผู้ปกครองที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูง ผู้ปกรองแบบนี้ไม่สามารถให้ชนชั้นสูงพึงพอใจได้ โดยไม่กระทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย นอกจากนี้ชนชั้นสูงจะทวงบุญคุณตลอดเวลา และหากเจ้าผู้ปกครองเป็นศัตรูกับชนชั้นสูง เจ้าผู้ปกครองจะถูกชนขั้นสูงทอดทิ้ง และจะได้รับการต่อต้านจากพวกเขา ซึ่งเจ้าผู้ปกครองจะตกอยู่ในอันตรายเพราะชนชั้นสูงเป็นพวกมองการณ์ไกลกว่า ไหวพริบมากกว่า และมักจะเริ่มดำเนินการให้ตนเองอย่างรวดเร็วเสมอ(สมบัติ จันทรวงศ์,2552,น.177 – 180)
      
พลเอกประยุทธ์ฯสามารถสามารถเปลี่ยนสถานะตัวเองจากเจ้าผู้ปกครองแบบอาชญากรรมมาเป็นเจ้าผู้ปกครองที่มหาชนสนับสนุนได้ เพราะว่าการได้อำนาจมาจากการสนับสนุนจากชนชั้นสูง ก็ถือว่าเป็นเจ้าผู้ปกครองแบบมหาชนสนับสนุนได้ แต่เจ้าผู้ปกครองแบบนี้ มาคิอาเวลลีสรุปว่า ต้องเอาประชาชนมาเป็นมิตร มิฉะนั้นในยามคับขันก็จะไม่มีทางแก้ไข เมื่อชนชั้นสูงทอดทิ้ง หากพลเอกประยุทธ์ฯไม่ต้องการเพียงแค่ความเด็ดขาด แต่ต้องการความรุ่งโรจน์ด้วย
   
     

     

       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท