Skip to main content
sharethis
8 พ.ค. 2558 เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดการประชุมระดมความคิดเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง“การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทย”  ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อหาแนวทางการบูรณาการเชิงนโยบายของระบบบำนาญของไทยให้มีความครอบคลุมและเป็นหลักประกันที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับคนไทยทุกกลุ่ม
 
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า  ประเทศไทยมีความพยายามในการผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากพบว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องสร้างระบบบำนาญที่ยั่งยืน แต่ปัญหาในขณะนี้คือทำอย่างไรจึงจะบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทยซึ่งมีหลายระบบ ให้สอดคล้องกัน เชื่อมโยงกัน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุ
 
การออกแบบหลักประกันทางด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุของไทยยังไม่ครอบคลุมกลุ่มวัยทำงานได้ครบทุกคน  มีถึง 73% ที่ยังไม่มีหลักประกันดังกล่าว ขณะเดียวกันระบบหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุของไทยยังเป็นแบบแยกส่วน ซึ่งระบบการออมเพื่อชราภาพหลักๆ ของไทยปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสำหรับข้าราชการ ระบบสำหรับลูกจ้างเอกชน และระบบสำหรับประชาชนทั่วไป
 
นโยบายและแนวทางในการทำงานของทั้ง 3 ระบบมีคณะกรรมการกำกับดูแลหรือผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเป็นของตัวเอง ปัญหาที่ตามมาคือการดำเนินนโยบายของหน่วยงานแต่ละแห่งเป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำและไม่มีความสอดคล้องกัน ทำให้การสมทบและสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนไม่เชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่จะสูญเสียผลประโยชน์และขาดความต่อเนื่องในการออม โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน เช่น การออกจากการเป็นลูกจ้างแล้วไปประกอบอาชีพอิสระ หรือการเปลี่ยนอาชีพจากการประกอบอาชีพอิสระมาเป็นลูกจ้าง ทำให้แรงงานต้องเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณอายุใหม่ ท้ายที่สุดแรงงานจึงมีเงินออมเพื่อการเกษียณต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
 
ด้านนายยศ วัชระคุปต์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างระบบบำนาญในญี่ปุ่นเพื่อนำมาเป็นแนวทางสำหรับระบบบำนาญของไทย พบว่า ญี่ปุ่นได้มีการปฎิรูประบบบำนาญมาเป็นระยะๆ ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการบำนาญขึ้นมาดูแลระบบบำนาญ เพื่อให้ระบบบำนาญสามารถครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ซึ่งการปรับเปลี่ยนในแต่ละครั้งได้คำนึงถึงประเด็นหลักๆ เช่น การป้องกันภาระที่จะตกแก่คนวัยทำงานในอนาคต โดยมีการปรับสัดส่วนเงินสนับสนุนเงินบำนาญขั้นพื้นฐานในส่วนของภาครัฐขึ้นเรื่อยๆ การจ่ายเงินบำนาญที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ การสร้างความยั่งยืนของระบบบำนาญ และการสร้างระบบที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจ เช่น การรองรับการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในระบบมากขึ้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานโดยเฉพาะการออกจากระบบไปสู่อาชีพอิสระมากขึ้น
ขณะที่กรณีระบบบำนาญของยุโรป นายพสิษฐ์ พัจนา นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า  ปัจจุบันทุกประเทศสมาชิกในยุโรปมีระบบบำนาญแบบ multi pillar มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแทนจากประเทศสมาชิกเพื่อเป็นคณะทำงานในด้านนโยบายบำนาญ และทำงานร่วมกันกับ Commission และ Council เพื่อให้ทุกประเทศสมาชิกมีกรอบการทำงานด้านนโยบายบำนาญที่สอดคล้องกัน โดยมีคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการ SPC (Social Protection Committee) ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบบำนาญและสวัสดิการสังคมเป็นหลัก 2. คณะกรรมการ EFC (Economic and Financial Committee) ทำหน้าที่ในการระดมความคิดเห็นด้านนโยบายการเงินการคลัง 3. คณะกรรมการ EPC (Economic Policy Committee) ทำหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายเศรษฐกิจและทำงานด้านปฏิรูปร่วมกับ SPC ด้วย และ 4.คณะกรรมการ EMCO (Employment Committee) ทำหน้าที่เป็นหน่วยที่ปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายแรงงานในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานของระบบบำนาญของยุโรปมีรูปแบบการทำงานที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันการปฏิรูปบำนาญในยุโรปยังได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน มั่นคงและเพียงพอของระบบบำนาญอีกด้วย
 
สำหรับแนวทางสำหรับการบูรณาการระบบบำนาญของไทย นักวิจัยเสนอว่า ควรจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลางทำหน้าที่กำกับดูแลในระดับนโยบาย เพื่อสร้างความสอดคล้องกันในการกำหนดนโยบายด้านบำเหน็จบำนาญ และลดความซ้ำซ้อนของการกำกับดูแลโดยหลายหน่วยงาน และตั้งหน่วยงานสำนักงานบำเหน็จบำนาญแห่งชาติขึ้นมาเป็นฝ่ายเลขาและสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะในด้านวิชาการและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการกลางนี้ให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการร่วมอีก 12 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการกองทุนการออมแห่งชาติ ผู้แทนในส่วนของผู้ประกันตน (ข้าราชการ ลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ) ส่วนละ 1 คน และผู้อำนวยการสำนักงานบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กรรมการและฝ่ายเลขาฯ) โดยให้กรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานด้านบำเหน็จบำนาญในภาพรวม พร้อมทั้งพิจารณาอัตราบำนาญพื้นฐานที่สมควรมาแทนที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเบี้ยสงเคราะห์ สร้างกลไกในการรักษาสถานภาพให้สมาชิกสามารถอยู่ในระบบได้อย่างต่อเนื่อง และพิจารณาอายุรับเงินบำนาญของประชากรในแต่ละยุค ทั้งนี้ นักวิจัยมิได้เสนอให้มีการยุบหรือรวมกองทุนของทั้งสามระบบ แต่เสนอให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการกัน
 
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอเห็นว่าแก่นแท้ของนโยบายในการบูรณาการระบบบำนาญแห่งชาติ ควรมีความสอดคล้องครอบคลุมกับประชาชนทุกคน โดยอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและยุติธรรม เป็นธรรม และมีความยั่งยืนของระบบ รวมทั้งให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net