Skip to main content
sharethis

สมาคมเอเชียศึกษาออกจมหมายเปิดผนึกแสดงการสนับสนุนนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ในญี่ปุ่นที่เรียกร้องให้ผู้นำญี่ปุ่นยอมรับเรื่องการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง 'หญิงบำเรอ'


8 พ.ค. 2558 'เจแปนโฟกัส' ซึ่งเป็นวารสารวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นเอเชีย-แปซิฟิกในเชิงลึก เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่มนักประวัติศาสตร์ในญี่ปุ่น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับความจริงที่ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทางการญี่ปุ่นเคยใช้กำลังทหารกระทำต่อประเทศต่างๆ อย่างโหดร้ายรวมถึงประเด็นเรื่อง "หญิงบำเรอ" (Comfort Women) ในช่วงสงคราม

เจแปนโฟกัสระบุว่าในวันที่ 5 พ.ค. กลุ่มนักวิชาการด้านญี่ปุ่นศึกษา 187 คนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ปฏิบัติตามสิ่งที่เขากล่าวไว้ในสุนทรพจน์เปิดการประชุมร่วมกับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอาเบะกล่าวในสุนทรพจน์ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ "สิทธิมนุษยชน" และ "ความมั่นคงของมนุษย์" เป็นอันดับต้นๆ

กลุ่มนักวิชาการในญี่ปุ่นระบุว่าถ้าหากอาเบะต้องการแสดงออกตามที่กล่าวอ้างถึงสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์จริง เขาต้องยอมรับว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นเคยสร้างความทุกข์ร้อนให้กับประเทศอื่นๆ และเรียกร้องให้มีการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งกับพื้นที่ๆ พวกเขาเคยยึดครองในสมัยที่ยังเป็นจักรวรรดิซึ่งจบสิ้นลงเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

กลุ่มนักวิชาการยังเน้นย้ำให้อาเบะยอมรับเรื่องการมีอยู่ของ "หญิงบำเรอ" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเป็นปัญหา ในแง่ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากผู้หญิงที่อายุไม่มากและอยู่ในภาวะยากจน รวมถึงอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ถูกครอบครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สร้างความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบจากจักรวรรดิ เพราะหญิงบำเรอในช่วงสงครามโลกมักจะถูกข่มขู่หรือบังคับและถูกใช้งานในสภาพที่มีการคุกคาม โดยกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการสังหารหมู่ที่นานกิงและกรณีการไปเคารพศพทหารญี่ปุ่นที่ศาลเจ้ายะซุกุนิซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก และแม้ว่าจะมีการเปิดเผยเรื่องราวความโหดร้ายจากกองทัพญี่ปุ่นยุคจักรวรรดิมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ความคืบหน้าในเรื่องการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์เหล่านี้กลับไม่คืบหน้าจนกระทั่งนายกรัฐมตรีอาเบะประกาศว่าจะพิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว

ทางสมาคมเอเชียศึกษาของสหรัฐฯ (Association for Asian Studies หรือ AAS) ออกแถลงการเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นในการประชุมประจำปีที่ชิคาโกเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนความคิดกดดันรัฐบาลของกลุ่มนักประวัติศาสตร์ในญี่ปุ่นที่ต้องการเรียกร้องให้มีการนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ความผิดของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นโดยปราศจากอคติ

"กลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาขอร่วมกันแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนักประวัติศาสตร์ผู้กล้าหาญจำนวนมากในญี่ปุ่นที่ต้องการให้มีการนำเสนอเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรม" สมาคมเอเชียศึกษาระบุในแถลงการณ์

"ในวาระครบรอบปีแห่งการรำลึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญในครั้งนี้ พวกเรายังขอเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี สันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกเป็นยุคสมัยของประชาธิปไตย พลเรือนควบคุมกองทัพ ตำรวจมีความข่มกลั้น มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าวทางการเมือง รวมถึงช่วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อประเทศอื่น ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สมควรได้รับการเฉลิมฉลองด้วย" สมาคมเอเชียศึกษาระบุในแถลงการณ์

แถลงการณ์ระบุอีกว่าการที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อประเด็นหญิงบำเรอจะทำให้เกืดความยากลำบากในการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติยากขึ้นและถือเป็นการเหยียดหยามสักดิ์ศรีของผู้หญิง การปฏิเสธหรือทำให้ประเด็นกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญจึงไม่ใช่ทางออก

แถลงการณ์ระบุอีกว่าถึงแม้ว่าคำให้การประวัติศาสตร์เรื่องหญิงบำเรอจะแตกต่างออกไปตามความไม่แน่นอนของความทรงจำและตามอคติของแต่ละคนทำให้มีมุมมองเรื่องนี้ต่างกัน แต่หลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องหญิงบำเรอเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเป็นการกระทำที่โหดร้าย จึงขอให้มีการประเมินตรวจสอบประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงบริบทโดยเป็นอิสระจากการบงการของรัฐ การข่มขู่คุกคามตัวบุคคล หรือการเซนเซอร์ เพื่อให้ได้ประวัติศาสตรที่เป็นธรรม

ทางสมาคมเชื่อว่าการยอมรับประวัติศาสตร์ที่ตนเคยทำผิดจะทำให้สังคมประชาธิปไตยของญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้นและช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ และเนื่องจากประเด็นหญิงบำเรอมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นความเท่าเทียมกันทางเพศ ถ้าหากญี่ปุ่นยอมรับเรื่องนี้จะถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในประเด็นความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย

"ในชั้นเรียนของพวกเรามีนักเรียนจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน และที่อื่นๆ หารือกันในประเด็นยากๆ อย่างเรื่องความเคารพซึ่งกันและกันกับความจริงใจต่อกัน คนรุ่นสมัยของพวกเขาจะมีชีวิตอยู่โดยอาศัยบันทึกจากในอดีตที่เป็นมรดกตกทอดไปสู่พวกเขา ถ้าหากเราต้องการช่วยพวกเขาสร้างโลกที่ไม่มีความรุนแรงทางเพศและการค้ามนุษย์ และช่วยส่งเสริมสันติและมิตรภาพในเอเชีย พวกเราต้องมีเรื่องเล่าของเหตุการณ์ที่ปราศจากอคติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" สมาคมเอเชียศึกษาระบุในแถลงการณ์


เรียบเรียงจาก

Open Letter in Support of Historians in Japan, Japan Focus, 07-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net