สนช.มีมติผ่าน กม. ‘ธรรมศาสตร์-ขอนแก่น-เกษตร-สวนดุสิต’ ออกนอกระบบฉลุย

นศ.โวยผู้บริหารไม่เคยฟังเสียง ฉวยโอกาสจากภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ‘เดชรัตน์’ ชี้ถ้ามหา’ลัยไม่เปิดกว้างก็ส่งผ่านความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นหน้า

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสมาชิก สนช. เข้าร่วมประชุม 168 คน ลงคะแนนเห็นด้วย 163 คน งดออกเสียง 5 คน และไม่ลงคะแนน 1 คน โดยไม่มีผู้ใดไม่เห็นด้วย และประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป โดยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่ยังคงอยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้อง พร้อมรายชื่อนักศึกษา กว่าสองพันรายชื่อ ต่อประธาน สนช. เพื่อขอให้ชะลอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อนโดยให้ประชาคมมีส่วนร่วม พร้อมเสนอปรับแก้ให้ที่นั่งนักศึกษาในสภามหาวิทยาลัย เป็นต้น

นศ.โวยผู้บริหารไม่เคยฟังเสียง ฉวยโอกาสจากภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

หลังจาก สนช.มีมติดังกล่าว เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง?’ โพสต์แสดงความเห็นด้วยว่า “กว่า 2 ปี ที่ผลักดัน กว่า 2,700 ชื่อ ทุกเสียงและความคิดเห็นของนักศึกษาต้องสูญเปล่า วันนี้เป็นที่แน่ชัดว่าผู้บริหารไม่เคยรับฟังเสียงนักศึกษา กลับใช้โอกาสและสภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกกฎหมายที่จะมีผลกระทบในระยะยาวกับมหาวิทยาลัย โดยที่นักศึกษาไม่ได้รับรู้ การดำเนินการต่างๆที่แอบทำและไม่สนใจข้อตกลงที่มีต่อเราเมื่อ 2 ปีก่อนนั้นเราจะจดจำ และจะส่งต่อไปผ่านการติดตามตรวจสอบอย่างไม่ลดละจนกว่าเราจะได้ร่าง พ.ร.บ. ที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย”

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ’ ได้โพสต์ความเห็นโต้แย้งหลักการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบข้างต้นด้วยว่า “คำถามคือ อยู่ในระบบทำแบบนี้ไมได้หรอ แล้วเรื่องการตรวจสอบ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาคมในมหาวิทยาลัย อยู่ตรงไหน”

‘เดชรัตน์’ ชี้ถ้ามหา’ลัยไม่เปิดกว้างก็ส่งผ่านความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นหน้า

ขณะที่ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ความเห็นและกราฟฟิกแสดงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Decharut Sukkumnoed’ ด้วยว่า

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของผม "ออกนอกระบบ" แล้ว ตามมติของสนช. เมื่อวานนี้ พร้อมๆ กับอีก 3 มหาวิทยาลัย อีกสัก 5 ปี เรามาดูกันว่าน้องๆ เหล่านี้จะสามารถ "เข้าสู่ระบบ" มหาวิทยาลัย (ที่ออกนอกระบบไป) ได้มากขึ้นหรือไม่

น้องๆ ในชนบท เข้ามหาวิทยาลัยได้ 17% เทียบกับน้องๆในเมืองเข้าได้ 39% น้องๆ ที่มาจากครัวเรือนที่จนที่สุด 10% สุดท้าย เข้ามหาวิทยาลัยได้เพียง 4% จากจำนวนน้องๆ ทั้งหมดในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดกลุ่มนี้ ส่วนน้องๆ ที่มาจากครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรก จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ถึง 66% ของน้องๆ ในครัวเรือนที่ร่ำรวยกลุ่มนี้

แม้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเริ่มปรากฎชัดตั้งแต่ระดับ ม.ปลาย แต่มันปรากฎชัดเจนที่สุดในระดับอุดมศึกษา แน่นอนครับว่า มหาวิทยาลัยมิใช่ทุกสิ่งของชีวิต แต่มหาวิทยาลัยควรมีให้สำหรับทุกกลุ่มคนในสังคม ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่มคน มหาวิทยาลัยก็จะมีส่วนสำคัญในการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นหน้าครับ

มาดูกันว่า มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบจะพาคนที่ (แทบ) ไม่เคยเข้าสู่ระบบ ได้มีโอกาส "เข้าสู่ระบบ" มหาวิทยาลัยได้หรือไม่? ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท