Skip to main content
sharethis

ชวนจับตาวาระสำคัญในการประชุม กสท.จันทร์นี้สำนักงาน กสทช. ชงเรื่องร้องเรียนช่องฟ้าวันใหม่นำเสนอเนื้อหารายการไม่เหมาะสม หวั่นเจอโทษทางปกครองเหมือนช่องรายการ PEACE TV ส่วน 24TV จ่อคิวรอพิจารณาเนื้อหา

10 พ.ค. 2558 สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมนี้ ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 15/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ กรณีการออกอากาศรายการโทรทัศน์ 'ถอนพิษ' ของบริษัทบลูสกาย แชนแนล จำกัด (ช่องรายการ ฟ้าวันใหม่) มีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยสำนักงานฯ ส่งวาระนี้ให้เข้ามาพิจารณาหลังจากที่ กสท. มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตช่องรายการ PEACE TV ไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา
  
“เรื่องนี้ ดิฉันยังคงยืนยันความเห็นเหมือนกับการพิจารณาช่องรายการ PEACE TV ที่เป็นเสียงข้างน้อย ว่า กสท. และ สำนักงานฯ ควรมีแนวปฏิบัติหรือขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความแตกแยก ยั่วยุปลุกปั่น เพื่อให้กรรมการมีหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจกับผู้รับใบอนุญาตทุกรายอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า รวมทั้งการพิจารณาโทษทางปกครองควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น ลงโทษปรับทางปกครอง ตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง ห้าแสนบาทตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มาตรา 37 ซึ่งเป็นกติกาของ กสทช. เอง ก่อนจะไปใช้บันทึกข้อตกลงที่อิงมาจากประกาศ คสช. เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า กสทช. ถูกแทรกแซงทางการเมืองจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน" สุภิญญากล่าวและว่า

"หรือหากเห็นว่าเนื้อหาที่ออกอากาศขัดต่อกฎหมาย ควรพิจารณาระงับการออกอากาศเฉพาะรายการนั้นแทนการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งสถานี คือลงโทษจากเบาไปหาหนัก ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น เพราะการที่อนุฯเสียงข้างมากเสนอให้ พักใช้ใบอนุญาต 7 วัน เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตเลยนั้น อาจเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุได้ ดังนั้นต้องจับตาวาระนี้อย่างใกล้ชิดในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ว่าบอร์ด กสท. ทั้งหมด จะลงมติออกมาอย่างไร"
  
นอกจากนี้ยังมีวาระกรณีการออกอากาศรายการ ''คนรู้จริง' ทางช่องรายการ 24TV มาให้พิจารณาเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
  
ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลการรับฟังความคิดเห็นการเลื่อนเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมาให้ กสท.พิจารณา ซึ่งมีผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และนักวิชาการเข้าร่วมเวที โดยพิจารณา ใน 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

1.เลื่อนการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป 1 ปี เพียงงวดเดียวหรือเลื่อนทุกงวดออกไป 1 ปี และ 2 . ต้องมีมาตรการในการชดเชยประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของรัฐ คือ ผู้ประกอบการต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 หรืออัตราดอกเบี้ย MLR ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หรืออัตราดอกเบี้ยอื่นที่เหมาะสม และต้องมีมาตรการชดเชยประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วย
  
“โดยส่วนตัวให้ความสำคัญมากกับ 'เงื่อนไข' มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ช่องรายการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รับใบอนุญาต โดยเฉพาะช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว จะต้องผลิตเนื้อหารายการที่ตรงตามใบอนุญาตที่ประมูลมา เนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองวางใจที่ให้ลูกหลานรับชมโทรทัศน์ช่องรายการดังกล่าวได้โดยไม่มีเนื้อหาที่เป็นพิษเป็นภัย ส่วนช่องรายการข่าวสารและสาระ ต้องเสนอข่าวสาระที่เป็นจริง รอบด้าน ตรงไปตรงมา  นอกจากนี้ทุกช่องต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่มีเนื้อหาโฆษณาหรือรายการที่ชวนเชื่อเกินจริง หลอกลวง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค และดิฉันเห็นว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อกำกับดูแลกันเองให้มีมาตรฐานจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ สิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคพึงจะได้รับเมื่อผู้ประกอบการเลื่อนเวลาจ่ายเงินค่าประมูลออกไป ก็จะมีเม็ดเงินที่จะทุ่มให้กับการทำเนื้อหาสาระที่ดีตอบแทนให้กับผู้บริโภคสื่อได้โดยตรง” สุภิญญา กล่าว
  
อีกวาระที่น่าจับตา คือ สนง. แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระดับเอฟ.เอ็ม ระบบเอ.เอ็ม และระบบดิจิตอล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการวางโรดแมปการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุในระบบดิจิตอลต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net