สัมภาษณ์กรรมการพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย กับข้อเสนออาเซียนปลอดรัฐบาลทหาร

ป้ายข้อความ "ไม่ต้อนรับผู้นำเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตยทันที" ของสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) เพื่อแสดงความสนับสนุนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ระหว่างการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน

ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF) ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนเริ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนนั้น มีการเสวนาหัวข้อหนึ่งซึ่งจัดโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) และองค์กรประชาสังคมหลายกลุ่มในอาเซียน นั่นก็คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" โดยในวงเสวนา ยังได้ร่วมกันประณามรัฐบาลทหารไทย ที่ใช้อำนาจเข้าปกครองประเทศไทยโดยมิชอบ พร้อมมีข้อเสนอต่อภาคประชาสังคมอาเซียน 3 ข้อได้แก่ "1. อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร 2. อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง 3.อาเซียนต้องทบทวนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ ชู ชุนไข (Choo Chon Kai) กรรมการกลางพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) หนึ่งในผู้ร่วมจัดการเสวนาดังกล่าว ถึงเหตุผลของข้อเสนออาเซียนเขตปลอดรัฐบาลทหาร หรือ "Junta-Free ASEAN"

ชู ชุนไข กรรมการกลางพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM)

คลิปสัมภาษณ์ชู ชุนไข ถึงข้อเสนอ อาเซียนเขตปลอดรัฐบาลทหาร

ชู ชุนไข กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราเห็นการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย เมื่อกองทัพทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว การรัฐประหารนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษ และมีผลกระทบไม่เพียงต่อสถาบันการเมืองเท่านั้น แต่กระทบกับประชาชนธรรมดาในไทย ทั้งในเรื่องการดำรงชีวิต และการกระจายความมั่งคั่ง เพราะว่ารัฐบาลทหารไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ปรารถนาต่อประชาชน แต่เพื่อปกป้องชนชั้นนำที่มีอำนาจ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องล้าหลัง"

"ผมคิดว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายประเทศที่เคยประสบกับการถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร หนึ่งในนั้นคือ พม่า ส่วนไทยก็ถูกทำรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีรัฐบาลทหาร อินโดนีเซียก็เช่นกัน ก็เคยมีรัฐบาลทหารที่มีอำนาจ โดยเฉพาะในยุคของซูฮาร์โต ที่ปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน และในฟิลิปปินส์ก็เคยประสบเช่นกัน"

"ดังนั้นผมคิดว่า ทุกครั้งที่กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยหดแคบลง ชีวิตของคนธรรมดาไม่ได้รับการปรับปรุง กระทั่งย่ำแย่ลงด้วย เพราะว่าเผด็จการทหารมักเปิดทางให้กับวิธีการปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเอื้อให้ธุรกิจขนาดใหญ่ บรรษัทดำเนินการทางธุรกิจ โดยปราศจากขั้นตอนตรวจสอบจากประชาชน หรืออย่างน้อยจากสถาบันทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย"

"สำหรับประชาชนคนธรรมดา สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ถดถอย แต่สิ่งนี้กลับปกป้องผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจ"

ชู ชุนไข กล่าวว่า ประเทศไทยเคยเป็นแม่แบบประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน อย่างไรก็ตามเกิดภาวะถดถอยนับตั้งแต่รัฐประหารปี ค.ศ. 2006 "คือย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1970 ถือเป็นยุคของประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ คือกินเวลา 3 ปี (ตุลาคม 1973 - ตุลาคม 1976) แต่ก็ถูกโต้กลับและแทนที่ด้วยรัฐบาลเผด็จการ และการลุกฮือของประชาชนอีกครั้งในปี 1992 และท้ายที่สุดประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่พวกเราเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยที่สุดในภูมิภาค ที่ให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ คือรัฐธรรมนูญปี 1997 แต่ก็ถูกรวบไปหลังการรัฐประหารปี 2006"

"สิ่งที่ผมคิดคือวิกฤตเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่รัฐประหารปี 2006 เมื่อรัฐบาลทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง โอเค รัฐบาลก่อนถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นชิ้นๆ รื้อทำลายประชาธิปไตย และในที่สุดก็ถูกแทนที่ด้วยเผด็จการทหาร หลังจากนั้นพวกเขายอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกเมื่อปีก่อน เราเห็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มทางการเมือง 2 ฝ่าย เกิดความยุ่งยากทางการเมือง และเป็นข้ออ้างให้กองทัพทำรัฐประหาร"

"ทั้งนี้รัฐบาลทหาร เป็นสิ่งล้าหลังไม่ว่าจะเกิดที่ประเทศไหน ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้น แน่นอน มาเลเซียอาจไม่เคยอยู่ภายใต้ภาวะรัฐบาลทหาร แต่เราเคยเผชิญกับ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" เมื่อรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามกลุ่มติดอาวุธคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความยากลำบาก อยู่ภายใต้ความกลัว และถูกกดขี่ ในช่วงปลายยุคอาณานิคมและหลังได้รับเอกราชในช่วงแรก ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีกแล้วในภูมิภาคของเรา ถ้าเราต้องการความเจริญก้าวหน้าของประชาชน อนุญาตให้ประชาชนอยู่โดยปราศจากความกลัว มีเสรีภาพมากขึ้น อยู่ในสังคมเปิด เพื่อให้เราได้พัฒนาสังคมของเรา ที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องมีประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการทหาร"

เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ภาคประชาสังคมในอาเซียนต้องเรียกร้องร่วมกันให้อาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนถูกได้ยิน และสามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจ "กรณีของพม่า กองทัพก็ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ประชาธิปไตยได้พัฒนา แต่เพราะยังมีอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ จึงยังมีการเอารัดเอาเปรียบในพม่าเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเรามีพื้นที่ประชาธิปไตยมากกว่านี้ และสามารถสถาปนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาตให้เสียงของประชาชนรากหญ้า เสียงประชาชน ถูกรับฟัง และได้ตรวจสอบคนที่อยู่ในอำนาจ เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่น และเพื่อทำให้แน่ใจว่าข้อเรียกร้องของประชาชน หรือผลประโยชน์ของประชาชนธรรมดา อยู่ในวาระของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ตามในภูมิภาคอาเซียนนี้"

ชู ชุนไข กล่าวถึงแถลงการณ์ที่เรียกร้องให้อาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดรัฐบาลทหารนั้น ข้อเสนอก็คือให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทบทวนจุดยืนหากเกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศสมาชิก ควรระงับสมาชิกภาพของประเทศนั้น จนกว่าจะมีประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตย

นอกจากนี้เขาเห็นว่า ควรเรียกร้องให้สมาคมอาเซียนทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในด้วย "เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เราควรมีมาตรฐานขั้นต่ำในการเข้าร่วมในประชาคม เช่น ประเทศที่ปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร ควรถูกระงับสมาชิกภาพ เช่น ถ้าประเทศไทยมีรัฐประหาร ควรถูกระงับการเป็นสมาชิกอาเซียน จนกว่าจะมีการฟื้นฟูประชาธิปไตยค่อยกลับมาเป็นสมาชิก นี่ควรเป็นหลักปฏิบัติในระดับอาเซียน"

เขาเห็นว่า ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียนไม่มาก ที่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียนในแต่ละประเทศก็ไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค คืออาจจะสนใจสิ่งที่เป็นปัญหาในประเทศ สนใจปัญหาข้ามชายแดนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศตน แต่ไม่ได้มองในภาพรวมของภูมิภาค "ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงอาเซียนจริงๆ ภาคประชาสังคมต้องมองไปที่ปัญหาที่เกิดในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาคประชาสังคม ถ้าเราต้องการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยให้เข้มแข็งในประเทศของตัวเอง"

"ในภูมิภาคนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย จำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างได้รับแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน มาเลเซียได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย และขบวนการเรียกร้องเอกราชในมาเลเซียก็ได้รับแรงบันดาลใจจากอินโดนีเซีย การเรียกร้องประชาธิปไตยในมาเลเซีย บางทีก็ได้รับแรงบันดาลใจมากจากประเทศไทย มาจากฟิลิปปินส์ ดังนั้นเราต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน ดังนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเราที่จะต้องมีความสมานฉันท์ระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชุมชน ขององค์กรประชาสังคม ในแต่ละประเทศ และเราหวังว่าจะมีองค์กรประชาสังคมอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้อาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร และจะได้มีกิจกรรมรณรงค์ต่อข้อเรียกร้องนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท